สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรืยนสุข สนุกสอน กับ sQip ตอนที่ 8 ครูอนุบาลผู้นำการเปลี่ยนแปลง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

กระบวนการพัฒนาโรงเรียนด้วย 5Q หรือโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (sQip) ดำเนินมาตั้งแต่ระยะแรก 2559-2560 จนถึงระยะที่ 2 ช่วงปลายภาคปีการศึกษา 2560 ต้นปี 2561 แต่ละ Q ต่างขับเคลื่อนให้เกิดความความแข็งแกร่งเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

หลังจากร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดประชุมปฏิบัติการ ภายใต้หัวข้อ “มองโลกผ่านเลนส์ความคิดแบบเติบโต สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ “(Growth Mindset & Professional Learning Community : PLC) ให้กับผู้บริหารและครู 200 โรงเรียน กว่า 3,000 คน เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560

ผู้บริหารกับครูทั้งโรงเรียนได้เครื่องมือลงไปติดตั้งระบบที่โรงเรียน พัฒนาการใช้ PLC ให้เข้ารูปเข้ารอย เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย (Q-goal) โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างมีความสุขให้ได้

จากนั้นจึงเป็นรายการเวทีระดับโหนด (KM-โหนด) ให้แต่ละกลุ่ม ทั้ง 7 โหนดประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เริ่มดำเนินงานมากันเอง

เป็นที่มาของเรื่องเล่าเร้าพลัง ที่ผมฉายหนังตัวอย่างเรื่องนายกบของครูอารยา ครูศิลปะแห่งโรงเรียนวัดป่าถ้ำภูเตย กลางป่าเขา อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

โหนดที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานีและภูเก็ต เปิดเป็นเวทีแรกช่วงโรงเรียนปิดเทอมต้น ตุลาคม 2560 พอถึงช่วงปิดเทอมใหญ่ 2561 จึงจัดต่อ โหนด 1 เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน วันที่ 2-3 พฤษภาคม โหนด 3 ลำปาง สุโขทัย วันที่ 7-8 พฤษภาคม โหนด 5 อยุธยา กาญจนบุรี วันที่ 8-9 พฤษภาคม โหนด 6 ชลบุรี เพชรบุรี วันที่ 9-10 พฤษภาคม โหนด 2 น่าน เชียงราย วันที่ 10-11 พฤษภาคม โหนด 4 สุรินทร์ อำนาจเจริญ วันที่ 10-11 พฤษภาคม

สาระแบ่งเป็น 2 วัน วันแรก หัวข้อ ห้องเรียนเป็นฐาน กระบวนการเป็นทุน หลักคิดและความสำเร็จในงาน sQip ระยะที่ 2 ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมงานวิจัยโครงการ sQip และคณะ เป็นวิทยากร

ภาคบ่าย หัวข้อ สังเคราะห์ Q-goal เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามวงจร DALI โดยทีมที่ปรึกษาและคณะ Q-coach นำเสนอเป้าหมายเป็นรายโรงเรียนที่ควรปรับปรุง

วันที่สอง แบ่งเป็น 3 ห้อง

ห้องแรก เวที PLC ผู้บริหารโรงเรียนกับครูแกนนำของแต่ละโรงเรียน 2-3 คน มี รศ.ดร.บังอร เสรีรัตน์ และคณะ รวมกับหัวหน้า Q-coach เป็นวิทยากร

ห้องสอง เวทีครูวิชาการกับทีมบริหารของโรงเรียน ว่าด้วยเรื่อง Q-inf๐ มีทีมมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ออกแบบระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา และภาคีพี่เลี้ยง เป็นผู้ดำเนินรายการ

ห้องสาม เวทีเรื่องเล่าเร้าพลัง ให้ครูจากโรงเรียนละ 1 คน มาเล่าเรื่องภายใต้หัวข้อ เด็กที่เกือบถูกมองข้าม หรือเกือบลืม โดยครูผู้ค้นพบ มีทีม Q-coach และศึกษานิเทศก์แบ่งกันเป็นผู้นำการปรึกษาหารือ ให้ครูทุกคนเขียนความคิดลงในกระดาษสามสี ฟ้า ฟังเรื่องเล่าแล้วได้ความรู้อะไร เหลือง มองเห็นกระบวนการอะไรจากเรื่องเล่า และส้ม เกิดทัศนคติอย่างไร

ครับ นี่แหละกระบวนการจัดการความรู้จากเรื่องจริง ของจริง

 

ก่อนปิดท้ายในช่วงบ่ายวันที่สอง นำผลของแต่ละห้องมาสรุป เปิดเวทีให้อภิปรายทั่วไปเพื่อคิดร่วมกัน จะก้าวเดินต่อไป อย่างไร

ผมไปร่วมสังเกตการณ์โหนด 5 กาญจนบุรี อยุธยา ได้ฟังเรื่องเล่าสะเทือนใจจนน้ำตาซึม เก็บมาเล่ายังไม่จบ มีเรื่องเล่าที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนเป็นรายบุคคลแล้ว ยังมีความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในกระบวนการเรียนการสอน โดยครูผู้สอนพยายามพัฒนาขึ้นมา

น่าสนใจไม่แพ้กันทีเดียว

 

นารีรัตน์ โชคบำรุงศิลป์ ครูโรงเรียนเขาดินวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 สอนชั้นอนุบาล

