เศรษฐกิจ/วิกฤตพลังงานคลี่คลาย รถทัวร์-เมล์ตึงเครียด ‘เจ๊เกียว’ ไม่ถอย…ขออัพค่าโดยสาร แท็กซี่ทวงซ้ำ ย้ำสัญญา 5%

เศรษฐกิจ

 

วิกฤตพลังงานคลี่คลาย รถทัวร์-เมล์ตึงเครียด

‘เจ๊เกียว’ ไม่ถอย…ขออัพค่าโดยสาร

แท็กซี่ทวงซ้ำ ย้ำสัญญา 5%

 

สถานการณ์ความตึงเครียดของราคาน้ำมันและก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นได้ผ่อนคลายลงไปบ้างแล้ว

ภายหลังคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยอุดหนุน และอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี 10 บาทต่อขนาดถัง 15 กิโลกรัม ทำให้ราคาแอลพีจีลดลงเหลือไม่เกินถังละ 363 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ประกอบกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มประกาศลดราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) หรือก๊าซหุงต้ม โดยลดลง 2 บาทต่อกิโลกรัม (ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม จะมีราคาอยู่ที่ 365 บาท ซึ่งลดลงจากเดิม 30 บาทต่อถัง รวมทั้งได้ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลลง 50 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 36.86 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 29.75 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 29.48 บาท/ลิตร E20 อยู่ที่ 27.24 บาท/ลิตร และดีเซลอยู่ที่ 29.29 บาท/ลิตร ยกเว้น E85 คงเดิมอยู่ที่ 21.74 บาท/ลิตร และยังมีการประกาศลดราคาลงอีกในวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ทำให้ความกังวลในเรื่องของอาหารและสินค้าแพงทุเลาลง ขณะที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกก็พอใจกับมาตรการที่ออกมา

 

แต่ฝั่งของรถโดยสารขนส่งสาธารณะดูเหมือนจะยังตึงเครียดเหมือนเดิม โดยเฉพาะสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารขนส่งที่ก่อนหน้านี้ได้บุกไปพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถึงที่ทำงาน หลังจากราคาน้ำมันดีเซลขึ้นมาอยู่ 29.79 บาทต่อลิตร โดยได้เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติปรับขึ้นราคาค่าโดยสารอีก 10 สตางค์/กิโลเมตร

พร้อมให้เหตุผลว่า ราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวขึ้นมา 10.10 บาทต่อลิตรแล้ว หากนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผู้ประกอบการได้ปรับค่าโดยสารเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็ไม่ได้ขึ้นค่าโดยสารมาอีกแล้วรวมประมาณกว่า 3 ปี ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนน้ำมัน จนมีผู้ประกอบการเลิกกิจการไปแล้วมากกว่า 30% ตั้งแต่ต้นปี 2560-เดือนกุมภาพันธ์ 2561

โดยนางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารขนส่ง ยืนยันหนักแน่นว่า แม้ กบง. จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้แล้ว ทางสมาคมก็ยังจะเดินหน้าเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารต่อไป เนื่องจากราคาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำที่ผู้ประกอบการแบกรับไว้ไม่ไหวอยู่แล้ว การตรึงราคาไว้ที่ 30 บาท ก็ยังอยู่ในกรอบที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะต้องปรับขึ้นราคาให้กับทางผู้ประกอบการ

โดยเห็นว่าค่าโดยสารจะต้องคิดตามราคาน้ำมัน

คือ หากน้ำมันขึ้น 1 บาท ก็ต้องปรับขึ้นค่าโดยสาร 1 สตางค์ต่อกิโลเมตร หากน้ำมันลง 1 บาท ค่าโดยสารก็ปรับลง 1 สตางค์ต่อกิโลเมตร โดยปัจจุบันทางกรมการขนส่งทางบกได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังศึกษาสูตรการขึ้นลงอยู่ แต่ทางผู้ประกอบการรอจนเสร็จไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ก็มีต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นางสุจินดาระบุว่า “ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งคิดจากราคาน้ำมันประมาณ 19 บาทต่อลิตร จนถึงตอนนี้น้ำมันขึ้นมาประมาณ 10 บาท หรืออยู่ที่ประมาณ 29 บาทกว่า ทางผู้ประกอบการก็จะต้องได้ปรับค่าโดยสารอีก 10 สตางค์ต่อกิโลเมตร ดังนั้น ก็ต้องเดินหน้าขอปรับในส่วนที่ยังขาดอยู่ คือ 10 สตางค์ต่อกิโลเมตรเท่านั้น หากต่อไปน้ำมันปรับตัวลงทางผู้ประกอบการก็พร้อมจะปรับราคาลงด้วย”

 

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการรถร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ออกมาเรียกร้องขอขึ้นค่าโดยสารเช่นเดียวกัน คือ สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วม ขสมก.) ได้ทำหนังสือขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นข้อเสนอและเรียกร้องขอปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถร่วม ขสมก. อีก 4 บาท ทั้งในส่วนของรถธรรมดาและรถปรับอากาศ

โดยรถธรรมดาขอปรับขึ้นค่าโดยสารจาก 9 บาท เป็น 13 บาท ส่วนรถปรับอากาศซึ่งจะเก็บค่าโดยสารตามระยะทางนั้น ในส่วนของรถสีน้ำเงินขอปรับขึ้นจากระหว่าง 12-24 บาท เป็น 16-28 บาท รถสีเหลืองขอปรับขึ้นจากระหว่าง 13-25 บาท เป็น 17-29 บาท เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ประกาศปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มอีก อีกกิโลกรัมละ 0.62 สตางค์ ทำให้ต้นทุนราคาก๊าซของรถร่วมปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ทางสมาคมให้ข้อมูลอีกว่า รถร่วมที่มีอยู่ประมาณ 4 พันคัน มีภาระหนี้สินจำนวนมาก ส่วนราคาเชื้อเพลิงเอ็นจีวีก็ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่รถร่วมไม่ได้มีการปรับราคาค่าโดยสารมานานกว่า 4 ปีแล้ว ที่ขอปรับขึ้นราคา 4 บาทนั้นไม่ถือว่ามาก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยให้ปรับขึ้นค่าโดยสารได้ตามผลกระทบต้นทุนที่แท้จริง

ขณะเดียวกันก็เสนอให้กระทรวงคมนาคมจัดทำสูตรการปรับอัตราค่าโดยสารในรูปแบบเดียวกับเรือโดยสาร ที่สามารถปรับขึ้นและลงได้ตามราคาน้ำมันหรือก๊าซที่แท้จริง

 

เรื่องนี้นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วม ขสมก.) ระบุว่า ผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก. ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ไม่ใช่น้ำมันดีเซล และการที่ขอปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 4 บาท ก็เนื่องมาจากรถร่วม ขสมก. ถูกอั้นราคามานานแล้ว มีการชะลอปรับมา 3 ปี โดยภาครัฐอ้างให้รอการปฏิรูปของกรมการขนส่งทางบกก่อน แต่ในระหว่างรอค่าโดยสารที่คุ้มทุนก็ต้องปรับ 3-4 บาทแล้ว ขณะที่ก๊าซเอ็นจีวีก็ปรับขึ้นมาแล้ว 0.62 สตางค์ ยังมีค่าแรง ค่าครองชีพที่ปรับขึ้นมาแล้วด้วย แต่ทางรถร่วมก็ไม่ได้ปรับ

ซึ่งแตกต่างจากผู้ประกอบการเรือโดยสารที่สามารถปรับราคาตามตารางค่าน้ำมันได้เลยเมื่อราคาน้ำมันปรับขึ้นหรือลง จึงอยากเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบกทำตารางราคาให้กับรถร่วม ขสมก. บ้าง

ด้านรถแท็กซี่ นายพัลลภ ฉายินธุ คณะทำงานจัดระเบียบรถบริการสาธารณะภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิ) ในฐานะสมาชิกผู้ขับขี่แท็กซี่สุวรรณภูมิ ก็ออกมาระบุว่า ขณะนี้สมาชิกผู้ขับรถแท็กซี่สุวรรณภูมิที่วิ่งให้บริการภายในสนามบินสุวรรณภูมิรวมกว่า 7 พันคัน กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเอ็นจีวีที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เริ่มขาดทุนจากการวิ่งรถ

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระทรวงคมนาคมยังไม่ยอมอนุมัติให้แท็กซี่ปรับขึ้นราคารอบที่ 2 ที่เหลืออีก 5% ตามที่เคยสัญญาไว้ แม้ว่าจะมีข้อตกลงกันตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว รวมถึงการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม (เซอร์ชาร์จ) ของรถแท็กซี่ที่ให้บริการในสนามบินก็ยังไม่ได้รับการปรับ

ขณะนี้ผู้ขับขี่แท็กซี่ไม่สามารถแบกภาระต้นทุนต่อได้แล้ว โดยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา แท็กซี่สุวรรณภูมิได้ร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อทวงสัญญาขอปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่รอบที่ 2 อีก 5% ตามที่ตกลงไว้กับกระทรวงคมนาคม

นายพัลลภระบุด้วยว่า รอกระทรวงคมนาคมมา 4 ปีแล้ว ล่าสุดก็ยังไม่ปรับขึ้นราคา 5% วันนี้น้ำมันขึ้นมาซ้ำเติมอีก ทำให้แท็กซี่อยู่ไม่ได้ โดยจะเรียกประชุมตัวแทนสมาชิกแท็กซี่สุวรรณภูมิทั้งหมด เพื่อกำหนดท่าทีว่าจะหาทางออกอย่างไร อาจจำเป็นต้องรวบรวมสมาชิกบุกไปที่กระทรวงคมนาคมเพื่อทวงสัญญาขอขึ้นค่าโดยสารโดยทันที เพราะรอมา 4 ปีแล้ว วันนี้รอไม่ไหวแล้วต้องปรับให้ทันที

หากกระทรวงคมนาคมไม่พิจารณาก็อาจจะทำให้เกิดปัญหา แท็กซี่บางคนที่ไม่ดี อาจใช้วิธีไม่กดมิเตอร์ หรือใช้วิธีจ้างเหมา เอาเปรียบผู้โดยสารมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีกระแสในสังคมโซเชียลที่เผยแพร่ข้อมูลเชิญชวนประชาชนยกเลิกการเติมน้ำมันของสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) ปตท. ระหว่างวันที่ 1-7 มิถุนายนนี้ ที่ยังไม่รู้ว่าการประกาศลดราคาน้ำมันของ ปตท. จะสามารถพลิกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดปัญหาน้ำมันและก๊าซแพง จะยังตามหลอกหลอนทุกรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน!!