นพมาส แววหงส์ : BRIDGET JONES’S BABY “ภาคสาม”

นพมาส แววหงส์

บริดเจ็ต โจนส์ (เรอเน เซลเวเกอร์ ซึ่งเป็นนักแสดงชาวอเมริกันมารับบทสาวอังกฤษ) เป็นสาวเฟอะฟะตุ๊ต๊ะที่วัยหวานกำลังจะคล้อยผ่านไป

เธอได้แต่ฝันใฝ่จะมีเพื่อนคู่ใจและมีครอบครัวแสนสุข แต่เธอก็ลงเอยด้วยการฉลองวันเกิดอย่างเดียวดาย ด้วยการเป่าเทียนเล่มเดียวบนเค้กก้อนเล็กๆ ที่ซื้อมาให้ตัวเองเสมอ และเขียนอนุทินถึงชีวิตเปล่าเปลี่ยวเอกากาย ที่เอาแต่ตั้งปณิธานสารพัดสารพัน-รวมทั้งการลดน้ำหนัก– ซึ่งแทบไม่เคยทำสำเร็จสักเรื่อง

ถึงแม้ว่าในภาคแรก เธอจะได้เจอ “มิสเตอร์ดาร์ซี” ของตัวเอง เหมือนในนวนิยายรักแสนหวานของสาวอังกฤษแต่ก่อนเก่า เรื่อง Pride and Prejudice ของ เจน ออสเตน ที่เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มผู้หยิ่งผยองและหญิงสาวผู้มีอคติต่อเขา

พระเอกผู้หยิ่งผยองของบริดเจ็ตมีชื่อเหมือนกันว่า มาร์ก ดาร์ซี (คอลิน เฟิร์ธ) ขณะที่ตัวเธอมีแต่ “อคติ” สำหรับมิสเตอร์ดาร์ซีคนนี้

และชายผู้เข้ามาขวางในสมการคือ แดเนียล คลีฟเวอร์ (ฮิว แกรนต์) จอมกะล่อนและเจ้าชู้ประตูดิน

ในภาคแรก บริดเจ็ตลงเอยกับมาร์กจนได้ เพราะมาร์ก “รักเธออย่างที่เธอเป็นอยู่” (นั่นคือทั้งๆ ที่เธออ้วนเผละ เฟอะฟะ พูดจาปากไม่มีหูรูด)

 

แต่พอมาภาคสอง ที่ชื่อว่า Edge of Reason คนคู่นี้ก็ห่างเหินกันไป เนื่องจากมีชีวิตไปคนละทาง และหน้าที่การงานของบริดเจ็ตในฐานะผู้สื่อข่าวพาเธอไปไกลบ้านคนละมุมโลก

ถ้ายังจำกันได้ ในภาคสองบริดเจ็ตเดินทางมาเมืองไทย ไปเที่ยวชายทะเลภาคใต้ และมาโดนจับข้อหามียาเสพติดอยู่ในครอบครอง ทำให้ต้องติดคุกหัวโตแบบเฮฮาอยู่ร่วมกับนักโทษสาวไทย กว่า มาร์ก ดาร์ซี จะมาช่วยเธอให้พ้นจากข้อหา เนื่องด้วยเขาเป็นทนายความที่ฉลาดเฉลียวและมีเครือข่ายกว้างขวางทั่วโลก

ในภาคสอง แดเนียลยังทำตัวเป็นหมาหวงก้างชิงดีชิงเด่นกับมาร์กเมื่อไรก็ตามที่เขาเฉียดใกล้เข้ามา และเมื่อดูรวมๆ แล้วเป็นหนังภาคที่อ่อนที่สุดในชุดนี้

เป็นที่รู้กันว่า เรเน เซลเวเกอร์ ต้องขุนตัวเองให้อ้วนเพื่อเล่นบทของบริดเจ็ต แล้วก็กลับไปผอมเพรียวอีกหลังจากถ่ายหนังเสร็จ เธอทำแบบนี้ถึงสองหนเพื่อเล่นหนังสองภาคแรก จนมีข่าวว่า

