โลกหมุนเร็ว /เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง  [email protected]

 

จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์

 

หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานแปลของสุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปล “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน” และหนังสือชุดประวัติศาสตร์พม่าอีกหลายเล่ม ในงานมหกรรมหนังสือเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือที่เป็นไฮไลต์ของงาน แต่ผู้เขียนพลิกไปพลิกมาแล้วก็เลือกเล่มนี้แทนที่จะเลือก “ราชินีศุภยลัต” ซึ่งแปลโดยคุณสุภัตราเช่นกัน หรือ “ราชสำนักในรัชกาลที่ 6” ที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงาน

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือใหม่ในงาน แต่สิ่งที่ดึงดูดใจให้หยิบขึ้นมาคือ ชื่อหนังสือ ที่ผู้แปล (หรือสำนักพิมพ์ก็ไม่ทราบนะคะ) ตั้งชื่อในภาษาไทยได้ “เท่เป็นบ้า” เลย จากภาษาอังกฤษที่ธรรมดาและตรงไปตรงมาคือ Finding George Orwell in Burma

Emma Larkin ผู้เขียนเรื่องนี้ได้ไปเยือนพม่า และได้อ่านหนังสือของจอร์จ ออร์เวลล์ และเธอมีความสนใจใคร่รู้ทั้งเรื่องราวของพม่า และเรื่องราวของจอร์จ ออร์เวลล์ ที่เคยอยู่ในพม่า

และให้บังเอิญหนังสือที่โด่งดังของออร์เวลล์ คือ 1984 และ Annimal Farm ก็มีอันสะท้อนภาพของพม่าในยุคเผด็จการทหารได้อย่างน่าแปลกใจ

หลายเรื่องพ้องกัน เอ็มม่าจึงผูกเรื่องราวได้อย่างน่าทึ่ง น่าสนใจ ชวนติดตาม

ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีตัวละครตัวไหนที่มีพัฒนาการตามขนบของเรื่องเล่าเลยแม้แต่น้อย

ร้านน้ำชาในพม่า

 

เอ็มม่าเล่าว่าออร์เวลล์ถือกำเนิดในพม่า “บุคคลร่วมสมัยกับออร์เวลล์ในโรงเรียนอีตันคนหนึ่งจำได้ว่าออร์เวลล์พูดถึงโลกตะวันออกที่เขาถือกำเนิดบ่อยครั้ง และรู้สึกดื่มด่ำพร่ำเพ้อถึงภูมิภาคแห่งนั้น ออร์เวลล์หนุ่มคงจะได้รับความคิดหลายๆ อย่างเกี่ยวกับพม่าจากคำบอกเล่าของแม่ถึงบ้านวัยเด็กของเธอในเมาะละแหม่ง เมืองท่าทางตอนใต้ของพม่า”

ความใคร่รู้ของเอ็มม่าพาเธอไปพบปะกับผู้คนต่างๆ ตามร้านน้ำชาในเมืองต่างๆ ตามบ้านส่วนตัว เธอถามและฟัง แล้วนำมาเล่าต่อ ปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวของพม่าในยุคเผด็จการ ยุคแห่งความหวาดกลัว ความมืดบอดและเสื่อมโทรม ที่สะท้อนออกมาอย่างมีนัยยะในหนังสือของออร์เวลล์ ไม่ว่าจะเป็น Burmese Days, 1984 หรือ Annimal Farm

คนเรามักมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เมืองไทยในยุคปฏิวัติไม่ได้ทำให้ผู้เขียนอึดอัดอะไรมากนัก

ต่อเมื่ออ่านเรื่องราวของพม่าในยุคเผด็จการ ก็บังเกิดความชัง คสช. ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้

มีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น การจำกัดสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น

และการที่ประชาชนไม่สามารถเลือกผู้บริหารประเทศได้ และการที่รัฐบาลไม่สามารถยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ได้

ภาพของพม่าในยุคเผด็จการก่อให้เกิดความเศร้าหดหู่ เมื่อบรรดาคนพม่าที่เอ็มม่าคุยด้วยให้ภาพของความเสื่อมถอย อย่างเช่น ในเรื่องของการศึกษา

ครูที่เก่งๆ แต่หัวแข็งและไม่อวยกับระบบการปกครองเผด็จการจะถูกปลดออก เหลือแต่ครูที่ประจบสอพลอ คุณภาพการศึกษาย่อมต่ำเตี้ยลง

สำหรับการสอบนั้นนักเรียนทุกคนผ่านได้เพียงแค่ไม่ส่งกระดาษเปล่า

 

เอ็มม่าเล่าเรื่องราวได้สนุก เรื่องราวของเธอมีหลายระนาบ และที่ทำได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันคือสำนวนแปลของคุณสุภัตรา ผู้เขียนชอบอ่านสำนวนแปลของเธอมากเป็นพิเศษ คุณสุภัตราผู้เคยบอกเกี่ยวกับตัวเธอว่าเป็นคนที่ “สนใจเรื่องราชสำนัก โดยเฉพาะพม่าจะสนใจเป็นพิเศษ ทั้งบริบทสังคม ประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ปัจจุบัน”

ผู้เขียนเองซึ่งกลายเป็นผู้อ่านเวลานี้ก็สนใจพม่าเช่นกัน ประการแรกเพราะทราบว่าคนพม่าเป็นนักอ่าน ต่อมาเพราะว่าได้มีประสบการณ์ตรงกับคนพม่าที่ต้องเข้ามาเป็นคนรับใช้ตามบ้านและพบว่าทุกคนไม่มีใครเหลวไหล ต่างเก็บเงินเก็บทอง เฉลียวฉลาด ตั้งใจทำงาน ชะตากรรมอันเกิดจากระบอบเผด็จการทำให้พวกเขาขาดโอกาสทางการศึกษา ต้องทำงานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในดินแดนเพื่อนบ้าน

