ศัลยา ประชาชาติ : 4 ปี คสช. 16 ล้านล้าน ปักหมุดโครงการยักษ์ อัดฉีดทุกหย่อมหญ้า

22 พฤษภาคม 2557 ครบ 4 ปีแห่งการรัฐประหาร และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครบเทอมราวกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

4 ปีที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านกฎหมายงบประมาณไปแล้ว 4 ฉบับ และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จำนวน 1 ฉบับ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 13,928,000 ล้านบาท

ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 วงเงิน 2,575,000 ล้านบาท ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 วงเงิน 2,720,000 ล้านบาท

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 วงเงิน 2,733,000 ล้านบาท, ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 วงเงิน 2,900,000 ล้านบาท รวมกับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอให้ สนช. พิจารณาลงมติเห็นชอบ วงเงิน 3,000,000 ล้านบาท

และถ้านับปลายปีงบประมาณประจำปี 2557 วงเงิน 2,525,000 ล้านบาทเข้าไปด้วย จะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คสช. หยิบจับงบประมาณกว่า 16 ล้านล้านบาท

ด้านงบฯ กองทัพ ตลอด 4 ปีที่ 5 รอบกรอบงบประมาณ ขึ้น-ลงเฉลี่ย 2 แสนล้านตลอด 4 ปี มิหนำซ้ำในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็น “ปีสุดท้าย” ของรัฐบาล-คสช. ก่อนจะมีการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง-รมว.กลาโหม “ทิ้งทวน” งบฯ กองทัพ ทะลุ 2.2 แสนล้านบาทไปแล้ว

เบ็ดเสร็จกองทัพได้รับงบประมาณตลอดการครองอำนาจ รวมทั้งสิ้น 949,820 ล้านบาท ประกอบด้วย ปี 2558 วงเงิน 192,949 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 206,461 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 210,777 ล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 111,962 ล้านบาท และปี 2562 วงเงิน 227,671 ล้านบาท

 

ทันทีที่ คสช. จัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (สัญจร) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 อนุมัติแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี (2558-2565) วงเงิน 1,912,681 ล้านบาท

นับจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาล-คสช. ได้ประกาศเป็น “หัวจักร” ลากโบกี้เจ้าพ่อรับเหมา-นักลงทุนทั้งไทย-เทศ เปิดประมูลโครงการเมกะโปรเจ็กต์ มูลค่าลงทุนหลายแสนล้านบาทตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ได้แก่

แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2558 จำนวน 59 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 847,672.40 ล้านบาท ด้านการคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559 โครงการจำนวน 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1,796,385 ล้านบาท และการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2560 รวมจำนวน 36 โครงการ วงเงินรวม895,757 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W Corridor) ที่มีความพร้อมสามารถเริ่มประกวดราคาได้ในปี 2558-2560 จำนวน 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,796,385 ล้านบาท

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-โคราช) ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 179,413 ล้านบาท

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ท่าอากาศยานดอนเมือง-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) รวมพื้นที่เขต ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 119,000 ล้านบาท

และมีแผนเสนอโครงการความร่วมมือการก่อสร้างรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 ก.ม. วงเงินลงทุนรวม 276,000 ล้านบาท ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติ

ขณะที่การลงทุนตามแผนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ECC) ระยะ 5 ปี วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท อาทิ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด 20,200 ล้านบาท กำหนดเปิดใช้งานปี 2563

รวมถึงการลงทุนโครงข่ายโทรคมนาคม-อินเตอร์เน็ตภายใน-ต่างประเทศ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการขยายขีดความสามารถของอินเตอร์เน็ตภายในประเทศไทยและการพัฒนาให้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงชุมชนในพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึง วงเงิน 15,000 ล้านบาท และโครงการวางเคเบิลใต้น้ำ (ซับมารีนเคเบิล) วงเงิน 5,000 ล้านบาท

 

