คำ ผกา : จี้เส้น

คำ ผกา

ก่อนอ่านคอลัมน์นี้คุณหัวเราะครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? และอะไรทำให้คุณหัวเราะ?

ฉันนึกถึงเรื่อง “หัวเราะ” ขึ้นมา เพราะในช่วงหลายวันที่ผ่านเกิดอาการ “หัวเราะมิได้ ร่ำให้มิออก” รู้สึกอัดอั้น อึดอัด และรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังถูกห้าม “หัวเราะ” ถูกห้ามไม่ให้มีอารมณ์ขัน

การหัวเราะกับความขำขันนั้นน่าจะมีสามระดับ

ระดับแรกคือ ขำกับสิ่งที่เห็นทันที เช่น ถ้าฉันฝึกโยคะอยู่แล้วบังเอิญตดออกมา ฉันก็จะขำ เพื่อนที่ฝึกด้วยกันก็จะขำทันที (ในวัฒนธรรมอื่น การขำกับการตดของคนอื่นอาจเป็นการเสียมารยาทก็ได้)

การขำและการหัวเราะแบบนี้ไม่ต้องใช้สมอง ไม่ต้องคิด เป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ

ความขำระดับที่สอง เหมือนจะเป็นความขำที่ไม่ต้องคิด ฟังปุ๊บขำเลย แต่คนที่มาทำอะไรให้เราขำได้ทันทีนั้นเขาต้องคิดมาเยอะมาก

เช่น คลิปเปิดตัวอันแรกของลุงเนลสันที่ใช้โปรโมตหนังสือนิวยอร์กของ สนพ.แซลมอน – ดูปุ๊บ ฟังปุ๊บก็ขำ ขำชิบหายวายป่วงไปหมด

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ลุงเนลสัน คิดมาโคตรเยอะแล้วว่า อะไรที่จะไป “จี้เส้น” คนไทยให้ขำโดยไม่ต้อง “หยุดคิด” เลย

แต่คนไทยอย่างเรานั่นแหละ พอหายจากความขำ มานั่งคิดว่า เอ๊ะ ทำไมเราขำหว่า และพอคิดออกเท่านั้น “จุก” เลย ว่า เฮ้ย เราเกิดมาแบบนี้ ถูกหล่อหลอมมาแบบนี้ เรากล่อมเกลามาแบบนี้ แล้วท้ายที่สุดคือ เฮ้ย แม่ง เราแม่ง “น่าขัน” ขนาดนี้เลยเหรอวะ

ความขำระดับที่สาม เป็นความขำที่ต้องคิดลึกมาก และต้องอาศัยประสบการณ์ร่วมกันบางอย่างระหว่างสิ่งที่อ่าน เห็น ได้ยิน เมื่อเข้าใจแล้วความขำนั้นอาจเป็นแค่เสียงหัวเราะ “หึหึ” ไม่ใช่หัวเราะก๊าก

และเสียงหัวเราะ “หึหึ” ความขำนี้ อาจไม่ได้ขำเพราะมันตลก แต่อาจจะขำเพราะว่ามันแสนจะขื่นขมก็ได้ ความขำที่บางครั้งขื่นขมนั้น เราพบได้มากในการ์ตูนการเมืองในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งหลายของทุกประเทศ หากเรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมของเรา เราก็ขำมาก/

แต่ถ้ามันเกิดขึ้นในสังคมของเรา บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราควรจะหัวเราะหรือร้องไห้

แต่ก็นั่นแหละ หลายครั้งเราไม่ได้ร้องไห้เพราะเศร้า เราร้องไห้เพราะตื้นตันใจ ซึ้งใจ อิ่มใจ ความสะเทือนหัวใจในทางบวกก็ทำให้น้ำตาไหลได้เช่นกัน

ส่วนการหัวเราะนั้น ว่ากันว่า บางทีเราหัวเราะเพื่อลดความตึงเครียดที่เกิดจากความกลัว

