เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ /คุยกับหนุ่มเมืองจันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์

 

คุยกับหนุ่มเมืองจันท์

 

เหมือนเป็นนโยบายต่างตอบแทนยังไงรู้

เมื่อเครื่องเคียงฯ ฉบับก่อนผมเขียนถึงตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ หรือ “หนุ่มเมืองจันท์”

วันจันทร์ถัดมาผมก็ได้รับชวน คือ สนิทกันจนไม่ต้องเชิญ แต่ชวนจะดูใช่กว่า ให้ไปออกในรายการ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ของตุ้มเขา ที่ทำเป็น live ทาง facebook และมีแฟนๆ ติดตามชมไม่น้อย

มาเครื่องเคียงฯ ฉบับนี้ ผมก็ขอเขียนถึงเขาอีก ก็หวังว่าต่อจากนี้ตุ้มคงไม่มีอะไรพาดพิงถึงผมกลับมา งั้นมันจะเข้าทำนองทอดสัมพันธ์กันราวกับเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ไปเสีย

 

การไปออกรายการสด “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ที่ว่า ผมต้องไปที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม แถบบางเขน เพื่อขึ้นไปยังชั้น 14 ที่ห้องส่งของรายการตั้งอยู่

ตุ้มเล่าให้ฟังว่า ชั้น 14 ทั้งชั้นนี้ ทางมหาวิทยาลัยจัดพื้นที่ให้ทั้งฟลอร์สำหรับการเรียนหลักสูตร ABC ของตุ้มและธนา เธียรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่โด่งดังในเวลาอันรวดเร็ว เพราะปากต่อปากที่มาเรียนบอกว่า สนุกด้วย ได้ความรู้จากตัวจริงๆ ด้วย

หลักสูตร ABC ที่ว่านี่มีชื่อเต็มๆ ว่า Academy of Business Creativity และมีชื่อไทยกำกับไว้ว่า “สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ”

เพราะเดิมคน 2 โลกนี้เหมือนจะอยู่คนละซีก ค่าที่ว่าตามมโนภาพแล้วคนที่ทำธุรกิจคงต้องมุ่งรู้ในเรื่องการเงิน ตัวเลข สถิติ ข้อมูล การตลาด การขาย รวมไปถึงการจัดการองค์กรและธุรกิจ

ส่วนคนที่ว่าเป็น Creative หรือใช้งาน Create ก็มักอยู่ในงานสาย Art อย่างโฆษณา ทีวี ภาพยนตร์ เพลง ดนตรี ไปนั่น

แต่หลักสูตร ABC บอกว่า คนที่ทำธุรกิจก็ควรจะมี Creative เพราะนั่นจะทำให้งานของคุณ สินค้าของคุณ มีความพิเศษแตกต่างจากของคนอื่น หรือไม่ในการคิดหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ Creative ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คุณเปลี่ยนมุมมอง ฉีกความคิดในกรอบเดิม เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดให้ได้

ตุ้มบอกว่าคนมาเรียนเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงจากหลายๆ วงการและอุตสาหกรรมเมื่อมาอยู่รวมกันก็ได้นำประสบการณ์ที่หลากหลายของตนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วย

เมื่อเป็นการเรียนในเชิง creative บรรยากาศการเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ จากที่ได้ไปสัมผัสสถานที่ เหมือนไม่ได้ไปฟังเล็กเชอร์ในสถาบันการศึกษา ด้วยห้องพักผ่อนแบบอเนกประสงค์ที่ดูเป็นที่นั่งเล่นพักผ่อน สบายๆ มีตู้แช่เครื่องดื่มที่พร้อมให้บริการ เลยเหมือนไปงานเลี้ยงรุ่น

ตุ้มบอกว่ามาทานข้าวคุยกันก่อนจะเข้าห้องส่ง ก็นั่งทานเป็นอาหารกล่องง่ายๆ ตรงนั้น

ในห้องส่งเป็นห้องขนาดกำลังดี มีกล้องขนาดเล็กและอุปกรณ์ที่ง่ายๆ ทันสมัย ใช้งานได้จริงทั้งระบบแสงและเสียง ดูกันเองกว่าอุปกรณ์แบบ Broadcasting ที่ใช้ในสตูดิโอโทรทัศน์

ยังพูดกับตุ้มเลยว่า เห็นระบบการถ่ายทอดสดยุคนี้แล้วโมโห เพราะในยุคสัก 30 ปีก่อนการจะถ่ายทอดสดอะไรสักอย่างนี่เป็นเรื่องยุ่งยากใหญ่โตโกลาหลมาก ทั้งระบบที่ต้องพึ่งสัญญาIดาวเทียม หรือจานไมโครเวฟกันเอิกเกริก กล้องก็ตัวใหญ่เท่าบ้าน ยังแสงที่ต้องจัดเต็ม และระบบเสียงที่เยอะและรุงรังอีกด้วย เจ้าหน้าที่ที่ทำงานก็ต้องดูเคร่งครัดจริงจัง ไม่เหมือนยุคนี้ที่ทุกอย่างดูย่อมเยาไม่เทอะทะ และสบายๆ

ตอนนั้นถ่ายทอดสดไปไหน ก็ต้องไปออกทางหน้าจอโทรทัศน์

ในขณะที่ยุคนี้ สามารถดูทางหน้าจอมือถือ ผ่านระบบ facebook live ได้ง่ายๆ

ตุ้มเคยทำรายการนี้ในแบบที่ออกเป็นรายการโทรทัศน์มาแล้ว ตุ้มบอกว่าผิดกันเยอะเลย ตอนนั้นต้องดูดี เป็นทางการ แต่พอเป็นออกทาง facebook live อย่างนี้ ก็สดๆ ได้ ไม่ต้องเป๊ะและเนี้ยบทุกอย่าง

อย่างตอนที่ผมพูดคุยอย่างออกรสออกชาติ ตุ้มก็บอกทะลุมากลางคันว่า “พี่ๆ เดี๋ยวนะสายไมค์โผล่” แล้วก็ลุกขึ้นจัดตรงนั้น เสร็จแล้วก็คุยต่อ หรือบางmuก็ถามเรื่องที่สงสัยกับคนหลังกล้องกันสดๆ เลย ง่ายดี

 

วันนั้นจั่วหัวเรื่องไว้ว่า “น่านน้ำใหม่ ของเจ เอส แอล” ตามสไตล์ของฟาสต์ฟู้ดธุรกิจส่วนเรื่องที่คุยกันมี 3 หัวข้อ เริ่มต้นจากความสนุกของเรื่องสั้นชุด “ว้าวุ่น” ที่ผมเขียนซึ่งโยงไปถึงเพื่อนๆ คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ แล้วก็มาถึงเรื่องวงดนตรีดังในอดีตอย่าง “วงเฉลียง” ที่ผมได้มีประสบการณ์ร่วมอยู่บ้าง

แล้วก็มาถึงเรื่องที่ 3 คือ การทรงอยู่ของเจ เอส แอล ในโลกของทีวีดิจิตอลในปัจจุบัน ซึ่งจะโยงไปถึงเรื่องการเปิดคอร์สออนไลน์ที่ชื่อ MyOneClass ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของเจ เอส แอล

นอกจากตุ้มแล้ว ยังมีคุณมิ้นท์ สาวน้อยน่ารักอีกคนหนึ่ง ที่มาช่วยกันพูดคุย

บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน เบาๆ แต่แฝงด้วยสาระตามแบบฉบับรายการ

ตุ้มเติบโตมาจากสายข่าว ดังนั้น เขามีการทำการบ้านมาอย่างดีในเรื่องที่จะคุย ประกอบกับเขามี “ต้นทุน” เยอะจากการทำงานและประสบการณ์ ทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ และตั้งประเด็นได้ชัดเจน

การยิงคำถามของตุ้มไม่เยิ่นเย้อ สั้น กระชับ แต่ได้ใจความและรสชาติ ซึ่งก็เป็นเหมือนกับงานเขียนของเขาที่แฟนผลงานรู้ดี

ส่วนน้องมิ้นท์ ก็ทำหน้าที่แทนผู้ชมที่อยู่ในวัยเด็กลงมา ที่จะมีข้อสงสัยตามวัยและประสบการณ์มาซักถาม

สิ่งหนึ่งที่ชื่นชมตุ้ม คือ การทำการบ้านเพื่อให้ได้รู้จริงในเรื่องที่จะคุย เขาได้ลงทุนสมัครเรียนคอร์สออนไลน์ของเจ เอส แอล ในเรื่องการถ่ายภาพด้วยมือถือ จริงๆ นอกจากจะตอบความต้องการเรียนรู้ของเขาเอง ยังจะสามารถพูดคุยโต้ตอบในเรื่องนี้ได้จริง

นอกรอบเขายังได้แนะนำอีกว่า น่าจะเพิ่มเติมตรงไหนได้อีก ทั้งเรื่องการผลิต และการขาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคไทย ตามประสบการณ์ที่เขาเก็บเกี่ยวมา อย่างเช่น

“ถ้าเพิ่มซับไตเติลด้วยก็ดีนะ เพราะคนเดี๋ยวนี้บางทีสะดวกดูแค่ภาพ และอ่านคำพูดจากซับไตเติลไปด้วย ไม่ต้องฟังเสียง”

หรือ “คนไทยชอบบุฟเฟ่ต์ รู้สึกว่ามันคุ้ม พี่ลองจัดการขายแบบบุฟเฟ่ต์ดูสิ ผมว่าน่าจะถูกโรคกับคนไทย” แล้วเขาก็ยกตัวอย่างอย่างที่ OOKBEE ธุรกิจหนังสือออนไลน์เคยทำแล้วได้ผลดี

 

รายการในวันนั้นผ่านพ้น 1 ชั่วโมงนิดๆ ไปอย่างรวดเร็ว

เพราะการสนทนาเป็นอย่างสนุกสนานและลื่นไหล

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ดีของผม กับคนคุ้นเคยและกันเองอย่างตุ้ม-สรกล นั่นเอง

ขอบใจมากที่ชวนไปออกรายการ

สาบานว่า อีกนานเลยล่ะที่จะเขียนถึงเขา นะพ่อหนุ่มเมืองจันท์ จากหนุ่มเมืองกรุง…แฮ่ม