บทวิเคราะห์ : เปลี่ยนแผนปรับทัพตั้งพรรคสู้ “สุเทพ” ชักใย รปช. “เอนก” กุมบังเหียน วาดฝันตั้งพรรคร่วมรัฐบาล

จากการที่นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) เข้ายื่นจดแจ้ง “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” (รปช.) ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โดยระบุว่าจะดำเนินการสานต่อการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางแผนแนวทางการปฏิรูปเอาไว้

นั่นชัดเจนว่า เป็นการเปิดตัวทางการเมืองของนายสุเทพอย่างเป็นนัยยะสำคัญ

แม้นายสุเทพจะไม่เปิดหน้าเล่นเอง แต่เป็นที่รู้กันว่าเบื้องลึกเบื้องหลังเป็นการเดินเกมของนายสุเทพเองเกือบทั้งหมด

และเป็นการยืนยันว่าข่าวลือเรื่องการตั้งพรรคของนายสุเทพนั้นเป็นเรื่องจริง

วัตถุประสงค์ที่เดินเกมแรก เพื่อตามใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่แค่การปฏิรูปประเทศอย่างที่ปากบอกออกสื่อ แต่นัยยะทางการเมืองยังคงมีปมอะไรที่อาจจะต้องสะสางมากกว่านั้น

เพราะนายสุเทพเองก็ยังคงมีอีกหลายคดีติดตัวตั้งแต่เป็นแกนนำ กปปส.

อีกทั้งยังมีคดีของนายแทน เทือกสุบรรณ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีก

การตั้งพรรคใหม่ในครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การสนับสนุนการปฏิรูปประเทศ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีผลพลอยได้เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวอีกด้วย

วัตถุประสงค์ที่ทำให้ยอมเดินเกมต่อมา เพื่อการขยายแขนงเครือข่ายของพรรคการเมืองในเส้นสายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อุดช่องโหว่ของพรรคพลังประชารัฐที่นายสมคิดกำลังเดินสายดูดอยู่ในขณะนี้

และเพื่อช่วยเป็นพรรคเครือข่ายในอนาคตที่จะสนับสนุนทหารให้กลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

โดยมีการตั้งเป้าหมายว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องได้ที่นั่ง ส.ส. ประมาณ 25-30 คน

การเดินเกมของนายสุเทพมีมาอย่างต่อเนื่องที่ตึก ทู แปซิฟิก กรุงเทพฯ

ไม่ว่าจะเป็นการตั้งวอร์รูมแถลงข่าวในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ กปปส.

เพราะที่นั่นไม่ได้เป็นเพียงที่ทำการมูลนิธิ มปท. เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรวมพลคนสนับสนุนลุงกำนัน

โดยทุกวันอาทิตย์จะมีการนัดรับประทานอาหารเชิงประชุมระบบข้อมูลในการจดแจ้งหรือเตรียมตัวตั้งพรรค รปช. มาตลอด

นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับคดีต่างๆ ของนายสุเทพและ กปปส. อยู่ตลอดด้วย

ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มกรีนเก่า อาทิ นายสุริยะใส กตะศิลา นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ และนายสำราญ รอดเพชร รวมทั้ง น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก

นอกจากนั้นยังมีการดึงตัวอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่นอกเหนือจากนายเชน และนายธานี เทือกสุบรรณ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าอาจมีอดีต ส.ส.นราธิวาส 2 คนตัดสินใจทิ้ง ปชป. ไปร่วมทัพกับ รปช. คือ นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ และนายเจะอามิง โตะตาหยง

นั่นคือการเตรียมตัวเดินเกมทางการเมืองของนายสุเทพอย่างไม่เปิดหน้าเล่น เพราะไม่สามารถพูดออกสื่อได้อย่างเต็มปากว่า เป็นพรรคการเมืองที่เกิดจากการปลุกปั้นของตัวเอง

เนื่องจากเคยเอ่ยวาจากับมวลมหาประชาชนไปแล้วว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก

ฉะนั้น เมื่ออยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะกลืนน้ำลายตัวเองก็ไม่ได้ วิธีเดียวที่ทำได้ก็คือ การหาเครือข่ายเข้ามาร่วมวงด้วยเท่านั้น

เป็นที่น่าสังเกตที่มีรายชื่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ เป็นหัวหน้าพรรค รปช.

ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยจัดตั้งพรรคมหาชนร่วมกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หลังจากลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมานายเอนกได้ร่วมกับนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ คือพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

เท่ากับว่าเส้นทางการเมืองของนายเอนกเคยมีประสบการณ์ร่วมพรรคการเมืองมาก่อน

โดยนายเอนกเปิดเผยว่า ตนเป็นเพียงผู้ก่อตั้งพรรค รปช. เท่านั้น ขอให้รอเวลาอีก 3 เดือน ก็จะให้สมาชิกพรรคทั้งหมดดำเนินการคัดเลือกหัวหน้าพรรค

หากที่ประชุมมีมติเลือกตนเองก็พร้อมที่จะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค รปช. แต่ไม่ใช่การเริ่มต้นก็นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลย ทั้งที่ยังไม่มีขา ไม่มีแขนแบบการเมืองเก่าๆ ที่ให้เป็นเพียงลูกน้องเจ้าของพรรค ไม่เอาแบบนั้น เพราะเราทำพรรคแบบใหม่จากล่างขึ้นบนมากขึ้น

“หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมได้ ผมจะร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้ด้วยพรรคและนักการเมืองแบบใหม่ ประเทศจะกลับไปเป็นการเมืองอย่างเดิมอีกไม่ได้ และจะเดินหน้าผลักดันเรื่องความปรองดองให้สำเร็จด้วย เพราะถือเป็นโปรเจ็กต์สุดท้ายของชีวิต ผมจะสร้างพรรคคุณภาพของสมาชิกและประชาชน”

นายเอนกระบุ

แม้บทบาทของนายเอนกก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อาจไม่ใช่ทิศทางเดียวกับนายสุเทพ

แต่ทันทีที่หลังเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้น แน่นอนว่าชื่อ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ปรากฏอยู่ในแผนงานต่างๆ ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติมาตลอดเกือบ 4 ปี

ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปประเทศ การเดินหน้าสานต่อเรื่องความปรองดองให้กับรัฐบาล คสช. ล้วนมีนายเอนกเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น

ฉะนั้น การได้นายเอนกมาร่วมทัพในครั้งนี้ เป็นการสร้างแนวร่วมของ คสช. กับ กปปส. อย่างชัดเจน และเสริมทัพให้กับพรรคนายสมคิดวาดฝันผนึกกำลังกันเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในสมัยหน้า หลังจากที่ดูท่าว่าการยืมมือ ส.ว. เลือกนายกฯ คนนอกจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเลือกนายกฯ คนนอกมาได้ แต่สภาจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ และจะเป็นเหตุให้ยุบสภาในที่สุด

ดังนั้น เมื่อคำนวณสูตรนี้ พร้อมทั้งดีดลูกคิดตัวเลขพรรคเล็กพรรคน้อย พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา ตบท้ายด้วยพรรคประชาธิปัตย์ เสียงในสภาก็จะเหลือเฟือ

เว้นแต่ประชาธิปัตย์จะไม่เล่นด้วย แต่ดูแล้วก็ไม่น่าจะเกินคาด…