สุรชาติ บำรุงสุข : โลกกับรัฐประหารไทย จากวันวานสู่วันนี้ของ คสช.

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“รัฐประหารคือจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”
Paul Brooker
Non-Democratic Regime (2000)

ความสำเร็จของการรัฐประหารกันยายน 2549 และพฤษภาคม 2557 เป็นตัวอย่างอันดีที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบอบการเมืองไทย ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วประชาธิปไตยตัวแทนของไทยที่แม้จะต้องเข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในได้ และต้องยืมเอาวิธีการเก่า ที่อาศัยให้ทหารเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แทนการเปลี่ยนแปลงภายในระบบที่อาศัยกระบวนการเมืองแบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือตัดสินชี้ขาดในการได้อำนาจรัฐ

ดังนั้น รัฐประหารจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นนำและผู้นำทหารที่ถูกใช้ในการแก้ปัญหาทางการเมืองมาโดยตลอด

รัฐประหารกับโลกในอดีต

ในยุคที่สถานการณ์สงครามเย็นขึ้นสู่กระแสสูง คือ รัฐไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอก สถานการณ์สงครามคอมมิวนิสต์จึงกลายเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างดีต่อการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยมของทหาร และในสถานการณ์เช่นนี้โลกาภิวัตน์ในเวทีโลกรอบรัฐไทยก็อยู่ในกระแสที่เอื้อให้ทหารมีบทบาทในทางการเมือง อีกทั้งรัฐมหาอำนาจตะวันตกมีทิศทางสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยมในการเป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ พร้อมๆ กับสภาพแวดล้อมทางการเมืองภายในของรัฐ ก็อยู่ในเงื่อนไขที่ทหารเป็นฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า

ดังนั้น หากกล่าวเป็นข้อสังเกตของการเมืองในสภาวะเช่นนี้ก็คือ การเมืองไทยอยู่ในเงื่อนที่ “ทหารเป็นใหญ่” (หรือที่เรียกว่า military supremacy) โดยมีภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นเงื่อนไขของการสร้างความชอบธรรมและทั้งยังมีความเชื่ออีกด้วยว่าผู้นำทหารเป็นนักชาตินิยมที่จะต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าผู้นำพลเรือนหรืออีกนัยหนึ่งในทัศนะของรัฐมหาอำนาจภายนอกก็คือระบอบการปกครองแบบพลเรือนอ่อนแอเกินไปที่จะใช้ต่อสู้กับภัยคุกคามด้านความมั่นคงเช่นที่กล่าวแล้ว
การเมืองไทยและการเมืองในประเทศโลกที่สามจึงเดินไปในทิศทางของการจัดตั้งระบอบอำนาจนิยม
แต่หลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็นในเวทีโลก และการยุติของสงครามคอมมิวนิสต์ภายในของไทย บทบาทของทหารกับการเมืองก็เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง
แต่หากพิจารณาในภาพรวมหรือการเมืองในเวทีโลกแล้ว จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของทหารกับการเมืองได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ก่อนที่สงครามเย็นจะยุติเสียอีก


ในด้านหนึ่งเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังสงครามเวียดนาม
ฝ่ายบริหารของสหรัฐไม่สามารถแสดงบทบาทในการเป็นผู้ให้ความสนับสนุนต่อรัฐบาลทหารได้มากเช่นในอดีตประกอบกับการตรวจสอบถึงบทบาทของทำเนียบขาวในการเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารได้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและขณะเดียวกันขบวนการต่อต้านสงครามก็มีส่วนในการต่อต้านการสนับสนุนรัฐประหารของรัฐบาลอเมริกันอีกด้วย

ดังนั้น การสิ้นสุดของสงครามเวียดนามจึงเท่ากับทำให้รัฐบาลทหารในประเทศโลกที่สามที่สหรัฐเคยให้ความสนับสนุนในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์จึงต้องลดระดับลง

ประกอบกับการขึ้นสู่อำนาจในทำเนียบขาวของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ที่นำเสนอถึงนโยบายสิทธิมนุษยชนเป็นธงนำ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในเวลาต่อมา ที่ถือเอาประเด็นด้าน “สิทธิมนุษยชน” เป็นมาตรฐานใหม่แทนการ “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” เช่นในอดีต รัฐบาลอำนาจนิยมที่ใช้การต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐจึงประสบปัญหาในตัวเองอย่างมาก

การชูนโยบายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐนับจากปี 2519 มีผลโดยตรงต่อรัฐบาลทหารในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกรณีของประเทศในละตินอเมริกา รวมทั้งกระทบต่อรัฐเผด็จการพลเรือนไทยหลังปี 2519 ด้วย

ฉะนั้น แม้นว่าสงครามเย็นจะหวนคืนในปี 2522 ที่ต้นปีเริ่มต้นด้วยการยึดครองกัมพูชาของกองทัพเวียดนาม และมีเหตุการณ์ปลายปีด้วยการยึดอัฟกานิสถานของกองทัพโซเวียต แต่ทิศทางของนโยบายนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย

แต่สถานการณ์เช่นนี้กลับส่งผลต่อบทบาทของทหารกับการเมืองที่แตกต่างจากสงครามเย็นในช่วงแรก
เพราะในช่วงหลังจากปี 2493 และในช่วงต้นปี 2503 เป็นต้นมา สงครามเย็นเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนให้กองทัพของประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ มีบทบาททางการเมืองอย่างมาก จนเป็นคำกล่าวกันว่า บทบาทของทหารในการแทรกแซงทางการเมืองเป็น “กฎ” มากกว่าเป็น “ข้อยกเว้น” ในวิชารัฐศาสตร์ ในระยะเวลาเช่นนี้การเมืองของพลเรือนจึงเป็นสิ่งที่เปราะบางและดำรงอยู่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ
หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนากลายเป็น “ข้อยกเว้น” มากกว่าเป็น “กฎ” และประเทศไทยเองก็อยู่ภายใต้แนวโน้มเช่นว่านี้ไม่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีปรากฏการณ์รัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลทหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

กระแสโลกกับการถอนตัวของทหาร

แต่เมื่อกระแสโลกของยุคปลายสงครามเย็นพัดปกคลุมทั่วโลก กองทัพในภาพรวมของการเมืองโลก กลับอยู่ในภาวะของการถอนตัวออกจากการเมือง
ทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้
เพราะนับแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ทหารที่เคยมีบทบาทอย่างเข้มแข็งในการเมืองของอเมริกาใต้ ก็ค่อยๆ ลดบทบาทลง
โดยเฉพาะในประเทศหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นบราซิล ชิลี อาร์เจนตินา และเปรู เป็นต้น
จนนำไปสร้างทฤษฎีเรื่องการถอนตัวของทหารจากการเมืองเพื่อรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การเมืองใหม่ ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากขึ้น และขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในเรื่องของ “การควบคุมโดยพลเรือน” (civilian control) ต่อกองทัพ
การมีอำนาจทางการเมืองของทหารไทยก็เป็นเช่นเดียวกับแนวโน้มความเป็นไปของการเมืองโลก กองทัพไม่ได้มีอำนาจเต็มรูปเช่นในอดีต สภาวะทางการเมืองของไทยจึงมีลักษณะคล้ายกับในหลายประเทศ ที่มีระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นแนวโน้มหลัก


พร้อมๆ กับการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนกลายเป็นความฝันครั้งใหญ่ของนักประชาธิปไตยที่เชื่อว่าโลกกำลังเดินทางเข้าสู่ยุคของ “การปฏิวัติประชาธิปไตย” อีกครั้ง
หรือที่นักวิชาการเรียกว่า “ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม” (The Third Wave of Democracy) ในเวทีโลก
แม้ระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ของไทยอาจจะล้มเหลว เมื่อต้องประสบกับการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2534 (รัฐประหารของ รสช.)
แต่อำนาจของฝ่ายทหารก็ไม่เป็นไปในแบบเดิม และอยู่ในอำนาจได้ในระยะเวลาไม่นานนัก จนเมื่อต้องเผชิญกับการต่อต้านของฝ่ายประชาธิปไตยในปี 2535 อำนาจของคณะทหารชุดนี้ก็เป็นอันสิ้นสุดลง
และเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดยุคของทหารกับการแทรกแซงทางการเมืองในแบบเดิม
อันทำให้เกิดความเชื่อแบบหยาบๆ กับผู้คนเป็นจำนวนมากกว่า การยึดอำนาจของทหารน่าจะสิ้นสุดลงแล้วในการเมืองไทย ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ไม่มีพื้นฐานใดๆ รองรับ เป็นแต่เพียงความหวังและความฝันเท่านั้น

กระแสโลก-กระแสประชาธิปไตย

วิกฤตการณ์การเมืองไทยในปี 2535 อยู่ในสภาพที่ความเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งไม่มีภัยคุกคามหลักทางทหารที่ชัดเจน เช่น สงครามคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและภายนอก โลกจึงอยู่ในภาวะที่ไม่มีภัยคุกคามทางทหารแบบเก่า
ดังนั้น ผลกระทบก็คือ การดำรงอยู่ของบทบาททหารในเวทีการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ไม่สอดรับกับกระแสโลกเป็นอย่างยิ่ง
เพราะกระแสโลกเป็น “กระแสประชาธิปไตย”
และขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้สึกว่าประเทศยังคงต้องอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือของการค้ำประกันด้านการเมืองและด้านความมั่นคง
หรือกล่าวในอีกด้านหนึ่งก็คือ โลกที่ไร้ภัยคุกคามหลักในทางทหารนั้นไม่จำเป็นต้องให้ทหารเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงของประเทศเช่นในอดีต กองทัพในยุคหลังสงครามเย็นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับบทบาทและหลักนิยมใหม่ ที่ไม่ยึดโยงอยู่กับสงครามคอมมิวนิสต์ในอดีต
การเมืองไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ของยุคหลังสงครามเย็น จึงอยู่ในตัวแบบของการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น
และมีความคาดหวังว่า การเมืองไทยจะสร้างประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพให้เกิดขึ้นได้ โดยผ่านกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยหลังวิกฤตการณ์ปี 2535… ความฝันครั้งใหญ่ของนักประชาธิปไตยไทย


