คุยกับทูต ‘คีริลล์ บาร์สกี้’ ทำไมรัสเซียจึงมุ่งยุทธศาสตร์กับไทยและอาเซียน มากขึ้น ?

คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ รัสเซียกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน (จบ)

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายท่านคงทราบดีว่า ในปีที่ผ่านมาเราได้ฉลองครบรอบ 120 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัสเซียกับไทย อันเป็นเรื่องพิเศษสุดที่ประเทศของเราทั้งสองได้เป็นเพื่อนกันมาตั้งนานแล้ว”

นายคีริลล์ บาร์สกี้ (H.E.Mr.Kirill Barsky) เอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทยเริ่มต้นเล่าเรื่องนโยบายต่างประเทศของรัสเซียเกี่ยวกับไทยและอาเซียน

ในปี ค.ศ.2017 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและรัสเซียดำเนินมาครบรอบ 120 ปี นับตั้งแต่สนธิสัญญาฉบับแรก ระหว่างรัสเซียและสยามที่ได้ลงนามเมื่อปี ค.ศ.1897 ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในระหว่างการเสด็จเยือนรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับรัสเซียได้รับแรงบันดาลใจเสมอ เริ่มจากความสัมพันธ์ฉันมิตรอันแนบแน่นระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และซาร์นิโคลัสที่สอง จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิรัสเซีย

ตั้งแต่นั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซียจึงมีความโดดเด่นด้วยความเข้าใจร่วมกันและความปรารถนาดีต่อกัน

รัสเซียอยู่เคียงคู่กับประเทศไทยเมื่อยามที่ต้องการความช่วยเหลือดังเช่นในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อเอกราชของสยามเผชิญกับภัยคุกคาม และรัสเซียได้ให้ความสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งมิตรภาพสองประเทศที่ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบันและยาวนานที่สุดในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้มีความสัมพันธ์กับรัสเซีย

“เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2016 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้พบหารือทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย ในงานประชุม 20 ปี รัสเซีย-อาเซียน (Russia-ASEAN Summit) ณ เมืองโซชิ (Sochi) ประเทศรัสเซีย”

Grigory Lokshin นักวิจัยที่ศูนย์เวียดนามและอาเซียนศึกษา ของสถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาตะวันออกไกลของรัสเซีย กล่าวกับสำนักข่าว TASS ของรัสเซียว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ เป็นเวทีสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ของรัสเซีย ที่ใช้ชื่อว่า “U-turn to the East”

โดยกล่าวว่า รัสเซียเป็นประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งมีชายฝั่งยาวที่สุด พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัสเซียอยู่ในเอเชีย ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของรัสเซียจึงอยู่ในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การทหาร หรือการเมือง นั่นหมายความว่าสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชีย จึงมีผลกระทบต่อรัสเซียโดยตรง

ดังนั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ของรัสเซียที่หันกลับมาให้ความสำคัญกับเอเชียมากยิ่งขึ้นนี้ การสานสัมพันธ์กับจีนเพียงประเทศเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ยังต้องเพิ่มความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจการค้ากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อย่างเต็มรูปแบบ

ตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

“ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2017 ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐจีน ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของหัวหน้ารัฐบาลของไทยและรัสเซีย อันกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว”

คําว่า BRIC เป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) คําศัพท์นี้ถูกบัญญัติขึ้นโดยนายจิม โอนีลล์ (Mr. Jim O”Neil) หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจโลกจากโกลด์แมน แซกส์ (Goldman Sachs)

BRIC ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการย้ายอํานาจเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง G7 มาสู่กลุ่มประเทศกําลังพัฒนา โดยที่ประเทศทั้งสี่ข้างต้นมีพื้นที่รวมกันมากกว่าหนึ่งในสี่ของโลกและมีจํานวนประชากรรวมกันมากกว่าร้อยละ 43 ของประชากรโลก มีสัดส่วนใน GDP โลกประมาณหนึ่งในสี่ของทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 13.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันถึง 4.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี ค.ศ.2012 กลุ่มประเทศ BRICS มีสัดส่วนในการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (FDI) คิดร้อยละ 11 ของโลก และมีสัดส่วนในการค้าโลกถึงร้อยละ 17

แม้ว่ากลุ่ม BRIC ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจหรือสมาคมการค้าอย่างเป็นทางการเหมือนสหภาพยุโรป (EU)

