อัญเจียแขฺมร์ : ตามรอยจาม และการสิ้นสุดของยุคมืด

“ชาวมุสลิมขะแมร์นั้น มีชีวิตดีกว่ามุสลิมทุกประเทศ”

สมเด็จฮุน เซนป่าวบอกชาวโลก ซึ่งมีนัยยะซ่อนว่า รัฐบาลเดโชได้ทุ่มเทดูแลชาวจามกัมพูชาอยู่มาก ซึ่งประการหนึ่งก็มาจากความผิดพลาด กรณีที่เขาส่งตัวนักโทษอุยกูร์ให้ทางการจีนเมื่อหลายปีก่อน

และความพยายามเอาใจชาวจามของฮุน เซนนั้น มาจากนโยบายประชานิยมที่มีต่อผู้นำศาสนาเป็นการเฉพาะ

อีกจามขะแมร์นั้นรักสันโดษ และไม่สู้จะต่อรองเรียกร้องรัฐบาลแบบเดียวกับสหภาพกรรมกรซึ่งเรียนรู้วิธีต่อรองจนช่ำชอง และขึ้นชื่อ

แต่ชามจามไม่ดื้ออย่างนั้น ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ 100 ปีที่ผ่านมา จามขะแมร์ดูจะเป็นฝ่ายถูกกระทำครั้งแล้วครั้งเล่า จากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยดุษณี

ตั้งแต่ครั้ง หออะซาน-หอกระจายเสียงจากสุเหร่าเก่าแก่แห่งแรกถูกสร้างขึ้นชานกรุงพนมเปญ แลจนบัดนี้จำเนียรกาลผ่านมากว่า 8 ทศวรรษ แต่หออะซานแห่งนั้นก็ยังสถิตเหมือนสิ่งสาบสูญ เหมืองสมบัติลับแลที่ไร้ตัวตนของกรุงพนมเปญ

เล่ากันว่ามีอยู่ แต่ก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน?

ตามรูปทรงสถาปัตยกรรมหออะซานพนมเปญแห่งนี้ยังมีลักษณะที่คล้ายกับหอประภาคารบนปลายแหลมจโรยจังวาของพวกฝรั่งเศสที่สร้างในสมัยอาณานิคมซึ่งมีไว้เพื่อตรวจการณ์ระดับขึ้นลงแม่น้ำโขงเพื่อให้สัญญาณเดินเรือจากไซง่อน-พนมเปญและจากพนมเปญล่องไปที่ไพรนคร

เพราะกระแสน้ำแห่งนี้จะแยกเดินเป็น 2 ทาง คือฝั่งซ้ายไปสิ้นสุดที่ชายแดนลาวจังหวัดสตึงแตรง ส่วนฝั่งขวาไหลเอื่อยไปลงปากอ่าวที่ประเทศเวียดนาม

ส่วนเพลาที่กระแสน้ำลงจากตนเลสาบก็จะพัดพาโคลนตมและถูกตีวนกลับ จากดินเลนแม่น้ำโขงจนสะสมตัวเป็นก้อนดินมหึมาเป็นอนุสรณ์แด่กรุงพนมเปญ ตรงที่เรียกกันว่าเกาะเพชร

ซึ่งเครือข่ายฮุน เซนก็เก่งโครต พัฒนาก้อนดินมหึมาตรงนี้จนกลายเป็นศูนย์กลางเมืองหลวง

ส่วนประภาคารส่องสว่างทางโคลนตมนั้นก็ถึงกาลอวสานในสมัยเขมรแดง ซึ่งมีหลักฐานจากคำบอกเล่าคนเก่าแก่ว่า เคยมีชาวจามมาตั้งชุมชนประมงอยู่ตรงบริเวณดังกล่าว ครั้นสิ้นสุดยุคมืดไปแล้ว พวกเขาก็ยังกลับมาตั้งรกราก ณ ที่เดิมและจดจำหอประภาคารที่ถูกทำลายเนื่องจากรูปทรงสถาปัตยกรรม มีลักษณะที่คล้ายกับหออะซาน

แต่ชาวจามขะแมร์ก็เหมือนกับคนเขมรทั่วไปในยุคนั้นหลังสมัยเขมรแดง คือจำอะไรไม่ค่อยแม่น จำไม่ค่อยได้ และไม่ค่อยอยากจะจำ

