ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช (3) : “มีคน 2 คนติดอยู่บนเกาะ มีการเมืองหรือไม่?”

ตอนที่แล้วเป็นตอน “พบพานผ่าน “รัฐประหาร”” ที่ผู้เขียนได้เดินเข้าไปหาอาจารย์ชัยอนันต์เป็นครั้งแรก ด้วยความที่อยากเข้าใกล้ “ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช” แต่ไม่รู้จะหาเรื่องอะไรไปทำความรู้จักกับท่าน ผมเลยใช้วิธีการเข้าไปถามศัพท์แสงทางรัฐศาสตร์ และคำคำนั้นคือ “coup d’etat”

ซึ่งท่านก็ตอบมาว่า “รัฐประหาร”

แต่ที่ทำให้ผมกังวลคือ ในวันต่อมา ซึ่งเป็นวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ได้เกิดรัฐประหารขึ้น มันเป็นความบังเอิญจริงๆ ที่ผมไปถามศัพท์คำนั้นกับท่าน แล้ววันต่อมาเกิดรัฐประหาร

แต่สรุปความได้ว่า ครั้งแรกที่ผมได้ “พูด” หรือ “เริ่มรู้จัก” ท่านก็โดยผ่านคำว่ารัฐประหาร

และก็มีรัฐประหารเกิดขึ้นจริงๆ ตามมาทันที

 

ผมไม่รู้ว่า ในวันที่ 20 ตุลาคม ที่มีการทำรัฐประหารนั้น ท่านจะจำได้หรือไม่ว่า เมื่อวานเพิ่งมีนิสิตชายคนหนึ่งมาถามท่านว่า “coup d’etat” แปลว่าอะไร?

คิดว่าท่านคงไม่ได้ใส่ใจอะไรหรืออาจจะลืมไป ซึ่งจนบัดนี้ ผมยังไม่ได้มีโอกาสถามท่านเลย!

อันที่จริง ในเวลาต่อมา ผมกับท่านก็พัวพันผ่านเรื่องรัฐประหารอีก!

ในปี พ.ศ.2520 การรับรู้ของผมเกี่ยวกับอาจารย์ชัยอนันต์ นอกจากจะมีความทึ่งประทับใจกับชื่อเสียงและผลงานหนังสือตำรับตำรามากมายของท่านแล้ว

ก็ยังมีกิตติศัพท์ที่ท่านได้ชื่อว่ามีความคิดทางการเมืองที่สลับซับซ้อนลึกซึ้งยิ่งนัก

ถ้าจะเทียบก็คงต้องเทียบขงเบ้งอะไรประมาณนี้

จำได้ว่า ตอนที่ต้องทำข้อสอบวิชาหลักรัฐศาสตร์ในส่วนที่ท่านสอน (วิชานี้มีท่านศาสตราจารย์จรูญ สุภาพ สอนในช่วงแรก)

ก็บังเกิดความมึนงงกับข้อสอบที่ถามในทำนองที่ว่า “คน 2 คนติดอยู่บนเกาะ มีการเมืองหรือไม่ เพราะอะไร?”

 

ผมนั่งคิดอยู่นานมากกับข้อสอบข้อนี้ เพราะสำหรับนิสิตปีหนึ่งธรรมดาๆ อย่างผม เวลาคิดถึงการเมือง ก็มักจะคิดถึงการเลือกตั้ง การประชุมสภา รัฐบาลบริหารราชการ ซึ่งเป็นเรื่องของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ส.ส. คณะรัฐบาล

เมื่อเจอคำถามว่า หากมีคน 2 คนติดอยู่บนเกาะ บนเกาะนั้นจะมีการเมืองหรือไม่? จึงออกอาการไปไม่เป็น ใบ้รับประทาน

คิดทบทวนถึงหนังสือและสมุดจดคำบรรยายที่อ่านเตรียมสอบมา ก็นึกถึงนิยามของคำว่าการเมืองของนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่ชื่อ เดวิด อีสตัน (David Easton) ซึ่งได้นิยามการเมืองไว้ในทำนองที่ว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมด้วยอำนาจอันชอบธรรม

นิยามนี้ก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่า การจัดสรรที่ว่านี้เป็นเรื่องของคนกี่คนขึ้นไป!

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้ามีคนคนเดียวอยู่บนเกาะ จะมีการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าหรือเปล่า?

คำตอบที่ผมได้ในขณะที่นั่งอยู่ในห้องสอบก็คือ มันมีหรือไม่มีก็ได้

ในกรณีที่ “มี” ก็คือ หากมีคนคนเดียวอยู่บนเกาะ ก็น่าจะต้องจัดสรรผลไม้ ข้าวปลาอาหาร น้ำจืด หรือกิ่งไม้ใบหญ้าอะไรต่างๆ ที่เขาจะนำมาใช้เพื่อดำรงชีวิต

ถ้าเป็นตามนี้ คนคนเดียวติดเกาะ ก็ย่อมต้องมีการเมืองเป็นแน่แท้ แต่เป็นการจัดสรรให้กับตัวเองคนเดียว

เมื่อขนาดมีคนแค่คนเดียวอยู่บนเกาะยังมีการเมือง ถ้ามากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปก็ย่อมยิ่งต้องมีการเมือง เพราะจะต้องแบ่งสันปันส่วนว่า ฉันและอีกคนคนหนึ่งจะได้อะไร แค่ไหน อย่างไร?

แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะในนิยามของอีสตัน มีคำว่า “สังคม” กำกับอยู่ด้วย คนคนเดียวอยู่บนเกาะจะมีสังคมไปได้อย่างไร?

แล้วถ้ามีคนสองคนถือว่ามีสังคมหรือยัง?

ต้องมีคนสักกี่คนถึงจะเรียกได้ว่ามีสังคมเกิดขึ้นแล้ว แล้วอยู่กันเป็นครอบครัวบนเกาะ ถือว่าเป็นสังคมหรือยัง?

มันไม่น่าใช่ เพราะสังคมก็คือสังคม ครอบครัวก็คือครอบครัว และครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ยังไม่ใช่ตัวสังคม

ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัว เหงื่อแตก เพราะเวลาไล่มาทุกที…คิดเท่าไรก็คิดไม่ตก เลยเลิกคิดประเด็น “กี่คนถึงจะเป็นสังคม” นี้ไป

แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนคนเดียวอยู่บนเกาะ ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการเมืองก็ได้มิใช่หรือ?

เพราะเขาไม่จำเป็นต้องไปจัดสรรอะไร เพราะเมื่อเขาอยากจะใช้อะไร เมื่อไร อย่างไร ก็ย่อมทำได้ตามอำเภอใจของตัวเขา มิใช่หรือ?

ถ้าเช่นนั้น คนคนเดียวติดเกาะ ก็ไม่น่ามีเรื่องการเมืองเกิดขึ้น!

แต่อาจจะมีเรื่องการเฉลี่ยทรัพยากรที่มีอยู่ให้ตัวเองอย่างไร ถึงจะมีชีวิตได้ยาวนานที่สุด

อีกปัญหาหนึ่งคือ ถ้ามีคนสองคน มันก็อาจจะเกิดการแก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะอาจถึงขั้นต่อสู้ทำร้ายกันได้

แต่ถ้าคนสองคนแก่งแย่งต่อสู้ทำร้ายกันเพื่อช่วงชิงทรัพยากรบนเกาะนั้น เราจะเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็นการเมืองได้หรือไม่?

คิดๆ ดูแล้ว มันไม่น่าใช่การเมือง แต่มันเป็นการทำศึกสงครามกันมากกว่า และไม่น่าเรียกได้ว่าเป็นการจัดสรร

อีกทั้งนิยามของอีสตันมีการกล่าวถึง “อำนาจอันชอบธรรม” ไว้ด้วย การต่อสู้แย่งชิงด้วยอำนาจพละกำลังความรุนแรงจะถือว่าเป็น “อำนาจอันชอบธรรม” หรือไม่?

ถ้าเป็นคำถามที่เกิดขึ้นต่อมาทันทีในหัวกะโหลกที่กำลังว้าวุ่นของผมก็คือ แล้วความแตกต่างระหว่าง “อำนาจ” กับ “อำนาจอันชอบธรรม” คืออะไร?

 

ขณะเดียวกัน อะไรก็ไม่ทราบที่ดลใจให้ผมคิดถึง “การทำรัฐประหาร” เพราะการทำรัฐประหารเท่าที่ผมเข้าใจรับรู้ขณะนั้นก็คือ ทหารเข็นรถถังและกองกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ดูๆ แล้วก็ไม่ต่างจากการแก่งแย่งโดยอำนาจพละกำลัง ซึ่งน่าจะเป็นอำนาจดิบๆ เฉยๆ ไม่ใช่อำนาจอันชอบธรรม

แต่รัฐประหารในปี พ.ศ.2520 ก็ไม่เห็นมีผู้คนในสังคมไทยจะออกมาไม่ยอมรับ

เห็นใช้ชีวิตตามปรกติเหมือนไม่มีสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้น แถมยังมีคนที่เห็นด้วยว่า สมควรแล้วที่ทหารออกมาล้มรัฐบาลคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร เพราะเป็นรัฐบาลที่พิลึกพิลั่น

เช่น รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ สั่งให้ทำเสาธงชาติที่สูงที่สุดในประเทศเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของชาติไทย

ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า อำนาจพละกำลังจะชอบธรรมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้คนในสังคม

ถ้าไม่ยอมรับ ก็ถือว่าไม่ชอบธรรม!

ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็นอำนาจพละกำลังหรืออำนาจที่ใช้ตามรัฐธรรมนูญก็ตาม จะชอบหรือไม่ชอบธรรมอยู่ที่การยอมรับของสังคมเป็นสำคัญ

ถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าคนส่วนใหญ่ยอมรับการใช้กำลังในการข่มขืน ก็แปลว่า การใช้กำลังนั้นชอบธรรมหรืออย่างไร?

ดังนั้น การให้อำนาจอันชอบธรรมขึ้นอยู่กับการยอมรับของคนส่วนใหญ่ก็มีปัญหา ถึงแม้ว่าการใช้กำลังในการข่มขืนจะชอบธรรมเพราะคนส่วนใหญ่ยอมรับ แต่คนที่ถูกข่มขืนคงไม่ยอมรับแน่

 

กลับมาที่รัฐประหารที่เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ยอมรับ อาจจะเป็นการคิดไปเอง เพราะไม่มีการไปสำรวจความคิดเห็นของผู้คนจริงๆ ว่า ยอมรับรัฐประหารหรือเปล่า?

ถึงแม้ว่าไปสำรวจ แต่การสำรวจที่กระทำภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ทำรัฐประหารยังมีอำนาจอยู่ คำตอบก็ยากที่จะน่าเชื่อถือ เพราะคนที่ตอบคำถามการสำรวจความคิดเห็นนั้นอาจจะกลัวก็ได้ ทำให้ยากที่จะแยก “ความกลัว” ออกจาก “การยอมรับ” จริงๆ

ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัว และไม่สามารถจรดปากกาเขียนตอบคำถามข้อนี้ได้เสียที…เวลาก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ…

ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจตอบไปว่า คนสองคนอยู่บนเกาะ ไม่มีการเมือง เพราะไม่เข้าข่ายตามนิยามของเดวิด อีสตัน เพราะจะต้องมีสังคมแล้วถึงจะมีการเมือง และจะต้องมีอำนาจอันชอบธรรมในการจัดสรรทรัพยากรบนเกาะ

หลังออกจากห้องสอบ ผมมีความรู้สึกหลายอย่างระคนกัน

หนึ่ง อาจารย์ชัยอนันต์ออกข้อสอบหินมาก (ผมชักไม่อยากจะสุงสิงกับท่านแล้ว!!)

สอง ความหินของข้อสอบมันเรียกร้องความลึกซึ้งซับซ้อนยอกย้อนหลายชั้นในการใช้สมองของนิสิต

สาม อยากจะถามเพื่อนคนอื่นว่า มันตอบกันอย่างไร?

 

ผมได้ยินเพื่อนบอกต่อๆ กันมาว่า มีเพื่อนร่วมชั้นปีที่ได้ชื่อว่าเรียนเก่งหัวดีได้ตอบไปว่า คนสองคนติดเกาะย่อมมีการเมือง เพราะการเมืองตามนิยามของฮาร์โรล ลาสแวล (Harold Lasswell) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นเรื่องของการที่ใครได้อะไร เมื่อไร และอย่างไร? จะเห็นได้ว่า ตามนิยามการเมืองนี้ ไม่มีประเด็นเรื่อง “สังคม” ให้ต้องขบคิด และอาจเป็นไปได้ด้วยว่า แม้มีคนคนเดียวอยู่บนเกาะก็อาจมีการเมืองได้ด้วย

แต่การที่คนคนเดียวอยู่บนเกาะจะได้อะไร เมื่อไร และอย่างไรย่อมแตกต่างจากกรณีที่มีคนสองคนอยู่บนเกาะ และมีคนคนหนึ่งได้ อีกคนไม่ได้ และคนที่ได้นั้นได้มาเมื่อไรและอย่างไร?

ผมว่า ข้อสอบข้อนี้ อาจารย์ชัยอนันต์คงต้องการวัดว่า นิสิตรู้จักนิยามของการเมืองมากน้อยแค่ไหน เพราะเวลาอ่านหนังสือ จะพบว่า มีนักรัฐศาสตร์ฝรั่งหลายคนและนิยามการเมืองแตกต่างกันไป

และไม่เพียงอาจารย์ชัยอนันต์จะคาดหวังให้เรารู้จักหรือจำนิยามการเมืองได้เท่านั้น

แต่ต้องเข้าใจความหมายของนิยามนั้นๆ และต้องสามารถคิดวิเคราะห์นิยามนั้นๆ อย่างกลับกลอกยอกย้อนไปมาได้ด้วย

ผมได้คะแนนวิชานี้ไม่ดีครับ และข้อสอบข้อนี้ของอาจารย์ชัยอนันต์ยังตามหลอกหลอนผมจนทุกวันนี้…

(เอ้! ลืมคิดอีกมิติหนึ่งไปว่า หากคนสองคนที่ติดเกาะนั้นเกิดรักและได้เสียกัน จะยังมีการเมืองอยู่หรือเปล่า? เพราะทั้งสองได้กัน พร้อมๆ กัน…ส่วนอย่างไรนั้น ก็คงแล้วแต่ลีลาท่าทีและท่วงทำนอง)