คำ ผกา : คนจน ฉันขาดเธอไม่ได้

คำ ผกา

หลังจากเกิดไฟไหม้าป่าที่เชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา น้องคนหนึ่งเดินมาถามฉันว่า

“เห็ดถอบนี่มีแต่คนเหนือกินเท่านั้นใช่ไหม?” ฉันตอบว่า คนอีสานก็กินและเรียกว่าเห็ดเผาะ น้องถามต่อไปว่า ถ้าไม่เผาป่า ไม่มีเห็ดใช่หรือไม่?

ถามดังนั้น ฉันต้องเชิญน้องนั่งลง แล้วบอกว่า, ใช่ ถ้าไม่มีไฟป่า ก็ไม่มีเห็ด และอย่าลืมกว่า “ไฟป่า” เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ป่าแต่เดิม เช่น เมล็ดพันธุ์ของไม้ป่าหลายชนิดจะไม่แตกงอกออกมาเป็นต้นใหม่ การจัดการทุ่งหญ้าในป่าก็ต้องเผาเช่นกัน

“การจัดการทุ่งหญ้าโดยใช้วิธีการชิงเผาเพื่อให้หญ้าระบัด เป็นวิธีหนึ่งในการจัดการทุ่งหญ้าเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า และเป็นการเพิ่มพื้นที่กิจกรรมการชมสัตว์ป่าสองข้างทางในเวลากลางวันและกลางคืน โดยที่หลังจากชิงเผาแล้ว เมื่อหญ้าอ่อนระบัดจะมีสัตว์กินพืชเข้ามาใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก ข้อดีของการชิงเผาอีกข้อหนึ่งคือ เป็นการป้องกันไฟป่าหากเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและไม่มีการควบคุมจะเกิดอันตรายต่อสัตว์ป่าและสภาพป่าโดยทั่วไป”

http://www.khaoyaizone.com

 

เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นเราต้องเข้าใจว่า “ไฟป่า” คือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่ทำให้เกิดต้นไม้งอกใหม่ เกิดเห็ด เกิดผักหวาน (ที่มักตกเป็นจำเลยว่า ชาวบ้านเผาป่าเพื่อเก็บผักหวาน) เกิดทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ (ถ้าไม่เกิดไฟป่าตามธรรมชาติ มนุษย์ต้องเผาเอง ไม่อย่างนั้นจะไม่มียอดหญ้าระบัดใบ)

และเช่นเดียวกับ “ธรรมชาติ” อื่นๆ ที่บางครั้งมันก็เลยเถิด เช่น ไฟป่าที่ลุกลามจนเกิดความเสียหาย ฝนที่ตกมากเกินไปจนน้ำท่วม

และเช่นเดียวกับการจัดการระบบนิเวศน์อื่นๆ การสกัดไฟป่าบางครั้งก็ทำด้วยการแทรกแซงไฟป่าด้วยมนุษย์

นั่นหมายความว่า มนุษย์ต้องชิงเผา และสร้างแนวกันไฟ จัดการไฟป่าให้เกิดขึ้นในระดับที่เป็นประโยชน์

การแทรกแซงไฟป่าด้วยการชิงเผาเสียเองดีกว่าการปล่อยให้ไฟป่าไหม้ลุกลามไปตามธรรมชาติ และจัดการควบคุมไม่ได้ แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้ต้องกระทำบนหลัก “วิชาการ”

ไม่ใช่นึกอยากจะเผาเมื่อไหร่อย่างไรก็ได้

วิชาการเผาป่าของคนป่าคนดอยอาจมาจากการสั่งสมภูมิปัญญาประสบการณ์ วิชาการเผาป่าและสกัด ควบคุมไฟป่าของหน่วยควบคุมไฟป่าก็เป็นวิชาการ ความรู้สมัยใหม่ มีการฝึกฝน มีการปฏิบัติ อย่างมีหลักการรองรับ

แต่วิชาการ “ไฟป่า” ของมวลชนที่ตระหนกตกตื่น มักเห็นไฟป่าในมิติเดียวคือ มิติของการทำลายล้างกับมิติที่เห็นชาวบ้านเก็บเห็ดและเก็บผักหวานรวมไปถึงชาวบ้านที่รุกป่าคือตัวการทำให้เกิดไฟป่าเผาผลาญ เป็นเหตุให้ต้นไม้หมดไปจากป่า เป็นเหตุให้สัตว์ป่า เป็นเหตุให้สินเปลืองงบประมาณในการดับไฟป่า

