จรัญ พงษ์จีน : บทพิสูจน์ 4 ปี ประเทศไทยภายใต้ คสช.

จรัญ พงษ์จีน

4 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก … “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้า หันซ้ายหันขวา ก็ครบวาระ “ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” ล้มกระดานรัฐบาลพลเรือนของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อายุขัยครบ 4 ปีบริบูรณ์ไปเรียบร้อยเมื่อวันวาน 22 พฤษภาคม 2561

ภายหลังสำเร็จโทษ “ยึดอำนาจ” มาได้แบบง่ายดายดุจพลิกฝ่ามือ “คสช.” ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อบริหารจัดการประเทศ กำหนดทิศทางบ้านเมือง คุม “ทุกยุทธศาสตร์” ยึดรูปแบบ “โปลิตบูโร” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาเป็นโมเดล ตั้งคณะที่มีอำนาจสูงสุดขึ้นมา ชื่อคณะกรรมการ คสช. มีองค์ประกอบ 6 คนด้วยกัน ในเบื้องต้น

ประกอบด้วย 1. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้า 2. “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” ผบ.สส. 3. “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” ผบ.ทร. 4. “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” ผบ.ทอ. 5. “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ผบ.ตร. และ 6. “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” รอง ผบ.ทบ. โดยตำแหน่งในขณะนั้น

ต่อมาแก้ไขเพิ่มเติม ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 42 เสริมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่

และมาขยับอีกหนึ่งขยัก เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2560 ได้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2559 เรื่องแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.ชุดใหม่หรือชุดปัจจุบัน ไม่เกิน 15 คน ประกอบไปด้วย

1. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

2. “พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ” 3. “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” 4. “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” 5. “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” 6. “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

7. “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” 8. “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” 9. “พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์” 10. “พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ” 11. “พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ” 12. “พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง” 13. “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” 14. “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

15. “พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท” เป็นเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

“พักเบรก” ระบอบประชาธิปไตย ว่าด้วยการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตลอดจนสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และการดำเนินการของรัฐจำเป็นต้องถือตามมติเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน

ปรับเปลี่ยนมาเป็น การเมืองการปกครอง “ทหารสไตล์” โอกาสในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตกลงใจ จำกัดอยู่ใน “กลุ่มบุคคลหนึ่ง” หรือ “คนเดียว” มีอำนาจสูงสุด และสามารถใช้อำนาจได้เต็มที่ โดยมี “มาตรา 44” เป็นเครื่องทุ่นแรง

“ข้อเสีย” มากมายก่ายกอง “ข้อดี” ก็มี คือ ช่วยให้การปกครองมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว สามารถแก้วิกฤตหรือภาวะฉุกเฉินได้รวดเร็ว ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนได้ทุกรูปแบบ ใครคัดค้าน ขัดขวางจะถูกลงโทษได้ทันที

ยุติความขัดแย้ง สร้างความสงบสุข-ผู้นำเข้มแข็งเด็ดขาด มีการสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมได้หลายช่องทาง เปิดเพลงมาร์ช “ขอเวลาอีกไม่นาน” สม่ำเสมอทุกๆ วัน มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

ขณะเดียวกันก็มี “ข้อเสีย” บรรยายสรรพคุณได้ไม่หมด อาทิ หลายตำแหน่งเข้ามาทำงาน ขาดประสบการณ์ ยังแก้ปัญหาที่สำคัญไม่ได้ โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจ” เป็นการทำงานแบบรวบอำนาจ ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขาดการตรวจสอบ ทั้งๆ ที่ข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นปูดขึ้นรายวัน และทำท่าจะปาดหน้าแซงทางโค้งรัฐบาล “พลเรือน” อยู่แล้ว

 

จาก “คสช.” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ข้ามห้วยมายังฟากบริหารของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ในวาระ 4 ปี ปรากฏว่ามีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีมาแล้วจำนวน 5 รอบ แต่ที่ยกเครื่อง สังคายนาครั้งใหญ่สุดคือ การปรับขบวนทีมเศรษฐกิจ เด้งทีมงาน “หม่อมอุ๋ย-ปรีดิยาธร เทวกุล” แบบยกชุดให้มอบภารกิจอยู่ในความรับผิดชอบของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เข้ามาเสริมใยเหล็กแทนทั้งหมด เป็นการล้างบางกันไปเลย

ไม่เพียงแต่ “ตัวบุคคล” เท่านั้น “สมคิด” ยังเปลี่ยนแพลตฟอร์มเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ จากเดิมที่ “หม่อมอุ๋ย” วางนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป สร้างระบบภูมิคุ้มกัน อย่างมั่นคงและยั่งยืน บนรากฐานความพอประมาณ

แปลงโฉมกรอบและแนวทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่สู่ระบบ “ประชารัฐ”

ไม่เน้น หรือไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของแหล่งที่มาของอำนาจว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขอเพียงแต่ผลประโยชน์ของการดำเนินนโยบายตกอยู่กับประชาชนก็พอ โดยเทน้ำหนักมุ่งเน้นดูแลรากหญ้าโดยตรง อัดฉีดเม็ดเงินเข้ากองทุน กระจายทุกตำบล หมู่บ้าน เทศบาล

คนละรูปลักษณ์กับ “ประชานิยม” ซึ่งมุ่งเน้นความนิยมชมชอบของประชาชนเป็นหลักทุกนโยบาย และนำพามาซึ่งผลของการเลือกตั้ง ซึ่ง “ระบบทักษิณ” ผูกขาดชนะติดต่อกันมาหลายสมัย

“สมคิด” เข็น “ประชารัฐ” มาปิดจุดเด่น “ประชานิยม” การใช้ “อำนาจรัฐ” เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

ตามไปดู “โรดแม็ปการเมือง” ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งเลื่อนโปรแกรมมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ยังกับว่าประเทศไทยใช้ “นาฬิกาเสีย” บอกเวลาไม่ถูกไม่ต้องเสียที ผัดวันประกันพรุ่ง

ก้าวสู่ปีที่ 5 ของ “คสช.” คล้อยหลังวันที่ 22 พฤษภาคม เริ่มจะเห็นแสงสว่างทอแสงรำไรมาจากปลายอุโมงค์บ้างแล้ว

เมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยผลออกมาเรียบร้อยแล้ว “กฎหมายลูก” พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หมวด “ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

เหลือติดติ่ง “กฎหมายลูก” อยู่ฉบับเดียวแล้วคือ “พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยในวันที่ 30 พฤษภาคม หากไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่า “โรดแม็ปเลือกตั้ง” สดใสซาบซ่า ประชาชนพลเมืองจะได้มีปากมีเสียงเต็มขั้นกันซะที หลังจากใบ้รับประทานมา 4-5 ปีเต็ม

ศึกเลือกตั้งน่าจะลงเอยตามกำหนด ช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2562

ส่วน “หวยล็อก” นายกรัฐมนตรีคนต่อไป จะชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หรือไม่ โปรดติดตามกันตาอย่ากะพริบต่อไป