ต่างประเทศ : ปิดฉากค้นหาเอ็มเอช 370 เหลือไว้เพียงปริศนาคาใจ

กว่า 4 ปีแล้วที่เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 เที่ยวบินเอ็มเอช 370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินรวม 239 ชีวิต

หลังเดินทางออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย เพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนในช่วงหลังเที่ยงคืนเข้าสู่วันที่ 8 มีนาคมปี 2557 อันเป็นจุดหมายปลายทางที่ไปไม่ถึง

ภายใต้การควบคุมเครื่องของกัปตันซาฮารี อาหมัด ชาห์ นักบินคนที่ 1 ชาวมาเลเซียประจำเที่ยวบินดังกล่าว

มีหลายข้อสันนิษฐาน หลายทฤษฎีที่ถูกตั้งขึ้นมา

ทั้งอาจเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค ความผิดพลาดของมนุษย์ ไปจนถึงทฤษฎีก่อการร้ายที่เป็นเจตนาของตัวนักบินที่ควบคุมเครื่องเอง ในความพยายามที่จะนำมาอธิบายหรือสืบสาวหาสาเหตุของการสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเที่ยวบินเอ็มเอช 370

ที่ทุกฝ่ายรวมถึงนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมการบินและเทคโนโลยีการติดตามค้นหาชั้นสูงยังคงมึนตึ้บกับการหายไปอย่างลี้ลับของเที่ยวบินปริศนานี้

ถือเป็นเคสที่สร้างความพิศวงงงงวยให้กับวงการอุตสาหกรรมการบินโลกมากที่สุดครั้งประวัติศาสตร์

 

ปฏิบัติการค้นหาซากเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ในช่วงแรกหลังวันเกิดเหตุ ทีมปฏิบัติการพุ่งเป้าการค้นหาไปในบริเวณพื้นที่ทะเลจีนใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ในเส้นทางการบินตามแผนการบินของเที่ยวบินนี้หลังออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์

ซึ่งเครื่องบินจะต้องขึ้นไปทางเหนือเพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่ง ที่เป็นจุดหมายปลายทาง

ทว่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลในภายหลังมีสิ่งบ่งชี้ว่าเครื่องบินได้หักหัวมาทางทิศตะวันตกและน่าจะมุ่งหน้าลงสู่ทิศใต้

ทำให้ปฏิบัติการค้นหาถูกหักเหสู่มหาสมุทรอินเดียที่คาดว่าน่าจะเป็นจุดตกของเที่ยวบินเอ็มเอช 370 แทน

แต่นับจากวันที่เที่ยวบินเอ็มเอช 370 สูญหายไปจนถึงเดือนมกราคมปี 2560 เป็นเวลาถึง 3 ปีที่ปฏิบัติการค้นหาซากเที่ยวบินเอ็มเอช 370 อย่างเป็นทางการโดยความร่วมมือของ 3 ประเทศได้แก่ มาเลเซีย ออสเตรเลียและจีน ที่ใช้สรรพกำลังที่มีอยู่ในทุกด้านทั้งการระดมกองเรือ เครื่องบิน อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นเสียงใต้ทะเลและอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ในการติดตามค้นหาเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ซึ่งครอบคลุมทั้งบนผิวน้ำและใต้ทะเลกินพื้นที่ในมหาสมุทรอินเดียเป็นบริเวณกว้างถึง 120,000 ตารางกิโลเมตร

และใช้งบประมาณในการค้นหาไปแล้วถึง 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5,000 ล้านบาท ก็ยังไม่ประสบผลที่จะพบจิ๊กซอว์สำคัญในการจะนำไปสู่การพบเจอซากเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ทั้งลำแต่ประการใด

แม้ว่าจะมีการพบชิ้นส่วนปีกเครื่องบิน ขนาด 2 เมตร บนชายหาดของเกาะเรอูนียง ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมปี 2558 ซึ่งจากการส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ประเทศฝรั่งเศสในภายหลังได้รับการยืนยันว่าเป็นซากชิ้นส่วนของเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ก็ตาม

แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยเปิดทางให้นำไปสู่การพบจุดที่เที่ยวบินเอ็มเอช 370 ตกแต่อย่างใด

 

ปฏิบัติการค้นหาเที่ยวบินปริศนานี้อย่างเป็นทางการด้วยความร่วมมือจาก 3 ชาติที่เกี่ยวข้องยุติลงในเดือนมกราคมปีที่แล้ว ท่ามกลางเสียงก่นประณามของครอบครัวผู้โดยสารและลูกเรือที่อยู่บนเที่ยวบินดังกล่าวที่ต้องการให้เดินหน้าค้นหาต่อไป

ก่อนที่รัฐบาลมาเลเซียในสมัยรัฐบาลนายนาจิบ ราซัก จะยอมให้โอกาสโอเชียน อินฟินิตี บริษัทเอกชนที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงจากสหรัฐอเมริกาได้เข้ามารับไม้ต่อในปฏิบัติการค้นหาเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ภายใต้ข้อตกลงที่จะไม่มีการจ่ายเงินค่าจ้าง หากแต่รัฐบาลมาเลเซียจะมีเงินรางวัลให้จำนวน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,240 ล้านบาท หากบริษัทโอเชียน อินฟินิตีหาพบซากเอ็มเอช 370 โดยตั้งเงื่อนเวลาในปฏิบัติการค้นหาไว้ภายในเวลา 90 วัน

แต่ก็ได้มีการขยายเวลาให้ออกไปถึง 2 ครั้ง ซึ่งโอเชียน อินฟินิตี ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญพร้อมนำเทคโนโลยีชั้นสูงในการค้นหาซากเอ็มเอช 370 ใต้ทำเลกินพื้นที่กว่า 112,000 ตารางกิโลเมตรในมหาสมุทรอินเดีย

จนกระทั่งในที่สุดเมื่อต้นสัปดาห์นี้รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศยุติการค้นหาเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ของบริษัทโอเชียน อินฟินิตีลง

เป็นการปิดฉากการค้นหาที่ไร้ความหวังจะพบเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ภายใต้คำมั่นสัญญาจากมาเลเซีย ออสเตรเลียและจีนว่าการค้นหาเที่ยวบินเอ็มเอช 370 จะเกิดขึ้นได้อีกก็ต่อเมื่อมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ บ่งชี้ถึงตำแหน่งที่ตั้งของเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ว่าอยู่ที่ใดปรากฏออกมา…