คนมองหนัง : เขียนถึง “น้อง.พี่.ที่รัก”

คนมองหนัง

ฉากรำลึกซีรี่ส์กำลังภายในเรื่อง “กระบี่ไร้เทียมทาน” คือซีนที่ถูกจดจำได้มากที่สุดซีนหนึ่งของหนังไทยเรื่อง “แฟนฉัน” ผลงานเปิดตัวสร้างชื่อของ “จีทีเอช/จีดีเอช”

ขณะนั่งดูสายสัมพันธ์ระหองระแหงระหว่าง “พี่ขอย” กับ “น้องเจน” ใน “น้อง.พี่.ที่รัก” ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ “วิทยา ทองอยู่ยง” (หนึ่งในผู้กำกับฯ “แฟนฉัน”) ผมดันย้อนนึกไปถึงฉากสำคัญฉากหนึ่งใน “ยอดยุทธจักรมังกรฟ้า” ซีรี่ส์ภาคต่อของ “กระบี่ไร้เทียมทาน” ขึ้นมา

นั่นคือฉากที่ “ฮุ้นปวยเอี๊ยง” ตัวละครซึ่งน่าจะเป็นพระเอก ถูกบรรดามารจากพรรคบัวขาวรุมฆ่าตายอย่างอนาถ ภายหลังเขาเพิ่งตระหนักว่า “มารชมพู” มือสังหารเหี้ยมเกรียมแห่งยุทธภพ เป็นน้องสาวแท้ๆ ต่างแม่ ที่ถูกกล่อมประสาท

ระหว่างตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก มารชมพูหรือ “ต๊กโกวหงส์” ก็จัดการเป่าเข็มอาวุธลับใส่คอหอย “ฮุ้นปวยเอี๊ยง” นำไปสู่จุดจบอันชวนรันทดใจของสุดยอดจอมยุทธ์

การนำ “ยอดยุทธจักรมังกรฟ้า” มาซ้อนทับกับ “น้อง.พี่.ที่รัก” คล้ายจะเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัว แต่วิธีการเทียบเคียงเช่นนี้ก็มีความชอบธรรมอยู่มิใช่น้อย หากประเมินว่าผลงานของวิทยานั้นดำเนินเรื่องแบบ “การ์ตูน” จนตัดข้ามความเป็นไปได้จริงๆ ไปมากพอสมควร (ไม่ต่างจาก “ซีรี่ส์กำลังภายใน)

ที่สำคัญ ชะตากรรมของพี่ชายและน้องสาวในหนังไทยเรื่องนี้ ยังมีศักยภาพสูงพอซึ่งจะพัฒนาไปสู่รูปแบบความสัมพันธ์อัน “เจ็บปวดร้าวราน” มากที่สุดหนหนึ่งในจักรวาลภาพยนตร์ “จีทีเอช/จีดีเอช”

ไม่ต่างอะไรกับโศกนาฏกรรมระหว่าง “ฮุ้นปวยเอี๊ยง” กับ “ต๊กโกวหงส์”

ทว่าเรื่องราวของ “น้อง.พี่.ที่รัก” ก็มิได้ดำเนินไปสู่ทิศทางเช่นนั้น เพราะหนังยังต้องปิดฉากลงอย่างแฮปปี้มีความหวังสอดคล้องกับแนวคิด “Gross Domestic Happiness”

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์หรือองค์ประกอบระหว่างทางที่นำพาคนดูมุ่งหน้าไปถึงความสุขเบื้องท้าย ยังมีปัญหาหรือจุดน่าสนใจชวนขบคิดอยู่หลายข้อ

ข้อแรกที่ถกเถียงกันไม่น้อย คือ คำถามว่าทำไม “น้องเจน” ต้องให้อภัย “พี่ชัช/พี่ขอย” อยู่เสมอ?

