โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 130 ไทย : ศูนย์ขยะโลกแห่งใหม่?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

การผนึกกำลังระหว่างตำรวจกับเจ้าหน้าที่อีก 5 กระทรวงบุกเข้าตรวจค้นโรงงานคัดแยกขยะอุตสาหกรรมที่จังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบกากขยะพิษนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า ไทยอาจจะกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะแห่งใหม่ของโลกแทน “จีน” ก็เป็นได้

โรงงานอ้างว่ารับขยะพิษมารีไซเคิล แต่กรรมวิธีการรีไซเคิลโรงงานไม่ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ

ภายในโรงงานไม่มีระบบป้องกันก๊าซอันตราย ไม่มีระบบป้องกันกลิ่น ไม่มีระบบป้องกันน้ำเสีย

เจ้าของโรงงานยังทิ้งกองขยะไว้กลางแจ้ง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากฝนตกชะล้างไปสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า แรงงานที่ทำงานในโรงงานส่วนหนึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย

 

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าชุดปฏิบัติการบุกค้นโรงงานขยะพิษ ให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันมีการนำเข้ากากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะอุตสาหกรรมจำนวนมาก

โรงงานคัดแยกขยะอุตสาหกรรมเฉพาะใน จ.ฉะเชิงเทรา มีทั้งหมด 18 แห่ง 3 แห่งอยู่ใน อ.แปลงยาว แต่มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ขออนุญาตถูกต้อง อีก 15 แห่งเป็นโรงงานเถื่อนไม่ได้ขออนุญาต

เจ้าของโรงงานเป็นนักธุรกิจต่างชาติร่วมลงทุนกับคนไทยนำเข้าขยะส่วนใหญ่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

แนวโน้ม นายทุนสำแดงสินค้านำเข้าเป็นเท็จและเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่พบมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 2.ไดนาโม และ 3.เพาเวอร์ซัพพลาย

ทางโรงงานจะแยกโลหะซึ่งฝังอยู่ในขยะออกมา อาทิ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำไปชุบสารเคมีเพื่อสกัดตะกั่ว ทองแดงและอะลูมิเนียม

ขยะบางชิ้นจะมีทองคำ ทองคำขาว และเหล็กผสมอยู่ด้วย

ขยะสิ่งที่เหลือจากการสกัดคือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือพีซีบี (PCB-printed cir-cuit board) เป็นขยะไร้ค่าแต่กำจัดยากมากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากต้องใช้กรรมวิธีซับซ้อนเนื่องจากถ้าเอาไปเผาจะเกิดควันพิษ

หากฝังใต้ดิน สารพิษที่อยู่ในพีซีบีรั่วซึมสู่พื้นที่สาธารณะหรือแหล่งน้ำ

 

ในเมืองไทยมีโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมประเภทพีซีบีที่ถูกต้องมีแค่ 3แห่ง แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

โรงงานขยะพิษจึงเลือกใช้วิธีขนพีซีบีไปทิ้งเรี่ยราดในป่าหรือตามท้องไร่ที่ห่างไกลผู้คนเพื่อลดต้นทุน แสดงถึงความเห็นแก่ตัวและไร้จิตสำนึกต่อสาธารณะ

ในความเป็นจริงปรากฏการณ์แอบทิ้งขยะพิษในที่สาธารณะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

ตั้งแต่เริ่มทำข่าวภูมิภาคในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ราวๆ ปี 2534 มีข่าวการทิ้งขยะพิษในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคกลาง เช่น จังหวัดอุทัยธานี ชลบุรี รวมทั้งฉะเชิงเทรา

เจ้าหน้าที่เข้าสืบค้นอย่างจ้าละหวั่น แต่ยากที่จะจับกุมตัวการได้เพราะแก๊งทิ้งขยะพิษแอบขนมาทิ้งบริเวณป่าหรือที่เปลี่ยวในยามวิกาล ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์

 

วันนี้ขยะพิษยังเป็นข่าวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและปริมาณขยะพิษเพิ่มขึ้นน่าตื่นตกใจ

ในเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อ้างข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ปริมาณกากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่อันตราย ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งพื้นที่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 37.4 ล้านตัน

แบ่งเป็นกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย 2.8 ล้านตัน หรือร้อยละ 7.49 และกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย 34.6 ล้านตัน หรือร้อยละ 92.51

จากสถิติ 5 ปี ย้อนหลัง ปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปี 2555 มีปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม 4,387,769 ตัน ขณะที่ปี 2556 มีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว คือ 10,150,937 ตัน

ปี 2557 มีปริมาณขยะเพิ่มเป็น 12,322,492 ต้น

ส่วนปี 2558 มีปริมาณลดลงเล็กน้อย 11,159,866 ตัน

ปี 2559 มีปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมพุ่งสูงขึ้นถึง 16,340,000 ตัน

ปัจจุบันหมู่บ้านหลายแห่งทั้งในพื้นที่ภาคกลางและอีสานกลายเป็นแหล่งรวมขยะพิษ

นายทุนขนขยะพิษไปให้ชาวบ้านแกะชิ้นส่วนโลหะที่มีราคาออกมาจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์

ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยากจนและไม่รู้เท่าทันนายทุนว่าขยะเหล่านี้เป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ผลที่ตามมาทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ ในหมู่บ้านพากันเจ็บป่วยเพราะสารพิษปนเปื้อนในขยะซึมกระจายไปทั่ว

 

ส่วนสาเหตุที่มีปริมาณขยะพิษมีปริมาณเพิ่ม เนื่องจากแหล่งรับซื้อที่ใหญ่สุดของโลกคือจีนห้ามนำเข้าเนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าขยะเหล่านี้ทำลายสิ่งแวดล้อมของจีนเป็นอย่างมาก (อ่านเพิ่มเติมในบทความโลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 128)

ชาวจีนได้รับผลกระทบทั้งสุขภาพและระบบนิเวศน์ รัฐบาลจีนจึงต้องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมกลับสู่ภาวะปกติ

ตรงกันข้ามกับบ้านเรา เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยให้นายทุนใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย นำเข้าขยะพิษอย่างอิสระ ด้วยข้ออ้างขยะเหล่านี้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมของผู้บริหารประเทศบ้านเราในเวลานี้จึงต่างกับจีนอย่างมาก

เมื่อไม่กี่วันมานี้ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง เพิ่งประกาศว่า รัฐบาลจีนต้องลุยใช้มาตรการเข้มข้นกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

สิ้นคำประกาศผู้นำ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของจีน ออกคำสั่งห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลประเภทอิฐ คอนกรีต เพิ่มเติมจากคำสั่งเดิมห้ามนำเข้าขยะ 3 ประเภท 24 ชนิดที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวจีน

ถ้าผู้นำบ้านเรายังมองไม่ออกว่า ขยะพิษคือปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน เชื่อได้ว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะเป็นแหล่งขยะพิษของโลกแห่งใหม่