ทางด้านเศรษฐกิจรากหญ้า ตลอด 4 ปีของรัฐบาล ได้อัดฉีดเม็ดเงิน “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ฐานราก รวมเบ็ดเสร็จกว่า 1,113,625 ล้านบาท

ตั้งแต่ในยุค “คุณชายอุ๋ย” – ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นแม่ทัพเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 ครม. ได้เห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 3 เดือนแรก (ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557) วงเงิน 364,465 ล้านบาท ประกอบด้วย

มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย อาทิ ชาวนา 3.4 ล้านครอบครัว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่ รวมครอบครัวละไม่เกิน 15,000 บาท รวมวงเงิน 45,000 ล้านบาท ชาวสวนยางพารา ไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ รวมวงเงิน 8,453 ล้านบาท

เงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี วงเงิน 24,892 ล้านบาท รายจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2557 ที่ยังเหลืออยู่ วงเงิน 147,050 ล้านบาท เร่งรัดการทำสัญญาจ้างรายจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 449,475 ล้านบาท เร่งรัดโครงการส่งเสริมการลงทุนปี 2558 จำนวน 380 ราย วงเงิน 429,208 ล้านบาท และงบฯ กลางกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบฯ ไทยเข้มแข็ง รวมวงเงิน 23,000 ล้านบาท

ขออนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 เพื่อกู้เงินสำหรับโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน วงเงิน 78,294 ล้านบาท และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ จำนวน 24,000 ล้านบาท

หลังเปลี่ยนแม่ทัพเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ วันที่ 1 กันยายน 2558 ครม. อนุมัติ “แพ็กเกจ” กระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการ วงเงิน 136,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร 60,000 ล้านบาท มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน 36,000 ล้านบาท หรือโครงการ “ตำบลละ 5 ล้านบาท”

มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบฯ ภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 วงเงิน 40,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ใน “ยุคสมคิด” ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวนมาก โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือ SMEs “บิ๊กล็อต” 2 มาตรการ วงเงินรวมกว่า 245,000 ล้านบาท ได้แก่

โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพ SMEs – คนตัวเล็ก โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) และโครงการสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงวงเงินจากธนาคารรัฐและหน่วยงานอื่นๆ

โดยเร็วๆ นี้จะออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs ตามนโยบาย “SME Transform #พร้อมเปลี่ยนประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล” อีก 8,000 ล้านบาท

ครม. ยังมีมติเห็นชอบมาตรการที่เป็น “น้ำจิ้ม” กระตุ้น “ต่อมคนรวย” ด้วยการออกมาตรการ “ช้อปช่วยชาติภาค 1-ภาค 2” ปี 2558 และปี 2559 โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

มาตรการ 2 ครั้งนั้น ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี 3,500 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 รัฐบาลเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ซึ่งสูญเสียรายได้ 200-300 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่มีการจัดทำงบประมาณ “รายจ่ายเพิ่มเติม” กลางปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ครั้ง ดังนี้ ปี 2559 วงเงิน 56,000 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท และปี 2561 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ในนามโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน”

รวมถึงโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 1 วงเงิน 19,000 ล้านบาท และระยะที่ 2 วงเงิน 35,679 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม. ยังไฟเขียว “ล้วง” เงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 150,945 ล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

 

ดีดลูกคิดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คสช. “อัดฉีด” เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจชนชั้นบน-กลาง-ล่าง แตะ 2 ล้านล้านบาท

เบ็ดเสร็จ 4 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คสช. “ขึ้นโครง” เมกะโปรเจ็กต์ เปลี่ยน “แพลตฟอร์ม” เศรษฐกิจใหม่ ภายใต้เงิน “งบฯ ปกติ” ประจำปี-เงินงบประมาณ “รายจ่ายเพิ่มเติม” กลางปี วงเงินรวมทั้งสิ้น 16,849,000 ล้านบาท

นั่นอาจเป็นการแต่งหน้าแต่งตัวก่อนก้าวสู่ปีที่ 5 … หลังจากได้ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลไปในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั่นเอง