นัยทางการเมืองของประกาศเลิกหมอบคลานกราบไหว้ในรัชกาลที่ 5 (2) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ตอน 1 2 3 จบ

ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจการเมืองสยามต้นกรุงรัตนโกสินทร์…

จาก [ระบบเศรษฐกิจโลกที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง ผ่านสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ.2398 ไปสู่ → ระบบเศรษฐกิจโลกของยุโรปที่มีกรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลาง]

และจาก [รัฐราชสมบัติ ผ่านการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2435 ไปเป็น → รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์] นั้น

เอาเข้าจริงยุวกษัตริย์ผู้ทรงนำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญดังกล่าวอยู่ในสถานะที่คับขันล่อแหลมยิ่ง

พระราชบิดาเสด็จสวรรคตกะทันหันโดยทรงพระประชวรด้วยไข้ป่าหลังพาคณะเจ้านายขุนนาง นักวิทยาศาสตร์และทูตานุทูตทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่หมู่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมตามที่ทรงคำนวณทำนายไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี 1

สถาบันกษัตริย์ขณะนั้นตกอยู่ในการแวดล้อมของขุนนางอำมาตย์ตระกูลใหญ่และวังหน้า ซึ่งเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและกำลังไพร่พลสั่งสมใต้การควบคุมมากกว่าที่มีในพระคลังข้างที่และวังหลวงด้วยซ้ำ

เช่น วังหลวงตอนนั้นมีกำลังไพร่พล 1,500 นาย แต่วังหน้าของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกำลังไพร่พลถึง 2,600- 2,700 นาย และอาวุธดีกว่า (Kullada, The Rise and Decline of Thai Absolutism, p. 44)

ดังพระราชบิดาตรัสว่า : “ที่ได้เปนพระเจ้าแผ่นดินทั้งนี้ ครั้นจะว่าไปว่าได้เปนด้วยอำนาจเทวดาก็จะเปนอันลบหลู่บุญคุณของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ท่านพร้อมใจกันอุปถัมภ์ค้ำชูให้เปนเจ้าแผ่นดินนั้นไป ด้วยว่าความที่ได้เปนเจ้าแผ่นดินเพราะท่านผู้หลักผู้ใหญ่ค้ำชูอุดหนุนนั้น รู้อยู่แก่ตา เห็นอยู่แก่ตาของคนเปนอันมากตรงๆ ไม่อ้างว่าอำนาจเทวดาแล้ว”2

สะท้อนออกเป็นรูปธรรมในประกาศของพระองค์เมื่อปี พ.ศ.2397 ที่พระราชทานอำนาจเต็มให้แก่ขุนนางใหญ่ 4 คนในการออกคำสั่งใดๆ ได้โดยไม่ต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชวินิจฉัยก่อน และหากเป็นการตัดสินใจเรื่องสำคัญก็ให้กราบบังคมทูลให้พระองค์ทรงทราบหลังจากนั้นด้วยเพื่อจะทรงปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องกัน

โดยท่านผู้หลักผู้ใหญ่ทั้ง 4 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แก่ :
1) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ หรือ องค์ใหญ่ (ดิศ บุนนาค),

2) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือ องค์น้อย (ทัต บุนนาค),

3) เจ้าพระยานิกรบดินทร สมุหนายก (เจ้าสัวโต กัลยาณมิตร),

และ 4) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม (ช่วง บุนนาค) (Kullada, The Rise and Decline of Thai Absolutism, p. 32)

สภาพการณ์ที่เป็นจริงแห่งสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างกษัตริย์และขุนนางใหญ่ในรัฐราชสมบัติต้นกรุงรัตนโกสินทร์เช่นนี้ ยังปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขาองค์ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับสภาพการณ์เมื่อต้นรัชกาล ขอยกมาให้เห็นเป็นลำดับดังนี้ :-

“…ในเวลานั้นอายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเปนหลักฐาน ฝ่ายญาติของพ่อคือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจของสมเด็จพระยาและต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้าง ก็เปนแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดาหรือที่ร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็กมีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น

ส่วนตัวพ่อเองยังเปนเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่ คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคต ในขณะนั้นเปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว รับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านี้ และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอก หมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในการเบียดเบียนแสนสาหัส”

(พระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเกี่ยวกับสภาพการณ์เมื่อครั้งทรงขึ้นครองราชย์ปี พ.ศ.2411)

“…เขา (มิสเตอร์น็อก กงสุลอังกฤษ) ได้มาพบกับสมเด็จเจ้าพระยา (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์-ช่วง บุนนาค-ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต้นรัชกาลที่ ๕) มีผู้ที่ควรจะเชื่อได้ทราบความมาว่าเขากะกับสมเด็จเจ้าพระยาเป็นแน่ว่าหม่อมฉันคงจะตายในเร็วๆ นี้เป็นแน่ด้วยผอมนัก วังน่า (วังหน้า-ผู้เขียน) คงจะได้เป็นเจ้าแผ่นดิน วังน่าเป็นเจ้าแผ่นดินแล้วเหมือนกับลูกเขาๆ สงสาร จะต้องอุปถัมภ์ช่วยว่าการงานทุกอย่าง

…สมเด็จเจ้าพระยาพลอยเห็นจริงด้วย ได้บอกมอบฝากบ้านเมืองว่า ถ้าสิ้นท่านแล้ววังน่าจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้เขาช่วยทะนุบำรุงบ้านเมือง แลฝากบุตรหลานของท่านด้วยเถิด การเป็นดังนี้สมกับคำที่สมเด็จเจ้าพระยาพูดอยู่เสมอว่าหม่อมฉันคงตายในปีนี้ หลายๆ ปีมาแล้วว่าวังน่าคงมาเป็นเจ้า คำนี้ท่านพูดอยู่ดังๆ กับบุตรหลานนั้น ก็ให้ไปมาฝากตัวอยู่ที่กงสุลอังกฤษ จริงเป็นการสมกับที่คำพูด”

(พระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานกราบทูลถวายสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เกี่ยวกับสภาพการณ์ต้นรัชกาล)

 

นอกจากนี้ ในพระราชนิพนธ์ของ “ราม วชิราวุธ” หรือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ยังได้ทรงบันทึกสิ่งที่พระราชบิดาตรัสเล่าไว้เกี่ยวกับสภาพการณ์ต้นรัชกาลที่ 5 เพิ่มเติมอีกด้วยว่า (น.64-65) :

“ในขณะเมื่อทูลกระหม่อมปู่ (ร.๔) ทรงพระประชวรหนักนั้น พะเอินทูลกระหม่อมของฉัน (ร.๕) ก็ทรงพระประชวรเปนไข้มีพระอาการมากอยู่ด้วยเหมือนกัน. อีกประการ ๑ ในเวลานั้นทูลกระหม่อมก็มีพระชนมายุเพียง ๑๕ เต็มๆ เท่านั้น, ทูลกระหม่อมปู่จึ่งได้มีพระราชดำรัสฝากให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ช่วยเปนผู้ประคับประคองด้วย

สมเด็จเจ้าพระยาเห็นว่าเปนโอกาสเหมาะที่จะรวบรัดอำนาจไว้ในกำมือของตน, ฉนั้นเมื่อได้ไปเชิญเสด็จทูลกระหม่อมจากพระตำหนักสวนกุหลาบเข้าไปประทับที่ในพระฉากในพระที่นั่งอมรินทร์แล้ว, และได้จัดการถือน้ำตามประเพณีแล้ว, ก็ยังมิได้ให้เรียกทูลกระหม่อมว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”, เพราะเขานึกว่าทูลกระหม่อมจะสวรรคตเสียก่อนที่จะได้ราชาภิเษก

ที่ว่าสมเด็จเจ้าพระยานึกเช่นนี้ ไม่ใช่เปนการใส่ความ, เพราะมีสิ่งที่เปนพยานอยู่. อย่าง ๑ คือสมเด็จเจ้าพระยาได้จัดการให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ, หรือที่เรียกกันอยู่ว่า “ยอร์ช วอชิงตั้น”), พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, รับบวรราชาภิเษกเปนกรมพระราชวังบวรก่อนงานบรมราชาภิเษกของทูลกระหม่อม, ซึ่งเปนการทำนอกธรรมเนียมราชประเพณีโดยแท้, เพราะมิได้เคยมีเลยในรัชกาลใดๆ, ทั้งครั้งกรุงเก่าและกรุงรัตนโกสินทร์, ที่วังน่าจะได้รับบวรราชาภิเษกก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลนั้นจะได้รับบรมราชาภิเษก…

“อีกอย่าง ๑ ทูลกระหม่อมได้รับสั่งเล่าให้ฉันฟังว่า เมื่อพระองค์ท่านกำลังบรรทมประชวรอยู่ในพระฉากในพระที่นั่งอัมรินทร์นั้น, คุณหญิงพัน เมียสมเด็จเจ้าพระยาได้เข้าไปยืนอยู่ทางบนพระเจ้า, แล้วแลพูดว่า.

“พ่อคุ้ณ น่าสงสาร นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไร?”

ทูลกระหม่อมได้ทรงเล่าต่อไปว่า ครั้นเมื่อถึงเวลาทำงานศพคุณหญิงพัน ท่านได้เสด็จขึ้นไปที่บนเมรุ. ทรงเคาะโกษฐ์แล้วตรัสว่า.

“ยายพัน, แกได้เคยถามว่าฉันจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไร. วันนี้ฉันมาตอบแกว่าฉันอยู่มาได้นานพอที่จะมาในงานศพของแกแล้วละ, จะว่าอย่างไร?”

และสำหรับสภาพที่ “ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอก หมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ” ซึ่งทรงเอ่ยถึงข้างต้น ก็ปรากฏข้อมูลน่าตื่นตะลึงในบทความของ เทอดพงศ์ คงจันทร์, “ความเป็นสมัยใหม่กับการปกครองระบบกลุ่มเจ้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๔๗๕) 3 เกี่ยวกับ โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ (Thomas George Knox) กงสุลอังกฤษประจำสยามในสมัยนั้นที่พยายามแทรกแซงเข้าไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างเกิดวิกฤตวังหน้า (พ.ศ.๒๔๑๗-๒๔๑๘) ด้วยข้อเสนอให้แยกประเทศออกเป็น “สยามสามก๊ก” ว่า :

“… นายน็อกซ์ได้ขันอาสาเข้ามาเป็นคนกลางในการเจรจาต่อรองระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ โดยได้เสนอให้มีการแบ่งการปกครองประเทศออกเป็นพื้นที่ ๓ ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ

ส่วนตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ปกครอง

ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแม่น้ำแม่กลองให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ปกครอง

และอีกส่วนหนึ่งตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองลงไป ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) เป็นผู้ปกครอง

โดยที่กงสุลอังกฤษได้ยกเหตุผลขึ้นอ้างว่าเพื่อความสะดวกในการปกครองประเทศของแต่ละฝ่าย”

 


1 https:// www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1610

2 https://www.silpa-mag.com/featured/article_1834

3  ศิลปวัฒนธรรม, ๒๖๐ (๑ มิ.ย. ๒๕๔๔)