มีแต่ฉันกระมัง ที่อยากรำลึก

เรื่องมีอยู่ว่า สมัยนั้นองค์กรที่ฉันเป็นอาสาสมัคร จะส่งเจ้าหน้าที่ไปจ่ายแจกเครื่องอุปโภคและหยูกยาในชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีใครอยากไป

โดยเฉพาะในฤดูฝนที่กระแสน้ำเชี่ยวกรากและแผ่นดินบนเกาะเป็นโคลนเลน

ดังนี้ ฉันจังไม่เคยลืมเรื่องเรื่องผจญภัยที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ต้องไต่ขึ้นไปบนทางดินโคลนอันลาดชัน กว่าจะถึงหมู่บ้านซึ่งมีแต่ความชื้นแฉะ สกปรก และขาดสุขอนามัย

แต่สิ่งที่ฉันไม่ลืมคือพบว่า นี่คือหลักฐานชิ้นหนึ่งซึ่งบ่งบอกว่าเคยมีชุมชนคาทอลิกเวียดนาม และจามมุสลิมที่บังเอิญมาอยู่ร่วมกันบนปลายแหลมแห่งนั้น พวกเขามีอาชีพหาปลาบริเวณตนเลสาบที่แยกเป็น 2 สายและนี่เป็นคำตอบว่าทำไมบริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่าจโรยจังวาที่หมายความว่า – ไม้พาย

แต่การเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์ ก็เกิดขึ้นอย่างเร็วรุกและเกินคาดบนเกาะจโรยจังวาอีกครั้งหนึ่งราว 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการบัดบ่ง/สูญหายของชุมชนมากมายในเมืองหลวงพนมเปญ นั่นคือการถูกบังคับให้อพยพจากแผ่นดินตนอาศัย ซึ่งต่อมาได้ถูกแทนที่ด้วยอาคารทันสมัยของนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่

ไม่ต่างจากยุคเขมรแดงที่คนบนจโรยจังวาถูกขับไล่ให้ละทิ้งถิ่นฐาน

และนั่นคือ ยุคสุดท้ายของจามขะแมร์ในพนมเปญที่ฉันพอจะจดจำ หลังจากที่เคยเห็นภาพถ่ายในชุมชนแบบนี้ ที่เขตโชดกของกัมพูชาใต้ (โคซินจีน) ที่บ่งชี้ว่า จามขะแมร์ ณ ถิ่นนั้นมีประวัติชุมชนที่น่าสนใจ และมีความสัมพันธ์เดียวกันกับจามขะแมร์กลางที่พนมเปญ

นั่นคือ การก่อตั้งโรงเรียนสมัยใหม่เป็นแห่งแรกที่หมู่บ้านพนมส็อด เขตอำเภอโชดก (Chaudoc) และแบบเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้โรงเรียนอัลกุรอานแห่งแรกที่หมู่บ้านชานกรุงพนมเปญ (ก่อน2461) และเป็นชุมชนเดียวกับสุเหร่าที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมสมัยนโรดม กล่าวคือมีลักษณะแบบวัดหลวง

ถ้าไม่มีหออะซานซึ่งปลูกไว้ด้านหน้าแล้ว อัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นขะแมร์จาม ก็ดูจะกลมกลืนแบบพุทธมอญไปเสียนั่น

และหมู่บ้านพนมส็อดของกัมพูชาใต้นี่เองที่เป็นโรงเรียนนำร่องการศึกษาแผนใหม่กึ่งแบบตะวันตก ของจามในเขมร

ผ่านไป 8 ทศวรรษเท่านั้น บัดนี้ ระบบการศึกษาแผนใหม่ของจามอิสลามในพนมเปญ ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง นั่นก็คือ “โรงเรียนซามาน” ก่อตั้งโดยเฟต์อัลเลาะห์ กูเลน อดีตนักข่าวอาวุโสชาวตุรกีในปี พ.ศ. 2540 ปีที่นอกจากจะเกิดรัฐประหารในพนมเปญแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกห่าใหญ่ที่พนมเปญ

มีสถาบันการศึกษาเอกชนจำนวนมากก่อตั้งขึ้นในปีนั้น

แต่ซามานเป็นโรงเรียนมุสลิมแห่งเดียวของกัมพูชาที่มีแผนการศึกษาอาจจะแบบเดียวกับตุรกี คือเป็นโรงเรียนนานาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักแบบเดียวกับตะวันตกและม๊โครงสร้างที่ไม่มุ่งรับใช้ศาสนา แต่เน้นหลักสูตรวิชาชีพและสามัญ จนสามารถเปิดสอนทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา มีสาขาทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด และมีวิทยฐานะทัดเทียมกับสถาบันเอกชนชั้นนำของพนมเปญ

