ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 พฤษภาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ธรรมลีลา |
เผยแพร่ |
แน่นอนที่สุด จะเขียนเรื่องอะไร ก่อนอื่นต้องเป็นเรื่องที่ประทับใจผู้เขียนนะคะ ไม่งั้นเขียนไม่ออก
ในช่วงอากาศร้อนถึงร้อนจัด ท่านธัมมนันทามีงานหลังจากให้การบรรพชาสามเณรีแล้วก็ต้องอบรมสั่งสอน คราวนี้บวชกัน 9 วัน ลาสิกขาวันที่ 15 ช่วงปลายเดือนก็เลยไม่ได้รับงานอื่น ลูกศิษย์ก็เลยนิมนต์ออกไปที่จังหวัดราชบุรี แล้วก็แล่นไปตามถนนเล็กสายใน ไปทะลุสมุทรสงคราม ชื่นชมบรรยากาศของคนในชนบทอย่างแท้จริง แถวนั้นมีปลูกมะพร้าว ปลูกลิ้นจี่กัน บางบ้านก็เอาลิ้นจี่มาขายหน้าบ้าน โยมที่ไปด้วยแวะลงไปซื้อลิ้นจี่กะเทย ลูกเล็กแต่ไม่มีเมล็ดค่ะ
เราไปทะลุออกที่วัดบางกุ้ง ตรงที่จอดรถเป็นหินคลุก ฝุ่นคลุ้งเลย ไม่อยากลง ทั้งแดดเปรี้ยงอีกต่างหาก
ลูกศิษย์นิมนต์ว่าเป็นวัดประวัติศาสตร์ จากที่นั่งในรถเห็นรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็เลยลงไปสักการะท่านด้วยความกตัญญูรู้คุณที่ท่านรักษาแผ่นดินไว้คุ้มหัวเรามาจนถึงปัจจุบัน
วัดบางกุ้ง ตั้งอยู่ในตำบลบางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เดิมมีเนื้อที่ 100 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 19 ไร่ เป็นวัดที่มีมาแต่ปลายสมัยอยุธยา ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) เนื่องจากแม่น้ำแม่กลองเป็นเส้นทางที่พม่าใช้เป็นเส้นทางในการเดินทัพเข้าตีไทยทางหนึ่ง จึงโปรดให้ยกกองทัพเรือมาตั้งที่ค่ายที่ตำบลนี้ เรียกว่า ค่ายบางกุ้ง โดยสร้างกำแพงล้อมให้วัดบางกุ้งอยู่ตรงกลาง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวเป็นขวัญกำลังใจให้กับค่ายทหาร
แต่ในท้ายที่สุด พม่าก็ตีกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ.2310
ค่ายบางกุ้งไม่มีทหารประจำรักษาค่าย เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือน เมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ในปีเดียวกันนั้น พระองค์ได้โปรดให้ชาวจีนที่รวบรวมมาจากระยอง ชลบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี รวบรวมผู้คนมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่าย จึงมีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ค่ายจีนบางกุ้ง
ทหารจีนส่วนใหญ่จะเป็นลูกเรือสำเภาที่เข้ามาถวายตัวรับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั่นเอง ค่ายจีนบางกุ้งนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานนามว่า “ทหารภักดีอาสา” ทรงมอบหมายและแต่งตั้งให้ไต้ก๋งเจียม เป็นหัวหน้าทหารกองนี้
