ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ชาตรีเฉลิม, ทองพูน และระบอบเผด็จการ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ม.จ.ชาตรีเฉลิม หรือ “ท่านมุ้ย” ได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับแห่งสยามประเทศของไทย และก่อนที่ค่ายหนังหรือใครจะประดิษฐ์ฉายานี้เพื่อโฆษณาหนังชุดพ่วงแก้วน้ำที่เด็กนักเรียนแทบทุกโรงเรียนต้องดูในปี 2544 แล้วลากยาวถึงปี 2558 จนปิดฉากไปเงียบๆ ท่านมุ้ยถูกยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ดีที่สุดซึ่งประเทศเคยมี

ในยุคที่ท่านมุ้ยยังไม่ทำหนังสงครามขายแอ๊คชั่นอิงพงศาวดาร หนังที่ทำในชื่อชาตรีเฉลิมมีตัวละครเป็นคนธรรมดาหรือ“ชนชั้นล่าง” อย่างเด็กติดเอดส์, โสเภณี, คนขับแท๊กซี่, กะเหรี่ยงกู้ชาติ, ทหารผ่านศึกพิการ, คนเลี้ยงช้างเร่ร่อน, คนสลัม , หมอชนบท ฯลฯ ซึ่งแทบไม่มีหนังไทยยุคไหนพูดถึงจนปัจจุบัน

แน่นอนว่าตัวละครในหนังไม่ใช่เหตุให้ใครเป็นคนทำหนังชั้นดี แต่ท่านมุ้ยยุคก่อนสุริโยไทใช้ทักษะตั้งแต่เขียนเรื่อง, กำกับ, ถ่ายภาพ และตัดต่อเพื่อสื่อถึงความอยุติธรรมในสังคมโดยตลอด หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่าท่านมุ้ยยุคก่อนทศวรรษ 2540 ถูกยกย่องเพราะความเจนจัดทำหนังที่พูดเรื่องคนส่วนใหญ่ในสังคม

ในภาพยนตร์กลุ่มนี้ การแบ่งแยกทางชนชั้นในสังคมเป็นปัญหาแน่ๆ แม้ระดับการอธิบายปัญหาจะจำกัดที่การถ่ายทอดปัญหาจากนายทุนขี้โกงหรือข้าราชการชั่วมากกว่าจะเป็นเรื่อง “ชนชั้น” หรือ “ระบบ” แต่อย่างน้อยงานยุคนั้นก็พูดเรื่องสังคมร่วมสมัยยิ่งกว่าผลิตซ้ำประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ชนชั้นนำเป็นศูนย์กลาง

ในหนัง ๑๕ เรื่องที่ท่านมุ้ยทำต่อเนื่องยี่สิบปีก่อนจะคล้อยสู่สองทศวรรษแห่งการหยิบยืมความรู้ทางวิชาการไปทำหนังอิงพงศาวดาร งานซึ่งมีสารทางสังคมเข้มข้นที่สุดคืองานในช่วง 2520-32530 เพราะไม่เพียงจะพูดถึงคนธรรมดาเพื่อ “สะท้อน” ปัญหา บางเรื่องยังไปถึงกระตุ้นให้คนลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรม

การที่หนังไทยไม่ค่อยพูดเรื่องสังคมนั้นเป็นหลักฐานอยู่แล้วว่าโดยรวมแล้วการสร้างหนังประเภทนี้ยากในประเทศไทย ความน่าสนใจคือท่านมุ้ยทำหนังลักษณะนี้ในช่วงเวลาที่ประเทศอยู่ภายใต้การเมืองปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่นายกทุกคนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือพูดตรงๆ คือเป็นทศวรรษที่นายพลครองเมือง

ในปี 2520 ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นรัฐประหารเข่นฆ่าประชาชนกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากนั้นพลเรือเอกที่ตั้งตัวเป็น “คณะปฏิรูป” ก็ตั้งผู้พิพากษาเป็นนายกโดยมีเบื้องหลังพิสดารอย่างที่บันทึกของดร.บุญชนะ อัตกากร ระบุ โดนนายกจากศาลประกาศว่าขอเวลาปฏิรูปประเทศ 12 ปี

ไม่มีใครรู้ว่านายกจากศาลมีปัญหาอะไรกับทหารที่ตั้งตัวเองขึ้นมา แต่อยู่ในอำนาจได้แค่ปีเดียว พลเอกกลุ่มเดิมก็รัฐประหารตัวเองแล้วเอาพลเอกอีกคนมาแทนนายกจากศาลและคณะในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 จากนั้นพลเอกคนนี้ก็โดนสภาที่ทหารเลือกนายกได้กดดันจนต้องลาออกให้พลเอกอีกคนเป็นนายกแทน

