จากธัมมชโย – 5 เถระ-พุทธะอิสระ ปฏิบัติการจับพระ ชำระวงการสงฆ์ ความเหมือนที่แตกต่าง!!

เป็นเรื่องอื้อฉาววงการสงฆ์

เมื่อตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การนำของ “บิ๊กหมู” พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่บูรณาการกำลัง บก.ป. บก.ปปป. และ บก.ปอท. มี “เดอะฉิม” พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. พ.ต.อ.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.อ.อรุณ วชิระศรีสุกัญยา ผกก.2 บก.ป. และ พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น ผกก.3 บก.ป. นำทีมสอบสวนกลาง บุกจับกุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ 7 รูป แต่ควบคุมตัวได้ 5 รูป ผู้ต้องหาในคดีเงินทอนวัด

ปฏิบัติการวันเดียวกันยังบุกจับกุมอีกคดี แต่เป็น “พระ” เหมือนกัน คือพระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม แกนนำ กปปส. เวทีแจ้งวัฒนะ ที่ตอนนี้เป็นอดีตพระไปแล้วโดยคุมตัวได้คาฟูกในกุฏิสงฆ์ วัดอ้อน้อย นั่นเอง

ผลลัพธ์ที่ออกมา คล้ายว่าการจับกุมอย่างละมุนละม่อม แม้เผชิญดราม่าศรัทธาการเมืองพอสมควร แต่ดูสำเร็จตามแผน ง่ายดาย

แต่เบื้องหลังปฏิบัติการการจับกุมครั้งนี้ไม่ง่าย

ตํารวจสอบสวนกลางมีการวางแผนในการปฏิบัติงานนานนับ 2 เดือน สืบสวน หาข่าว วางแผนอย่างรัดกุม ก่อนยกกำลังจับกุม

ด้วยข้อมูลทางการข่าวที่สอบสวนกลางมีว่า อดีตสงฆ์แกนนำ กปปส. มีการ์ดต่างหน่วยรบคุ้มกัน ผสานยุทธวิธีตำรวจ ที่เป้าหมายสำคัญคือภารกิจสำเร็จและไม่มีการสูญเสีย ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ต้องหาเป้าหมาย

ทำให้ภาพการบุกจับ “อดีตพระ แกนนำ กปปส.” ดูดุเดือด รุนแรง

โดยเฉพาะในสายตาของมวลชนและลูกศิษย์ และกระทบกระเทือนในมุมของการเมือง

อย่าลืมว่า “สุวิทย์ ทองประเสริฐ” หรืออดีตพระพุทธะอิสระ สมัยอยู่ในเพศบรรพชิต แม้จะเล่นบทแกนนำ กปปส. เวทีบู๊ สั่งการลุย รบในสงครามการเมือง สวนทางวิถีสมณเพศ สาวกแห่งพุทธองค์ แต่ก็ยังมีบารมีในฐานะสงฆ์ ปรากฏภาพเป็นพระอาจารย์ที่ศิษย์ระดับบิ๊กในบ้านเมืองเข้าหา มีภาพกราบกรานให้ออกมาแก้ต่างแก้ตัวกันอย่างที่เห็นในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจับกุม “พุทธะอิสระ” ถือว่าโชคดีที่ไม่มีการสูญเสียชีวิต มีแต่เรื่องเสียหายทางการเมือง หลังคำ “ขอโทษ”

ย้อนไปการจับกุมพระผู้ใหญ่จาก 3 อารามดัง ตำรวจวางแผนแยบยล สืบทุกมิติอยู่นาน 2 เดือน ก่อนเข้าจับได้ “ปิดจ๊อบ” ง่ายดายวันเดียว แม้จะมีพระเถระ 2 รูปหลบหนี แต่คล้อยหลังไม่กี่วัน พระธงชัย สุขญาโณ หรืออดีตพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ที่หลบหนีก็มอบตัว

ตอนนี้จึงเหลือเพียงอดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามฯ เท่านั้นที่ยังหนี

ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งข้อสังเกตระหว่างการเข้าจับกุมพระชั้นผู้ใหญ่คดีเงินทอนวัดครั้งนี้ กับการเข้าจับกุมพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา พระชั้นผู้ใหญ่เช่นกัน

แต่การปฏิบัติและผลลัพธ์ช่างแตกต่าง

หากยังพอจำกันได้ ปฏิบัติการจับพระธัมมชโย ใช้เวลานานข้ามปี จากกลางปี 2559 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2560