นักจิตวิทยาบอกว่า มนุษย์เราจะมีกลไกสร้างความ “ขำ” ในเวลาที่เราเผชิญกับภาวะคับขัน เช่น ต้องไปยืนพูดบนเวทีให้คนหนึ่งพันคนฟัง เราก็อาจจะเครียดมาก กังวลมาก สมองของเราจะมีกลไกให้เราทำอะไรขำๆ หรือหัวเราะ เพื่อให้เกิดภาวะสมดุล

ในบรรดาคนที่โพสต์เฟซบุ๊ก มีคนคนหนึ่งที่ฉันอ่านแล้วขำมาก เช่นล่าสุดเขาโพสต์ว่า “ถึงผมจะเป็นทนายน้อยๆ แต่อย่างอื่นผมไม่น้อยนะครับ” หรือโพสต์ว่า “ตั้งแต่กลัวว่าข้อมูลจะถูกแฮก ผมก็ไม่เคยนัดเ..ดผ่านกล่องข้อความอีกเลย” – สันนิษฐานว่า พลังแห่งความสร้างสรรค์รอยยิ้มและอารมณ์ขันนี้อาจมาจากการที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือต้องทำงานที่เผชิญกับความเครียดอยู่เนืองๆ ก็อาจเป็นได้ อย่างไรก็ตาม ข้อความเหล่านี้ก็สร้างรอยยิ้มให้กับเราอยู่ดี

อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะบางครั้งก็เป็นไปเพื่อ “สร้างสมดุล” ให้กับสังคม เช่น ในช่วงหนึ่งที่สังคมไทยหายใจเข้าออกเป็นฮิปสเตอร์ และกระแสไลฟ์สไตล์แบบ kinfolk กำลังมาแรง ทั้งแสง สี ในการจัดวางภาพถ่ายเพื่อเอามาลงในอินสตาแกรมหรือในเฟซบุ๊ก มุมกล้องเซอร์ๆ กับกาแฟฮิปๆ ความเก๋ไก๋ที่เหมือนได้มาโดยไม่ได้ตั้งใจ จากกระแสฮิปสเตอร์แบบดั้งเดิม แตกแขนงเป็นฮิปสเตอร์วอนนาบี หรือแม้แต่ความหมั่นไส้ ฮิปสเตอร์ของแท้ก็เกิดขึ้น แต่ความหมั่นไส้ ไม่เห็นด้วย รำคาญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ทำให้เกิดเพจที่ชื่อว่า “ฉันเป็นฮิปสเตอร์” ที่คอยล้อเลียน จิกกัด ไปจนถึงแขวะเหล่าฮิปสเตอร์ทั้งตัวจริงตัวปลอม

สุดท้าย คนที่เป็นฮิปสเตอร์ก็อ่านเพจนี้ คนที่ไม่ชอบฮิปสเตอร์ก็อ่านเพจนี้ อ่านแล้วก็คอมเมนต์ ด่าทอ จิกกัด อะไรกันไป กัดแล้วจิกแล้วก็แล้วกันไป ได้ระบายความหมั่นไส้ออกไปบ้าง ก็ทำให้ไม่ต้องเก็บกด เปลี่ยนความหมั่นไส้ให้เป็นความขำ เมื่อขำก็ยากจะเกลียดชังกัน

บางครั้งกลไกของอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะก็ทำงานแบบนี้ เพจฉันคือฮิปสเตอร์ ไม่ได้ทำให้คนรักฮิปสเตอร์ แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้ทำให้ใครเกลียดฮิปสเตอร์

แถมยังสามารถมองฮิปสเตอร์ด้วยท่าทีที่เอ็นดูมากขึ้น

ตอนนี้คนดังที่ถูกล้อเลียนมากที่สุดน่าจะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์

โดยเฉพาะทรงผมของทรัมป์ ถูกนำมาตัดต่อจนเละตุ้มเป๊ะ แต่ปรากฏว่าการถูกนำมาล้อเลียนแบบนี้ไม่ได้ทำให้คะแนนนิยมของทรัมป์ตกลงเลย

คนที่ชอบเขาก็ยังชอบของเขาอยู่นั่นเอง แต่คนที่ไม่ชอบทรัมป์ในที่สุดก็ไม่อาจพัฒนาความไม่ชอบนั้นให้กลายเป็น “ความเกลียดชัง”

เพราะทรัมป์กลายเป็นแค่วัตถุแห่งความขำขันไปเสียแล้ว

คราวนี้เห็นหน้าทรัมป์ทีไรเราก็จินตนาการเห็นฝักข้าวโพดเหลืองๆ อยู่บนหัวเขาทุกที

หัวเราะมากๆ เข้าก็เกลียดไม่ลงหรอก เผลอๆ โดนล้อมากๆ โดนเอามาปู้ยี่ปู้ยำเป็นภาพตลกเลยเถิดมากไป กระแสอาจสะวิงกลับเป็นสงสาร เห็นใจ ได้คะแนนิยมเพิ่มก็เป็นไปได้

แต่ถ้าทรัมป์เที่ยวไปฟ้องร้องคนที่ทำภาพล้อเลียนเขา เห็นทีผลจะออกมาในทางตรงข้ามและคนก็จะเลิกขำ

เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเลิกขำ – สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันก็จะ “ไม่ขำ” จริงๆ

เสียงหัวเราะยังหมายถึงอำนาจอีกด้วย เคยได้ยินไหมที่เขาบอกว่า ผู้หญิงน่ะถ้าให้เลือกระหว่างผู้ชายหล่อกับผู้ชายตลก ผู้หญิงมักจะเลือกผู้ชายตลก

เหตุผลที่ผู้หญิงเลือกผู้ชายตลก ไม่ได้เป็นเพราะว่าผู้หญิงชอบคนอารมณ์ดี แต่เขาว่ากันว่า ความสามารถในการทำให้คนหัวเราะได้หรือการเป็นตลกได้นั้น สัมพันธ์กับสถานะทางสังคม – คนที่มีสถานะทางสังคมสูง ย่อมมีความมั่นใจมากกว่าในการปล่อยมุขตลก หรืออย่างน้อยก็มีความ “สบาย” กับ (สถานะ) ของตัวเองมากพอจึงจะแจกจ่ายอารมณ์ขันให้กับคนอื่นๆ ได้

หรือความสามารถในการสร้างอารมร์ขัน เป็นสิ่งรับประกันว่าคนคนนั้นมีความมั่นใจในตัวเองมากพอที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต

ดังนั้น การที่ผู้หญิงเลือกผู้ชายตลกหรือเลือกผู้ชายที่สามารถสร้างเสียงหัวเราะได้ มันหมายถึงการที่ผู้หญิงเลือกผู้ชายที่ “สถานะทางสังคมสูง” หรือเลือกผู้ชายที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จนั่นเอง

ตรงกันข้ามกับผู้ชายหรือผู้หญิงที่ไม่มีอารมณ์ขัน มันเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเขาหรือเธอมี self esteem ค่อนข้างต่ำ หรืออาจจะขาดความมั่นคงทางสถานะทางสังคมของตนเอง รู้สึกไม่มั่นใจ รู้สึกต่ำต้อย

ใครก็ตามที่คิดว่าตนเองต่ำต้อย พวกเขาย่อมไม่สามารถมีอารมณ์ขันหรือแจกจ่ายเสียงหัวเราะให้กับใครได้

แต่ในหลายสถานการณ์ เสียงหัวเราะก็ไม่ได้มาจากความขำขันอย่างเดียว แต่สัมพันธ์กับตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมอีกนั่นแหละ

เช่น ถ้าซีอีโอของกูเกิ้ล และแอ็ปเปิ้ลมาเล่นไอซ์บักเก็ต คนก็จะขำและพูดถึงมากว่า น่าเอ็นดูแท้ เป็นถึงซีอีโอระดับโลกมาเล่นสาดน้ำแข็งใส่ตัวเหมือนเด็กๆ ตลกจัง น่ารักจัง

แต่การกระทำเดียวกัน ถ้านายแก้วนายคำหรือนางสาวแขกมาเล่นเทถังน้ำแข็งใส่ตัวบ้าง ชาวโลกนอกจากจะไม่ขำแล้วยังจะไม่สนใจด้วย

ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ คือ บางทีคนที่อยู่ในตำแหน่งแบบ บอส บอส มีลูกน้องคอยตามมากๆ บอสพูดอะไรนิดอะไรหน่อย ลูกน้องและคนแวดล้อมก็จะขำหนักขำแรงมาก ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรตลกเลย

แต่คนเป็นลูกน้อง ยังไงก็ต้องเห็นว่าเจ้านายตัวเองทำอะไรก็น่ารัก ทำอะไรก็ตลก น่าเอ็นดู แม้บางครั้งจะพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด ทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ ลูกน้องก็จะบอกว่า โอ๊ย เจ้านายเราเขาน่ารัก ไม่ถือตัว จริงใจ ชอบแหย่ลูกน้อง น่ารักจะตาย

จะเห็นว่าเสียงหัวเราะและอารมณ์ขันนั้นเป็นกลไกทั้งทางจิตวิทยาและกลไกทางสังคมที่ “จริงจัง” เกินกว่าที่เราจะแค่ “หัวเราะ” ใส่มัน เสียงหัวเราะไม่ใช่สิ่งไร้สาระ เบาสมอง เท่าๆ กับที่ “มุขตลก” ต่างๆ ล้วนสร้างมาบนความเข้าใจจิตวิทยาของสังคม และมวลชนอย่างถ่องแท้ ลึกซึ้ง

ไม่เว้นแม้แต่มุขตลกกากๆ อย่าง dark humor ทั้งหลายที่เรารู้สึกว่ามันเกรียนเสียเหลือเกิน เช่น มุขตลกที่ถามว่า “อะไรเอ่ยสีขาวขย่มอยู่ข้างบน สีดำรองรับอยู่ข้างล่าง?

คำตอบก็คือ “สังคม” ไงล่ะ”

มุขตลกเกรียนๆ กากๆ หยาบๆ แบบนี้ ดูเหมือนจะต่ำทราม แต่คนคิดขึ้นมากลับทำให้เราจุกกว่า “เออซิ สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ไงล่ะที่คนขาวกดขี่คนผิวดำอยู่เสมอมา

ว่ากันว่า มุขตลกและเสียงหัวเราะนี่แหละที่ “อำนาจ” รับมือยากที่สุด เพราะเบื้องหลังความไร้สาระและเสียงหัวเราะ มันคือความถ่องแท้ใน “รหัส” ต่างๆ ที่อำนาจทั้งหลายแสดงอยู่บนผู้คนในหลากหลายลักษณะ คนที่ถ้าไม่เข้าใจรหัสเหล่านี้ จนสามารถ “คุม” มันได้ จะไม่มีวันสร้างมุขตลกอะไรออกมาได้เลย แต่การจัดการกับความตลกและเสียงหัวเราะนี่สิ จะจัดการอย่างไรให้เราต้องชวนหัวไปด้วย

และโดยมาก เขาก็ว่าเสียงหัวเราะมันไม่ได้มีพิษภัยอะไรมาก การจัดการกับเสียงหัวเราะที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้เสียงหัวเราะนั้นหยุดหน้าที่ของมันให้เป็นเพียง “ความไร้สาระบ้าๆ บอๆ” ตราบเท่าที่มันไร้สาระบ้าๆ บอๆ มันจะไม่มีพลังอำนาจอะไรเลย เหมือนพระเครื่องที่ยังไม่ผ่านการปลุกเสก ฉันใดก็ฉันนั้น

เรื่องจี้เส้นก็คือเรื่องจี้เส้น เพียงแต่เราอย่าเป็นฝ่ายไปจี้เส้นมันเสียก็เท่านั้น