4 ปี 4 มุมมอง ต่อการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช.

4ปีแล้วที่เราอยู่กับ คสช. มา หลายคนมองมีหลายมุมมอง หลายเหตุผล บางคนคิดว่ามีความ “จำเป็น” เป็นสถานการณ์พิเศษ ยังกลับสู่ปกติไม่ได้

แต่ระยะเวลา 4 ปีถือว่าเป็นเวลาไม่น้อย เพราะเท่ากับ 1 กรอบเวลาของรัฐบาลปกติเลยทีเดียว

ระยะเวลาที่ผ่านมาคงพิสูจน์ให้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง

มติชนสุดสัปดาห์ อยากพาไปพบ 4 มุมมองจากบุคคลหลากหลายสถานะในสังคมว่ามอง 4 ปีที่ผ่านมาว่าอย่างไร?

วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่นและผู้ที่โพสต์ถึง คสช. อยู่เป็นประจำ นิยามว่า 4 ปีที่ผ่านมา “เสียของ เสียเวลา เสียโอกาสประเทศ แล้วก็เสียรู้ เสียความรู้สึก เสียใจ”

เสียใจที่ว่าประเทศไทยไม่มีเลยสักครั้งว่าทหารที่ยึดอำนาจบอกว่าจะมาทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เคยพบสักทีหนึ่งในชีวิต ทำไม!? จะต้องเข้ามาทำเพื่อตัวเองตลอดเวลาทุกครั้งเลย แต่เป็นแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน ครั้งต่อไปจะได้เป็นบทเรียน ว่าจากนี้ประเทศไทยจะได้เข้มแข็งและจะได้ก้าวข้ามวงจรนี้

โดยขอให้ดูตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ว่าเขามีวิกฤตทางการเมืองหนักหนาสาหัส เห็นไม่แพ้ประเทศไทย แต่ประชาชนเขายังมีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เชื่อมั่นว่าไม่เป็นไร รัฐบาลมันจะเลวทรามต่ำช้ายังไงมันก็จะอยู่แค่ 4 ปี เดี๋ยวเริ่มใหม่เลือกตั้งก็จะเป็นบทเรียนสำคัญให้เห็น

แต่ที่สำคัญทหารมาเลเซียเขาไม่ได้มายุ่งในเรื่องนี้ เขาเป็นทหารอาชีพ อยากให้ประเทศไทยเอาตัวอย่างมาเลเซียแล้วก็ขอให้การยึดอำนาจรัฐประหารของ คสช. เป็นครั้งสุดท้ายสักทีหนึ่ง

แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายได้หรือไม่? ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศที่เราจะต้องพยายามอดทนและช่วยกันนำพาประเทศก้าวข้ามให้พ้นเสียที กับ “วงจรอุบาทว์” ครั้งนี้ ซึ่งคิดว่าหลายคนได้บทเรียนและมีความผิดหวังที่เรียกเขาเข้ามา

ผมเห็นตลอดในโซเชียลมีเดีย คนที่ผิดหวังมีมามากมาย จะมีก็แค่เพียงคนที่อยากยื้อให้อยู่ต่อไปเพราะว่ามีผลประโยชน์ด้วยกันอยู่ เราก็คงพอมองเห็นว่าเป็นกลุ่มก้อนการเมืองกลุ่มไหนที่ต้องการแบบนี้

ซึ่งอนาคตอาจต้องการจะยกเลิกมรดกของ คสช. เช่น ยุทธศาสตร์หรือกรอบต่างๆ ที่ คสช. ได้วางไว้ มันไม่ใช่เรื่องง่าย และคิดว่าช่องทางปกติคงไม่สามารถทำได้ ก็ต้องดูกันต่อไป

สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า 4 ปีที่ผ่านมาก็เห็นอยู่ว่า คสช. พยายามจะทำให้ประชาชนได้เกิดความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถที่จะเป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพได้

แต่ว่า 4 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงพอมองเห็น เขาทำได้สำเร็จ 1 เรื่อง คือการรักษาความสงบ บ้านเมืองอาจจะไม่มีการเดินขบวน แต่ในขณะเดียวกันผมว่าเรื่องเศรษฐกิจคงไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาวเกษตรกรทั้งหลายเพราะผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างมาก

และประเด็นของการรักษาความสงบมีความล้ำเส้น เลยดูเหมือนกับว่า ไปกดสิทธิเสรีภาพทำให้คนมีความรู้สึกว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่เคารพเสียงของประชาชนและสิทธิมนุษยชน จนทำให้คนเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า การเมืองมันกลายเป็นของผูกขาดสำหรับคนเพียงกลุ่มเดียวหรือ?

ซึ่งวันนี้แม้เราจะมีสภา มีแม่น้ำ 5 สาย แต่คำถามคือเป็นคนกลุ่มเดียวเท่านั้นหรือ?

อันนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ ระบบวันนี้ที่ คสช. สร้างวางขึ้นมาที่ทำอยู่ ควรจะเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องถาวร เพราะบ้านเมืองเราประชาชนก้าวเกินมาไกลกว่าที่จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หรือวิธีการอย่างที่ว่ามา ถ้าให้ผมพูดก็พูดได้เพียงว่า 4 ปีที่ผ่านมา

“ผมไม่เรียกร้องให้อยู่ต่อ”

อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธาน สปท. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย มองว่า 4 ปีที่ผ่านมา หากมองในมุมพรรคการเมืองและจากมุมประชาชน ผมคิดว่าต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ประชาชนได้เรียนรู้จากนักการเมืองในระบบเก่า และประสบการณ์รัฐบาลทหาร จากการที่ได้เรียนรู้อย่างนี้ ก็จะนำบทเรียนทั้งหมดที่ได้ ไปใช้ตัดสินใจ ประกอบกับการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเองก็จะได้เรียนรู้บทเรียนราคาแพงมากคือการที่สูญเสียประชาธิปไตย เพราะยามที่ประชาธิปไตยอยู่ในอ้อมกอดของตัวเองก็ไม่สามารถที่จะรักษาไว้ได้

เป็นบทเรียนว่าทำอย่างไรไม่ให้วันข้างหน้าต้องมาตกอยู่ในสภาพอย่างนี้อีก

จะทำอย่างไรที่จะยึดมั่นในระบบรัฐสภาอย่างแท้จริง และใช้สภาเป็นศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหา โดยให้ระบบการเลือกตั้งเป็นตัวกำหนดอนาคตทางการเมืองของรัฐบาลและแต่ละพรรคการเมือง

ไม่มีใครอยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เรามีรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง เป็นวงจรอุบาทว์

พรรคการเมืองที่จะไปขอสิทธิในการปกครองประเทศจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ควรที่จะต้องปฏิรูปปรับปรุงตัวเองเพื่อประชาชน ต้องรู้ถึงคุณค่าของคะแนนแต่ละคะแนนที่เขาเลือกมา อยากให้เลือกคนดีมีความรู้ ซื่อสัตย์สุจริตและสามารถเป็นอนาคตให้กับประเทศได้

เหตุที่พรรคการเมืองจะต้องปฏิรูปตัวเองเพราะว่าในอดีตปัญหาคอร์รัปชั่นทางการเมืองมีอยู่มากเหลือเกิน ปัญหาระบบอุปถัมภ์ระหว่างนายทุนกับพรรคการเมืองทำให้พรรคการเมืองไม่เป็นอิสระ ไม่ยึดกับประโยชน์ส่วนรวมเป็นส่วนใหญ่เพราะว่าต้องรับทุนมาใช้ในการเลือกตั้ง

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเก่าแก่ เหมือนโคลนติดล้อมายาวนาน