ต่อมา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมืองเวียงจันทน์ ฝักใฝ่อยู่กับพม่า ได้ส่งข่าวไปทูลพระเจ้ากรุงอังวะถึงการตั้งตัวเป็นใหญ่ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระเจ้ามังระจึงให้แมงกี่มารหญ่า เจ้าเมืองทวาย คุมกำลังมาตรวจดูสถานการณ์ พระยาทวายส่งโปมังเป็นกองทัพหน้า คุมพล 3,000 นาย เข้ามาทางไทรโยค เมื่อฤดูแล้งปลายปี พ.ศ.2310 ครั้นถึงบางกุ้งเห็นค่ายทหารจีนของพระเจ้าตากสินตั้งอยู่ พระยาทวายก็ให้กองกำลังล้อมค่ายไว้ ทหารจีนภักดีอาสา ได้สู้รบเป็นสามารถ
แม้ทหารพม่าจะเข้าโจมตีหลายครั้งก็ยังไม่สามารถตีค่ายแตกได้
กรมการเมืองสมุทรสงครามจึงส่งม้าเร็วนำความไปทูลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในพงศาวดารกรุงธนบุรีเล่าว่า พระองค์ทรงทราบข่าวข้าศึกด้วยความยินดี โปรดให้พระยามหามนตรี (บุญมา) จัดกองทัพเรือ 20 ลำ ส่วนพระองค์ทรงเรือพระที่นั่งยาว 18 วา กว้าง 3 ศอก พลกรรเชียง พร้อมอาวุธมาถึงค่ายบางกุ้งในเวลากลางคืน
ทรงมีบัญชาการจอดเรือพักทัพที่ฝั่งตรงกันข้ามกับค่าย แต่ทหารพม่าไม่มีใครทราบเนื่องจากเป็นข้างแรม จุดที่จอดเรือพักทัพมีชื่อว่า “บ้านพักทัพ” ในปัจจุบันชื่อ “บ้านบางพลับ”
ครั้งเวลายามสามทรงนำกำลังเข้าตีพม่าด้านท้ายค่าย (ที่ตั้งของศาลไท้เพ่งอ๊วงกงในปัจจุบัน)
ทรงเรียกประชุมแม่ทัพนายกอง และบงการการเข้าตีครั้งนั้นว่า
“ถ้าช้าไปอีกวันเดียว ค่ายบางกุ้งจะแตก และขวัญทหารจะไม่มีวันฟื้นขึ้นมาได้ การรบทุกครั้งอยู่ที่ขวัญกำลังใจ ถ้าไทยแพ้อีกในครั้งนี้ พม่าจะฮึกเหิม พวกไทยจะครั่นคร้ามกู้ชาติไม่สำเร็จ การรักษาค่ายบางกุ้งครั้งนี้ ได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายได้ช่วยขวัญกำลังใจของไทยในการรบครั้งต่อไป”
การรบครั้งนี้ตะลุมบอนด้วยอาวุธสั้น ออกพระมหามนตรีเองควงดาบสิงห์สุวรรณาวุธซึ่งด้ามและฝักเป็นกนกหัวสิงห์ ไล่ฆ่าฟันข้าศึกแตกกระจาย
แมงกี่มารหญ่าแม่ทัพพม่าครั่นคร้ามพระมหามนตรี จึงเลี่ยงเชิงดูศึก ครั้นได้ยินเสียงในค่ายจุดประทัดตีม้าล่อเปิดประตูค่ายส่งกำลังออกมาสมทบ ทำให้พม่าถูกกระหนาบทั้งจากภายในและภายนอก
ขณะเดียวกัน ได้ยินเสียงทัพหนุนเนื่องของไทย แน่ใจว่าทัพหลวงของไทยติดตามมาสมทบ ก็ยิ่งเสียขวัญ
ตรงกันข้าม ฝ่ายไทยกลับฮึกเหิม ไล่ฟันแทงข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก
ที่เหลือจึงถอยทัพกลับไปเมืองทวายทางค่ายเจ้าขว้าว ซึ่งเป็นด่านเมืองราชบุรีอยู่ริมแม่น้ำพาชี
จากชัยชนะในการรบที่ค่ายบางกุ้งมีผลดีต่อชาติไทยหลายประการ
