“ชัยเกษม” กางกฎหมาย ยุบพรรคเพื่อไทย เป็นไปได้ยาก

การที่ คสช. มาเล่นเรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าท่านฉลาดหรือไม่ฉลาด ผมมองว่ากรณีนี้ นักการเมืองจะยิ่งได้ คสช. จะยิ่งเสีย เพราะว่าเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมันแทบจะไม่มีอะไรที่เป็นมูลเหตุความผิดสักอย่าง ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะว่าท่านไปเอาเรื่องคนที่ขึ้นไปอ่านแถลงข่าว 3 คนเกี่ยวกับ 4 ปี คสช. แล้วก็บอกว่านั่นคือการยุยงปลุกปั่นเข้าข่ายมาตรา 116 ถ้าได้ฟังเนื้อหาแล้วถามว่ามีอะไรยุยงส่งเสริมหรือไม่ มันก็เหมือนแถลงการณ์ทุกครั้งที่ทุกพรรค นักการเมืองหลายคนออกมาพูด เมื่อปีที่แล้วครบ 3 ปี คสช. พรรคเพื่อไทยก็แถลง นอกจากนั้น พรรคการเมืองอื่นๆ ก็แถลง

นี่คือความเห็นของชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มีต่อการดำเนินคดี 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย

ชัยเกษมมองว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และวันเกิดเหตุนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาที่พรรคเข้ามาคุยกับทางหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคว่าอย่าทำอะไรให้ผิดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เหมือนกับเตือนว่าอย่าให้ถึง 5 คนนะ

ก็ตกลงคุยกันแล้วเรียบร้อย พรรคก็ลดจำนวนคนที่นั่งเวทีเหลือ 3 คนก็ยังถูกเอาเรื่องอีก

ก็เลยไม่เข้าใจว่ายังไงกันแน่ ตกลงแล้วเขาใช้มาตรฐานอะไร ผมมองไม่เห็นว่ามันจะครบองค์ประกอบทางความผิดได้

สําหรับการดำเนินคดีของตำรวจในครั้งนี้ผมมองว่ามีข้อที่น่าจะต้องปฏิรูปตำรวจ ว่าการที่จะดำเนินคดีกับใครสักคน กฎหมายมีไว้อยู่แล้วว่าก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับใคร จะต้องมีการสอบสวนให้ได้ความ และมีมูลและมีหลักฐานพอสมควรที่จะชี้ว่ามีการกระทำความผิดถึงจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาได้ ดันว่าใครที่อยู่ตรงนั้นท่านก็แจ้งหมดเลย ติดรูปใครก็แจ้งหมด ผมมองว่าสักวันท่านอาจจะต้องมารับผิดชอบก็ได้

แม้แต่การส่งหมายเรียกในกรณีแบบนี้ กฎหมายบอกชัดว่าท่านจะต้องส่ง ณ ภูมิลำเนาของผู้ต้องหา และจะต้องส่งให้กับตัวผู้ต้องหาหรือไม่ก็ต้องเป็นสามีภรรยาหรือญาติกัน ผมก็ไม่ทราบว่าเขาทำงานกันอย่างไร เพราะว่าความรู้ไม่พอ บกพร่องหรือได้รับการอบรมกฎหมายไม่พอ เนื่องจากผมได้รับหมายทั้งหมด 3 ฉบับ โดยเด็กที่บ้านเป็นคนรับ

นี่ก็ไม่ใช่คนที่มีสิทธิ์ที่จะรับได้ตามกฎหมาย ส่งมาแล้ววันรุ่งขึ้นมาส่งใหม่อีก วันต่อมาก็ได้รับหมายจากไปรษณีย์ ส่งมาอีกก็มีคนเซ็นรับแต่ก็ไม่ใช่บุคคลตามกฎหมายอีก

ผมถือว่าการดำเนินการทั้งหลายเป็นการทำไปโดยไม่มีความรอบคอบในการกระบวนการทางความยุติธรรมและไม่ได้ทำตามที่กฎหมายวางไว้

เมื่อมาพิจารณาข้อกฎหมาย อาทิ ชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผมก็ยอมรับว่าผมอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ถามว่าการชุมนุม กับการแถลงของพรรคถือเป็นการเมืองหรือไม่

ถ้าใช่ถามต่อว่าพรรคอื่นๆ แถลงทำไมไม่เป็น

จากที่ผมติดตามข่าวคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ออกมาแถลงข่าวโดยมีคนอยู่ในห้องเยอะมาก ก็ถือเป็นทางการเมือง แต่ไม่มีการดำเนินคดี

อันนี้ประชาชนต้องร่วมกันวินิจฉัยดูว่าเข้าข่ายหรือไม่

แม้กระทั่งกรณีนายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่จังหวัดบุรีรัมย์มีการพูดเรื่องการเมืองเยอะแยะไปหมด คนฟังเต็มไปหมด แต่นั่นอาจจะไม่ต้องขออนุญาตเพราะถือว่าตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้ออกกฎกติกาเอง

ซึ่งคนที่จะมาทำคดีเหล่านี้จะต้องมีดุลพินิจในการดำเนินการพอสมควร

: ยุบพรรค-ตัดสิทธิ์ได้หรือไม่?