ผลงานเรื่องนี้ของวิทยาดูจะมีจุดร่วมกับผลงานหลายเรื่องของ “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” ผู้กำกับฯ รางวัลปาล์มทองคำ ชาวญี่ปุ่น อยู่ไม่น้อย

ผ่านการถกเถียงถึงสภาวะการดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ว่าสายใยดังกล่าวทำหน้าที่เชื่อมร้อยผู้คนกลุ่มหนึ่งเพราะ “สายเลือดร่วมกัน” ของพวกเขา หรือเพราะเหตุผลประการอื่น? (เพียงแต่โคเรเอดะไม่ได้เล่าเรื่องราวเป็น “การ์ตูน” เหมือนวิทยา)

ต้องยอมรับว่า “น้อง.พี่.ที่รัก” สามารถเชิญชวนผู้ชมให้ครุ่นคิดถึงปัญหาข้อนี้ได้ดีพอสมควร ผ่านอารมณ์ขันและการดำเนินเรื่องอันสนุกสนานเพลิดเพลินเคล้าน้ำตา

แม้จะมีจุดที่ทำให้รู้สึก “เอ๊ะ” อยู่บ้างก็ตาม

ตัวละครอย่าง “พี่ชัช/พี่ขอย” อาจถูกคนทำหนังใส่สีตีไข่มากไปหน่อย ในเรื่องที่เขาเป็นคนเละเทะ ไม่รับผิดชอบ ไม่ดูแลบ้านอย่างสิ้นเชิง (ถ้าแย่ขนาดนั้น เขาคงทำงานเป็นเออีไม่ได้ คงไม่มีเสื้อสูทเนี้ยบๆ ใส่ บ้านและรถสปอร์ตสวยๆ คงผุพังไม่มีชิ้นดี หรือเลี้ยงนกฮูกไม่รอด)

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าพิจารณาจากวิธีคิดหรือการตัดสินใจในหลายเรื่อง “พี่ขอย” ก็เป็นพี่ชายหรือกระทั่งเป็นเพื่อนมนุษย์ที่นิสัยห่วย ไม่น่าคบหาด้วยจริงๆ

ถ้าครอบครัวของ “พี่ขอย” และ “น้องเจน” เป็นครอบครัวชนชั้นกลาง รายได้ปานกลาง หรือเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วๆ ไป ก็แทบไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่น้องสาวจะต้องพยายามสอดมือเข้าไปช่วยเหลือประคับประคองพี่ชายคนนี้ (ควรจะใช้ชีวิตแบบ “ตัวใครตัวมัน” ดีที่สุด)

เว้นเสียแต่ว่าครอบครัวของสองพี่น้องจะมีฐานะ มีกิจการส่วนตัวใหญ่โต หรือมีหน้ามีตาในสังคม กระทั่งสายสัมพันธ์หรือเกียรติยศศักดิ์ศรีของครอบครัวเป็นอะไรมากกว่าความสัมพันธ์เชิงสายเลือดปกติ

และชีวิตที่ล้มเหลวย่อยยับของสมาชิกรายหนึ่งอาจส่งผลให้สถานภาพดั้งเดิมของทุกคนในครอบครัวต้องพังทลายลง

อย่างไรก็ตาม ภาพของครอบครัว “พี่ขอย-น้องเจน” ที่หนังฉายออกมานั้นกลับพร่าเลือนและกำกวมพอสมควร

คือ พวกเขาเหมือนจะร่ำรวยแต่ก็ไม่ถึงขั้นนั้น เหมือนจะลำบากนิดๆ แต่ก็ไม่ยากจน เหมือนแต่ละคนจะยืนอยู่ได้เพราะมีครอบครัวสนับสนุน แต่อีกด้าน ต่างฝ่ายต่างก็มีศักยภาพในการเอาชีวิตรอดด้วยฐานะปัจเจกบุคคลของตัวเอง

เช่นเดียวกับที่ทั้งหมดมาจากจังหวัดมหาสารคาม แต่ก็แทบไม่มีลักษณะความเป็น “คนอีสาน” หลงเหลืออยู่อีกแล้ว