ถึงคราวที่จะต้องปฏิรูปตัวเองเสียใหม่ สร้างความเป็นสถาบันทางการเมือง สร้างพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงให้ได้

ซึ่งผมเชื่อว่าประชาชนตื่นรู้มากกว่าในอดีต แล้วก็ทุกคนมองอนาคตไปข้างหน้าโดยไม่ต้องการให้อดีตซ้ำรอยอีก และอย่าให้ปัญหาที่เป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดการรัฐประหารย้อนกลับมาได้อีก เมื่อถึงคราวเลือกตั้งครั้งหน้า ก็หวังว่าจะรักษาประชาธิปไตยไว้ให้ได้ รัฐประหารที่ผ่านมาอยากให้เป็นครั้งสุดท้าย

สิ่งที่เหล่านี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมือง “ไม่สร้างเงื่อนไข” ในการก่อให้เกิดรัฐประหาร

สุดท้ายคือมุมมองของ Black ผู้จัดงานพังก์การเมือง จะสี่ปีแล้วนะไอ้*** ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สร้างปรากฏการณ์เขย่าสังคมไม่น้อย

“เป็นสี่ปีที่อึดอัด เป็นสี่ปีที่เราทำอะไรไม่ได้เลย ประชาชนไม่สามารถพูดอะไรหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้ ผมมองว่าส่วนหนึ่งไม่ใช่เพราะทหาร แต่ผมมองว่าเป็นเพราะ “ความกลัว” ที่ (แม่ง) ไม่กล้าพูด ไม่กล้าด่า การวิจารณ์ผู้นำ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปกลัว ข้าราชการการเมือง รัฐมนตรี ควรจะทำงานให้ประชาชน เราจ่ายภาษี เราเจ้าของประเทศ อะไรไม่เวิร์กควรด่าได้”

“ในความเห็นผม จึงเป็น 4 ปีที่มีแต่ความอึดอัดที่คนไทยไม่กล้าพูดอะไร และต่อให้ไม่ใช่รัฐบาลของ พล.อประยุทธ์ ผมก็ยืนยันว่าจะออกมาคัดค้านทุกรัฐบาล ทุกวงที่เล่นกันก็ค้าน ความเป็นพังก์คือการต่อต้านรัฐในตัวของมันเอง ความห่วย ไร้ระเบียบ เราเลยต้องจัดงานใช้ความเป็นพังก์เข้าไปพูด ไม่ว่ารัฐบาบาลไหนด่าได้หมด”

“อยากจะบอกว่าเราไม่ได้เป็นความหวังของใคร เวลาเราเห็นในคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดียที่เขียนว่า “เราคือความหวัง” เราไม่ใช่ ไม่ต้องหวัง เราแค่ทำของเรา จัดงานของเราในแบบของเรา เล่นในแบบของเรา หากคุณอยากเปลี่ยนอนาคต อยากให้ประเทศมีความหวัง คุณต้องลุกขึ้นมาทำ อย่ามาฝากความหวังไว้ที่เรา ถ้าถามเป็นแรงขับเคลื่อนได้ไหม ถ้ามันจะเคลื่อนก็เคลื่อน แต่เราอยากพูดจะด่าในแบบของเรา เราไม่ใช่ความหวังของใครทั้งสิ้น ตราบใดถ้าพวกคุณไม่ลุกขึ้นมาทำ”

ทั้งหมดนี้คือนิยามของ 4 คน 4 สถานะ 4 มุมมองที่มีต่อ คสช. ที่อยู่มานานถึง 4 ปี อาจจะเป็นภาพแทนต่างกัน ในคำถามเดียวกัน ไม่ว่า 4 ปีของแต่ละคนจะมีนิยามว่าอย่างไร แม้ไม่รู้ว่าเลือกตั้งจะมีหรือไม่ แล้วถ้ามี มีเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยถึงวันนี้ เราคงได้เห็นภาพอะไรในการเมืองไทยแล้ว

คงไม่ต้องอธิบาย…