สำรวจเส้นทาง”คนนอก” “เพื่อไทย-ปชป.”ตัวแปร จับตาเสียงคำราม”ยุบสภา”

ปรากฏการณ์”คนนอก”ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 2560

แจ่มชัดขึ้นมาอีกระดับหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยส่งกลับร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ. ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไปปรับจูนเนื้อหาบทเฉพาะกาล

ให้สอดคล้องกับ”คำถามพ่วง”ที่ผ่านการลงประชามติ

ใน 2 ประเด็นหลัก เกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองหรือที่เรียกว่า”นายกฯ คนนอก” กับความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิ 250 ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

ประเด็นแรก ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถึงจะไม่เพิ่มสิทธิให้ ส.ว. 250 คนสามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ตามที่ สนช. เจ้าของคำถามพ่วงพยายามผลักดัน แต่ยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการร่วมหวตเลือกนายกฯ

ที่สำคัญยังมีสิทธิร่วมเข้าชื่อกับ ส.ส. ให้ได้กึ่งหนึ่งหรือ 376 คนจากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน ในการเสนอญัตติขอ”งดเว้น”เลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง

กล่าวอีกอย่างก็คือการเสนอ”ปลดล็อก”ให้เลือกคนนอกบัญชีได้

เสนอญัตติแล้วขั้นตอนต่อไปต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนขึ้นไปในการโหวตผ่านญัตติ

เมื่อญัตติผ่านจึงจะเลือกคนนอกเป็นนายกฯ ได้ โดยให้ ส.ส. เป็นผู้เสนอชื่อ ส่วน ส.ว. ให้มีสิทธิแค่ร่วมโหวตเท่านั้น

จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงไฮไลต์สำคัญที่ต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา ส.ส.-ส.ว. กึ่งหนึ่งหรือ 376 เสียง

โหวตอุ้ม”คนนอก”เข้ามาเป็นนายกฯ

สำหรับประเด็นที่สอง เกี่ยวกับเงื่อนเวลาการเปลี่ยนผ่าน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกฯ ได้ตลอดในช่วง 5 ปีไม่ว่าจะยุบสภาหรือเลือกตั้งกี่ครั้งก็ตาม

ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเลือกตั้งรอบแรกอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ทั้ง 2 ประเด็นโดยการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ถูกมองเป็นหนึ่งใน”อุปกรณ์อำนวยความสะดวก” ให้คนนอกที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ

ทั้งยังเป็นเครื่อง”กีดขวาง”คนในบัญชีพรรคการเมืองไปพร้อมกัน

กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ คนนอก โดยใช้เสียงสมาชิกรัฐสภาจำนวนกึ่งหนึ่งหรือ 375 คนขึ้นไป

จะมองว่าง่ายก็ง่าย มองว่ายากก็ยาก

เพราะถึงจะมีการวางกลไกบังคับทิศทางในเบื้องต้น ด้วยการให้ ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งของกลุ่มอำนาจมีสิทธิเสนอ”ปลดล็อก”และร่วมโหวตนายกฯ ตามที่ได้กำหนดตัวไว้แล้ว

แต่การไปถึงจุดหมายสูงสุดนั้นได้ก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพา ส.ส. จากพรรคการเมืองอีก 126 เสียงขึ้นไป

ตรงนี้เองทำให้ทุกอย่างมีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง”แน่นอน”และ”พลิกผัน”

ความแน่นอนของการมีนายกฯ คนนอกหลังเลือกตั้งในปี 2560 ได้รับการปูทางไว้เป็นระบบมาตั้งแต่ต้น

เห็นจากการบัญญัติมาตรา 35 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่เสมือนเป็น”แผนแม่บท”ในการร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ยุค นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาจนถึงยุค นายมีชัย ฤชุพันธุ์

เห็นจากวิธีเลือกตั้งแบบ”สัดส่วนผสม” ที่ออกแบบไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะประกาศใช้เดือนหน้า

เพื่อสกัดไม่ให้พรรคการเมืองใดก็แล้วแต่ได้เสียง ส.ส. ในสภาเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนการเลือกตั้งเกือบทุกครั้งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าในนามพรรคไทยรักไทย พลังประชาชนหรือเพื่อไทย

เห็นจาก”คำถามพ่วง”อันเป็นผลงานการนำเสนอโดย สนช. และศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของการตีความ

ไม่นับรวมถึงกฎหมายลูก 3-4 ฉบับที่อยู่ระหว่างการจัดทำเพื่อรองรับการเลือกตั้ง

เมื่อปัจจัยเหล่านี้ไหลมารวมกันในช่วงเลือกตั้ง บวกกับพลังชี้เป็นชี้ตายในปัจจุบัน ต่อให้ไม่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้รองรับการ”สืบทอด”

สถานการณ์ฝ่ายอำนาจก็ยังเป็น”แม่เหล็ก”ดึงดูดพรรคการเมืองประเภท”ห้อยโหน”ให้วิ่งเข้าหาได้อย่างดี

มองในมุมนี้ตัวเลข ส.ส. 126 คนจึงไม่ใช่เรื่องยาก

ลำบากแค่กวักมือเรียกเท่านั้น

ส่วนที่มองว่าโอกาสความเป็นไปได้ที่สถานการณ์จะ”พลิกผัน”ไปจากนายกฯ คนนอกยังมีนั้น

อยู่ตรงที่หากพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนสามารถผนึกกำลัง ส.ส. ให้ได้ 375 เสียงขึ้นไป แล้วโหวตเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองให้จบสิ้นกระบวนตั้งแต่ในการประชุมรัฐสภารอบแรก