สุดท้าย ชาวบ้านที่ยากจนคือชาวบ้านที่ทำผิดกฎหมาย คือชาวบ้านที่เห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้น เงินไม่กี่บาท ชาวบ้านไม่รักไม่รู้ในระบบนิเวศน์ ชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ -สรุปอีกครั้ง- ความจนทำให้โง่ ทำให้ขาดการศึกษา-นี่มันตัวถ่วงความเจริญของประเทศชัดๆ

ทัศนคติต่อคนจนเช่นนี้ คล้ายกับทัศนคติของเจ้าอาณานิคมที่มองคนพื้นเมืองในยุคล่าอาณานิคม ในสายตาของเจ้าอาณานิคม คนพื้นเมืองคือมนุษย์ที่ยังไม่เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากขาดการศึกษาและขาดการขัดเกลา คนพื้นเมืองจึงโง่ งมงาย นับถือไสยศาสตร์ ภูตผีอย่างน่าขัน ขี้เกียจ มักมากในกามารมณ์ ไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่ชอบทำงานหนักแต่อยากมีชีวิตสบาย โลภ ขี้โกง ไม่ซื่อสัตย์ มักง่าย ฯลฯ

แม้จะมองคนพื้นเมืองเช่นนี้ เจ้าอาณานิคมก็ยังต้องพึ่ง “คนพื้นเมือง” สำหรับการทำงาน (อย่าลืมว่าตัวแทนของเจ้าอาณานิคมคือ บริษัทการค้า) เพื่อเป็นตัวกลางในการทำงานกับคนพื้นเมืองระดับแรงงาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีคนพื้นเมืองระดับ “เสมียน” (ทำให้นึกถึงคำว่า ชนชั้นนำชายขอบ” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์) หรือระดับ “ผู้จัดการ”

คนพื้นเมืองระดับเสมียนหรือผู้จัดการ คือคนพื้นเมืองที่ต้องพิสูจน์ให้ “นายจ้าง” หรือเจ้าอาณานิคมเห็นว่าตนเองได้ละทิ้งความ “โง่งม” และความ “เกียจคร้าน” แบบคนพื้นเมืองที่เป็นเพื่อนร่วม “แผ่นดิน” ของตน

พวกเขาพยายามเลียนแบบเจ้าอาณานิคมทุกอย่างทั้งภาษา การแต่งกาย ทัศนคติ รวมทั้งการเหยียดหยาม ดูถูกคนพื้นเมืองด้วยกัน และสถาปนาตัวเองเป็น “นาย” ของคนพื้นเมืองภายใต้การบังคับบัญชาของเขา

ในท่ามกลางคนพื้นเมืองด้วยกันจึงมีคนพื้นเมืองที่ได้รับการศึกษาและเข้าใจว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของความศิวิไลซ์ กับคนพื้นเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานราคาถูก ไร้การศึกษา

แน่นอนว่า เจ้าอาณานิคมไม่ได้ต้องการ “ยกระดับ” คนพื้นเมืองทุกคนให้กลายเป็นคนมีการศึกษา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกคนมี “ความรู้” และมี “อารยธรรม” พวกเขาย่อมไม่ยอมตกเป็นแรงงานอยู่ใต้ระบอบอาณานิคมและดิ้นรนจะเรียกร้องหาอิสรภาพและเอกราช

และบรรดาเจ้าอาณานิคมย่อมหมดข้ออ้างที่บอกว่า เพราะเหตุใดคนพื้นเมืองที่มีสมองและพฤติกรรมต่างกับสัตว์เพียงนิดเดียวจึงสมควรแล้วที่จะถูกปกครองโดยคนผิวขาว

ในขณะที่มีคนผิวขาวเจ้าอาณานิคมเพศชาย ปกครองคนพื้นเมืองด้วยกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดและการลงโทษอันโหดเหี้ยม อีกด้านหนึ่งของเจ้าอาณานิคม ก็มีเมีย มีลูก มีหลาน เพศหญิงหรือเด็ก ที่ไม่ได้ออกไป “บริหาร” กิจการการค้า