สรุปสั้นๆ ท่านมุ้ยทำหนังสะท้อนสังคมในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบนายพลสิบกว่าปี ส่วนวิธีที่นายพลเข้าสู่อำนาจมีทั้งรัฐประหาเองหรือเล่นการเมืองกับพวกเดียวกันจนตัวเองเป็นนายก หนังจึงเกิดขึ้นในยุคที่ประชาชนตรวจสอบเครือข่ายพลเอกไม่ได้จนปี 2531 ที่มีนายกจากการเลือกตั้งชื่อชาติชาย ชุณหะวัณ

โดยทั่วไปแล้วระบอบนายพลมองการพูดถึงปัญหาของประชาชนเป็นภัยคุกคาม เพราะการพูดแสดงถึงสำนึกเรื่องสิทธิ และการพูดที่สะท้อนปัญหาสังคมคือใบเสร็จว่าว่ารัฐบาลนายพลไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้สั่นคลอนความชอบธรรมทางอำนาจที่ต่ำอยู่แล้วของผู้นำที่ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา

ในฐานะคนทำหนังที่พูดถึงปัญหาสังคมถึงขั้นให้ตัวละครพูดชัดๆ ว่าคนจนต้องการรวมตัวเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม คำถามคือท่านมุ้ยใช้หนังคุยอะไรกับสังคมที่โดยเนื้อแท้แล้วอยู่ใต้ระบอบเผด็จการ?

หลังการเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมขั้นเผาทั้งเป็นในวันที่ 6 ตุลาคม และทหารรัฐประหารแล้วตั้งผู้พิพากษาเป็นนายกที่ไล่ปิดสื่อและจับคนเห็นต่างเข้าคุกอย่างคลุ้มคลั่งที่สุด ท่านมุ้ยซึ่งในเวลานั้นอายุ 35 ทำหนังเรื่อง “ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น” ซึ่งเต็มไปด้วยสารที่เขย่าสังคมอย่างรุนแรงแม้จนปัจจุบัน

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด ตัวละครหลักของ “ทองพูน โคกโพ” คือคนขับแท๊กซี่ชื่อนี้ผู้ถูกแก๊งปล้นเอารถไปดัดแปลงเป็นแท๊กซี่ัคันใหม่ ทองพูนแจ้งตำรวจแต่คดีไม่คืบหน้า และเมื่อทองพูนตามจนรู้ว่าแก๊งนี้อยู่ไหน ผลลัพธ์คือการถูกซ้อมเจียนตายสามครั้ง จนในที่สุดทองพูนบุกไปทวงรถแล้วฆ่าโจรตาย 4-5 คน

ด้วยชื่อเสียงของภาพยนตร์เรื่องนี้จนเกิดการสร้างภาคสองในอีกเจ็ดปีถัดมา ผู้ชมในทศวรรษ 2560 ย่อมรับรู้แล้วว่าท่านมุ้ยขยี้ชีวิตทองพูนโดยให้ตำรวจจับติดคุก ยิ่งกว่านั้นคือทองพูนไม่เจอรถของตัวเองที่เชื่อว่าขโมยจนเกิดเหตุฆ่า การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจึงจบที่ราษฎรเต็มขั้นเข้าตะรางพร้อมสำนึกที่แสนขื่นใจ

ภายใต้โครงเรื่องที่คล้ายเป็นหนังแอ๊คชั่นธรรมดา ท่านมุ้ยทำหนังให้ “ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น” เป็นหนังสะท้อนปัญหาสังคมแกมเสียดสีเจือปลุกระดมอย่างแสนประหลาด ทองพูนเป็นชาวนาอุดรซึ่งขายที่หนีแล้งมาเช่าห้องตามสลัมเพื่อขับแท๊กซี่ในกรุงเทพ พูดง่ายๆ คือเปลี่ยนจากคนจนชนบทเป็นคนจนเมือง

ภูมิหลังของทองพูนตีแผ่ความล้มเหลวของรัฐบาลในการดูแลเกษตรกรเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง “ทองปาน” แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือท่านมุ้ยออกแบบตัวละครให้คนชั้นล่างซึ่งชีวิตไร้ทางเลือกจนหมดศักดิ์ศรีและอยู่อย่างไร้ความหวังอย่างถึงที่สุด หนังจึงเล่าโดยปริยายถึงความบัดซบที่รัฐเผด็จการสร้างไว้กับประชาชน

ทองพูนอยู่กลางสลัมกับคนขับแท๊กซี่ซึ่งภูมิหลังเป็นชาวนาอีสานทุกคน “บุญหลาย” คืออดีตชาวนาที่เช่าแท๊กซี่หากินตั้งแต่หนุ่มจนแก่ตลอดชีวิต ตัวละครอีกสองรายคือ “แรมจันทร์” เป็นหมอนวดที่ถ้าไม่ขายตัวก็ไม่มีกิน ส่วน “ไอ้ด้วน” คือมนุษย์ไร้ขาที่ใช้ชีวิตบนเลื่อนแล้วขอทานพร้อมแต่งเรื่องโกหกหาเงินไปวันๆ

ในโลกที่ท่านมุ้ยเล่าผ่านหนังซึ่งฉายเมื่อคณะรัฐประหาร “ปฏิรูป” ประเทศหลังการเข่นฆ่าประชาชนวันที่ ๖ ตุลาคม การปฏิรูปของรัฐบาลเผด็จการไม่มีอะไรต่อชีวิตของทองพูน, แรมจันทร์, บุญหลาย หรือไอ้ด้วนอย่างไรทั้งนั้น คนจนยังคงจนและใช้ชีวิตตามซอกหลืบของเมืองจนต้องทำทุกอย่างเพื่อต่อชีวิตรายวัน

ในฉากที่น่าสะเทือนที่สุดของหนังเรื่องนี้ ทองพูนกลับห้องเช่าหลังถูกจี้แท๊กซี่และเงินที่เตรียมไว้จ่ายค่าเช่าซึ่งค้างไว้ครึ่่งปี แต่สภาพที่เกิดขึ้นคือข้าวของถูกเจ้าของบ้านโยนทิ้งไปหมด หำน้อยผู้บุตรร้องไห้ด้วยความหวาดกลัว ส่วนเด็กกับผู้ใหญ่ทั้งสลัมรุมแย่งหม้อ, ผ้าห่ม, ตู้กับข้าว ฯลฯ ราวกับเห็นทองคำ

ไม่เพียงตัวละครหลักจะมีสภาพชีวิตแสนบัดซบภายใต้อำนาจรัฐเผด็จการที่อ้างว่ายึดอำนาจเพื่อ “ปฏิรูป” ประเทศเพื่อประชาชน แต่ตัวละครหลักทั้งหมดยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคนชนชั้นล่างในเขตเมืองที่ไม่มีจะกินถึงขั้นแก่งแย่งของสิ่งละอันพันละน้อยที่มีสภาพเป็นได้แค่ขยะในบ้านคนชั้นกลางหรือผู้มีเงิน

นอกจากการสะท้อนสภาพจริงของคนส่วนใหญ่ในระบอบเผด็จการ ท่านมุ้ยยังทำหนังโดยชี้ชวนให้คนจนร่วมกันสู้กับความอยุติธรรมด้วยตัวเองด้วย ทองพูนผู้ถูกซ้อมโดยแก๊งโจรนั้นพูดขณะเจ็บเจียนตายกับเพื่อนคนขับแท๊กซี่ลูกอีสานว่าต้องร่วมสู้เพื่อไม่ให้ใครปล้นอีก ตำรวจไม่ใช่ที่พึ่ง และคนจนต้องพึ่งตัวเอง

ในบทพูดที่ยืดยาวราวคำปราศรัยของนักศึกษาเดือนตุลา ทองพูนประกาศชัดว่าคนจนไม่มีทางมีชีวิตที่ดีขึ้น หากไม่รวมพลังขจัดเงื่อนไขของความอยุติธรรมให้หมดสิ้น ทั้งที่หนังเรื่องนี้ฉายขณะทหารฆ่าประชาชน คนเห็นต่างถูกไล่ล่า สื่อถูกปิด และการรวมตัวเกินห้าคนผิดกฎหมายที่คณะรัฐประหารเขียนเอง

อย่างไรก็ดี ไม่มีลูกอีสานวัยหนุ่มเอาด้วยกับทองพูน บางคนบอกว่าสู้ไปก็แพ้ บางคนบอกว่าไม่สู้เพราะไม่อยากเดือดร้อน การปลุกระดมให้มวลชนลุกขึ้นสู้จึงล้มเหลวจนทองพูนแทบหลั่งน้ำตาเป็นสายเลือด และคนเดียวที่เอาด้วยคือคนขับแท๊กซี่แก่อย่าง “บุญหลาย” ซึ่งพูดชัดว่าสู้เพราะไม่มีอะไรเสียอีกต่อไป

หนังเรื่องนี้จบด้วยการจองจำทองพูนห้าปีอย่างที่กล่าวไป ส่วนโสเภณีอย่างแรมจันทร์กินเหล้ารอทองพูนในแฟลตจนเมาพับคากองอ้วก หำน้อยหลับแบบไม่รู้เรื่องราวอะไร ไอ้ด้วนหยิบเหล้าแบนที่แรมจันทร์กินเหลือมากินต่อ บุญหลายขับแท๊กซี่อย่างที่ทำมาตลอด และโศกนาฎกรรมชีวิตของคนจนก็คงอยู่ต่อไป

ในหนังสะท้อนสังคมที่เจือน้ำเสียงทางการเมืองที่สวนทางกับระบอบเผด็จการเรื่องนี้ ความอยุติธรรมทางสังคมมีจริง รัฐบาลช่วยอะไรไม่ได้ คนจนต้องลุกขึ้นสู้ ถึงแม้การต่อสู้อาจจบแบบที่ผู้ถูกกระทำกลายเป็นคนผิด หรือต่อให้สังคมจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยก็ตาม

http://www.thaifilm.com

แม้หนังจะเกี่ยวกับการทวงคืนรถจากหัวขโมย แต่โดยเนื้อแท้แล้วหนังไม่ใช่เรื่องคนจนหวงของราวปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ทองพูนพูดชัดว่าแท๊กซี่คือเส้นทางสู่ชีวิตที่ดีของเขาและโอกาสเล่าเรียนของลูก เขาขับแท๊กซี่เพื่อเลื่อนสถานะทางสังคม การขโมยแท๊กซี่จึงเป็นการปล้นโอกาสที่ทองพูนกับลูกจะเปลี่ยนชีวิตอย่างถาวร

ภายใต้หน้าหนังสะท้อนปัญหาสังคมซึ่งการลุกขึ้นสู้จบด้วยความพ่ายแพ้ ความเข้าใจว่าคนจนมีสำนึกเรื่องสิทธิอย่างแรงกล้าคือสารที่สำคัญที่สุด คนจนแบบทองพูนเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพจะหลุดพ้นจากสภาพชีวิตบัดซบด้วยตัวเองได้ เขาไม่ต้องการอะไรจากใคร ยกเว้นแต่ทวงคืนโอกาสจะหยัดยืนบนขาของตัวเอง

หลังจากทองพูนทวงคืนแท๊กซี่จากแก๊งโจรจนเจ็บหนัก แรมจันทร์เสนอว่าจะดาวน์รถเพื่อไม่ให้ทองพูนไปทำอะไรแบบนี้ ทองพูนไม่รับพร้อมกับยืนยันว่าเขาซื้อรถเช่าเก่าๆ จากเงินเก็บกว่าห้าปี มันคือความฝันของเขา และเขาต้องการปกป้องความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อไม่ให้มีใครทำลายความฝันนี้อีกต่อไป

ในการเผชิญหน้ากันระหว่างทองพูนกับเถ้าแก่เจ้าของอู่แท๊กซี่สายรับของโจร นายสาครถามทองพูนว่าฆ่าคนขั้นเตรียมเผาอู่เพราะอะไร ทองพูนตอบว่าต้องการรถคืน นายสาครบอกให้ทองพูนเอารถคันไหนไปก็ได้เพื่อให้เรื่องจบ แต่ทองพูนยืนยันว่าเอารถตัวเองเท่านั้น และไม่เอาอะไรเลยหลังไม่พบรถของตัวเอง

ขณะที่เผด็จการทหารทศวรรษ 2520 ปล้นสิทธิทุกอย่างจากประชาชนโดยสัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้น “ทองพูน โคกโพ” ตีแผ่ว่าคำสัญญานี้โกหก ยิ่งกว่านั้นคือหนังระบุว่ามนุษย์ต้องการมากกว่าเศษเนื้อที่คนชั้นสูงหยิบยื่นตามใจชอบ และสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปรารถนาคือชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและโอกาสตลอดเวลา

ในเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ม.จ.ชาตรีเฉลิมทำหนังซึ่งยืนยันความยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาผู้เป็นราษฎรเต็มขั้น จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่การปล้นสิทธิโดยคำสัญญาที่ว่างเปล่าคงอยู่ไปแม้แค่อีกวันเดียว