วงค์ ตาวัน : ตัวละครชุดเดียวกัน 2551-2557

วงค์ ตาวัน

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเรา ที่ดุเดือดเลือดพล่านกว่า 10 ปีมานี้ จุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มอำนาจนอกระบบในสังคมไทยที่มุ่งขจัดอำนาจของทักษิณ ด้วยความหวาดระแวง เพราะเป็นนักการเมืองคนแรกในประเทศนี้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วสามารถสร้างฐานความนิยมได้อย่างกว้างขวางจนน่าตกใจ

ขณะเดียวกันมีตัวละครอีกชุด ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการขัดแย้งเดียวกัน

“โดยที่ตัวละครชุดนี้ เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ปี 2551 ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์ 2557 และเชื่อว่าอาจจะยังคงร่วมกันมีบทบาทต่อไปในการช่วงชิงอำนาจในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง”

การเกิดของม็อบเสื้อเหลืองในปี 2548 ต่อเนื่องถึงปี 2549 เพื่อขับไล่ทักษิณ เป็นการปูทางไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

แต่แล้วการเลือกตั้งในปี 2550 พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นเครือข่ายของทักษิณก็ยังคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะตกเก้าอี้ด้วยคำพิพากษาจากศาลรัฐธรรมนูญ

จากนั้นสถานการณ์ก็ยังคงวุ่นวายอลหม่านด้วยการเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อเหลือง

“จนกระทั่งเกิดการพลิกขั้วทางการเมืองในช่วงปลายปี 2551 ทำให้นายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ใช่พรรคที่ชนะเลือกตั้ง!”

เบื้องหลังมาจากการเจรจาลับ จนเรียกกันว่าเป็นการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ก่อนจะไปลงมติในสภา ทำให้ประชาธิปัตย์ได้ขึ้นเป็นรัฐบาล

“เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กับแกนนำกองทัพ ในการอุ้มนายอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ”

จนกระทั่งในปี 2553 เสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา ด้วยเห็นว่าที่มาของรัฐบาลดังกล่าวไม่ชอบธรรม

“ความสัมพันธ์ระหว่างอภิสิทธิ์-สุเทพและแกนนำกองทัพ ฉายโชนให้เห็นกันอีกครั้ง!!”

นำมาสู่การปราบปรามเสื้อแดงในเหตุการณ์ 10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553 โดยย้อนยุคใช้กองกำลังทหารในปฏิบัติการสลายม็อบ

ทั้งที่เคยมีมติของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ภายหลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬ 2535 ออกมาชัดเจนแล้วว่า จากนี้ไป การแก้ปัญหาประชาชนประท้วงทางการเมือง ต้องห้ามไม่ให้ใช้กำลังทหารเข้ามาสลายม็อบอีก ให้มีการจัดตั้งตำรวจปราบจลาจลที่มีมาตรฐานสากล พร้อมอุปกรณ์สำหรับปราบจลาจลครบพร้อม เช่น แก๊สน้ำตา กระสุนยาง โล่ กระบอง

ทุกรัฐบาลต่อจากนั้น ก็ใช้ตำรวจปราบจลาจลทุกครั้งในการสลายม็อบ

แม้แต่ในยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ถูกม็อบพันธมิตรฯ ขับไล่อย่างรุนแรง ก็ใช้ตำรวจปราบจลาจลเข้าแก้ไขสถานการณ์ทุกครั้ง รวมทั้งเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ที่มีคนเสียชีวิตเป็นปริศนา 2 ราย กลายเป็นคดีความยืดเยื้อ ก็เป็นการปราบจลาจลโดยตำรวจที่ไม่มีปืนและระเบิด มีเพียงแก๊สน้ำตาเท่านั้น อันเป็นจุดสำคัญในการใช้ต่อสู้คดีของรัฐบาลสมชาย

แต่มาในปี 2553 ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ ที่แนบแน่นกับกองทัพ ตั้งแต่การก่อกำเนิด

มีการอ้างเหตุผลว่า มีชายชุดดำ มีผู้ก่อการร้าย ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม จึงมีคำสั่งโดย ศอฉ. ให้ใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ และอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ เพื่อป้องกันตัว

“ลงเอยเหตุการณ์นี้ตายไป 99 ศพ ไม่มีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ แม้แต่ศพเดียว”

การที่ไม่ใช้ตำรวจปราบจลาจล หันไปใช้ทหารเข้ามาสลายม็อบ ด้วยข้ออ้างก่อการร้าย แต่ที่ตายมีแต่คนเสื้อแดงผู้ชุมนุม

เครือข่ายอภิสิทธิ์-สุเทพและผู้นำกองทัพขณะนั้น จึงต้องกอดคอกันต่อสู้ข้อกล่าวหาอย่างเหนียวแน่นด้วยกันต่อไป!

การเลือกตั้งต่อจากนั้น เกิดขึ้นในปี 2554 ปรากฏว่า ยิ่งลักษณ์นำพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเหนือนายอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์อย่างถล่มทลาย จากนั้นในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องทวงถามความเป็นธรรมให้กับ 99 ศพ

“หน่วยงานด้านยุติธรรม ทั้งตำรวจและดีเอสไอ จึงเดินหน้าทำคดี 99 ศพ เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง”

แต่ขณะนั้นขบวนการโค่นล้มทักษิณก็เดินเครื่องทันที มียิ่งลักษณ์เป็นเป้าหมาย

จนกระทั่งเกิดกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง จุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดม็อบนกหวีดนำโดยนายสุเทพ และมีนายอภิสิทธิ์กับแกนนำประชาธิปัตย์เข้าร่วมสนับสนุนด้วย

ครั้นเมื่อยิ่งลักษณ์ถอยกรูดด้วยการยุบสภา ประกาศเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

แต่นายสุเทพกับแกนนำนกหวีด ประกาศไม่ยอมรับแนวทางนี้ อ้างว่าการเมืองเลวร้าย ต้องมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

“นั่นก็เท่ากับไม่เลือกแนวทางตามวิถีรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลยุบสภาแล้วไม่ให้มีเลือกตั้ง มีทางเดียวคือการรัฐประหาร แล้วก็เกิดเหตุ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นขั้นเป็นตอน ที่มองทะลุกันได้ไม่ยาก”

การเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็คือ ยังไม่ยอมเลือกตั้ง ทำให้เข้าทางตัน เพื่อเปิดทางให้ทหาร เป็นสูตรสำเร็จที่มองเห็นได้ชัดเจน

จนกระทั่งเรามีรัฐบาลทหาร คสช. เข้ามาปกครองยาวนานจนถึง 4 ปีแล้วในขณะนี้

“โดยที่แกนนำ คสช. ก็คือกลุ่มเดียวกันกับที่กุมอำนาจในกองทัพในปี 2551 ที่มีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารนั่นเอง”

ขณะเดียวกันหลังเหตุการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา บรรดาคดี 99 ศพ ก็มีอันสะดุดและเงียบหายไป

มีการสรุปสำนวนปิดคดีไปหลายราย โดยระบุว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสืบสวนสอบสวนต่อไปได้

ทำให้คนที่เฝ้าติดตามความคืบหน้าของคดี 99 ศพ อดสงสัยไม่ได้ ถึงเครือข่ายสายสัมพันธ์ระหว่าง 2 นักการเมืองกับแกนนำกองทัพ

นับจากปี 2551 ต่อเนื่องถึงเหตุการณ์ 99 ศพ ในปี 2553 และเชื่อมโยงมาถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

เดิมทีก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 นั้น คดี 99 ศพคืบหน้าไปพอสมควร โดยมีการติดตามสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในการตายของแต่ละศพ จนนำไปสู่การทำสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ โดยทยอยนำขึ้นศาลไต่สวน

จนกระทั่งมีจำนวน 17 ศพแล้ว ที่ศาลชี้ผลไต่สวนว่า ผู้เสียชีวิต ตายด้วยกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่ ศอฉ. หรือด้วยกระสุนที่ยิงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ศอฉ.

จากนั้นยังดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อทำสำนวนไต่สวนในศพอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ

“ส่วน 17 ศพ ที่ศาลชี้ผลไต่สวนไปแล้วว่าตายด้วยปืนจากเจ้าหน้าที่หรือที่ยิงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ก็จะต้องทำเป็นสำนวนคดีอาญา เพื่อส่งฟ้องผู้รับผิดชอบ ในข้อหาที่เกี่ยวกับการฆ่าคนตายต่อไป”

แต่แล้วด้วยการพลิกผันทางการเมือง ด้วยการล้มของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ด้วยปฏิบัติการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นำโดยม็อบนกหวีด ที่มีนายสุเทพเป็นแกนนำ มีนายอภิสิทธิ์เข้าร่วม จึงทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง สถานการณ์เข้าสู่ทางตัน ทำให้กองทัพเข้ายึดอำนาจการปกครองในปี 2557

“จากนั้นการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรศพ ของผู้ตายในเหตุการณ์ 99 ศพ ในส่วนที่เหลือ ก็เป็นอันเงียบหายจบสิ้นไป สรุปว่าไม่สามารถสืบสวนสอบสวนต่อไปได้หลายต่อหลายสำนวน”

ขณะเดียวกัน ในส่วนที่ทำเป็นสำนวนอาญา ก็ตกไปจากระบบยุติธรรมอีก

ด้วยการต่อสู้ทางเทคนิคข้อกฎหมายของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในที่สุดศาลอาญาก็มีคำพิพากษาว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา ให้ส่งสำนวนไปให้ ป.ป.ช. ไต่สวน เพื่อนำขึ้นสู่ศาลอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

“จนบัดนี้ก็คดีก็เงียบหายไปจากระบบยุติธรรมไทยในที่สุด”

ในท่ามกลางเกมชิงอำนาจการเมือง ระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจทักษิณ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 ต่อมาได้มีขบวนการเกี่ยวพันกันอีกชุด ที่เข้ามาร่วมผสมโรงในเกมเดียวกันนี้

เห็นได้ชัดจากความสัมพันธ์ในปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2553 และในปี 2557 นั่นเอง

น่าคิดว่าความผูกพันเป็นสายสัมพันธ์นี้ จะต่อเนื่องต่อไปจนถึงช่วงจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่!?