เธอประกาศว่าจะเลิกเล่นบทนี้เพราะไม่ต้องการแกล้งตัวเองให้กลับไปอ้วนอีกแล้ว

สิบปีต่อมา เมื่อภาคสามถูกเข็นออกมาจนได้ ด้วยความเชื่อว่ายังมีแฟนบริดเจ็ตคอยติดตามเรื่องราวของเธออยู่ บริดเจ็ตในวัยสี่สิบเศษ (อายุอ่อนกว่าเรเนตัวจริงไม่กี่ปี) กลับมาเปิดเรื่องด้วยการฉลองวันเกิดคนเดียวในซาวด์แทร็กของเพลง All By My Side อีกครั้ง

และในสไตล์การเล่าเรื่องตามแบบฉบับการบันทึกไดอารี่ต่อมา เธอบอกว่าเธอมี “น้ำหนักเพอร์เฟ็กต์” จนได้ในที่สุด

นี่คือโลกของภาพยนตร์ ที่ “จัดให้” ได้ทุกอย่าง และ บริดเจ็ต โจนส์ ภาคนี้ไม่ได้สร้างตามหนังสือที่เขียนโดย เฮเลน ฟีลดิง เพียงแค่ใช้ตัวละครเรารู้จักกันดีแล้วจากหนังสือ และมีผู้กำกับฯ ภาคแรกคือ แชรอน แม็กไกวร์ กลับมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับฯ อีกครั้ง

ความแตกต่างสำคัญของภาคสามจากภาคอื่นๆ คือคราวนี้ ฮิว แกรนต์ ไม่ได้กลับมารับบท แดเนียล คลีฟเวอร์ จอมกะล่อนตัวป่วนอีกแล้ว และด้วยเหตุผลที่ใส่มาตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง คือบริดเจ็ตไปร่วมงานศพซึ่งปราศจากร่างของแดเนียล เนื่องจากเขาประสบอุบัติเหตุร้ายแรงและหาศพไม่เจอ

คราวนี้ คู่แข่งคนใหม่ของมาร์กคือ ชายหนุ่มรูปงาม แจ็ก ควอนต์ (แพตทริก เดมป์ซี) มหาเศรษฐีจากวงการดอตคอม ที่คิดสูตรการหาคู่ด้วยอัลกอริสม์ทางคอมพิวเตอร์อันเชื่อได้ว่าแม่นยำที่สุด

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา บริดเจ็ตก้าวหน้าในอาชีพการงาน พาตัวเองขึ้นเป็นโปรดิวเซอร์รายการข่าวทางช่องเคเบิล ที่มีมิแรนดา (ซาราห์ โซเลมานี) เป็นพิธีกร มิแรนดาเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของเธอ และมิแรนดาพยายามช่วยบริดเจ็ตให้หายเหงาหายซึมเศร้า ด้วยการพาไปงานเทศกาลดนตรี ที่กางเต๊นท์นอนกันบนลานดินเฉอะแฉะ

และทำให้บริดเจ็ตได้เจอเจ้าชายรูปงามในฉากแบบซินเดอเรลลา คือเธอสะดุดล้มลงไปในโคลน รองเท้าหลุดหาย และเขาฉุดเธอขึ้นมาจากปลักโคลน รวมทั้งหารองเท้าเจอ นำมาสวมให้กับเท้าของเธอ พร้อมพูดว่า “สวมได้พอดีเลย”

บรรยากาศของเทศกาลดนตรี รวมทั้งความสนุกสนานเลยเถิดและการสนับสนุนของเพื่อน ทำให้บริดเจ็ตตกไปอยู่ในเต๊นท์นอนของชายหนุ่มแปลกหน้าคนนั้น

อาทิตย์ต่อมา สถานการณ์ก็ยังพาเธอกลับไปอยู่ในอ้อมแขนของมาร์ก แฟนเก่า

และอีกหลายอาทิตย์ต่อมา บริดเจ็ตก็ได้พบมาตนเองตั้งท้อง

แต่ปัญหาก็คือ เธอไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของลูกในท้องกันแน่

ซึ่งพาไปสู่ตัวละครตัวใหม่ คือ ดร.รอว์ลิงส์ (เอ็มมา ทอมป์สัน) สูตินรีแพทย์ที่บริดเจ็ตไปฝากท้องด้วย

