ดอนขุมเงิน และบ่อพันขัน : เกลือ และน้ำศักดิ์สิทธิ์ สร้างอาณาจักรขอมโบราณ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ดอนขุมเงิน” เป็นชื่อโบราณสถานแห่งหนึ่งในเขตบ้านตาเณร ต.เด่นราษฎร์ อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด กรมศิลปากรเคยทำการขุดค้นทางโบราณคดีมาแล้วตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2548 และได้มีการขุดขยายอีกครั้งหนึ่งเมื่อเรือน พ.ศ.2552

การขุดค้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2548 นั้น มีการค้นพบข้อมูลต่างๆ ได้แก่ ฐานรูปเคารพมีจารึกอยู่ที่ฐาน ชิ้นส่วนประติมากรรมศิลารูปจมูกโค ชิ้นส่วนประติมากรรมที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคือชิ้นส่วนของศิวลึงค์ (?) ศิลาจารึกอื่นๆ ฯลฯ

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในบรรดาการค้นพบทั้งหมดนี้ ก็คือการที่ศาสนสถานยุคเก่าแก่แห่งนี้มีแผนผังที่ซับซ้อน และมีอาคารที่ก่อล้อม “บ่อน้ำ” บ่อหนึ่งเอาไว้ด้วย

 

“บ่อน้ำ” ที่ว่านี้ จึงคงจะไม่ได้เป็นบ่อน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคกันธรรมดาๆ หรอกนะครับ แต่ควรจะเป็น “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์”

เพราะนอกจากจะมีอาคารมาก่อล้อมบ่อน้ำเอาไว้แล้ว ยังมีการพบจารึกรูปตัวอักษรโดดๆ 4 ตัวอักษร อยู่บนหินกรุผนังบ่อ ในตำแหน่งที่แตกต่างกันออกไป

(จารึกตัวอักษรที่ว่านี้ เขียนขึ้นด้วยอักษรปัลลวะ ที่มีต้นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ได้แพร่กระจายเข้ามาในภูมิภาคอุษาคเนย์ตั้งแต่ในช่วงหลัง พ.ศ.1000 เป็นต้นมา ก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนาไปเป็นตัวอักษรประเภทต่างๆ เช่น อักษรขอม หรืออักษรมอญ ในภายหลัง ดังนั้น จารึกตัวอักษรเล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า ทั้งบ่อน้ำ และตัวสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ดอนขุมเงินนั้นเก่าแก่เป็นอย่างมาก คือจัดอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ตัวอักษรของอินเดียที่แพร่กระจายเข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือศาสนาพุทธ ในยุคเริ่มแรกเลยทีเดียว)

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษา และอักษรโบราณของกรมศิลปากรอย่าง อ.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ได้เคยอธิบายเอาไว้ว่า กลุ่มจารึกตัวอักษรดังกล่าว ประกอบไปด้วยตัวอักษร 4 ตัว ได้แก่ “ล” ซึ่งหมายถึงพระศิวะ “ช” หมายถึงพระนารายณ์ “ป” หมายถึงพระนางปารพตี (หรือที่มักจะคุ้นหูกันมากกว่าในชื่อพระแม่อุมา) ผู้เป็นชายาของพระศิวะ และ “ย” คือพระแม่ลักษมี ชายาของพระนารายณ์นั่นเอง

ถึงแม้ อ.ก่องแก้วจะไม่ได้อธิบายเอาไว้ด้วยว่า ทำไมตัวอักษรเหล่านี้ จึงหมายถึงเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้ง 4 องค์ดังกล่าว? แต่ท่านก็ได้อธิบายถึงข้อสันนิษฐานของตัวท่านเองเกี่ยวกับ ระบบการทำงานเชิงพิธีกรรมของเจ้าอักษรทั้ง 4 ตัว บนบ่อน้ำแห่งนี้เอาไว้อย่างยืดยาว

(สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถหาอ่านได้จากข้อเขียนของ อ.ก่องแก้ว ที่ชื่อ ถอดความจารึกดอนขุมเงิน ที่มีเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

 

ไม่ว่าข้อสันนิษฐานของ อ.ก่องแก้วจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่คำอธิบายดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงความโน้มเอียงไปในทิศทางที่ว่า บ่อน้ำที่ดอนขุมเงินนั้น เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในศาสนาอยู่นั่นเอง

4 ปีต่อมา ตรงกับ พ.ศ.2552 กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งขยายที่แหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน ซึ่งก็ช่วยให้พบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสนสถานแห่งนี้เพิ่มขึ้น ในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว

เพราะการขุดแต่งศาสนสถานดอนขุมเงินเมื่อปี พ.ศ.2552 ทำให้สามารถเห็นได้ถึงขอบเขตของศาสนสถานแห่งนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งแนวกำแพง และที่สำคัญคือ “ทางระบายน้ำ” ที่พบทั้งหมดสามลำราง

ทางระบายน้ำที่ว่าประกอบขึ้นจากการเรียงหินต่อกันเป็นลำราง เฉพาะที่ส่วนต้นนับจากศาสนสถานมีการประกบหินไว้ข้างบนทำให้มีลักษณะคล้ายท่อ แต่ส่วนลำรางที่ยาวออกไปส่วนใหญ่ไม่พบหลักฐานว่ามีหินประกบอยู่เหมือนกันทั้งสามลำราง

และก็น่าเสียดายว่าข้อมูลที่ได้จากการขุดแต่งไม่พบหลักฐานว่าแต่ละลำรางนั้น ยาวต่อเนื่องไปจนจบลงที่ตรงไหนแน่?

อย่างไรก็ตาม ลำรางพวกนี้ต่างก็มุ่งตรงไปทางทิศตะวันตก ที่มี “ลำเสียว” (เสียว เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งนะครับ อย่าเพิ่งคิดไปไกล) ลำน้ำซึ่งไหลจากทิศเหนือลงมาใต้ที่อยู่ห่างออกไปอีกราว 100 เมตร เหมือนกันทั้งหมด

ยิ่ง “น้ำ” ที่ไหลจากลำรางนั้น ไม่ใช่น้ำที่ถูกระบายทิ้ง เพราะผู้คนในพื้นที่แล้งน้ำอย่างทุ่งกุลาร้องไห้ คงอยากจะเก็บน้ำไว้ใช้มากกว่าจะทิ้งให้เสียเปล่า โดยเฉพาะเมื่อสมัยโบราณครั้งโน้น ดังนั้น น้ำจากบ่อน้ำภายในศาสนสถานก็ควรจะเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ทำนองเดียวกับน้ำมนต์

และถ้าหากในสมัยนั้น ลำรางทั้งสาม (หรือจะไม่ครบทั้งสามก็ได้) ยาวต่อเนื่องจนไปเชื่อมเข้ากับลำเสียว การชักน้ำจากบ่อน้ำที่ดอนขุมเงินให้ไหลผ่าน “ลำราง” มุ่งเข้าหา “ลำเสียว” นั้น ก็ย่อมต้องเป็นการทำน้ำในลำเสียวให้กลายเป็นน้ำและลำธารศักดิ์สิทธิ์ ผ่านทางพิธีกรรมที่ประกอบขึ้นในศาสนสถานคือ “ดอนขุมเงิน” นั่นเอง

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ แหล่งโบราณคดี “ดอนขุมเงิน” นั้น ตั้งอยู่ใกล้กับ “บ่อพันขัน” อันเป็นบ่อน้ำจืดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้

“บ่อพันขัน” เป็นบ่อน้ำขนาดเล็กบนหินทรายแดง กว้าง 6 นิ้ว และลึกเพียง 12 นิ้ว แต่เป็นบ่อที่ทับอยู่บนตาน้ำ จึงทำให้มีน้ำไหลออกมาตลอดเวลา ประกอบกับการที่น้ำมีรสชาติจืดสนิท ทั้งที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแหล่งหินเกลือ จึงทำให้ชาวบ้านเห็นเป็นที่อัศจรรย์ และเรียกกันว่า บ่อพันขัน ซึ่งก็หมายถึงเป็นบ่อที่สามารถตักน้ำได้เป็นพันๆ ขันนั่นเอง (อย่างไรก็ตาม บ่อพันขัน ยังถูกชาวบ้านเรียกตามลักษณะรูปร่างของบ่อในอีกชื่อหนึ่งด้วยว่า “น้ำสร่างครก” เพราะมีลักษณะคล้ายกับครกตำข้าว)

เรียกได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้สัมพันธ์อยู่กับ “แหล่งน้ำ” แถมยังเป็นแหล่งน้ำในสถานที่แห้งแล้งอย่าง “ทุ่งกุลาร้องไห้” อีกด้วย

แต่ที่บริเวณโดยรอบบ่อพันขัน (ที่มีแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน เป็นส่วนหนึ่ง เห็นได้ง่ายๆ จากการที่ชื่อบ้านนามเมืองละแวกนั้น ล้วนแต่มีคำว่า “พันขัน” ประกอบอยู่ด้วยแทบทั้งสิ้น) นั้นไม่ได้มีเพียงแต่แหล่งน้ำเท่านั้น เพราะยังเป็นสถานที่ผลิตเกลือแหล่งสำคัญ อีกแห่งหนึ่งในทุ่งกุลาร้องไห้มาตั้งแต่โบราณ

และแน่นอนว่า ก็คงโบราณมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการสร้างแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงินโน่นอีกนะครับ

เกลือเป็นทรัพยากรสำคัญ ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมโบราณหลายชนิด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิต่างๆ เช่น งานโลหกรรมต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะในการถนอมอาหาร หรือเพิ่มรสชาติของอาหารเพียงอย่างเดียว

บริเวณบ่อพันขัน จึงเป็นพื้นที่สำคัญเพราะควบคุมได้ทั้ง “น้ำ” และก็ “เกลือ” นั่นแหละครับ ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่จะมีการมาสร้างศาสนสถานที่มีคติ และพิธีกรรมที่สัมพันธ์อยู่กับ “น้ำ” ในบริเวณละแวกบ่อพันขัน ซึ่งก็คือศาสนสถานที่แหล่งโบราณคดี “ดอนขุมเงิน” นั่นเอง

 

ฐานรูปเคารพชิ้นหนึ่งที่กรมศิลปากรค้นพบในการขุดค้นที่ดอนขุมเงินครั้งแรก ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2548 นั้น เป็นจารึกสำคัญในการทำความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณบ่อพันขัน และรวมไปถึงทุ่งกุลาร้องไห้ทั้งผืน เพราะมีคำจารึกระบุพระนามของ “เจ้าชายจิตรเสน” แห่งเมืองภวปุระ (ตั้งอยู่บริเวณวัดภู แคว้นจำปาสัก ในประเทศลาว) ซึ่งจารึกของพระองค์ถูกค้นพบอยู่หลายหลักในพื้นที่ภาพตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือพื้นที่อีสานใต้ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.อุบลราชธานี, จ.สุรินทร์, จ.ขอนแก่น และที่ดอนขุมเงิน ใน จ.ร้อยเอ็ด

เจ้าชายพระองค์นี้ต่อไปจะครองราชย์เป็น “พระเจ้ามเหนทรวรมัน” (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1143-1158) กษัตริย์ผู้ทรงวางรากฐานให้อารยธรรม “เจนละ” คือขอมโบราณเป็นปึกแผ่น ก่อนที่พระราชโอรสของพระองค์คือ พระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1158-1178) จะสถาปนาเมือง “อีศานปุระ” อันเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนแห่งแรกของขอมขึ้นที่ละแวก หมู่บ้านสมโบร์ไพรกุก เมืองกำพงธม ใกล้ตนเลสาบเขมร ในประเทศกัมพูชา

เป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ และอารยธรรมขอมโบราณว่า “อีศานปุระ” (หรือที่มักเรียกกันว่า สมโบร์ไพรกุก ตามชื่อหมู่บ้านในปัจจุบันมากกว่า) เป็นต้นธารของอารยธรรมขอมอันยิ่งใหญ่ แต่ทุนรอนของการสร้างอาณาจักร (และเลยไปจนถึงจักรวรรดิในยุคหลังกว่านั้น) ที่ว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากการเจ้าชายจิตรเสน หรือพระเจ้ามเหนทรวรมันสามารถควบคุมเกลือ และน้ำในทุ่งกุลาร้องไห้ได้นี่เอง