เธอเล่าว่า เด็กในห้องมีทั้งเด็กปกติ เด็กต่างด้าว และเด็กพิเศษ กว่า 30% เป็นพม่า

เด็กส่วนใหญ่อยู่กับปู่ย่าตายาย ครูใช้กระบวนการพีแอลซีคิดร่วมกัน จะทำอย่างไรกับเด็ก 3 กลุ่มที่ต้องเรียนอยู่ด้วยกัน คุยกับ ผอ. คุยกับผู้ปกครอง จนได้ความคิดว่าน่าจะจัดการเรียนการสอนโดยรูปแบบโครงการ Project Approach ให้เด็กเลือกเรื่องขึ้นมา ตกลงกันว่าเราจะเรียนเรื่องอะไร และแบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม

“วิธีการเรียกว่า การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงการ” ครูเล่า โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 เริ่มต้นโครงการ เด็กๆ จะร่วมกันคิดหัวข้อเรื่องที่ตนสนใจ อาจเป็นเรื่องที่เด็กเคยเรียนจากหน่วยการเรียนรู้มาแล้วหรือเป็นเรื่องใหม่ที่เด็กอยากเรียนรู้ก็ได้

ระยะที่ 2 วางแผนโครงการ ครูเป็นผู้กำกับ กระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กโดยการตั้งคำถาม ระยะนี้เด็กๆ จะเป็นผู้กำหนดจุดประสงค์ว่าต้องการเรียนรู้อะไรบ้างในเรื่องที่สนใจนั้นๆ มีการกำหนดขอบเขตเนื้อหา ระยะเวลาและรูปแบบวิธีการศึกษา ครูพยายามพูดคุย กระตุ้นให้เด็กเกิดคำถามที่อยากรู้ให้ได้มากที่สุด

ระยะที่ 3 เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง ไปสืบค้น ทำให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าถาม เป็นระยะที่เด็กๆ จะได้รับข้อมูลใหม่ๆ จากประสบการณ์ตรงหรือแหล่งข้อมูล เพราะเด็กจะได้สนทนาพูดคุยกับบุคคลต่างๆ ได้สืบค้นจากแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ได้ลงมือปฏิบัติจริง เช่น งานประดิษฐ์ งานศิลปะ การทดลองกิจกรรม ประกอบอาหาร กิจกรรมทัศนศึกษา ทำให้กระตือรือร้นมากขึ้น

ระยะที่ 4 ระยะสรุป เด็ก ครู เรียนรู้ร่วมกัน วางแผนสรุปโครงการ เป็นขั้นตอนประเมินโครงการ ทบทวนการปฏิบัติและวางแผนโครงการใหม่ วิธีการสรุป เด็กจะได้นำเสนอผลงาน อภิปรายประเด็นปัญหาร่วมกัน รวมทั้งจัดแสดงผลงานเป็นนิทรรศการหรือสาธิตผลงานที่เขาเรียนรู้

“เพียงระยะเวลาแค่ 2 เดือน เด็กที่มีปัญหากล้าแสดงออก กล้าเข้าหาคนอื่น”

 

การเรียนการสอนแบบโครงการสามารถกระตุ้นเด็กให้ได้เทอมละโปรเจ็กต์ เด็กเสนอไม่เกิน 10 หัวข้อใน 1 กลุ่ม พบว่า เด็กพม่าจากที่ชอบเก็บตัวอยู่ในพวกเดียวกัน ไม่พูดกับเด็กไทย เริ่มพูดกับคนอื่น เด็กออทิสติกเข้าไปอยู่ใต้โต๊ะ เปลี่ยนแปลงไป กล้าออกมา

การจัดการเรียนรู้แบบโครงการในเด็กอนุบาลเป็นรูปแบบของการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นที่จะสืบค้น ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง ฝึกการทำงานอย่างมีแบบแผน ผ่านกระบวนการแก้ปัญหา กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าตัดสินใจ เชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตนเองโดยมีครูเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กได้แสวงหาความรู้และคำตอบในสิ่งที่เขาสนใจ

“การเรียนรู้แบบโครงการอาจใช้ระยะเวลา ดังนั้น ครูควรมีการวางแผนการจัดกิจกรรมในทุกระยะโดยประสานความร่วมมือกับผู้บริหารและผู้ปกครอง” ครูนารีรัตน์ย้ำ

ผมฟังเธอเล่าวิธีการของเธอแล้ว คิดถึง รศ.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ครูใหญ่แห่งกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา โมเดลพัฒนาการศึกษา พัฒนาครู นักเรียน ด้วยโครงงานฐานวิจัย RBL (Research Based Learning)

จนอดปรารภกับทีมแกนนำ Q-coach แห่งกระบวนการ sQip ไม่ได้ว่า ผมพบเพาะพันธุ์ปัญญาใน sQip อย่างน่าทึ่งทีเดียว กระบวนท่า PBL ของครูนารีรัตน์ ท่วงทำนองละม้ายคล้ายกับ RBL เธอปฏิบัติการกับเด็กระดับอนุบาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน

ส่วนผลที่เกิดขึ้นในภาพรวมของกระบวนการ sQip เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งขวบปีเป็นอย่างไร ต้องติดตามเวที Q ที่เหลือ โดยเฉพาะ Q-info และฟังจากทีมวิจัยกันต่อไป