และผู้เขียนได้ตระหนักว่าการเมือง การปกครอง มีพลังอำนาจพลิกชะตาชีวิตคนให้ผันไปอย่างไม่อาจต่อต้านได้

เอ็มม่าเองก็เขียนไว้ว่าคนพม่าในยุคเผด็จการต้องทำงานต่ำกว่าความสามารถเช่นเป็นแพทย์แต่ต้องทำงานบริการ เป็นต้น

นักเศรษฐศาสตร์เอเชียเคยเดิมพันว่าพม่าจะพัฒนาไปเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากที่สุดของภูมิภาคนี้ จนกระทั่งต่อมาเกิดสงครามกลางเมือง คร่าชีวิตผู้คน ผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ความเจริญหยุดชะงัก ก่อนหน้านั้นอังกฤษเข้ามาสูบเลือด เมื่อถึงยุคนายพลพม่าก็ถูกแทะเนื้อเหลือแต่กระดูก ระบอบทหารหยั่งรากฝังลึกกว่าเผด็จการที่อื่นใดในโลก

นี่เป็นความเห็นของนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งของพม่าซึ่งปฏิเสธที่จะพบกับเอ็มม่าอีกหลังจากการพบกันครั้งแรก

นักประวัติศาสตร์สตรีผู้นี้ยังบอกอีกว่าพม่าเป็นประเทศที่นิยมระบอบ “อำนาจนิยม” ในสมัยโบราณพม่าถูกปกครองโดยกษัตริย์เป็นเวลากว่า 800 ปี เจ้าเหนือหัวเป็นเจ้าของประชาชนและสั่งประชาชนทำอะไรก็ได้ ต่อมาพม่าก็ถูกปกครองโดยนายพล

ฟังดูแล้วก็คล้ายกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย ไม่เว้นประเทศไทย

 

ยังมีอีกประเด็นที่เอ็มม่าแตะไว้ในบทท้ายๆ คือความเชื่อการทำนายทายทัก ที่คนพม่าเรียกว่า “นะเมต” หรือลางบอกเหตุ ไม่ว่าตุ๊กแกตกลงมาบนพื้น หรือสุนัขเห่าตอนออกจากบ้าน ล้วนเป็นลางบอกเหตุทั้งนั้น

เอ็มม่าเคยถามคู่สนทนาว่าเป็นไปได้ไหมที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดจากภายในพม่าเอง ก็ได้รับคำตอบว่าคงเป็นไปไม่ได้ถ้าหมายถึงขบวนการใต้ดินเพราะหน่วยข่าวกรองทหารมีอยู่ทุกแห่ง

แต่แล้วเมื่อมาถึงวันนี้เมื่อนายพลเต็งเส่ง เกิดมีวิสัยทัศน์และยอมให้มีการเลือกตั้ง และพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจี ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ ก็เป็นอันว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดจากภายในพม่าได้จริง แต่เกิดจากการสุกงอม การยินยอมพร้อมใจของผู้มีอำนาจ

สำหรับคนที่เป็นนักเขียน สัญชาตญาณแห่งการค้นคว้าจะพาไปพบเจอเรื่องราวที่เผยออกมาทีละเล็กละน้อย

เชื่อว่านักอ่านในโลกนี้ย่อมสนใจชีวิตส่วนตัวของนักเขียนของโลกด้วยกันทั้งนั้น

เอ็มม่ากว่าจะเขียนหนังสือเล่มนี้ได้เธอต้องทำการค้นคว้าอย่างมาก

เธอเล่าว่าก่อนเดินทางไปพม่า เธอไปที่หอจดหมายเหตุจอร์จ ออร์เวลล์ ในกรุงลอนดอน เพื่อจะดูต้นฉบับชิ้นสุดท้ายของออร์เวลล์

เธอพบว่าออร์เวลล์เพิ่งจะเริ่มโครงการหนังสือเล่มใหม่ “A Smoking Room Story” ในปี 1950 ปีที่เขาเสียชีวิต

ออร์เวลล์วางแผนให้หนังสือเป็นนวนิยายขนาดสั้นประมาณ 30,000-40,000 คำ เล่าเรื่องชีวิตของหนุ่มน้อยที่ชีวิตเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงหลังจากได้มาใช้ชีวิตในพม่า

ในต้นฉบับมีเค้าโครงเรื่องและคำอธิบายสั้นๆ ทิ้งไว้ ที่เหลือเป็นกระดาษเปล่า รอเรื่องราวที่เหลืออยู่

 

ASmoking Room Story มีจุดมุ่งหมายที่จะสำรวจลึกลงไปใต้ผิวหน้าจักรวรรดิเช่นเดียวกับ Burmese Days

เอ็มม่ากล่าวไว้ในบทส่งท้ายว่าหลังจากใช้เวลาพบปะผู้คนในพม่ามาได้ฟัง ได้เห็น เมื่อใดก็ตามที่เธอหยิบหนังสือเรื่อง 1984 ออกมาอ่าน

ไม่ว่าจะสุ่มอ่านย่อหน้าไหน ประโยคไหน

เธอก็ต้องฉงนใจว่าสิ่งที่ออร์เวลล์เขียน

ช่างตรงกับความกลัวและความรู้สึกของชาวพม่าที่เธอได้พบเจอเหลือเกิน

เอ็มม่ายังเขียนหนังสือเกี่ยวกับพม่าต่อไป และคนที่สนใจเรื่องพม่าก็สามารถตามอ่านใน No Bad News for the King ได้ตามอัธยาศัย