ผมอยากให้มองผลของคดีที่เป็นผลสุดท้ายว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ผมก็ไปศึกษาข้อกฎหมายมาแล้ว เหตุที่จะไปถึงขั้นยุบพรรคได้มีอะไรบ้าง ผมพยายามศึกษารายละเอียดค่อนข้างมาก ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ผมมาดูแล้วว่า

1. จะยุบพรรคได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยได้มาด้วยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ก็ต้องมองว่าการแถลงของพรรคที่มีคนนั่งแถลงแล้วก็มีคนยืนฟังมันจะเข้าข่ายหรือไม่ผมก็มองว่าไม่มีทางที่จะเข้าได้เลย

2. การกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มันก็ไม่เข้า

3. เขามีการอ้างถึงกฎหมายหลายข้อคือมาตรา 20 28 30 36 หลายข้อ ผมมองว่า มีอยู่ 1 มาตราคือมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองคือ ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือพรรคการเมืองกระทำการหรือส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคาม ความสงบเรียบร้อยต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือกระทำการใดอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

ผมมองว่า จากการพยายามเทียบเคียงหลายๆ ข้อก็ยังไม่มีอันไหนที่นำไปสู่การยุบพรรคได้ นอกนั้นก็จะเป็นข้อกฎหมายเรื่องของการรับเงินบริจาค เรียกรับผลประโยชน์ทรัพย์สิน การแต่งตั้ง หรือจะเป็นกรณีปล่อยให้มีบุคคลอื่นมาก้าวก่ายควบคุมการทำงานของพรรค นี่ก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย ผมดูแล้วไม่มีเหตุอันใดที่จะนำไปสู่การยุบพรรคได้เลย

ส่วนประเด็นที่จะนำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองในการดำรงตำแหน่งของบางท่านก็ต้องหยิบผลคดีมาดูว่าผลคดีมันจะเข้าตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งผมดูแล้วมันก็ยังไปไม่ถึง

: ห่วงจะมีช่องหรือมีอภินิหารใดหรือไม่?

ผมมองว่าคงยังไม่มีอภินิหารทางกฎหมายใด ถ้าจะมี เช่น จะใช้มาตรา 44 แล้วก็สั่งลงโทษไปเลย อันนี้ถึงจะเรียกว่าอภินิหาร และมันไม่ควรจะเกิดขึ้นแล้วในยุคนี้สมัยนี้เพราะว่าที่ท่านได้กระทำมาในช่วง 4 ปีมันมีหลายเรื่องที่เกินกว่าควรที่จะกระทำ

จากกรณีทั้งหมดนี้ผมคิดว่าแทบจะไม่มีช่องทางใดเลยที่จะทำได้ แม้แต่ตามคำสั่งของ คสช. ก็ยังมีข้อยกเว้นอีกหลายประการ

เช่น กระทำการโดยสุจริตหรือกระทำแบบเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติอะไรทำนองนี้ก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับผิดชอบ ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายจะต้องไปเรียกร้องความเสียหายทางแพ่ง

ผมดูเรื่องนี้แล้วโดยเฉพาะเรื่องความเสมอภาคผมเห็นพรรคอื่นก็มีการประชุมมีสัมมนาในเชิงการเมืองมากมาย ก็ยังไม่เข้าข้อกฎหมาย

แถลงการณ์ของหลายๆ พรรคที่เกิดขึ้นก็ไม่เห็นมีการเข้าในทางข้อกฎหมาย เพราะฉะนั้น ผมดูแล้วไม่น่าจะเข้าได้เลย

หรือแม้แต่ตัวผมเอง ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ฟัง ผมจะโดนได้อย่างไรผมก็ไม่เข้าใจ ผมก็พยายามสอบถามจากพนักงานสอบสวนว่ามีหลักฐานอะไร ก็ได้รับคำตอบว่าเขาได้รับแจ้งมาแค่นี้ว่าให้ดำเนินการตามที่แจ้งมา ก็เหมือนเป็นการบอกว่าให้ไปสู้คดีเอาเอง

ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่าตัวเองอยู่ในฐานะที่มีความรู้และมีฐานะที่จะไปต่อสู้คดีได้ แต่ถ้ากรณีแบบนี้จะเกิดกับชาวบ้านหรือแม้แต่เกิดกับกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องอยากเลือกตั้ง เรียกร้องให้ทำตามสัญญา