กลางปีที่ผ่านมา ซามานวิทยาลัยถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการก่อการร้าย อยู่เบื้องหลังกลุ่มทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลตุรกี จนเอกอัครทูตตุรกีกรุงพนมเปญถึงกับร้องขอ เพื่อเห็นแก่มิตรภาพและความมั่นคงของกัมพูชา รัฐบาลควรสั่งปิดสถาบันแห่งนี้เสียโดยเร็ว

แต่ดูเหมือนสมเด็จฮุน เซนจะรู้ว่า หออะซานเก่าแก่ที่เคยสงบมายาวนาน และไม่เคยส่งเสียงดังกังวานนั้น

บัดนี้มันได้ถูกปลุกให้ขึ้นตื่นมาและใช้การได้แล้ว

ถึงจะเคยอาศัยอยู่ในพนมเปญ แต่ก็ไม่เคยเห็นสุเหร่าหรือหอกระจายเสียงของชาวจามเลยสักครั้ง

แต่ถ้าหากหมายถึงเจดีย์ที่วัดบัวตุมวไตละก้อ ฉันก็พอจะคุ้นบ้าง

คะเนว่าขณะนั้นแม้จะอายุมากแล้ว แต่ยายโดนชีที่ฉันมักแวะไปสนทนาที่วัดแห่งนี้ก็ยังแข็งแรง แกมักต้อนรับฉันด้วยเรื่องเล่าแปลกๆ แนวเทวาอารักษ์ แต่น่าสนใจ โดยเฉพาะเกี่ยวกับความรุ่งเรืองในอนาคตซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ

“1-เมื่อสมเด็จสีหนุสวรรคต 2-เมื่อมีการค้นพบเมืองโบราณ”

“และ3-ถึงตอนนั้น กัมปูเจียก็จะพ้นยุคมืดไปอีกเป็นเวลานาน”

โหย ฉันไม่รู้หรอกว่าจะเชื่อหญิงแก่นักบวช ผู้มีชีวิตเช้าทุกค่ำอยู่ในช่องเจดีย์ที่มีขนาดกว้างเท่าโลงศพและสูงเท่ากับศรีษะของเราขณะนั่งทำสมาธินั่นได้อย่างไร ก็ไม่เชื่อเลย

แต่เมื่อผ่านไป 16 ปี พระเจ้าอยู่หัวสีหนุก็สวรรคต(1) อีกการค้นพบอดีตราชธานีเก่าแก่-มเหนทราบรรพตเมืองลึกลับที่หลับไหลไปเกือบพันปีได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อไม่นานมานี้เอง (2)

พลัน ฉันก็อดจะรำลึกถึงบทสนทนาของแม่ชีแห่งวัดบัวตุมวไตเสียมิได้ ฤๅ ยุคแห่งความมืดมนอนธการกำลังจะผ่านพ้นไป?

กัมพูชากำลังจะถึงกาลถ่ายเปลี่ยน? และเป็นไปตามคำทำนายของแม่ชีปริศนาที่วัดบัวตุมวไต?

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแกไปอยู่ที่ไหน? หรือสิ้นอายุขัย? และปล่อยฉันตื่นตะลึงอยู่กับเรื่องของแกแต่ในอดีตครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อจะหาทางถอดรหัสว่า สมมติฐานนี้จะมีความเป็นจริงสักมากน้อยแค่ไหน

ในการถ่ายเปลี่ยนองคาพยพแห่งระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ที่ถาวรอย่างขุดรากถอนโคน

ช่างยากเหลือกำลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่หมายถึงการระบอบการเมืองกัมพูชา แต่อย่างน้อยการปฎิรูปการเลือกตั้งในประเทศที่ดูเหมือนจะล้าหลังมากประเทศนี้ กลับมากไปด้วยวิธีการอันก้าวหน้า

นั่นก็คือ การใช้จัดทะเบียนประวัติผู้ลงคะแนนเลือกตั้งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่จะถูกนำไปใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นกลางปีหน้าและปีถัดไปสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่หก

เดิมพันอนาคตที่เริ่มจากจุดสตาร์ทแห่งความถูกต้องและเที่ยงตรง

เพียงเท่านั้น ความมืดอนธการก็หายไป