บรรดาเมีย ลูก หลาน ผู้ปกครองผิวขาวที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกให้มีเมตตาต่อมนุษย์ และสำนึกว่าด้วยการเป็นคนใจบุญสุนทานถือว่าเป็นคุณสมบัติของวิญญูชน

บรรดาสมาชิกครอบครัวเหล่านี้ด้านหนึ่งก็ออกไปสัมพันธ์กับคนพื้นเมืองในเชิงสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือ สอนหนังสือ รักษาพยาบาล ให้อาหาร ให้ความเมตตา เอื้อเอ็นดู และมองคนพื้นเมืองด้วยสายตาของนางฟ้า นักบุญว่า พวกเขาช่างเป็นสิ่งมีชีวิตกระจ้อยร่อยน่าสงสาร

กระนั้น ไม่ได้แปลว่าคนพื้นเมืองเหล่านั้นมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับผู้ปกครองผิวขาว

คําว่า “คนจน” และหน้าที่ของคำว่า “คนจน” ในสังคมไทย ไม่ต่างอะไรกับ “คนพื้นเมือง” ของผู้ปกครองผิวขาว

ถามว่า “คนจน” ในสังคมไทยคือใคร?

โดยตัวเลขปรากฏดังนี้

ในด้านการถือครองที่ดิน
“ประเทศไทยถือว่ามีความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินสูงมาก โดยกลุ่มผู้ถือครองที่ดิน 20 เปอร์เซ็นต์ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด มีสัดส่วนพื้นที่ถือครองที่ดินสูงถึง 79.9 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด

ในขณะที่กลุ่มผู้ถือครองที่ดิน 20 เปอร์เซ็นต์ที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุด มีสัดส่วนถือครองที่ดินเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”

ในการด้านการศึกษา
โดยกลุ่มประชากร 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่ากลุ่มประชากร 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุด ประมาณ 16.3 เท่า

ในด้านรายได้
กลุ่มคนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ถือครองรายได้ถึง 39.3 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด

http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/600870

 

คนจนในประเทศไทยแทบไม่ได้ครอบครองทรัพยากรใดๆ ในประเทศนี้ และแทบจะไม่มีส่วนแบ่งในความมั่งคั่งของประเทศชาติ

ถามว่าอะไรที่หล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนมั่งมีในสังคมไทย ถ้าไม่ใช่โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ การเมือง ที่เอื้อประโยชน์ให้กับ “ชนชั้นนำ”

และถามต่อไปว่า อะไรที่หล่อเลี้ยงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจนั้นไว้โดยไม่ถูกท้าทาย

คำตอบคือ “วาทกรรม” เกี่ยวกับความจนและคนจน

ถามว่าวาทกรรมเกี่ยวกับความจนและคนจนนั้นมีเนื้อหาว่ากระไร ก็ต้องย้อนกลับไปอ่านตอนต้นของบทความ

คนจนนั้นโง่ ไร้การศึกษา ขี้เกียจ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้น ความจนทำให้ขาดวิสัยทัศน์ มักง่าย รักสนุก ฯลฯ วาทกรรมกีดกันคนจนออกไปจากสิทธิแห่งการปกครองตนเองซึ่งหมายถึงสิทธิแห่งการปกครองทรัพยการของ “ชาติ” เมื่อเขาไม่มีสิทธิในการ “ปกครอง” พวกเขาจึงถูกกดให้ดักดาน เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาและทรัพยากรอื่นใด เมื่อเขาไร้สิทธิ ไร้เสียง อ่อนแอถึงเพียงนี้ หน้าที่ของ “คนจน” อีกหน้าที่หนึ่งคือเป็น “แพะรับบาป”

ปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมจะถูกโยนมาที่คนจน

เช่น ปัญหาสังคม อาชญากรรม ถูกอธิบายมาจากการที่คนจนมักมากในกาม มีลูกมาก มีลูกตั้งแต่อายุน้อย เลี้ยงลูกอย่างไม่มีคุณภาพ ถ่ายทอดความหยาบให้ลูกผ่านการเลี้ยงดู ภาษาที่ใช้ เด็กโตมาในครอบครัวกะพร่องกะแพร่ง จึงโตมาแล้วกลายเป็นมะเร็งของสังคม สร้างปัญหา ติดยา ก่ออาชญากรรม ฯลฯ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากคนจน สลัมริมคลองทิ้งของเสียลงคลอง

ไฟป่าเกิดจากคนจนเผาป่าเก็บเห็ด

ภูเขาหัวโล้นเกิดจากคนจนเห็นแก่ตัว บุกรุกป่า ตัดไม้ทำลายป่า เผาป่า ถางที่ทำไร่

ปัญหาประชาธิปไตยอ่อนแอ เกิดจากคนจนขายเสียง ถูกนักการเมืองหลอก

ปัญหางบประมาณการสาธารณสุข เกิดจากคนจนกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่

ชนชั้นมั่งมีที่มีอยู่นิดเดียวในสังคมแสวงหาแนวร่วมด้วยการปันผลประโยชน์ให้คนจนจำนวนหนึ่ง เช่น เปิดหนทางเล็กๆ ผ่านการศึกษา คัดกรองคนที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับชนชั้นที่ได้เปรียบในสังคมให้เป็นพันธมิตรได้ส่วนแบ่งทางทรัพยากรและอำนาจทางวัฒนธรรม

เช่นเดียวกับที่เจ้าอาณานิคมมอบการศึกษาให้คนพื้นเมืองจำนวนหนึ่งเพื่อรับตำแหน่งเสมียนหรือผู้จัดการหรือผู้แทนจำหน่ายรายย่อย ในการ “ทำการค้า” เป็น “ข้อต่อ” ระหว่างเจ้าอาณานิคมกับคนพื้นเมือง

“ข้อต่อ” เหล่านี้ทำหน้าที่ผลิตซ้ำวาทกรรมว่าด้วยคนจน ความจน แล้วชี้กราดไปที่คนจนทั้งหมดว่า “ถ้าพวกแกขยันและเป็นคนดีอย่างพวกชั้นเพียงนิดเดียว พวกแกจะไม่ดักดานแบบนี้”

ขณะที่เหตุแห่งหายนะของสังคมเกิดจากความจนและคนจน อีก “ขา” หนึ่งของชนชั้นมั่งมีก็ยื่นไปโอบอุ้มคนจนผ่านความช่วยเหลือ สงเคราะห์ ทุนอาหารกลางวัน เงินบริจาค ยิ่งคนจนมีมาก กิจกรรมเชิงมนุษยธรรมงอกงามมาก คนมั่งมีก็ยิ่งดูดีงามมากขึ้น คนจนที่ยอมศิโรราบต่อโครงการมนุษยธรรมเหล่านี้จะถูกเชิดชูมาเป็นตัวอย่างแห่งคนจนผู้ว่านอนสอนง่าย

สื่อในไทยจึงดกดื่นไปด้วยเรื่องราวสงเคราะห์แบบ “หลานเลี้ยงยายพิการ แม่ตาบอด น่ายกย่อง วอนสังคมช่วยเหลือ” จากนั้นก็จะมี “คนดี” ของสังคมไปโอบอุ้ม

ขณะเดียวกัน คนเหล่านี้จะมีต้นทุนทางสังคมมากพอจะใช้ความดีเชิงสงเคราะห์ของตนไปเรียกร้องให้มีการฆ่าหรือประหารชีวิต “คนชั่ว”

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คนจนปฏิเสธการสงเคราะห์แต่พยายามลุกขึ้นมายืนหยัดเรียกร้องสิทธิการครอบครองทรัพยากรของพวกเขา เพื่อเขาจะได้หลุดจากความจนอย่างแท้จริง “คนจน” เหล่านี้จะถูกปราบจนราบคาบ

เพราะสังคมแบบนี้ขาด “คนจน” ไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีคนจน เราจะโยนเหตุแห่งความหายนะของสังคมไปให้ใครเล่า

เกิดไฟไหม้ น้ำท่วม ฝนแล้ง เศรษฐกิจฝืดเคือง โรคระบาด อาชญากรรม ท้องวัยรุ่น เด็กแว้น ยาเสพติด สิ่งแวดล้อม หมอกควัน หาบเร่ แผงลอย ฯลฯ เหล่านี้ จะโทษใครถ้าสังคมไม่มีคนจน!

แล้วเมื่อไม่มีคนจน “คนดี” จะไป “ทำทาน” กับใคร?