แต่มีข้อบ่งชี้บางอย่างว่ากลุ่ม BRIC พยายามที่จะสร้างสมาคมหรือพันธมิตรทางการเมืองรวมถึงเปลี่ยนอํานาจทางเศรษฐกิจที่กําลังเติบโตให้เป็นอํานาจการเมืองระดับภูมิภาค

ปัจจุบัน ประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRIC อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.2010 โดยเปลี่ยนชื่อกลุ่มใหม่เป็น BRICS ซึ่งอักษรย่อ “S” ที่เพิ่มต่อท้ายเข้ามาหมายถึง South Africa หรือประเทศแอฟริกาใต้

นอกจากความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ กลุ่ม BRICS ยังมีแผนจะพัฒนาไปสู่การเป็นกลุ่มความร่วมมือทางการเมืองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงความร่วมมือในสาขาอื่นๆ อีก ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

สําหรับความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจกับไทย ท่านทูตคีริลล์ เล่าว่า กำลังขยายตัว

“วันนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรากำลังดำเนินการร่วมกันเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าเป็น 10 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ.2020”

“เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือในขอบเขตที่มีเทคโนโลยีระดับสูง เช่น การบินพลเรือน การใช้พลังงาน การใช้พื้นที่อวกาศอย่างสันติ การขนส่งและการสื่อสารโทรคมนาคม สำหรับการลงทุนของไทยในรัสเซียนั้น มีมูลค่าเกิน 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การลงทุนของรัสเซียในประเทศไทย มีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ”

“ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศของเราทั้งสอง กำลังมีการขยายขอบข่ายมากขึ้น และโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวรัสเซีย ในปี ค.ศ.2017 เพียงปีเดียว มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียกว่า 1.3 ล้านคนเดินทางมาเยือนราชอาณาจักรไทย (ซึ่งมากกว่าในปี ค.ศ. 2016 ถึง 23.5%)”

“กาลเวลาที่ผ่านมาเป็นเครื่องทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับไทย ซึ่งเราได้มีความไว้วางใจและความเข้าใจกันเป็นอย่างดียิ่ง ขณะนี้เราเผชิญกับงานที่มีขอบเขตใหญ่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอเพื่อประโยชน์ของความเป็นอยู่ที่ดีและความมั่งคั่งของประชาชนในประเทศของเรา”

“ตลอดจนการสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิกโดยทั่วไป”

“สําหรับอาเซียน ในปี ค.ศ.2016 รัสเซียและอาเซียนได้ลงนามครบรอบ 20 ปีของการเจรจากับการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซียเมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม ณ เมืองโซชิ สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งในการประชุม ผู้นำทุกคนได้ตัดสินใจที่จะสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว”

ในภาพรวม รัสเซียมุ่งหวังที่จะมีบทบาทในการส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคด้วยการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) และการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

โดยไทยได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียในทุกมิติ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งสนับสนุนความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ทั้งในและระหว่างภูมิภาค

นอกจากความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก 10 ประเทศแล้ว อาเซียนยังได้ขยายความร่วมมือไปยังประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียนอีกหลายประเทศ

โดยมีประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย

“รัสเซียเป็นคู่เจรจาเฉพาะของอาเซียนที่ส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นธรรมกับประเทศต่างๆ 10 ประเทศซึ่งตรงข้ามกับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ ดังเช่นความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาอื่นๆ และเรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายอาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด การรักษาความปลอดภัยทางข้อมูล (Information Security) การจัดการภัยพิบัติ และการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นต้น” ท่านทูตชี้แจง

“เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถาปัตยกรรมความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เราทำงานร่วมกับอาเซียนในงานประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asian summits) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers” Meeting) และอื่นๆ ภายใต้กรอบของอาเซียนที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าว”

“รัสเซียและอาเซียนมีความปรารถนาที่จะมีบทบาทอย่างเข้มแข็งในการเปิดเสรีการค้าและการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่วนสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) ก็ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามในปี ค.ศ.2015 และขณะนี้ เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการสรุปข้อตกลงที่คล้ายคลึงกันกับประเทศอาเซียนอื่นๆ”

ท่านทูตคีริลล์ บาร์สกี้ กล่าวตอนท้ายว่า

“ผมจึงไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่า ความสำคัญของอาเซียนต่อรัสเซียจะมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี”