คนมองหนัง : รู้จัก “ผู้กำกับฯ ดาวคะนอง” อีกหนึ่งหนังประวัติศาสตร์ “6 ตุลาฯ”

คนมองหนัง

คอลัมน์นี้เคยกล่าวถึงข่าวคราวของ “ดาวคะนอง” ภาพยนตร์โดย “อโนชา สุวิชากรพงศ์” ไปบ้างแล้ว

แต่หากจะให้ทบทวนอีกครั้ง ก็คงสามารถบอกคร่าวๆ ได้ว่า “ดาวคะนอง” คือ “หนังการเมือง” ที่มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ทว่า อโนชาได้เลือกที่จะพร่าเลือนองค์ประกอบทางการเมืองในหนัง ผ่านการสร้างกรอบโครงที่มุ่งครุ่นคิดถึงประเด็นว่าด้วยพลังอันอธิบายได้ยากของ “เวลา” “ความทรงจำ” และ “ภาพยนตร์” ซึ่งนำไปสู่ภาวะคลุมเครือของเส้นแบ่งระหว่าง “ความจริง” กับ “เรื่องแต่ง”

แทนที่จะพูดถึงเหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา หนังเรื่องนี้จึงเลือกติดตามการใช้ชีวิตประจำวันของหลากหลายตัวละคร โดยไม่พยายามอธิบายสายสัมพันธ์ที่พวกเขาและเธอแต่ละคนมีระหว่างกัน

แล้วปล่อยให้ภาพชีวิตของสามัญชนเหล่านั้นถูกเชื่อมร้อยเข้าหากันด้วยกระแสเชี่ยวกรากแห่งสายธารประวัติศาสตร์

“ดาวคะนอง” เริ่มฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่โลคาร์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะเดินทางไปยังเกาหลีใต้, อังกฤษ, แคนาดา และฮ่องกง ฯลฯ

ในประเทศไทย อโนชาเลือกจะจัดฉายหนังรอบพิเศษสำหรับแขกรับเชิญเฉพาะกลุ่มในคืนวันที่ 6 ตุลาคมนี้ เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ก่อนที่หนังจะเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นเดือนธันวาคม

ปี 2519 คือปีที่อโนชาถือกำเนิดและลืมตาขึ้นมาดูโลก เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ค่อยๆ กลายมาเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจใคร่รู้ของเธอ พร้อมการตั้งคำถามว่าทำไมเหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวถึงถูกปกคลุมด้วยความเงียบ

อโนชาไม่เคยเรียนรู้เรื่อง 6 ตุลาฯ จากห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาของไทย แต่เธอศึกษาเรื่องนี้จากการอ่านหนังสือด้วยตัวเอง ตั้งแต่ตอนอายุ 12-13 ปี

รวมถึงในปี 2552 ที่เธอได้อ่านบทความชิ้นสำคัญ “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549” ซึ่งเขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล แกนนำนักศึกษาในช่วงปี 2519 และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดี อโนชาเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากๆ ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 โดยเธอให้สัมภาษณ์กับ ก้อง ฤทธิ์ดี แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เอาไว้ว่า

“เรารู้สึกอกหักตอนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าผู้คนรอบๆ ตัว จะกลายไปเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารกันขนาดนั้น มันทำให้เราตื่นขึ้น ในช่วงเวลานั้นฝ่ายต่อต้านรัฐประหารยังไม่เข้มแข็งมากนัก แต่มันก็มีการรวมตัวกันของผู้คัดค้านรัฐประหารที่หน้าห้างสยามดิสคัฟเวอรี และเราก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว”

ไม่เพียงเท่านั้น ต่อมาอโนชายังจัดทำแคมเปญ “จูบในที่สาธารณะ” ซึ่งเชิญชวนผู้คนให้ไปจูบกัน ณ บริเวณที่มีทหารประจำการอยู่

ทหารก็ประจำอยู่ตรงสถานที่ที่เราไปทำกิจกรรมกัน แต่พวกเขาไม่พูดอะไร ไม่มีการใช้กำลังปราบปรามเกิดขึ้น คุณคิดว่าเราสามารถทำอย่างนั้นได้ไหมในยุคนี้? นี่แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันย่ำแย่ลงขนาดไหน” อโนชากล่าวกับผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์

%e0%b8%ad%e0%b9%82%e0%b8%99%e0%b8%8a%e0%b8%b2-%e0%b8%94%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%84%e0%b8%b0%e0%b8%99%e0%b8%ad%e0%b8%87

อโนชาเริ่มเขียนบทภาพยนตร์ร่างแรกของ “ดาวคะนอง” ตั้งแต่ปี 2552 หลังจากบรรลุภารกิจในการทำคลอด “เจ้านกกระจอก” ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของตนเอง

ขณะที่หนังยาวเรื่องแรกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มพิการกับพ่อ ผลงานลำดับถัดมาของเธอกลับมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตัวละครหญิงสาว ซึ่งเปลี่ยนงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อโนชาอธิบายกับ เคลลี่ ตง แห่งเว็บไซต์ฟิล์ม คอมเมนท์ ว่า หลังจากทำ “เจ้านกกระจอก” แล้วเสร็จ เธอก็มุ่งมั่นที่จะทำ “ดาวคะนอง” ให้ผิดแผกแตกต่างออกไป

ดังนั้น เมื่อเธอพูดถึงระบอบปิตาธิปไตยผ่านหนังเรื่องแรก เธอจึงเลือกเดินในทิศทางตรงกันข้าม ระหว่างผลิตหนังเรื่องที่สอง

แรกเริ่มเดิมที อโนชาตั้งใจจะนำประสบการณ์ของตัวละครหญิง ผู้เป็นศูนย์กลางเรื่องราวใน “ดาวคะนอง” มาสะท้อนถึงสภาพสังคมโดยรวม และไม่ได้จงใจจะพูดเรื่องการเมืองอย่างเด่นชัดนัก

แต่นับจากปี 2552-2559 สังคมการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย และความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็ได้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

ดังที่อโนชาเปิดใจกับ เคลลี่ ตง ว่า ยิ่งเวลาผ่านผันไปมากเท่าไหร่ เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ยิ่งเวียนวนกลับเข้ามาในความคิดของเธอครั้งแล้วครั้งเล่า

กระทั่ง “ดาวคะนอง” กลายเป็นหนังว่าด้วย “การเมืองเดือนตุลาคม” อีกหนึ่งเรื่องในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

00

ในทัศนะของอโนชา “การทำหนัง” และ “ประวัติศาสตร์” นั้นมีสายสัมพันธ์ที่แปลกประหลาดระหว่างกัน

เรื่องราวที่เป็นศูนย์กลางของ “ดาวคะนอง” คือ เรื่องของผู้กำกับภาพยนตร์สาวที่พยายามจะสร้างหนังประวัติศาสตร์

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นหนึ่งขั้นตอน อโนชาก็ได้ตระหนักว่า กระบวนการสร้างหนังเรื่องนี้ มีส่วนกระตุ้นให้เธอครุ่นคิดถึงสองประเด็นสำคัญ คือ “การสรรค์สร้างผลงานศิลปะ” และ “วิถีทางที่สังคมบันทึกและจดจำอดีต”

เธออธิบายเรื่องนี้กับ ก้อง ฤทธิ์ดี ว่า

“เราพยายามหาคำตอบให้กับตัวเอง ว่าทำไมเราถึงสนใจในกระบวนการถ่ายทำหนังและกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์ บางทีสองสิ่งนี้อาจมีองค์ประกอบหลายอย่างร่วมกันอยู่ กระบวนการทำหนังและบันทึกประวัติศาสตร์ คือการผสมผสานกันระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น สองสิ่งนี้มีการบิดเบือนอะไรบางอย่างคล้ายๆ กัน ข้อมูลในหนังและประวัติศาสตร์มีทั้งเรื่องที่ถูกและผิดเหมือนๆ กัน”

“หนังคือเรื่องของภาพ ขณะที่ประวัติศาสตร์คือความทรงจำที่ผสานกับข้อมูล ทั้งหนังและประวัติศาสตร์ต่างบรรจุไว้ซึ่งเรื่องราวส่วนบุคคลและเรื่องราวของกลุ่มคนในสังคม ยิ่งกว่านั้น ทั้งสองสิ่งล้วนมีสถานะเป็นความลึกลับพิศวงเหมือนกัน”

หนึ่งในคำถามน่าสนใจจาก เคลลี่ ตง ก็คือ มีนักแสดงจำนวนมากใน “ดาวคะนอง” ซึ่งเป็นคนรุ่นหลังที่ไม่ได้ตระหนักถึงหรือมิได้มีความข้องเกี่ยวโดยตรงกับความทรงจำกรณี 6 ตุลาฯ แต่ทำไมอโนชาจึงเลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านการแสดงของบุคคลกลุ่มนี้ ผู้อาจไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าพวกตนกำลังต้องแบกรับภารกิจทางประวัติศาสตร์บางประการอยู่?

อโนชาตอบว่า ถึงแม้ใครๆ จะบอกว่าคนรุ่นหลังไม่ใส่ใจในอดีตของตัวเอง หรือไม่สนใจความเป็นไปของสังคม แต่เธอก็ยังต้องการจะสร้าง “ความแตกต่าง” ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยยุคปัจจุบัน ยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง

“ความแตกต่าง” ที่ว่า ก็คือ การเผยให้เห็นถึงภาระทางประวัติศาสตร์อันหนักอึ้ง ซึ่งแม้แต่นักแสดงที่ต้องแบกรับภาระดังกล่าวเอง ก็อาจยังไม่ได้ตระหนักถึง

“นักแสดงในหนังอาจจะไม่ตระหนักรู้ แต่ผู้ชมจะรับรู้การดำรงอยู่ของมัน แล้วเราก็ต้องการที่จะเข้าให้ถึงกลุ่มคนดูมากกว่านักแสดงอยู่แล้ว” อโนชาตอบคำถามนี้ไว้ในเว็บไซต์ฟิล์ม คอมเมนท์

ที่มา Filming history: Movie-within-a-movie blends facts with mystery in recounting Oct 6, 1976, Thammasat massacre โดย ก้อง ฤทธิ์ดี (http://www.bangkokpost.com/lifestyle/social-and-lifestyle/1099713/filming-history)

Locarno Interview: Anocha Suwichakornpong โดย Kelley Dong (http://www.filmcomment.com/blog/locarno-interview-anocha-suwichakornpong)