สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/หญ้าคา ไม่อยากได้ ‘ยาฆ่าหญ้า’

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

 

หญ้าคา ไม่อยากได้ ‘ยาฆ่าหญ้า’

 

หญ้าคา (Imperata cylindrica (Linn.) Beauv.) เป็นไม้ล้มลุกจำพวกเดียวกับหญ้า มีเหง้าอยู่ใต้ดิน

แต่ด้วยธรรมชาติของเขาที่แพร่พันธุ์ด้วยเมล็ดแล้ว ลำต้นใต้ดินนั้นมีความสามารถพิเศษที่งอกและเจริญเป็นต้นใหม่ได้อีก จึงลุกลามแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง

เป็นพืชที่ทนทาน ยิ่งเอาไฟไปเผาเหมือนจะไปกระตุ้นให้งอกต้นใหม่ขึ้นทวีคูณ

คิดจะปราบก็ยากเย็นแสนเข็ญ ในวงการเกษตรจึงมอบตำแหน่งหญ้าคา คือ “วัชพืช” ไปเสียเลย

นักวิทยาศาสตร์การเกษตรก็คิดค้นสารเคมีมาปราบบรรดาวัชพืช ซึ่งนิยามความหมายไว้อย่างหนึ่งว่า พืชที่ขึ้นผิดที่ หรือพืชที่ขึ้นในที่ที่ไม่ต้องการให้ขึ้น (ดันมาขึ้น) และมีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในด้านที่เป็นโทษ ถ้าดูจากนิยามนี้ ตัวตนของหญ้าคาไม่ได้ผิดอะไร เขาแพร่ไปขึ้นในที่ที่ไม่อยากให้ขึ้น และก็ไม่ได้หมายความว่า พอเรียก “วัชพืช” แล้วคือพืชไร้คุณค่าและประโยชน์ใดๆ

ในความเป็นจริงมีวัชพืชหลายชนิดมีประโยชน์ เช่น ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ รักษาความชุ่มชื้นของดิน ใช้เป็นอาหารสัตว์ ช่วยดูดซับสารพิษจากแหล่งน้ำ ทำเป็นวัสดุจักสาน หัตถกรรม และใช้เป็นพืชสมุนไพร เช่น หญ้าคา

กล่าวตามสรรพคุณยาไทยดั้งเดิมระบุว่า

 

ราก หญ้าคาต้มกิน เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงไต แก้ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ทั้งลำต้น สดหรือแห้งก็ได้ นำมาปรุงเป็นยาแก้โรคไต แก้โรคมะเร็งคอ และแก้ฝีประคำร้อย

ดอก ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะแดง แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้มะเร็งในลำไส้ แก้ริดสีดวงต่างๆ

สูตรยาที่นิยม คือการใช้รากสดล้างสะอาดสัก 1 กำมือ (ถ้าเป็นแห้งก็ลดใส่สัก 1 หยิบมือ) หั่นเป็นฝอยๆ ต้มกับน้ำให้เดือด ดื่มกินช่วยขับปัสสาวะ

ปัจุบันมีการศึกษาวิจัยหญ้าคามากพอสมควร พบสารสำคัญหลายชนิด เช่น สารประกอบฟินอลิก (phenolic compounds), โครโมน (chrmones), ไตรเตอร์ปินอยด์ (triterpenoid), เซสควิทเตอร์ปินอยด์ (sesquiterpenoids), โพลีแซคคาไรด์ โดยสารสำคัญเหล่านี้ มีคุณสมบัติ เช่น ต้านอักเสบ รากหญ้าคามีคุณสมบัติในการยับยั้งการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือด ช่วยขยายหลอดเลือด ลดความดันโลหิต

ปกป้องเซลล์สมองถูกทำลายจากสารเคมีที่เป็นพิษ ฯลฯ

 