ย้อนกลับไปครั้งสมัยการเข้าจับกุมพระธัมมชโย เริ่มจากเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ภายหลังเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ออกหมายเรียกพระธัมมชโย ในข้อหาฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร หลังพบหลักฐานว่าพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายมีชื่อรับเช็คบริจาคจำนวน 21 ฉบับ มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

ซึ่งพระธัมมชโยไม่ได้มาตามหมายเรียกทั้ง 3 ครั้ง

ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงได้ขอศาลออกหมายจับพระธัมมชโย พร้อมทั้งขีดเส้นตายให้พระธัมมชโยเข้ามอบตัววันที่ 26 พฤษภาคม 2559

เรื่องราวดำเนินต่อไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ขอศาลออกหมายเข้าค้นวัดพระธรรมกาย ภายใต้ชื่อปฏิบัติการ “กบิล 59” นำทัพโดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และควบคุมฝูงชนจังหวัดปทุมธานีจำนวน 4 กองร้อย 600 นาย เรียกว่ายกทัพของจริง เฝ้าสังเกตการณ์โดยรอบ ตั้งด่านประจันหน้ามวลชนแรมเดือน

การพยายามเข้าค้นวัดนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางวัดได้ชี้แจงว่าสามารถให้เจ้าหน้าที่ทำการเข้าค้นวัดได้เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเจรจาศิษยานุศิษย์

ในครั้งแรกการเข้าค้นไม่ได้ราบรื่นนักเมื่อพบว่ากลุ่มศิษยานุศิษย์ได้นำรถแบ๊กโฮมาจอดขวางประตูและนำเข้าไปจอดภายในวัด ทั้งนี้ แต่ละประตูมีการปิดล็อกอย่างหนาแน่น โดยมีศิษยานุศิษย์คอยเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา ให้เหตุผลเพื่อป้องกันมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ ด้วยพลังแห่งศรัทธาของเหล่าบรรดาศิษยานุศิษย์ จึงทำให้คณะทำงานและกำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานกันด้วยความยากลำบาก

กระทั่งต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับการใช้มาตรา 44 ให้การควบคุมพื้นที่การดำเนินการนั้น เนื่องจากกฎหมายปกติถูกละเมิด มีการต่อต้าน ซึ่งกลัวว่าจะเกิดการปะทะที่รุนแรง จึงได้ใช้มาตรา 44 ให้การคุมพื้นที่ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ และเชิญกลุ่มบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ดังกล่าว ถึงอย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 44 ในการเข้าค้นวัดโดยทั่วแล้วนั้นก็ยังไม่สามารถติดตามตัวพระธัมมชโยได้

สะท้อนความยากและเยอะ เห็นภาพการทุ่มสรรพกำลังและเวลา

แต่ทว่าจนถึงวันนี้ พระธัมมชโยอยู่ไหนไม่มีใครรู้ ใช้มาตรการเข้ม ขลัง งัดกฎหมายพิเศษสารพัดขนาดนี้แต่ยังไม่มีแม้แต่เงาของผู้ต้องหาที่จะนำมาดำเนินคดี

ราวกับยกโขลงช้างไปจับตั๊กแตน แต่วืด

แต่ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่วัดพระธรรมกาย คืออาณาจักรกว้างใหญ่ ไม่ธรรมดา และศรัทธาต่อธรรมกายก็เหนียวแน่นทรงพลัง ไม่ธรรมดาเช่นกัน

ต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีการบุกจับ “คณะเถระ” ในคดีเงินทอนวัดของเจ้าหน้าที่กองปราบปรามครั้งนี้

ตำรวจกองปราบฯ นำกำลังเข้าตรวจค้นวัดใหญ่หรือพระอารามหลวงในพื้นที่ กทม. 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดสามพระยาวรวิหาร และวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร บุกเข้าจับกุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่จำนวน 5 รูป เกี่ยวข้องเงินทอนวัด ใช้เวลา 1 วันจับกุม 2 วันสำหรับการเข้าค้น

ตัวบุคคล บทบาทที่สังคมให้ความเคารพเท่ากัน แต่แล้วทำไมการเข้าจับกุม การวางแผนและการใช้กลวิธีแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ได้ก็ต่างกัน

ปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับอะไร

พลังแห่งศรัทธา หรือพลังของความจริงจังจริงใจในการบังคับใช้กฎหมายกันแน่!?