เพื่อปิดโอกาสไม่ให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 250 คนได้สอดมือเข้ามายุ่งเกี่ยว

ด้วยวิธีการ”หักดิบ”แบบนี้ พรรคการเมืองใหญ่จะเป็น”ตัวแปร”ชี้ขาดสำคัญ

ซึ่งพรรคเพื่อไทยนั้นมีความยืดหยุ่นสูงในประเด็นดังกล่าวมากกว่าฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์

สืบเนื่องจากระบบการเลือกตั้งถูกออกแบบไม่ให้พรรคการเมืองใดได้เสียง ส.ส. ข้างมากในสภา

พรรคเพื่อไทยจึงตั้งความหวังว่าพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนและไม่ต้องการให้”คนนอก”เข้ามาเป็นนายกฯ จะมาเจรจาหารือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังเลือกตั้ง

มีความเป็นไปได้ ยกเว้นเขาไม่เอาด้วย เราก็ไม่มีทางเลือก ก็ต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านไป” นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภา จากพรรคเพื่อไทยระบุ

และว่า

หากพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต้องการให้คนที่มาจากประชาชนเป็นนายกฯ ก็คงร่วมมือกับเรา มาตกลงกัน ฝ่ายใดได้เสียงข้างมากก็เป็นเบอร์ 1″

แต่ปัญหาคือภายในพรรคประชาธิปัตย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับแนวทางนี้หรือไม่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยัง”แทงกั๊ก”ทั้งในเรื่องนายกฯ คนนอกและการจับมือพรรคเพื่อไทย โดยบอกว่าเร็วไปที่จะพูดถึงตอนนี้ เนื่องจากไม่รู้ว่าผลเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

ที่สำคัญไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยยังจะมีอยู่หรือไม่ หรือแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็อาจโดน”เซ็ตซีโร่”

หรือต่อให้ทั้ง 2 พรรคได้รับเลือกเข้ามาเป็นพรรคใหญ่ ก็ยังต้องดูว่าภายใต้ข้อแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมือง จะสามารถปรับจูนเข้าหากันได้หรือไม่

การจับมือกันระหว่างพรรคการเมืองไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะสูตรพรรคใหญ่กับพรรคใหญ่

พรรคใหญ่กับพรรคขนาดกลางหรือพรรคขนาดเล็กอื่นๆ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ขอแค่รวมกันแล้วได้ ส.ส. เกิน 376 คน เพื่อให้การยืนยันเจตนารมณ์ไม่เอานายกฯ คนนอก

เห็นผลเป็นรูปธรรม

กระนั้นก็ตามมีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้มองโลกสวย

เชื่อว่าการให้ 2 พรรคใหญ่หันมาจับมือกันเพื่อให้ได้ ส.ส. 376 เสียง น่าจะยากกว่าการให้ ส.ว. 250 คนเดินหน้ารวบรวม ส.ส. ให้ได้ 126 คนเพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนนอก

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ยัง”เดาทาง”กันไม่ออกว่า

สุดท้ายเมื่อเวลานั้นมาถึง พรรคประชาธิปัตย์จะเลือกจับมือกับพรรคการเมือง หรือเลือกที่จะจับมือกับ 250 ส.ว.” สายตรง”ผู้มีอำนาจ

โอกาสพลิกผันไม่แน่นอนนี้เอง

จึงเป็นที่มาของหัวข้อการ”ยุบสภา”โดยใช้อำนาจมาตรา 44 หากที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะโหวตเลือกใครเป็นนายกฯ จนเกิดสภาพ”สุญญากาศ”ทางการเมือง

คนที่ออกมาจุดพลุเปิดประเด็นเรื่องนี้คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายรัฐบาล คสช.

โดนนักการเมืองและนักวิชาการถล่มแบบ”จัดหนัก” จนต้องถอยกลับไปตั้งหลักใหม่ ยืนยันว่าการยุบสภา รัฐบาลทำได้โดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะใช้มาตรา 44 หรือออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาก็ตาม ประเด็นอยู่ที่ความชอบธรรม เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

ดังนั้น การใช้อำนาจใดก็ตามยุบสภาที่มี ส.ส. 500 คนจากการเลือกตั้งของประชาชนรวมอยู่

อาจไม่ช่วยให้ปัญหาคลี่คลายไปในทิศทางของความสงบเรียบร้อย

ยกเว้นเสียแต่มีเจตนาต้องการส่งสัญญาณข่มขู่เร่งรัดให้พรรคการเมืองต้องยอมจำนนต่อการเลือก”คนนอก”เป็นนายกฯ ไม่อย่างนั้นก็ต้องกลับไปเลือกตั้งกันใหม่

ตรงนี้เองทำให้ปรากฏการณ์นายกฯ คนนอกมีความแจ่มชัด ด้วยกลไกที่ผ่านการออกแบบจัดวางมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีการเลือกตั้งเป็นฉากบังหน้า

ถ้าหากรัฐบาล คสช. สามารถดับสารพัดเรื่องอื้อฉาว ที่เริ่มผุดเป็นดอกเห็ดได้ทันท่วงที โดยไม่ให้เกิดปมใหม่ซ้ำซ้อนขึ้นมาจนกระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาลปราบโกงเสียเอง

เส้นทาง”นายกฯ คนนอก”ก็น่าราบรื่นอย่างยิ่ง