ฉากที่มี ดร.รอว์ลิงส์อยู่ด้วย (ซึ่งมีไม่มาก) อยู่ในบรรดาฉากที่ตลกที่สุดในหนัง จากความหน้าตายของเอ็มมา ทอมป์สัน และประโยคเด็ดที่ออกจากปากเธอ ซึ่งปรากฏว่า เอ็มมา ทอมป์สัน มีชื่อร่วมกับผู้เขียนบทหนังภาคนี้ด้วย

นอกจากนั้น พ่อแม่ผู้หลุดโลกของบริดเจ็ต ก็กลับมาพร้อมหน้า ทั้ง จิม บรอดเบนต์ และ เจมมา โจนส์ และทั้งคู่มีฉากฮาเด็ดๆ ไม่น้อย
ในแง่ของภาพยนตร์ ผู้เขียนคิดว่าภาคนี้เป็นหนังที่ดูสนุก ด้วยภาพ เพลงและการแสดง จะมีติดขัดอยู่ก็ในเนื้อหาที่สื่อสารออกมาเกี่ยวกับค่านิยมและตัวละคร ที่น่าหงุดหงิดเป็นพิเศษคือมาตรฐานทางวิชาชีพที่ตัวละครที่เป็น “นางเอก” ดูจะสื่อออกมา

แน่นอนว่า “ความเฟอะฟะปากไม่มีหูรูด” เป็นแคแร็กเตอร์ประจำตัวของบริดเจ็ต แต่เมื่อนำไปใช้ในอาชีพสื่อมวลชน เราจะเห็นตัวอย่างที่เลวร้ายในตัวเธอ

อาทิ เธอในฐานะโปรดิวเซอร์กับเพื่อนสนิทในฐานะพิธีกร ต้องใช้หูฟังสื่อสารกันตลอดเวลา และพูดเล่นกันอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถูกตำหนิหลายครั้งว่าเป็นเรื่องไม่สมควรทำในระหว่างงาน แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่ยอมเลิกเอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาแทรกในระหว่างการทำงาน

ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดฉากตลกๆ อย่างเช่น การที่เธอรับโทรศัพท์ระหว่างการถ่ายทอดสด ทำให้พิธีกรพูดผิดพูดถูกตามสิ่งที่นึกว่าเป็นคำถามป้อนให้พิธีกรถามผู้ร่วมรายการ

มาตรฐานวิชาชีพยังขยายต่อไปถึงการใช้รายการมาบังหน้าเรื่องส่วนตัว และการเป็นโปรดิวเซอร์รายการข่าวแล้วยังซื่อบื้อจนไม่รู้จักคนเด่นคนดังในวงการบันเทิง สังคม และการเมือง ฯลฯ ฯลฯ

ในโลกของความเป็นจริงคนอย่าง บริดเจ็ต โจนส์ควรถูกไล่ออกจากงานแบบที่ต้องคาดโทษว่าจะไม่ได้กลับมาทำงานด้านนี้อีกแล้ว แต่ในโลกสวยของ บริดเจ็ต โจนส์ เธอยังเป็นนางเอกแบบที่ทำอะไรเฟอะฟะก็ดูน่ารักน่าเอ็นดูและน่าให้อภัย ด้วยเหตุผลอย่างเดียวของความเป็นนางเอกของโรแมนติก คอเมดี้

แหม พอยกเรื่องนี้มาพูดแล้ว คุณความดีอื่นๆ ของหนังเลยลดค่าไปแทบไม่เหลือเลยเชียว ทั้งๆ ที่หนังมีฉากดีๆ อยู่หลายตอน รวมทั้งนักแสดงที่ลงตัวอยู่มาก

เอาเป็นว่า บริดเจ็ต โจนส์ ไม่สมควรจะเป็น role model ของใครเลย เรื่องราวโรแมนซ์แสนหวานของเธอนั้นก็เกิดขึ้นได้แต่ในเทพนิยาย (ซินเดอเรลลาสมัยใหม่) และนวนิยายรักแบบพ่อแง่แม่งอนเท่านั้น

BRIDGET JONES’S BABY 

กำกับการแสดง
Sharon Maguire

นำแสดง
Renee Zellweger
Colin Firth
Patrick Dempsey
Emma Thompson
Gemma Jones
Jim Broadbent
Sarah Solemani