ที่สำคัญยิ่งคือ การรบพม่าที่ค่ายบางกุ้งใน พ.ศ.2311 เป็นสงครามครั้งแรกที่ทำกับพม่า ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
เรียกว่า เป็นการเรียกขวัญทหารและชาวไทยโดยแท้
โดยรอบพระอุโบสถในปัจจุบัน มีค่ายทหารที่สร้างทหารด้วยปูนปั้นขนาดเท่าคนจริง จำนวนนับร้อยนาย กำลังซ้อมมวย อีกกองหนึ่งกำลังซ้อมดาบ
ส่วนด้านหลังของพระอุโบสถเป็นภาพจำลองของทหารไทยที่ตกเป็นเชลยศึก ทหารพม่าลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ บางกลุ่มก็ถูกร้อยหวายที่ส้นเท้าด้านหลัง ที่คนโบราณจะเรียกจุดนั้นว่า ร้อยหวาย เป็นการรักษาประวัติศาสตร์ในช่วงที่เราทำสงครามขับเคี่ยวกับพม่ามายาวนานหลายร้อยปี
ด้านหลังของวัด มีแนวกำแพงป้อม เพื่อเล่าเรื่องที่มา ตรงจุดนี้ มีทหารจีนกำลังสู้รบกับพม่าจำนวนหนึ่ง ประตูค่ายแน่นหนา ใกล้กับประตูค่ายมีนักโทษประหารถูกผูกกับหลักประหาร มีนายดาบที่กำลังลงดาบอยู่ 3 นาย
เรื่องราวที่ทางวัดบางกุ้งพยายามรักษาประวัติศาสตร์ไทยให้ปรากฏกับอนุชนรุ่นหลังนี้ เป็นเรื่องที่น่าชมเชย และขอบคุณเจ้าอาวาสที่มีความตระหนักในความสำคัญของวัดและค่าย ที่เป็นอีกชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยที่น่าภาคภูมิใจ
นอกจากประวัติศาสตร์การสู้รบกับพม่าแล้ว อยากให้ท่านได้เดินไปดูพระอุโบสถเก่าที่สร้างมายาวนานกว่า 400 ปี เรียกว่าพระอุโบสถปรกโพธิ์ เป็นพระอุโบสถขนาดเล็ก โดยรอบมีสีมาและลูกนิมิตขนาดย่อมวางอยู่ด้านหน้าสีมา
โบสถ์ทั้งองค์มีต้นไม้ขึ้นโดยรอบ เรียกว่า ต้นไม้ประคององค์พระอุโบสถไว้ก็ได้ มีทั้งต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง แม้เมื่อเข้าไปในพระอุโบสถก็ปรากฏว่ามีต้นไทรที่ขึ้นภายใน เป็นต้นตรงกระหนาบกำแพงพระอุโบสถไปโดยปริยาย เป็นการทำงานที่ได้สมดุลระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติ
ทำให้นึกถึงปราสาทตาพรมที่เขมร ที่ธรรมชาติรักษาปราสาทไว้ในลักษณะเดียวกัน
ภายในพระประธานเป็นพระปูนปั้นสมัยอยุธยาปิดทองทั้งองค์ หน้าตักประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อนิลมณี หรือหลวงพ่อดำ ซึ่งตอนนี้ปิดทองไปแล้ว
ในสมัยหลัง มีการทำบันไดให้ขึ้นทางด้านซ้ายแล้วไปเวียนด้านหลังองค์พระประธานลงมาทางขวา (ไม่รู้ทำทำไม)
ความงามของโบสถ์เล็กๆ หลังนี้ คือ การที่ธรรมชาติได้เอื้ออำนวยให้มีไม้ขึ้นโดยรอบแผ่กิ่งก้านสาขาโอบอุ้มพระอุโบสถไว้ทั้งหลัง
งามและน่าสนใจค่ะ
ตามไปดูนะคะ เอาลูกหลานไปเรียนประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาต่อเนื่องถึงสมัยกรุงธนบุรีด้วย พร้อมกับได้ความภาคภูมิใจที่หลังจากแพ้สงครามจนเสียกรุง
แต่ปีถัดมาไทยก็ได้พิสูจน์ให้พม่าเข้าใจว่า “อย่าแหยมเข้ามานะ” ที่ค่ายบางกุ้งนี้