เมื่อสถานภาพว่าด้วย “ความเป็นครอบครัว” เหล่านี้ไม่ชัดเจน คนดูบางส่วนจึงอาจรู้สึกว่า “น้องเจน” ช่วย “พี่ชัช/พี่ขอย” แล้วได้อะไรขึ้นมา? หรือทำไมเธอจึงต้องประพฤติตนประหนึ่ง “เจ้าแม่” ผู้คอยอุปถัมภ์ค้ำจุน จนถึงขั้นฝากงานและโอนบ้านให้พี่ชายฟรีๆ

อีกจุดหนึ่งในครอบครัวของสองพี่น้องที่ชวนให้คนดูขบคิดต่อได้ไม่น้อย คือ ตัวละครอย่าง “แม่” (ไก่ เดอะวอยซ์) และ “ป้า/ลุง” (ถนอม สามโทน)

หนังพยายามให้ภาพที่น่าสนใจว่า ครอบครัวนี้มีพื้นฐานอันไม่สมบูรณ์ เพราะพ่อฝรั่งเศสทิ้งลูกเมียกลับประเทศ จนเหลือเพียงแม่เลี้ยงเดี่ยวและลูกชายหญิงสองคน พร้อมเพิ่มเติมสีสันฉูดฉาด ด้วยการปรับเปลี่ยนเพศสภาพของลุงให้กลายเป็นป้า

ทว่าขณะชมภาพยนตร์ ผมกลับเกิดคำถามขึ้นมาแว้บหนึ่งว่า จริงๆ แล้ว บทภาพยนตร์แบบไหนจะไปไกลกว่ากัน ระหว่างการกำหนดให้ลุงกลายเป็น “พ่อเลี้ยง” หรือ “คู่ชีวิตใหม่” ของแม่ (ไม่ใช่พี่ชาย/พี่สาวแม่) กับการเปลี่ยนให้ลุงกลายเป็น “ผู้หญิงข้ามเพศ”?

เพราะไปๆ มาๆ การทะลุกรอบเพศสภาพของตัวละคร “ป้า/ลุง” ก็ถือเป็นการจำกัดกรอบให้ตัวละคร “แม่” ต้องดำรงความเป็นโสดหรือความเป็น “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่เริ่มต้นครอบครัวใหม่ไม่ได้ไปตลอดกาล

ประเด็นนี้ไม่ใช่ข้อผิดพลาดบกพร่องของทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าการเลือกเล่าเรื่องราวบนเส้นทางแบบหนึ่ง อาจกระตุ้นให้ผู้ชมค้นพบทางเลือกอีกแบบโดยบังเอิญ

ความสงสัยประการสุดท้ายที่ปรากฏขึ้นหลังชม “น้อง.พี่.ที่รัก” จบลง นั้นผุดขึ้นท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่าหนังเริ่มต้นเรื่องราวในยุคปัจจุบัน (ซึ่งผู้คนติดต่อกันทางเฟซบุ๊กและไลน์) และยุติ/คลี่คลายเรื่องราวในยุคอนาคต อีกประมาณ 4-5 ปีข้างหน้า (ประเมินจากอายุลูกชายคนโตของนางเอก)

สิ่งที่แปลกมากๆ คือ หนังได้ฉายภาพสายสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่ห่างเหิน หมางเมิน ผุพัง รอคอยการซ่อมแซม ซึ่งพร้อมจะแตกสลายหรือเชื่อมประสาน (ณ พ.ศ.2565-2566) ในบรรยากาศ-บริบทของการติดต่อสื่อสารแบบเดิมๆ เหมือนช่วงเวลาปัจจุบันเป๊ะ

น่าตั้งคำถามว่าอีกครึ่งทศวรรษถัดจากนี้ เทคโนโลยีรายรอบกายมนุษย์จะเคลื่อนหน้าไปถึงจุดไหน? จะทำให้ผู้คนเกลียดชังกันมากกว่าเดิม? หรือจะช่วยให้พวกเขาปรับความเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น?

และ “ความสุข” “การมีอารมณ์ดี” “ความคิดมุมบวก” จะมีลักษณะเป็น “สากล-ไม่เปลี่ยนแปลง” ท่ามกลางความผันแปรดังกล่าวจริงหรือ?