ประเมินผลงาน 6 เดือน “บิ๊กตู่” ปรับโครงสร้าง กศจ. แค่คาบเส้น!!

ผ่านไปแล้วกว่า 6 เดือน หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 สั่งปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระดับภูมิภาคใหม่ ยุบคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ

และโอนอํานาจให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน ตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ในภูมิภาค (คปภ.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน

เป้าหมายเพื่อให้การขับเคลื่อนการศึกษาตามกรอบระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เกิดการบูรณาการงานระดับพื้นที่ให้โรงเรียนในระดับต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน ทำงานเชื่อมโยงกันมากขึ้น

มีความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล แก้ปัญหาการเกลี่ยอัตรากำลังครู การบรรจุครูใหม่ การย้ายครูข้ามเขต การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน การดำเนินการทางวินัย ที่กระแสข่าวว่ามีการเรียกรับเงินมาโดยตลอด…

ซึ่งงานแรกที่ กศจ. เข้ามาดำเนินการคือ การโยกย้ายครู และจัดสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2559 ที่ยังไม่พบปัญหา

แต่ที่ยังไม่ลงตัวคือการตั้ง ศธภ. ที่ยังมีไม่ครบ 18 ตำแหน่ง ซึ่ง ศธ. เตรียมเกลี่ยอัตรากำลังตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 ของทั้ง 5 ส่วนราชการ มาใช้เป็นฐานกำหนดตำแหน่งผู้ตรวจราชการ ศธ. เพื่อให้ ศธ. มีผู้ตรวจราชการ 18 ตำแหน่ง

และการสรรหากรรมการ กศจ. ในส่วนของผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่น 2 ตำแหน่ง ผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่น 2 ตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 3 ตำแหน่ง แทนกลุ่มที่ คปภ. แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวซึ่งหมดวาระไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

งานนี้นักวิชาการอย่าง นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา อดีตประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ประเมินการทำงาน กศจ. ในช่วง 6 เดือนแรก ว่ายังไม่บรรลุตามเป้าหมาย ให้แค่ 5 เต็ม 10 คะแนน ทั้งเรื่องการบูรณาการงานระดับพื้นที่ ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และความคล่องตัวในการบริหารงาน โดยเรื่องการบูรณาการงานระดับพื้นที่ฯ กศจ. ทำแค่เรื่องการบริหารงานบุคคลอย่างเดียว ไม่ทำเรื่องบูรณาการ ทั้งที่เป้าหมายของการปรับโครงสร้างครั้งนี้ก็เพื่อดึงทุกหน่วยงานภายในจังหวัด มาช่วยวางแผนการบูรณาการการทำงานเพื่อให้บรรจุเป้าหมายตามที่จังหวัดกำหนด แต่ในทางปฏิบัติหน่วยงานดังกล่าวกลับต้องมาประชุมเรื่องการบริหารงานบุคคลที่เป็นงานรูทีนซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ จึงเกิดความเบื่อหน่าย ฉะนั้น มองว่าควรมอบอำนาจเด็ดขาดให้คณะอนุกรรมการดูแลเรื่องการบริหารงานบุคคล ส่วน กศจ. กำกับนโยบายเพื่อจะได้มาทำเรื่องงานบูรณาการงานซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก

ด้าน นายอดิศักดิ์ มุ่งชู ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19 (เลย-หนองบัวลำภู) บอกว่า สนับสนุนกับนโยบายของ ศธ. โดยหลักการการบริหารของ กศจ. เพื่อความเป็นเอกภาพ แต่การเชื่อมต่อสู่โรงเรียน ยังขาดช่วง นั่นคือคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ถ้าสามารถทำให้บทบาทชัดเจน และเข้มแข็ง ก็จะช่วยถ่วงดุลและคานอำนาจของ กศจ. ซึ่งจะทำให้การบริหารรูปแบบ กศจ. เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

นายชนาธิป สำเริง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 4 เห็นว่าการมี กศจ. เพื่อทำหน้าที่ดูแลเรื่องการบริหารงานบุคคลจะทำให้การเกลี่ยครู แต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษา มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเรื่องปกติที่การดำเนินงานในระยะแรกจะเกิดปัญหา แต่ระยะยาวคิดว่าจะทำให้หน่วยงานที่จัดการศึกษา ทำงานแบบเชื่อมโยงและมีการบูรณาการ ในรูปแบบของจังหวัดมากขึ้น

ทั้งนี้ ยอมรับว่า กศจ. มีปัญหาการทำงานบ้าง อาทิ คณะกรรมการ กศจ. มาจากหลายภาคส่วน ทำให้บางคนไม่มีความรู้เรื่องการศึกษา งานบางอย่างจึงขับเคลื่อนไปได้ช้า

แต่ประเด็นที่อยากให้ปรับแก้คือ ขอให้แยก ศธจ. ซึ่งขณะนี้ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) เขต 1 รับหน้าที่โดยตำแหน่ง อาจจะให้ใช้วิธีการสรรหา หรือวิธีการคัดเลือกอื่นๆ เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ตั้งให้ ผอ.สพป. เขต 1 ไปทำหน้าอย่างปัจจุบัน เพราะเขตพื้นที่ฯ แต่ละแห่งมีหน้าที่ที่ต้องดูแล

ขณะที่ทางด้าน นพ.กำจร ตติยกวี อดีตปลัด ศธ. ซึ่งดูแลเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ระบุว่าไม่อยากให้ใช้ความรู้สึกประเมิน ยังมีอีกหลายส่วนที่มองไม่เห็น และเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กศจ. เช่น หลายจังหวัดทุ่มงบประมาณให้กับการศึกษาซึ่งเป็นผลกระทบเชิงบวกและเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากเป้าหมายที่วางไว้ และจะว่าไปการบริหารรูปแบบ กศจ. ก็ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย ไม่เข้าที่ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกที่ยังมีการถกเถียงถึงขอบเขตอำนาจของ กศจ. จึงยังไม่ได้ทำงานเต็มที่ อีกทั้งการปรับเปลี่ยนผู้บริหารทั้งของกระทรวงมหาดไทย และ ศธ. ในช่วงที่ผ่านมา ย่อมมีแรงกระเพื่อมต่อการทำงานของ กศจ. เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นช่วงแรกไม่เห็นผลแน่นอน เพราะเราเน้นเปลี่ยนแปลงกระบวนการก่อน

ขณะเดียวกัน ศธ. ก็ต้องปรับระบบงานบุคคลทั้งเรื่องโยกย้าย การรับครูผู้ช่วย การคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของระบบและกระบวนการ หลายคนถามว่าแล้วเรื่องโครงสร้างไปเกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษาอย่างไร ตอบได้เลยว่าเกี่ยวข้องโดยตรง ฉะนั้น ถ้าจะมาประเมินความสำเร็จของการบริหารรูปแบบ กศจ. มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมิน เปรียบเหมือนการประเมินคนที่กำลังว่ายน้ำอยู่กลางน้ำ ที่ยังเร็วเกินไปที่จะมาตอบว่าจะว่ายถึงฝั่งหรือไม่

คงต้องจับตาดูต่อไปว่าผลจากการปรับโครงสร้าง กศจ. จะส่งผลดีต่อการจัดการศึกษาในภาพรวมอะไรบ้าง

แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าเราไม่ทำให้โรงเรียนเข้มแข็ง ครูเข้มแข็ง ต่อให้โครงสร้างเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาได้!!!