จัตวา กลิ่นสุนทร : ย้อนเวลาเรียบเรียงความทรงจำ ยามย่ำแดนไกลในวัยหนุ่ม ตอนที่ 8

ปี พ.ศ.2529 จึงเป็นจุดเปลี่ยนบนเส้นทางชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เดินห่างไกลการทำงานศิลปะไกลออกมาอีกนานปี

เนื่องจากต้องหันมาทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการพัฒนาปรับปรุงกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ตามที่ได้รับความไว้วางใจมอบหมายให้เข้ามาบริหาร

แอบย้อนคิดว่าถ้าได้เดินทางร่วมไปกับคณะศิลปิน ครูอาจารย์ผู้สอนศิลปะคราวนั้นด้วยจิตวิญญาณซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราวของศิลปะอยู่ในสายเลือดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กลับมาไม่รู้เหมือนกันว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่

อย่างน้อยที่สุดคงได้หันกลับมาทำงานศิลปะอย่างเอาจริงเอาจัง (บ้าง) แทนที่จะหลงใหลไปกับอาชีพสื่อ ลามเข้าไปการเมือง

จนกระทั่งตัวเลขอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสู่กลุ่มผู้สูงวัย จึงได้มีเวลาพักเพื่อทำงานศิลปะบ้าง แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น

คณะศิลปิน ครูอาจารย์ผู้สอนศิลปะได้เดินทางไปยังสหรัฐตามกำหนดการเดิมไม่เปลี่ยนแปลงด้วยการดำเนินงานดังได้รับปากไว้กับเพื่อนรัก กมล ทัศนาญชลี ศิลปินไทยในสหรัฐ ซึ่งเป็นคนดำเนินการค้นคว้าติดต่อหาสถานที่ สถาบันศิลปะ หอศิลป์อันเหมาะสมรวมทั้งใช้บ้านของตนเองเป็นที่พักอีกทั้งจัดการเรื่องอาหารการกินด้วยสำหรับเพื่อให้คณะจากเมืองไทยได้ท่องเที่ยวศึกษาดูงาน

ไม่แตกต่างกับเมื่อครั้งที่เดินทางไปพร้อมกับหุ้นส่วนชีวิตและคุณแม่ซึ่งเขาเป็นผู้นำพาช่วยเหลือทุกอย่างกระทั่งนัดหมายพบปะเพื่อนคนไทยในสหรัฐ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าเคยเรียน เคยร่วมงานกันมาทั้งหลายที่เดินทางมาแสวงหาแล้วจึงอาศัย หรือดิ้นรนทำมาเลี้ยงปากท้องและครอบครัวยู่ในแอลเอ (L.A)

 

อยู่ในตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 จนถึงปี พ.ศ.2534 ก่อนเกิด “อุบัติเหตุ” ในกองบรรณาธิการจึงต้องเดินหันหลังไปด้วยความอาลัย

หลังจากที่ผู้ใหญ่ดันให้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาพร้องทั้งลดรายได้ลงมาโดยความคิดของคนระดับผู้จัดการซึ่งเกิดมาทั้งชีวิตไม่เคยทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากอาชีพแม่บ้าน ไม่รู้เรื่องการบริหารอะไรทั้งนั้น โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์

20 ปีกับหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เป็นพนักงานทั่วไป ทำทุกอย่างตั้งเปลี่ยนแปลงเขียนหัวคอลัมน์ เป็นฝ่ายศิลป์ จัดหน้า ออกแบบปกหนังสือรายเดือน ชาวกรุง เขียนภาพประกอบ ต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อเข้าสู่เส้นทาง “ผู้สื่อข่าว” เป็นหัวหน้าข่าว แล้วก้าวขึ้นไปทำงานหนักแก้ไขปรับปรุงนิตยสาร “สยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์” ในตำแหน่ง “บรรณาธิการบริหาร” อยู่ 10 ปีก่อนอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยอมให้เป็นบรรณาธิการ “สยามรัฐ รายวัน”

ตั้งเป้าหมายไว้สูงส่งโดยคิดกันว่าถ้าเป็นไปได้อยากจะพัฒนาให้ถึงขนาดนำเข้าจดทะเบียนในตลาดทุนเพื่อระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไปมาบริหารงานไปให้ไกล

เนื่องจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐขณะนั้นอยู่ในสภาพถดถอยมีการขาดทุนตลอดมา ขณะที่ทีมงานไร้เดียงสาเรื่องธุรกิจ เมื่อวันเวลาและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้นทุนการผลิตจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน ทุกปี

คนทำงานสยามรัฐตั้งแต่ยุคสมัยไหนๆ ต่างย่อมทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านไม่เคยคิดเรื่องกำไรขาดทุน ไม่เคยคิดเรื่องธุรกิจหากำไรจากสยามรัฐ ท่านเพียงก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเวทีสำหรับการต่อสู้กับ “เผด็จการทหาร” และความไม่ถูกต้องทั้งหลายทั้งปวง

หลายคนบอกตรงกันว่าเหมือนเป็นของเล่นของอาจารย์ ซึ่งแต่เก่าก่อนดั้งเดิมแค่ราคาขายก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้

เพราะความสามารถปราดเปรื่องของอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านจึงใช้คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ต่อสู้ฟาดฟันจนกระทั่งล้มรัฐบาลเผด็จการทหารบางชุดได้ สยามรัฐมีความศักดิ์สิทธิ์เกรียงไกรจึงย่อมทรงอิทธิพลโดยเฉพาะเรื่องการเมืองจนเรียกกันว่าเป็นหนังสือการเมืองขาว-ดำ

และเป็นมรดกตกทอดเรื่องอุดมการณ์เดียวกันสู่คนหนังสือพิมพ์ค่ายแห่งนี้

 

เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อันทรงอิทธิพลด้านการเมืองย่อมเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการเมือง

การทำงานอย่างหนักแย่งชิงเอาเวลาให้หมดไปไม่เหลือไว้กับการที่จะได้หันกลับมาสร้างสมกับสิ่งชอบพอ กลายเป็นการสะสมเพื่อนพ้อง และ มิตรสหายในวงการเมือง ทหาร ตำรวจ

ในขณะที่เวลาได้เดินทางอย่างรวดเร็วพาความเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่องราวเข้ามา การทำงานพัฒนาสยามรัฐยังไม่มีท่าทีจะไปถึงฝั่งฝันด้วยอุปสรรคมากมายหลายอย่าง

เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐอยู่ในช่วงเวลาของรัฐบาล ซึ่งมี “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” เป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 16) โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้กุมอำนาจของประเทศ รวมทั้งกองทัพและพรรคการเมืองหลายพรรครวมกันมีเสียงข้างมาก ได้คลุกคลีทำงานอย่างจริงจังสักระยะหนึ่งพอจะเข้าใจการเมืองประเทศเล็กๆ อย่างของเรา ซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างกับประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ จนนักการเมืองรุ่นเก่าๆ ต่างเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

ระบอบประชาธิปไตยของไทยถ้านับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 ถึงวันนี้กว่า 80 ปีจะเห็นว่าแทบไม่มีอะไรเปลี่ยน ลุ่มๆ ดอนๆ ตลอดมา เมื่อประชาธิปไตยเริ่มเปิดกว้างเบ่งบาน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น (บ้าง) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมันต้องมีเหตุให้ต้อง “ปฏิวัติ รัฐประหาร” แย่งชิงอำนาจกันทุกครั้งไป

จนกระทั่งทุกวันนี้การปกครองยังอยู่กับ “เผด็จการ” ประชาชนมิใช่เจ้าของประเทศ เป็นเพียงผู้ถูกปกครอง

 

รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีเสียงสนับสนุนแข็งแกร่งอยู่บริหารบ้านเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2523-2531 รวมเวลา 8 ปี 5 เดือน แต่ต้องมีการปรับ “คณะรัฐมนตรี” ถึง 5 ครั้ง, มีการ “ยุบสภา” เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ 3 ครั้ง ในปี พ.ศ.2526, 2529 และ 2531

เกิดเหตุการณ์สำคัญ คือถูก “ปฏิวัติ” เพียงแต่ผู้ก่อการกระทำการไม่สำเร็จจึงกลายเป็น “กบฏ” ไป ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2524 เรียกการปฏิวัติครั้งนั้นว่า “เมษาฮาวาย” โดยผู้ก่อการส่วนมากล้วนเป็นนายทหารจากกองทัพบก เป็น “ลูกป๋า” ทั้งสิ้น ทุกวันนี้หลายคนเสียชีวิต และส่วนมากต่างอยู่ในวัยสูงอายุ ตัวเลขนำหน้าเริ่มต้นเลข 8 เกือบทั้งหมด

รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีคุณูปการต่อประเทศนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในปี พ.ศ.2523 ขณะท่านเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์น้ำมัน การเงินของประเทศ โครงสร้างทางเศรษฐกิจต่างๆ ปัญหาสังคม การเมือง และความมั่นคงภายในจากภัยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และ ฯลฯ

วิกฤตทุกด้านของประเทศเริ่มผ่านพ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ก่อนท่านจะอำลาไปหลังการเลือกตั้ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2531 ขณะพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเสียงข้างมากรวมตัวกันเดินทางไปพบเพื่อขอให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก

จึงเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “ผมพอแล้ว–”

พรรคชาติไทยซึ่งได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก (87) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (เสียชีวิต) จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 17) ต่อจาก พล.อ.เปรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531-ปี 2534

คณะทหารที่เรียกว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยการดักจับตัว “น้าชาติ” กับ “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” (เสียชีวิต) ขณะกำลังจะเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่

 

อยู่กับการเมืองช่วงนี้ในตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จนถึงปี พ.ศ.2534 ก่อนรัฐบาล “น้าชาติ” ถูก “ยึดอำนาจ” จึงได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองพอสมควรเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2534) และสมาชิกวุฒิสภาต่อมาอีก 4 ปี (2535-2539) ต่อด้วยการได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จังหวัดระยอง (2539-2540)

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ากว่าจะย่ำแดนไกลไปยังสหรัฐ เป็นครั้งที่ 2 เวลาจึงผ่านเลยมาอีก 16 ปี อะไรต่อมิอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกินทุกๆ ด้าน รวมทั้งทุกคนในครอบครัว ซึ่งการเดินทางครั้งนี้จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องร่วมเดินทางไปด้วยกันทั้งหมด ทั้งหุ้นส่วนชีวิตและสาวน้อยที่บ้านอีก 2 คน ซึ่งเติบโตเข้าศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วดังที่กล่าว

เป้าหมายการเดินทางไม่พ้นต้องไปพึ่งพาเรื่องท่องเที่ยว และพักอาศัยยังบ้านเพื่อนรัก ศิลปินผู้มีชื่อเสียงในนครลอสแองเจลิส (Los Angeles-California) ก่อนเดินทางไปต่างรัฐคือเมืองดิ มอยน์ รัฐไอโอวา (De Moines-Iowa) ซึ่งเป็นบ้านครอบครัวน้องชาย+น้องสะใภ้ (ลาวอพยพ) ของหุ้นส่วนชีวิต เนื่องจากขณะนั้นยังมองเห็นความผิดปกติต่างๆ ไม่มาก ความขัดแย้งจึงยังไม่ปรากฏชัดเจน

พวกเขายังไม่ข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่ๆ ยังเมืองไทย