คุยกับทูต ‘คีริลล์ บาร์สกี้’ รัสเซียกับจีน ความสัมพันธ์สองมหาอำนาจ

คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ รัสเซียกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน (4)

ปัจจุบัน ผู้นำจีน-รัสเซีย เดินหน้ากระชับสัมพันธ์สองประเทศ ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการทูต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจใหม่คู่นี้ที่แนบแน่นลึกซึ้งกว่าเดิม และยอมรับผลประโยชน์หลักของกันและกัน

สัปดาห์นี้ นายคีริลล์ บาร์สกี้ (H.E.Mr.Kirill Barsky) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เล่าถึงความคืบหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียในขณะที่ต้องประสบกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับประเทศตะวันตก

“ความสัมพันธ์ของเรากับจีน ในฐานะหุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์ที่เชื่อถือได้ มีการพัฒนาในระดับสูง และกำลังอยู่ในช่วงที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์”

หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้สร้างความไว้วางใจต่อกันทั้งด้านการเมืองและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ซึ่งในอนาคตจะขยายความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกมาก

“ระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายนนี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซียจะไปเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง (Xi Jinping) ของจีน เกี่ยวกับความร่วมมือในด้านความมั่นคง การค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม การศึกษา วัฒนธรรม และการประสานงานด้านนโยบายต่างประเทศ”

“หลังการหารือทวิภาคี ประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีสี จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO Summit) ในเมืองชิงเต่า (Qingdao) ทางตอนใต้ของมณฑลซานตง (Shandong Sheng) สถานที่ซึ่งผู้นำทั้งสองจะได้พบกับผู้นำของประเทศสมาชิกอื่นๆ จากอินเดีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ปากีสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน”

การประชุมผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ประจำปี ค.ศ.2018 จัดขึ้นที่เมืองชิงเต่าในเดือนมิถุนายน ผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้รวม 8 ประเทศ คือ รัสเซีย จีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน อินเดีย และปากีสถาน

รวมทั้งประเทศผู้สังเกตการณ์ 4 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน เบลารุส อิหร่าน และมองโกเลีย ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จะพร้อมหน้ากันที่เมืองชิงเต่า นับเป็นครั้งที่ 2 ที่การประชุมดังกล่าวจัดที่จีน ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของการประชุม

ซึ่งประเทศต่างๆ พากันจับตาดูว่าการประชุมครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อโลกที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง

“กรุงมอสโกและกรุงปักกิ่งต่างเห็นพ้องต้องกันถึงประเด็นสำคัญทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ล่าสุดเมื่อวันที่ 23-24 เมษายนที่ผ่านมา นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Mr. Sergey Lavrov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ได้ไปเยือนจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายหวัง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน เกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลี ซีเรีย อัฟกานิสถาน รวมทั้งข้อตกลงพหุภาคีเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน เป็นต้น การเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังกล่าวยืนยันว่า การเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศจีนและรัสเซียเป็นหลักยึดความมั่นคงของโลกที่กำลังปั่นป่วนอยู่ในเวลานี้”

“นอกจากนี้ รัสเซียกับจีนได้สร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือระดับทวิภาคีที่มีประสิทธิภาพอันขึ้นอยู่กับกลไกของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลที่มีกรอบความสนใจร่วมกัน จากการค้าและการลงทุน ไปสู่ความร่วมมือทางเทคนิคและการทหาร การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชนที่กำลังเพิ่มมากขึ้น เกิดวัฒนธรรมไร้พรมแดนระหว่างวัฒนธรรมรัสเซียและจีน ส่วนความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศได้ก้าวขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปีที่เดินทางไปเยือนรัสเซีย”

จะเห็นได้ว่า นโยบายเปิดกว้างของจีนและนโยบายมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย ทำให้ทั้งสองประเทศได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในทุกมิติมากขึ้นกว่าเดิม

ท่านทูตคีริลล์กล่าวว่า

“ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีนยุคใหม่ปรากฏขึ้นจริงในสายตาของเรา ความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันในทุกด้าน ตั้งแต่ความมั่นคง พลังงาน การเปิดเสรีทางการค้า และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ฯลฯ สอดคล้องกับผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศอื่นๆ มีความไม่แน่นอน ทำให้ความร่วมมือของรัสเซียกับจีนไม่เพียงแต่เป็นที่น่ายินดีและพึงพอใจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างขาดมิได้”

ต่อคำถามที่ว่า รัสเซียจะสนับสนุนแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 “1 แถบ 1 เส้นทาง” (One Belt, One Road Initiative – OBOR) ของจีนอย่างไร ท่านทูตคีริลล์ให้คำตอบว่า

“เนื่องจากยูเรเซีย (Eurasia) และการบูรณาการโลกเข้าด้วยกันเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความสำคัญของยูเรเซีย คือการเปิดเสรีการค้าและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการคมนาคมขนส่ง ด้วยเหตุนี้โครงการ “1แถบ 1 เส้นทาง” (OBOR) ของจีนจึงตรงกับวัตถุประสงค์ที่สุด”

ยูเรเซีย (Eurasia) เป็นมหาทวีปที่รวมเอาทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียเข้าด้วยกัน โดยเส้นแบ่งของทวีปยุโรปกับเอเชียคือเทือกเขายูราล (the Urals) ทวีปยูเรเซียในปัจจุบันเรามักจะเรียกว่า ทวีปยุโรป และทวีปเอเชีย มากกว่าที่จะเรียกว่า ยูเรเซีย

“รัสเซียกำลังดำเนินการประสานกันอย่างใกล้ชิดกับ “1 แถบ 1 เส้นทาง” (OBOR) ของจีนด้วยโครงการการรวมกลุ่มยูเรเซียของเราซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย”

สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU หรือ EEU) มี 4 ชาติสมาชิกก่อตั้ง คือ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส และอาร์เมเนีย

สหภาพได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2015 และคีร์กีซสถานได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ปัจจุบัน จึงมีสมาชิกทั้งหมด 5 ประเทศคือ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย

สหภาพนี้ได้สร้างตลาดเศรษฐกิจเดียวที่มีขนาดประชากรกว่า 180 ล้านคน และผลิตภัณฑ์มวลรวม 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัสเซียคาดหวังว่า สหภาพจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และเป็นตลาดหลักของภูมิภาคที่จะเติบโตจากยุโรปไปยังเอเชีย เหนือสิ่งอื่นใด สหภาพจะเป็นเครื่องมือไว้ต่อกรกับชาติตะวันตก

ส่วนโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ “1แถบ 1 เส้นทาง” (OBOR) ประกอบด้วย

– เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt : SREB) เป็นการเชื่อมโยงประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเส้นทางสายไหมเดิม (อินเดีย เปอร์เซีย ทวีปยุโรปและคาบสมุทรอาหรับ) ผ่านเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก เอเชียใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งข้อริเริ่มดังกล่าวเป็นการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการขยายการค้าในระดับภูมิภาค

– เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Route Economic Belt) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ รวมถึงด้านการลงทุน ระหว่างจีนกับประเทศในแถบภูมิภาคมหาสมุทร ได้แก่ อาเซียน โอเชียเนีย แอฟริกาเหนือ แปซิฟิก รวมถึงมหาสมุทรอินเดีย

โครงการ OBOR ยังรวมถึงการพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมโยงระหว่างประเทศและเส้นทางเพิ่มเติมที่จะเชื่อมต่อกับ 2 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญ

เป้าหมายสำคัญของ OBOR คือ เพื่อความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ใน OBOR และนโยบายสนับสนุนเพื่อความร่วมมือดังกล่าวและโครงการขนาดใหญ่ การเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภค (Facilities Connectivity) และรวมถึงการปรับปรุงการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างระเบียงการคมนาคมระหว่างประเทศ

จุดสำคัญของโครงการ คือการยกเลิกสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการค้า การลงทุน และการก่อตั้งเขตการค้าเสรี

“สําหรับข้อตกลงทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ได้บทสรุปและจะมีการลงนามในไม่ช้านี้ กระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซียและกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้เปิดตัวศึกษาความเป็นไปได้เพื่อเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของยูเรเชีย ในการค้าทวิภาคีกับจีน สมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ได้เปลี่ยนจากการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นสกุลเงินประจำชาติ” ท่านทูตรัสเซียชี้แจง

“ในขณะนี้ เรากำลังทำงานร่วมกับเพื่อนชาวจีนของเราในโครงการสาธารณูปโภคขนานใหญ่ แต่ละโครงการมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น โครงการด้านพลังงาน โครงการเชื่อมเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงมอสโก-ปักกิ่งถนนเชื่อมจีนกับยุโรป โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติความยาวเกือบ 4,000 กิโลเมตรในเขตไซบีเรียทางภาคตะวันออกของรัสเซีย มูลค่ารวมของโครงการสูงกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”

โครงการ “1 แถบ 1 เส้นทาง” (OBOR) มีความเชื่อมโยงกับโลก 5 ด้าน ได้แก่

ด้านที่หนึ่ง – เชื่อมโยงนโยบาย แต่ละประเทศมียุทธศาสตร์การพัฒนาของตัวเอง จีนจึงมีนโยบายที่สร้างความเชื่อมโยงในระดับนโยบายของรัฐ

ด้านที่สอง – สาธารณูปโภค เน้นไปที่ความเชื่อมโยง (Connectivity) ของโครงสร้างสาธารณูปโภค เช่น ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รวมไปถึงความเชื่อมโยงในทุกช่องทางทั้งทางอากาศ ทางน้ำ

ด้านที่สาม – ความเชื่อมโยงด้านไอที และโลจิสติกส์

ด้านที่สี่ – ความเชื่อมโยงทางการค้าซึ่งจีนได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ เช่น กลุ่มอาเซียน รวมไปถึงข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี และ

ด้านที่ห้า – ความเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่คนจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งจะทำให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เป็นรากฐานสำคัญของความเชื่อมโยงใน 5 ด้าน

หลักการพื้นฐานเรื่องการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ในการลงทุนพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างจีนกับยุโรปเพื่อเชื่อมต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียกลางและใต้ ยุโรป และแอฟริกานั้น

ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนใช้เดินเกมเพื่อขยายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกของตนให้เป็นที่ยอมรับของทั่วโลกได้อย่างชอบธรรมภายใต้วิสัยทัศน์เรื่อง “1 แถบ 1 เส้นทาง” (OBOR)

นอกจากนี้ จีนกับรัสเซียยังมีความร่วมมือในด้านอวกาศ และพลังงานนิวเคลียร์อีกด้วย เนื่องจากจีนเป็นตลาดสินค้าที่ใหญ่ และเป็นแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี ตลอดจนปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่รัสเซียมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรแร่ธาตุ ซึ่งก็ต้องการเงินทุน เทคโนโลยี และปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ความร่วมมือของรัสเซียกับจีน จึงเป็นความร่วมมือที่ลงตัวที่สุดตามแนวคิดของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อันเป็นการตอกย้ำสายสัมพันธ์สุดแน่นแฟ้นระหว่างมอสโกและปักกิ่ง

“รัสเซียจึงมั่นใจว่า การดำเนินงาน “1 แถบ 1 เส้นทาง” (One Belt, One Road Initiative – OBOR) ร่วมกับการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจยูเรเซีย (EEC) จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศทั้งในเอเชียและยุโรปอย่างแน่นอนที่สุด”