นอกจากนี้ แนวโน้มของการเมืองโลกที่โลกาภิวัตน์ได้นำเอากระแสของ “การเมืองแบบการเลือกตั้ง” พร้อมกับแนวคิดในเรื่อง “พลเรือนเป็นใหญ่” (civilian supremacy) ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเข้ามาสู่ประเทศต่างๆ
ฉะนั้น การจะหันทิศทางของการเมืองไทยกลับไปสู่โลกในอดีตของยุคสงครามเย็น ด้วยความเชื่อมั่นแบบเก่าๆ ว่า “รัฐประหารแก้ปัญหาการเมืองไทยได้” จึงเป็นประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2535 เป็นต้นมา
กองทัพเองก็ลดบทบาททางการเมืองของตนลงไปอย่างมาก ตลอดรวมถึงการแสดงออกให้เห็นถึงการยอมรับ “การนำ” ของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น
และที่สำคัญก็คือ ทุกฝ่ายยอมรับว่าโลกาภิวัตน์เป็นกระแสที่ไม่สนับสนุนต่อการรัฐประหาร หรือการมีอำนาจของทหารในการเมืองก็ตามที และจะส่งผลให้ประเทศที่อยู่ในเงื่อนไขการเมืองดังกล่าวถูกกดดันทางการเมือง หรือถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ได้รับการยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศ
ดังจะเห็นได้ว่า เมียนมาหลังรัฐประหาร 2531 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ รัฐบาลทหารถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้าหลังของการพัฒนาทางการเมืองและสังคมของพม่า
และรัฐบาลเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ และนำไปสู่การถูกแซงก์ชั่นจากโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม แม้โลกาภิวัตน์จะเป็นปัจจัยที่ไม่เอื้อให้ทหารมีอำนาจทางการเมืองเช่นยุคสงครามเย็น แต่ก็มิได้หมายความว่า รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพราะอย่างไรเสีย ปัจจัยภายนอกที่ไม่เข้มแข็ง จนกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดต่อความเป็นไปของการเมืองภายในทั้งหมด
หรืออาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า โลกาภิวัตน์ก็อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการหยุดยั้งการยึดอำนาจของทหารไทย ดังตัวอย่างของความสำเร็จของรัฐประหารกันยายน 2549 และพฤษภาคม 2557

กระแสโลกปัจจุบัน

ในอีกด้านหนึ่ง กระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันเองก็อาจจะอ่อนแรงลงด้วยจากปัจจัยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของโลกตะวันตก ที่การก่อตัวของกระแสขวาในชุดความคิดแบบ “ประชานิยมปีกขวา” ทำให้รัฐบาลวอชิงตันที่เคยเป็นผู้นำของกระแสเสรีนิยมและต่อต้านเสนานิยม กลับมีท่าทีที่วางเฉยและ/หรือไม่กลายเป็นปัจจัยกดดันการรัฐประหารเช่นที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2557 แต่อย่างใด
และกลับกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำรัฐบาลทหารไทยสามารถเดินทางเยือนสหรัฐได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดไปจากกรอบทางการเมืองของอเมริกันในอดีต
จากยุคหลังสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน กระแสโลกอาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สภาวะเช่นนี้ให้คำตอบประการสำคัญว่า แม้กระแสโลกาภิวัตน์อาจจะไม่ใช่ลมที่พัดแรงในแบบที่นักประชาธิปไตยไทยเคยคาดหวังไว้
แต่ก็ใช่ว่าทิศทางลมของกระแสนี้จะสิ้นแรงไปพร้อมกับการมาของประชานิยมปีกขวา
และว่าที่จริงแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่ากระแสลมประชาธิปไตยยังคงพัดต่อเนื่อง แม้ลมอาจจะอ่อนแรงลงบ้าง แต่ก็ใช่ว่าลมนี้จะหยุดพัดแล้วจนรัฐบาลทหารไทยปัจจุบันจะยืน “เชิดหน้าชูตา” ในเวทีสากลได้เช่นในยุคสงครามเย็นแต่อย่างใด

การไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐบาลที่มีเกียรติภูมิและความชอบธรรมยังเป็น “ชนักการเมือง” ที่สำคัญในเวทีโลก และการใกล้ชิดกับปักกิ่งหรือการเยือนวอชิงตันก็ไม่อาจช่วยได้ ปัจจัยที่จะช่วยได้
มีแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น คือการถอนตัวของทหารจากการเมืองและพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย!