วิช่วลคัลเจอร์ /ประชา สุวีรานนท์ / หลงทางในโตเกียว (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

หลงทางในโตเกียว (จบ)

 

ถ้านึกถึงหนังสือชื่อ Empire of Sign ของโรลองด์ บาร์ตส์ ประเทศญี่ปุ่นในฐานะ Empire of Signage หรือจักรวรรดิแห่งป้าย แต่ไม่มีป้ายชื่อถนน เป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อย

ว่ากันว่า ในวัฒนธรรมดั้งเดิม ญี่ปุ่นไม่มีชื่อถนน มีแต่หมายเลขบล๊อก (chome) หรือย่าน เมื่อทำป้าย เขาจึงไม่ใส่ชื่อถนน แต่ใส่ชื่อบล๊อก ซึ่งก็คือบ้านหรือตึกที่อยู่กันเป็นกลุ่ม บล๊อกมีความสำคัญมากกว่าถนน ซึ่งไม่ได้มีความหมายมากนัก เพราะเป็นเพียงที่ว่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างบล๊อก หรือเส้นบางๆ ที่พาดผ่านบล๊อกเท่านั้น

การจะบอกตำแหน่งหรือที่อยู่นั้นไม่ค่อยใช้ชื่อถนน เช่น ถ้าจะหาบ้าน เราไม่ถามว่ามันอยู่บนถนนชื่ออะไร แต่ต้องถามว่าอยู่บล๊อกไหน

และถ้าเดินตามถนนเพื่อจะไปหาบล๊อกใดบล๊อกหนึ่งก็อย่าคาดว่าจะเจอ เพราะต้องรู้ก่อนว่าบล๊อกนั้นติดถนนอะไร หรือต้องคุ้นกับย่านนั้น

อาจจะต้องพูดถึงระบบป้ายที่อยู่หรือที่ใช้ในการจ่าหน้าซองจดหมาย (address system) ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นบล๊อกต่างๆ และแต่ละบล๊อกจะมีหมายเลข การหาที่อยู่จึงต้องเข้าใจระบบบล๊อก แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าใจง่ายนัก เพราะการเรียงลำดับเพียงบอกว่าบ้านไหนไปจดทะเบียนก่อน ถ้าใช้หาเลขบ้านจะงุนงง เช่น แต่ละบล๊อกมีบ้านเลขที่เหมือนกันซึ่งจะเรียงจากซ้ายไปขวามากกว่าจากขวาไปซ้าย

บางคนอาจจะบอกว่าต้องพึ่งบุรุษไปรษณีย์ในการหาที่อยู่และใช้แผนที่

แต่ระบบไปรษณีย์ของญี่ปุ่นก็ไม่เหมือนตะวันตก เช่น เรียงจากใหญ่ไปเล็ก (ขณะที่ตะวันตกและไทยเรียงจากเล็กไปใหญ่) หรือเขียนเรียงกันแบบนี้ : 1. Prefecture 2. Municipality 3. Location within municipality 4. District 5. Block 6. House number

ป้ายที่อยู่จึงกลับหัวเป็นหาง ชื่อย่านหรือ chome จะเป็นหลักในการบอกที่อยู่ แต่ไม่มีชื่อถนน! ถนน ซึ่งบางทีชาวตะวันตกเรียกกันว่า “street addresses” จะไม่มีเลยในโตเกียว

พูดอีกอย่าง ระบบไปรษณีย์ของโตเกียวบอกว่าชื่อถนนไม่สำคัญเลย

 

ในบทความชื่อ Forbidden Direction จาก The Kimono Mind ซึ่งเป็นหนังสือนำเที่ยวญี่ปุ่นช่วง 1960s ผู้เขียนคือเบอร์นาร์ด รูดอล์ฟสกี้ พูดทีเล่นทีจริงว่าเมื่อพันปีที่แล้ว การเดินทางเป็นเรื่องของเทวดา ไม่ใช่ของมนุษย์ การหาอะไรได้ยากจึงเป็นเรื่องธรรมดา

สิ่งที่เขาบันทึกไว้คือ เมื่อเข้าไปยึดครองญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารอเมริกันพยายามทำให้ป้ายชื่อถนนในโตเกียวเป็นแบบตะวันตก ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า “การ baptise ระบบเดิม”

แต่ทำได้แค่ใส่ป้ายชื่อถนนภาษาอังกฤษ และทำตรงทางแยกหรือจุดตัดเท่านั้น ถนนอีกนับพันไม่มีชื่อ เขาไม่ทำกับระบบไปรษณีย์ ป้ายถนนบางอันจึงล้าสมัยและผิด เช่น ถนนสิบห้าตัดกับสิบเจ็ด และบางทีก็ตัดกับตัวเอง

เมื่ออเมริกันจากไป ระบบนี้ถูกล้มเลิก ต่อมาแผนที่โตเกียวถูกทำขึ้นใหม่ ไม่ใช้ระบบของอเมริกัน แต่ทำโดยชาวญี่ปุ่นเอง

ระบบย่านอาจจะไม่เวิร์ก ถ้ามองจากมุมมองของตะวันตก เพราะการมองพื้นที่ในกระดาษ เริ่มจากการเห็นจุดหรือจุดตัดของเส้นสองเส้น จุดซึ่งแปลว่าสิ่งที่ไม่มีพื้นที่หรือไม่มีมิติที่มองเห็นได้นั้น มีความเป็นนามธรรม และสำหรับชาวตะวันตกหรือคนที่มาจากวัฒนธรรมที่ใช้แผนที่ การจะเห็นเส้น ต้องเห็นจุดก่อน จากนั้นจึงเห็นพื้นที่หรือสเปซ

นี่เป็นจุดเริ่มของเมตาฟิสิกส์แบบตะวันตก หรือสิ่งที่เขาพยายามตอกย้ำเรื่อยมา พูดอีกอย่าง จุดเป็นบทแรกของวิชาเรขาคณิต และทำให้หลายคนสอบตกมาแล้ว

ในโตเกียว ย่านสำคัญกว่าถนน และอาจจะหมายความว่าพื้นที่เป็นสิ่งที่ไม่ว่างเปล่าและสำคัญต่อคนในท้องที่

 

อย่างไรก็ตาม ป้ายชื่อถนนอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยแล้ว ทุกวันนี้แผนที่ GPS ของ Google ได้เข้ามาแทนที่

โตเกียวก้าวข้ามเทคโนโลยีเก่าหรือระบบป้ายแบบดั้งเดิม เช่น ไม่มีชื่อถนนในแผนที่ดังกล่าว แต่มีในรูปถ่ายแบบ 360 ํของ Google และจะฝังชื่อถนนลงบนคลิปนั้นเลย

รวมความแล้ว ระบบป้ายของโตเกียวนั้นใช้ยาก ซึ่งอาจจะโยงไปถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นในแง่ที่ถือว่าพื้นสำคัญกว่ากำแพง หรือการที่เสื่อตาตามิ ไม่ใช่เรียงกันเป็นเส้นตรง

นอกจากนั้น Learning from the Japanese City Learning from the Japanese City West meets East in Urban Design ของ Barrie Shelton ยังบอกว่าอาจจะเกี่ยวกับการเขียนอักษรญี่ปุ่นป้ายจึงใช้ทั้งแนวนอนและตั้ง (การเขียนภาษาญี่ปุ่น จะไม่เน้นเส้นบรรทัดแนวเดียว แต่เน้นกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งมีทั้งสองแนว)

และทำให้ป้ายสองแบบแยกกันชัดเจน คือ ถ้าบอกชื่อถนน จะเป็นแนวนอน แต่ถ้าบอกที่อยู่ จะเป็นแนวตั้ง

 

ถ้าป้ายและแผนที่ช่วยไม่ได้ ที่พึ่งของผมคือคนแถวนั้น ซึ่งแม้จะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ดี แต่ช่วยได้จริงๆ

กลุ่มแรกคือคนเดินถนนทั่วไป ถามไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะหน้าตาอย่างไร แต่งตัวอย่างไร หรืออยู่ในวัยไหน อย่าลืมว่า คนท้องถิ่นจะถือเป็นหน้าที่ในการให้บริการแก่เรา

ที่ประทับใจคือคนหนึ่งที่เดินกว่ายี่สิบนาทีเพื่อพาไปยังจุดหมาย

กลุ่มที่สองคืออาสาสมัครชาวญี่ปุ่น ซึ่งกุลีกุจอมาก

และกลุ่มที่สามคือตำรวจในป้อม หรือที่เรียกว่าโคบัน ซึ่งมีอยู่นับพันแห่ง และเจ้าหน้าที่ตำรวจในนั้นก็มีหน้าที่รับใช้คนเดินถนนมากกว่าดูแลรถยนต์และการจราจร

ชาวโตเกียวพร้อมใจกันรักษาระบบเดิม แต่นั่นก็ชี้ด้วยว่า เขายอมรับว่าระบบป้ายซึ่งมีอยู่น้อยเหลือเกินของเขานั้น ใช้ยากจริงๆ