ผมมองว่าเป็นการกระทำให้เขาเกิดความเดือดร้อนทั้งๆ ที่เขาใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ ให้สิทธิ์ไว้ หลายสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการยุติธรรมที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์

: ประเด็นต่อสู้หลังจากนี้

คือไม่ได้กระทำความผิด ก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาไป เพราะว่าไม่ได้ทำผิดองค์ประกอบความผิดก็ไม่เข้า ถ้าจะนับคนฟัง ผมมองว่าการแถลงไม่ใช่การมั่วสุมชุมนุมกันว่าเราได้ทำประจำ ถ้ามันผิด สิ่งที่เกิดมาแล้วหลายครั้ง แถลงข่าวแล้วหลายครั้งก็ถือว่าท่านละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้แจ้งเอาผิด

กรณีของผม ก็เทียบเท่ากับนักข่าวคนหนึ่ง ที่มายืนฟังเพราะผมก็ไม่ได้เห็นแถลงการณ์มาก่อนก็ได้รับแจกพร้อมกับสื่อมวลชน

: วิเคราะห์ว่าทำไมถึงต้องดำเนินคดี

ผมมองว่าเขาก็กลัว

กลัวว่าจะมีการทำเป็นเยี่ยงอย่าง คนอื่นจะเอาเป็นแบบอย่าง เขาก็ลำบากใจว่ามีคนแห่ออกมาแถลงถึงความล้มเหลวของรัฐบาลทั่วบ้านทั่วเมือง

ในกรณีของกลุ่มผู้ชุมนุมก็เหมือนกันถ้าเขายอมให้เด็กทำสำเร็จหรือเดินได้ ก็จะเสมือนว่าอำนาจเด็ดขาดของตนที่มี ไม่สามารถใช้ได้เต็มที่แล้ว แล้วจะทำให้มีคนออกมาเรียกร้องในเรื่องอื่นอีก เด็กออกมาไม่กี่คนแต่กำลังตำรวจมามากมาย

จริงอยู่ที่คนอาจจะชอบว่าไม่อยากให้มีม็อบ อยากให้เกิดความสงบเรียบร้อยไม่อยากมีความเคลื่อนไหวในถนนคนจะมองถึงปัญหารถติดไม่ได้รับความสะดวกสบาย

แต่ถ้าเราคิดว่าในระบบการปกครองของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแบบนี้ที่ ไม่มีฝ่ายค้าน และปล่อยให้ผู้ที่มีอำนาจบริหารประเทศสามารถทำทุกอย่างได้ตามชอบใจของตนเองและบ้านเมืองจะมีแต่ความเสียหายถ้าไม่มีคนที่กล้าแบบเด็กออกมาเลย ผมมองว่าท่านอาจจะทำอะไรที่มันไม่ควรทำยิ่งกว่านี้ก็ได้ ผมมองว่าคนในสังคมกำลังช่วยกันคานกันเองซึ่งทุกอย่างไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนคนหนึ่งคิด ก็จะมีอีกคนหนึ่งพยายามแก้ คนหนึ่งพยายามกดไว้ คนหนึ่งก็พยายามหาทางออกไปให้ได้ ไม่มีใครยอมใครแล้วแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เอาง่ายๆ รัฐธรรมนูญเวลานี้ที่ออกมาด้วยความที่อยากจะกดๆๆ ไม่ให้นักการเมืองเกิดขึ้น แล้วอยากจะอยู่ อยู่ อยู่ต่อไป ก็ออกแบบขึ้นมา

ผมก็ยังมองเลยว่า ถ้าวันหนึ่งท่านเกิดได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งไม่ว่าจะด้วยเหตุอันใดก็ตาม แต่ท่านไม่มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เพียงพอท่านก็จะบริหารประเทศไม่ได้อยู่ดี เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็นจุดอ่อน แล้ววันหนึ่งจะมีส่วนเป็นกับดักกับตัวเขาเอง ไม่งั้นท่านไม่มีความพยายามเที่ยวไปดูด ส.ส. หลายสถานการณ์มันชวนให้คิดไปอย่างนั้น เขาก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อได้เสียงสภาล่าง ถ้าเสียงไม่เพียงพอกฎหมายผ่านไม่ได้ บ้านเมืองก็ไปไม่ได้ ไม่มีใครทั้งนั้นที่จะยืนยาวได้ในรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะแบบนี้ตามความเห็นของผม

ผมเชื่อว่าท่านจะติดกับดักเองแล้วก็จะต้องแก้เอง การทำอะไรโดยคนกลุ่มๆ เดียวและคิดว่าที่ทำมาทำดีที่สุดแล้ว

ขนาดช่องทางปกติ กฎหมายมีการอภิปรายหลายคน มีการถกเถียงกันมากมายกว่าจะได้

แต่นี่คนไม่กี่คน ออกแบบก็มีปัญหา