นอกจากนี้ หญ้าคายังคงมีประโยชน์หรือคุณค่าทางวัฒนธรรมอีกมาก ดังตำนานหญ้าคาที่มีหลายตำนาน เช่น ระหว่างที่เทพกวนน้ำอมฤตแล้วเส้นผมของบรรดาเทวดาที่ช่วยกันกวนนั้นหลุดร่วงลงในเกษียรสมุทร ต่อมาถูกคลื่นซัดไปติดฝั่งแล้วงอกรากกลายเป็นต้นหญ้าคา บางตำนานว่าเมื่อได้น้ำอมฤตจากกวนเกษียรสมุทรแล้ว

พระนารายณ์แปลงกายเป็นนางอัปสรถือหม้อน้ำอมฤตแจกให้เทวดาดื่ม หม้อนั้นไปขูดผิวที่เอวของพระนารายณ์ถลอก

เศษหนังเมื่อตกสู่พื้นดินก็งอกเป็นหญ้าคา

อีกตำนานเมื่อพญาครุฑนำหม้อน้ำอมฤตลงมาจากสวรรค์ พระอินทร์ตามมาขอคืน พญาครุฑบอกว่าจะต้องนำไปให้เหล่านาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง จากนั้นครุฑได้เอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา

และได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา 2-3 หยด

 

หญ้าคายังเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หากจำประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ช่วงที่พระองค์เสด็จระหว่างทางก่อนถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้พบคนตัดหญ้าชื่อ โสตถิยะ ได้ถวายฟ่อนหญ้ากุสะ (หญ้าคา) 8 ฟ่อนเล็กๆ

พระองค์นำมาปูเพื่อประทับนั่งบำเพ็ญเพียรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตรัสรู้ในคืนเพ็ญเดือนหกนั่นเอง ยุคสมัยปัจจุบันยังมีผู้ปั้นพระพุทธรูปปางทรงรับหญ้าคาก็มี

หญ้าคาจึงมีความสัมพันธ์ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ตามตำนานข้างต้น

จึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นพระสงฆ์พรมน้ำมนต์ด้วยฟ่อนหญ้าคา และพราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็พรมน้ำมนต์ด้วยฟ่อนหญ้าคา เพราะต่างก็ถือว่า หญ้าคา เป็นสิ่งมงคลในทางพิธีกรรมต่างๆ ใช้เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์

และยังพบเห็นการนำหญ้าคามาพันรอบนิ้วนางข้างขวาแทนแหวน เชื่อกันว่าทำให้นิ้วนั้นบริสุทธิ์ และยังเห็นหญ้าคาพันสายสิญจน์ในพิธีแต่งงานด้วย

หญ้าคาจึงไม่ “วัชพืช” หากเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเลยทีเดียว

 

แต่ในเวลานี้วิชาการเกษตรที่นำเอาสารเคมีรุนแรงมากำจัดวัชพืช โดยเฉพาะกำจัดหญ้าคานั้น มักใช้สารเคมีที่เรียกว่า ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารที่พบว่ามีอันตรายมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง มีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ โรคเบาหวานและโรคไต และยังตกค้างในอาหาร ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม มีการศึกษาพบว่า ไกลโฟเซตสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนของลูกน้อยได้ มีการตรวจพบการตกค้างของไกลโฟเซตในซีรั่มของทารกแรกเกิดและแม่ ระหว่าง 49-54% และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับสารไกลโฟเซตมากกว่าคนทั่วไป 12 เท่า

ยังมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีก 2 ชนิด ที่อันตรายคือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส รวมกัน 3 ชนิด ที่หลายสิบประเทศทั่วโลกเขาประกาศยกเลิกกันแล้ว ไทยแลนด์แดนสยามควรประกาศ “แบน” หรือยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายนี้ได้แล้ว หากหญ้าคาในฐานะสมุนไพรพูดได้ จะยกมือและส่งเสียงนับพันล้านเสียง (ต้น) ว่า

“จะควบคุมการแพร่พันธุ์ฉัน ขอให้เลือกใช้สารสมุนไพรธรรมชาติ ไม่เอาสารเคมียาฆ่าหญ้าทั้ง 3 ชนิด ฉันเป็นพืชมงคล ไม้ศักดิ์สิทธิ์นะ ไม่ต้องการสารอันตรายปนเปื้อนไปสู่ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากฉัน”