มุกดา สุวรรณชาติ : 4 ปีที่ขี่เสือ ปฏิรูป…ยุทธศาสตร์…ปรองดอง (ป.ย.ป.) ย้อนกลับเข้าป่า เหมือนเดิม (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

แผนปฏิรูป 2,000 หน้า อยู่ในกระดาษ

การแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มาจากอดีต สปช. และ สปท. 46 คน ซึ่งเคยอยู่ทั้งสองสภาปฏิรูป นี่จึงเป็นรอบสาม มาจากข้าราชการและอดีตข้าราชการ 40 คน จากนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน จากเอกชน 7 คน นักการเมือง 3 คน และ สนช. 2 คน

ตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการปฏิรูป คือ ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่เกิน 75 ปี ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ

ดังนั้น การเสนอแผน จึงจัดทำเป็นช่วงระยะเวลา 5 ปี

สิงหาคม 2560 มีประกาศการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแล้วทั้งหมด 11 ด้าน แต่ละด้านมี 10-11คน

เมษายน 2561 แผนปฏิรูปของทั้ง 11 คณะ ก็ออกมา (ประมาณ 2,000 หน้า)

1) ด้านการเมือง ประกอบด้วย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ธีระภัทร์ เสรี ฯลฯ เป็นกรรมการ

ความสงบและความปรองดองคือเป้าหมาย

ในทางปฏิบัติ ดูจากรัฐธรรมนูญก็รู้ว่าจะใช้สูตรเก่าประชาธิปไตยครึ่งใบ เรื่องนี้จะทำได้แค่ไหน เพราะนี่เป็นเป้าหมายการสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เป้าหมายประชาธิปไตยที่ประชาชนหวัง

นายกฯ คนกลางที่เข้ามาในสถานการณ์การเมืองช่วงนี้คงไม่มีฐานเสียงมากพอที่จะตั้งรัฐบาลด้วยตนเองได้ก็ต้องไปอาศัยพรรคต่างๆ เหมือนสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบาลผสมหลายพรรคจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น ในอดีตเรื่องแบบนี้คนในพรรคการเมืองที่พอใจก็มีไม่น้อย เพราะถึงอย่างไรตัวเองก็ได้เป็นแค่รัฐมนตรี ไม่มีวันได้เป็นนายกฯ อยู่แล้ว

แต่ปรองดองแบบนี้ คงใช้ไม่ได้ในยุคนี้ เพราะความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์มีมากกว่าสมัยก่อน

เมื่อเป็นเช่นนี้การเมืองแทนที่จะพัฒนาไปก็วนกลับมาแบบยุคที่เราเรียกกันว่าวงจรอุบาทว์ ซึ่งไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลยนอกจากยึดอำนาจการปกครองและดำเนินการต่อแบบเก่าๆ สุดท้ายก็ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจและปฏิบัติการดูดบ้างดึงบ้าง เพื่อหวังจะชนะเลือกตั้ง

ถ้าจะปฏิรูปการเมือง ต้องออกกฎที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจเป็นอย่างแรก

2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย กฤษฎา บุญราช เป็นประธาน คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ บัณฑูร ล่ำซำ ฯลฯ เป็นกรรมการ

การบริหารปฏิรูปหรือไม่ตลอด 4 ปีของการปกครองหลังการรัฐประหารแม้เป็นรัฐบาลชั่วคราว แต่มีอำนาจมากมายกว่ารัฐบาลยามปกติสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่อยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ สามารถสั่งการใดๆ ก็ได้ ตั้งแต่โยกย้ายบุคลากร ร่างคำสั่งที่เป็นกฎหมาย ยกเลิกกฎหมายและคำสั่งเก่าทำได้ทั้งหมด

แต่คำถามก็คือมีใครได้เห็นการปฏิรูปการบริหารบ้านเมืองแบบเเป็นชิ้นเป็นอันที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศบ้าง

1. เพราะระบบปัจจุบันวางอยู่บนพื้นฐานอำนาจรวมศูนย์และมีลักษณะเป็นอำนาจซ้อน ถือความมั่นคงเป็นหลัก และการบริหารเป็นรอง

2. อำนาจที่แท้จริงคงอยู่ที่ คสช. และรัฐบาล ส่วนสภาและองค์กรต่างๆ จะยุบจะเลิกเมื่อไหร่ก็ได้

3. การจัดตั้งตำแหน่งต่างๆ ยึดความมั่นคงเป็นหลัก จึงมีการวางตำแหน่งไปตามความไว้วางใจซึ่งส่วนใหญ่ผู้กุมอำนาจเป็นทหาร จากนั้นจึงนำ ไปซ้อนโครงสร้างรัฐบาลเพื่อควบคุมการบริหารอีกทอดหนึ่ง

กอ.รมน.จังหวัด จึงมีบทบาทสำคัญ

เมื่อผู้บริหารประเทศระดับบน มิได้ถูกคัดเลือกตามความสามารถ แต่ถูกคัดขึ้นมาจากความไว้วางใจและมองเห็นว่าสามารถทำงานได้ งานในกระทรวงต่างๆ จึงทำไปได้ตามศักยภาพของคน

ถ้าการปฏิรูปการปกครองซึ่งจริงๆ จะต้องเริ่มต้นจากการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งควรเดินหน้าต่อไป เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการยึดอำนาจ นี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรจะทำ แต่กลับถูกระงับการเลือกตั้ง การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็เลยไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

รูปแบบการปกครองท้องถิ่นนั้นสัมพันธ์กับการปฏิรูปการบริหารประเทศซึ่งจะต้องเข้าสู่ยุคของการกระจายอำนาจ ถ้าการบริหารบ้านเมืองยังคงรูปแบบเก่า คนบริหารและงบประมาณกำหนดจากส่วนกลางลงไป จะตรงกับความต้องการของท้องถิ่นหรือไม่ ไม่มีใครสนใจ และสามารถตั้งงบฯ กลางปีเป็นแสนแสนล้านกองไว้เพื่อใช้จ่ายอะไรที่ยังไม่รู้ทำให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้านต้องได้รับตู้ทำน้ำดื่มราคาตู้ละ 500,000 บาท

3) ด้านกฎหมาย ประกอบด้วย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ คำนูณ สิทธิสมาน ฯลฯ เป็นกรรมการ

จะปฏิรูปได้จริงหรือไม่ ต้องดูรัฐธรรมนูญ 2560 ก็รู้แล้ว เมื่อเทียบกับฉบับ 2540 ที่ให้เลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมดมาจากประชาชน กลับอยู่ไม่ได้ถูกฉีกทิ้งเปลี่ยนเป็นฉบับ 2550 ส.ว. มาจากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง ก็อยู่ไม่ได้อีกต้องฉีกทิ้ง มาฉบับ 2560 ต้องมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ไม่มีให้ประชาชนทั่วไปเลือก แถมให้มีสิทธิ์ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. อีก 500 คน

ในทางการเมืองแล้ว การลดอำนาจของประชาชนในการเลือกผู้นำแต่ให้คนอื่นมาเลือกแทนถึง 250 คน แบบนี้ไม่เรียกว่าปฏิรูปแต่เป็นการถอยหลังเข้าสู่ระบอบอำนาจนิยม ไม่ใช่ประชาธิปไตย นี่ยังไม่นับกติกาการเลือกตั้งที่เขียนในเทคนิคต่างๆ แฝงไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกทั้งกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้งและอื่นๆ

อ.บวรศักดิ์ก็พูดเองว่า …เขาอยากอยู่ยาว… ดังนั้น ถ้าจะปฏิรูป สิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้ต้องทำอย่างแรกคือ เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560

4) ด้านกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย อัชพร จารุจินดา เป็นประธาน คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ฯลฯ เป็นกรรมการ

เป้าหมายใหญ่ เรื่องความปรองดองจะเกิดได้หรือไม่ ก็อยู่ที่สามารถสร้างความยุติธรรมขึ้นได้หรือไม่ แต่เบื่อที่จะพูดถึงคดีความต่างๆ เพราะวันนี้แม้แต่เสนอให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งก็ผิด อยากเลือกตั้งก็ผิด แต่พอฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ทุกฝ่ายไม่มีใครปริปาก

นิติรัฐยุคใหม่คือ…คุณต้องทำตามกฎหมาย (หรือคำสั่งที่เราเขียนขึ้นมา)

5) ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ กอบศักดิ์ ภูตระกูล อิสระ ว่องกุศลกิจ ฯลฯ เป็นกรรมการ

การปฏิรูปเศรษฐกิจนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญของประชาชน ถ้าประชาชนเปรียบเทียบเศรษฐกิจ โดยดูเงินในกระเป๋า ดูทรัพย์สิน ดูการทำมาหากินของตัวเอง เทียบแต่ละช่วงเวลา ก็จะรู้เอง

ช่วงปี 2535-2543 มีรัฐบาลหลายพรรคแม้มีวิกฤตเศรษฐกิจถึงลดค่าเงินบาทในปี 2540 แต่เศรษฐกิจโดยรวมถือว่าก้าวหน้าพัฒนาไปได้พอควร

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2549 เศรษฐกิจฟื้นตัวไปได้ดีพอสมควร คนชั้นล่างได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากมีสวัสดิการต่างๆ

แต่ในที่สุดก็มีรัฐประหาร บ้านเมืองมีปัญหาความแตกแยกทางการเมืองมีการแบ่งสีแบ่งฝ่ายไม่ยอมรับในระบอบประชาธิปไตยไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ถึงตรงนี้เศรษฐกิจก็ยังทรงตัวประชาชนเห็นปัญหาแต่ก็ทนอยู่กันไป เท่าที่พออยู่ได้ จนมีการรัฐประหารและปี 2557 หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็ทรุดตัวลงต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่อยู่ในวงอุตสาหกรรม ปี 2558 จาก 100 เหลือ 70 ปี 2559 เหลือ 50 ถึงปี 2560 เหลือไม่ถึง 50 ปี 2561 ไม่ลงไปอีกแต่ไม่ขึ้น

ถึงแม้สงบ แต่ธุรกิจที่สลบยังไม่ฟื้น เพราะมีการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมออกนอกประเทศไปบางส่วน ในขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำลงเกือบทุกชนิด ทำให้กำลังซื้อจากคนชั้นล่าง ชั้นกลาง ลดลงอย่างมาก มีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์และมีอภิสิทธิ์ จึงอยู่ได้แต่คนส่วนใหญ่แล้วยากจนลง สวนกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวยกระจุก จนกระจายของจริงเกิดขึ้นแล้ว และหนักขึ้นทุกที

ทุนใหญ่เป็นผู้กำหนดแนวทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์จึงตกอยู่ที่บางคน บางกลุ่ม โครงการใหญ่ไม่มีเงินกระจายมาสู่ชาวบ้าน ความยากลำบากของคนชั้นล่างและชั้นกลางจึงอยู่ในอาการสาหัส

6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย รอยล จิตรดอน เป็นประธาน บัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ ฯลฯ เป็นกรรมการ

7) ด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ฯลฯ เป็นกรรมการ

คำถามของประชาชนวันนี้คือ ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค กำลังจะเปลี่ยนเป็นการร่วมจ่าย หรือไม่ พวกเขากลัวว่าราชการจะจ่ายแค่เล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ที่เหลืออีกหลายร้อยหลายพัน คนไข้จะต้องเป็นผู้จ่าย

8) ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย จิระชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน เสรี วงษ์มณฑา สุทธิชัย หยุ่น สมหมาย ปาริจฉัตต์ ฯลฯ เป็นกรรมการ

ให้ดูอิสรภาพของสื่อฯ ปฏิรูปแล้วใครจะมีอำนาจสั่งปิดอีกหรือไม่

9) ด้านสังคม ประกอบด้วย ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน นพ.อำพล จินดาฯลฯ เป็นกรรมการ

10) ด้านพลังงาน ประกอบด้วย พรชัย รุจิประภา เป็นประธาน มนูญ ศิริวรรณ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ฯลฯ เป็นกรรมการ

11) ด้าน ป.ป.ช. ประกอบด้วย ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน กล้านรงค์ จันทร์ทิก พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป วิชา มหาคุณ ฯลฯ เป็นกรรมการ

วันนี้มีเงินหายไปโดยการคอร์รัปชั่น ตั้งแต่เงินทุนของเด็กด้อยโอกาส เงินอุดหนุนวัด เงินช่วยเหลือคนยากไร้คนพิการ เงินที่จะซื้อวัคซีนหมาแมวก็ถูกโกง ฯลฯ

ให้ดูว่าจะมีกรณีโกงอะไรอีก ถ้ายังมาอีกเรื่อยๆ แสดงว่าระบบที่วางไว้ไม่สามารถป้องกัน ต้องไปแก้ให้ถูกจุด

 

เรื่องการปรองดอง
ระหว่างตาอินกับตานา เบาลง
แต่ส่วนใหญ่กำลังไม่พอใจ ตาอยู่

ให้ดูการใช้อำนาจของผู้ปกครองและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในปัจจุบัน

การเรียกร้องให้เลือกตั้งตามสัญญา ถูกจับ แต่เลื่อนเลือกตั้งไม่เป็นไร

แถลงข่าว วิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาล ถูกจับ ถ้าจัดงานชื่นชมไม่เป็นไร

ตรวจสอบโกง ก็ถูกจับ แต่ถ้าไม่ตรวจ ก็ไม่ถูกเซ็ตซีโร่

การคุกคามสิทธิเสรีภาพหนักข้อมากขึ้น ถึงขนาดบุกถึงบ้านประชาชน ทั้งคุย… ข่ม… ค้น ถ้าเป็นแบบนี้เรื่อยๆ เรื่องคงขยายไปถึงองค์กรระหว่างประเทศ แล้วก็จะถูกบีบที่จุดอ่อน

22 พฤษภาคม 2561 เหตุการณ์คนอยากเลือกตั้งเผชิญหน้าอำนาจรัฐที่หน้า ม.ธรรมศาสตร์ ทำให้มองเห็นอนาคตทั้งสองฝ่ายชัดเจน

ดังนั้น การปรองดอง ต้องรอเวลา และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เมื่อปฏิรูปยังเป็นแค่แผน ปรองดองไม่เกิด ยุทธศาสตร์ระยะยาวจะอยู่แค่ในกระดาษ

ในขณะที่ของจริง ชาวบ้านยากลำบาก และไม่พอใจ

เมื่อมีการเลือกตั้ง แบบลาก ดึง ดูด ทุกอย่างก็จะกลับสู่วงจรอุบาทว์ที่ย้อนหลังไป 30-40 ปี

ยิ่งทำยิ่งถลำลึก หนทางข้างหน้า มีคนหลายกลุ่ม ซุ่มรออยู่ รอนาน 3 ปี

ถ้าเป็นแบบนี้ คงไม่มีโอกาสลงจากหลังเสือ เพราะเสือกำลังวนกลับเข้าป่า อันตรายมาถึงทุกคนแล้ว