ข้อสอบของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช -“ทำไมต้องเป็น “เกาะ” ?”

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ 4 : ข้อสอบของอาจารย์ชัยอนันต์-“ทำไมต้องเป็น “เกาะ” ?”

“การเผชิญทางปัญญาความรู้” กับอาจารย์ชัยอนันต์ครั้งแรกในชีวิตของผมก็คือ การเผชิญกับข้อสอบเรื่อง “คน 2 คนอยู่บนเกาะ มีการเมืองไหม?”

คราวที่แล้ว (ตอนที่ 3) ผมได้เล่าถึงการออกกำลังสมองในการพยายามตอบข้อสอบข้อนี้ แม้ว่าสมัยอยู่ปีหนึ่ง ผมจะตอบข้อสอบนี้ได้ไม่ดี คำถามนี้ยังตามหลอกหลอนผมมาโดยตลอด

มาบัดนี้ เวลาผ่านไป 41 ปี และผมก็เป็นอาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาแล้ว 26 ปี ผมมีมุมมองและพัฒนาการทางความคิดที่จะสะท้อนกลับไปยังคำถามข้อนี้ในฐานะที่สอนวิชาปรัชญาการเมืองและต้องออกข้อสอบประเมินความรู้ของนิสิตที่เรียนมา 26 ปีเต็ม

ก่อนอื่น ผมจะชวนให้ตั้งคำถามกลับไปที่ “การตั้งคำถาม” ว่า ทำไมถึงต้องใช้ “เกาะ” เป็นฉากเดินเรื่องของคน 2 คน?

เมื่อตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็น “เกาะ” เราจะพบว่ามีนักคิดนักเขียนจำนวนมากที่ใช้ “เกาะ” เป็นฉากหรือพื้นที่ในการเดินเรื่อง

ก่อนจะตั้งคำถาม เราลองมาสำรวจกันดูว่า มีงานเขียนอะไรบ้างที่ใช้ “เกาะ” ในการเดินเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงกับ “เกาะของอาจารย์ชัยอนันต์” นั่นคือ มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง

 

อันดับแรกเลยในความเห็นของผม คือย้อนกลับไปศตวรรษที่สี่ในสมัยกรีกโบราณ ในงานของเพลโต เพลโตเขียนงานของเขาในแบบของบทสนทนา ปรากฏในบทสนทนาที่ชื่อ “Timaeus” (ทิเมอุส) และ “Critias” (ไครเทียส)

โดยเกาะในจินตนาการของเพลโตมีชื่อว่า “แอตแลนติส” (Atlantis)

ต่อมาอันดับสองคือ “เกาะยูโทเปีย” (Utopia) ปรากฏในงานเขียนชื่อ “ยูโทเปีย” ของเซอร์โทมัส มอร์ (Thomas More) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1516

ต่อมาอันดับที่สามคือ “เกาะ” ของเซอร์ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ในข้อเขียนชื่อ “The New Atlantis” (ซึ่งน่าจะมีอะไรที่เชื่อมโยงกับเกาะ Atlanis ของเพลโต!) ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1627

อันดับสี่คือ “เกาะ” ของเจมส์ แฮริงตัน (James Harrinton) ในงานเขียนชื่อ The Commonwealth of Oceana ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1656

อันดับที่ห้าคือ “เกาะ” ของเฮนรี่ เนวิล (Henry Neville) ในงานชื่อ The Isle of Pines ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1668

ที่กล่าวไปห้าอันดับนับจากศตวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาลถึงศตวรรษที่สิบเจ็ด ล้วนเป็นข้อเขียนที่กล่าวได้ว่าเป็น “การเมือง”

และที่น่าสังเกตคือ สี่ในห้าเป็นผลงานของนักคิดนักเขียนชาวอังกฤษทั้งสิ้น ยกเว้นเพลโต

 

ต่อมา อันดับหกเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่รู้ นั่นคือ นวนิยายที่ตีพิมพ์ในต้นศตวรรษที่สิบแปด (ค.ศ.1719) เรื่องโรบินสัน ครูโซ ของแดเนียล เดอโฟ และสวีเวน ซอร์น (Daniel Defoe and Steven Zorn)

อีกทั้งเวลาใครคิดถึงนวนิยายที่มี “เกาะ” เข้าใจว่าเกือบทุกคนจะต้องนึกถึง “โรบินสัน ครูโซ” เป็นเรื่องแรก ซึ่งก็จริง เพราะตอนที่ผมอ่านข้อสอบของอาจารย์ชัยอนันต์ สิ่งแรกที่แว่บเข้ามาในหัวของผมก็คือเรื่องโรบินสัน ครูโซ นี่แหละ

ความโด่งดังของโรบินสัน ครูโซ คือ แม้คนที่ไม่เคยอ่านนวนิยายนี้ แต่ก็รู้โครงเรื่องว่ามันเกี่ยวกับชายคนหนึ่ง เรือล่มกลางทะเล มาติดเกาะ ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะกับคนพื้นเมืองคนหนึ่งที่เขาช่วยชีวิตไว้ และอยู่บนเกาะกันนานถึงยี่สิบห้าปี

อันดับเจ็ดคือ The Island of Doctor Moreau (ค.ศ.1896) (ครึ่งคนครึ่งสัตว์ มฤตยูพันธุ์โหด) ของเอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) นักประพันธ์นวนิยายแนววิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เรืออับปาง มีเรือผ่านมาและช่วยเขาไว้ และไปปล่อยเขาที่เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเกาะที่ ดร.มอร์โรพำนักอยู่ ดร.มอร์โรเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่ทำการผ่าตัดสร้างสิ่งที่มีชีวิตที่เป็นส่วนผสมระหว่างคนกับสัตว์ขึ้นมา!

อันดับที่แปด Lord of the Flies (“วัยเยาว์อันสูญสิ้น”) ของวิลเลียม โกลดิ้ง (William Golding) ในปี ค.ศ.1954 เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กนักเรียนอังกฤษนั่งเครื่องบิน เครื่องบินถูกยิงตกเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก กัปตันคนขับเครื่องบินตาย เด็กจำนวนหนึ่งรอดชีวิตมาขึ้นเกาะร้าง และต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันบนเกาะตามลำพัง

นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลโนเบลด้วย

 

ในยุคปัจจุบัน มีงานเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองโดยตรงที่อาศัย “เกาะ” เป็นส่วนสำคัญในการอธิบายเรื่องราวของมนุษย์และสร้างทฤษฎีการเมืองก็น่าจะได้แก่ ทฤษฎีการเมืองของโรนัลด์ ดอร์คิน (Ronald Dworkin : เพิ่งตายไปเมื่อปี ค.ศ.2013) ที่ปรากฏในหนังสือของเขาชื่อ Sovereign Virtue : The Theory and Practice of Equality ตีพิมพ์ปี ค.ศ.2000

โดยดอร์คินสมมุติให้มีเกาะร้าง (desert island) และมีคนอยู่ และเกิดชุมชนขึ้นมาบนเกาะร้างแห่งนั้น

นอกจาก “เกาะสมมุติ” ซึ่งเป็นสถานที่ที่นิยมนำมาใช้ “เดินเรื่อง” ในข้อเขียนตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว ในศตวรรษที่ยี่สิบต่อยี่สิบเอ็ด ในปี ค.ศ.2000 ยังมีภาพยนตร์เรื่อง Castaway (คนหลุดโลก) ที่เป็นเรื่องของวิศวกรของบริษัทรับส่งของระดับโลก (FedEx) ในขณะที่ต้องบินไปทำงาน เกิดเครื่องตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก เขารอดชีวิตและไปติดอยู่บนเกาะร้างแห่งหนึ่ง ติดอยู่สี่ปีแล้วจึงสามารถกลับไปสู่โลกสมัยใหม่ได้

นอกจากภาพยนตร์จอใหญ่แล้ว ยังมีซีรี่ส์เรื่อง Lost (เริ่มแพร่ภาพ ค.ศ.2004) ก็เป็นเรื่องคนกลุ่มหนึ่งไปติดเกาะแห่งหนึ่งในแปซิฟิกใต้

 

นอกจาก “เกาะ” ยังมีการใช้ “ดาว” อีกด้วย เพราะการไปติดอยู่บนดาวในยุคนี้ อาจจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นกว่าสมัยเพลโตหรือศตวรรษที่สิบเก้าของเอช. จี. เวลส์ เช่น ดาวอังคารในภาพยนตร์เรื่อง The Martian (เดอะ มาร์เชียน กู้ตาย 140 ล้านไมล์) ออกฉายในปี ค.ศ.2005 ที่นักบินอวกาศคนหนึ่งไปติดอยู่บนดาวอังคารคนเดียวพร้อมมีอาหารจำกัด

และเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องติดอยู่บนดาวอังคารนี้นานอีกแค่ไหนถึงจะกลับโลกได้

ในภาพยนตร์เรื่อง The Martian มีข้อความตอนหนึ่งที่เป็นบทพูดของพระเอกที่อาจเป็นเบาะแสที่จะเชื่อมโยงกลับไปสู่การทำความเข้าใจว่า ทำไมอาจารย์ชัยอนันต์ถึงต้องออกข้อสอบเรื่อง “คน 2 คนบนเกาะ”

มีอยู่ตอนหนึ่งที่พระเอกคุยผ่านวิทยุสื่อสารกับเจ้าหน้าที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) เขาเล่าถึงความจำเป็นที่จะต้องหาอาหารไว้ยังชีพ เนื่องจากอาหารที่เตรียมมามีจำกัด และเขาเองก็เป็นคนที่มีความรู้ทักษะเกี่ยวกับการเกษตรอยู่บ้าง เขาจึงเพาะมันฝรั่งในผืนดินบนดาวอังคาร

และเขาก็ได้กล่าวผ่านวิทยุสื่อสารอย่างติดตลกว่า สิ่งที่เขาได้จากมหาวิทยาลัยที่เขาจบมา (ในท้องเรื่องคือ มหาวิทยาลัยชิคาโก) คือ มีอาจารย์เคยสอนไว้ว่า ทันทีที่คุณปลูกพืชบนผืนดินที่ใดสักที่หนึ่งที่ยังไม่มีใครครอบครอง ถือตามหลักการได้ว่า คุณก็ได้เป็นเจ้าของพื้นที่นั้นแล้วอย่างเป็นทางการ

นั่นคือ การที่เขาปลูกมันฝรั่งบนดาวอังคาร เขาก็จะกลายเป็นเจ้าของดาวอังคารไป

เหมือนกับสมัยก่อนที่มีคนไปบุกเบิกพื้นที่ตามเกาะหรือทวีปที่ยังไม่มีใครครอบครองที่นั้น ก็ถือเป็น “อาณานิคม” ของคนคนนั้นหรือของตัวแทนของประเทศนั้นไป (“The coolest one is from my alma mater, the University of Chicago. They say once you grow crops somewhere, you have officially “colonized” it. So, technically, I colonized Mars.”)

พอเดาออกหรือยังว่า มันไปเชื่อมโยงกับคำถามของอาจารย์ชัยอนันต์ในปี พ.ศ.2520 อย่างไร?