วิรัตน์ แสงทองคำ : เกษตรกรรมยุคสมัย ตอนที่ 2 ก่อรูปองค์ความรู้

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยความเคลื่อนไหวภาคเกษตรกรรมไทย กระแสพุ่งแรงขึ้นๆ เชื่อว่าเกี่ยวข้องสำคัญกับพื้นฐาน องค์กรองค์ความรู้

จุดสนใจเปิดฉากขึ้นโดยบทบาทและความเคลื่อนไหวมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของไทย—จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยซึ่งก่อตั้ง (ปี 2459) มาเกือบจะครบ 100 ปี ถึงจะมีหลักสูตรเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมโดยตรง ขณะเป็นมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แห่งเดียว ที่ไม่มีวิทยาเขตในต่างจังหวัด

ความจริงแล้วผมเคยเสนอเรื่องราวดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553 กรณีจุฬาฯ ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร และเปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร เป็นปีการศึกษาแรก

โดยเน้นว่า “ตกผลึกว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็น “ต้นแบบของการผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่” ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ทักษะ และจิตวิญญาณ จนสามารถผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการสินค้าเกษตรเข้าสู่สังคมไทย”

เวลานั้นช่างเป็นช่วงที่ดี สัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่อง “จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ปรากฏการณ์นี้สัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวและพัฒนาขั้นใหม่ของเกษตรกรรายใหญ่สองราย คือกลุ่มไทยเจริญ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี กับกลุ่มซีพีซึ่งกำลังพัฒนายุทธศาสตร์ไปอีกขั้นหนึ่ง ตามวิสัยทัศน์ของธนินท์ เจียรวานนท์ …นอกจากนี้ เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี ให้ความสำคัญการลงทุน (ถือหุ้นข้างน้อย) ในการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร เพื่อตอบสนองเกษตรกรรมสมัยใหม่” (บางตอนจากเรื่อง “จุฬาชนบท” มติชนสุดสัปดาห์ 17-23 กันยายน 2553)

ตามมาด้วยจุดสนใจเชิงแนวคิด มุมมองว่าเกษตรกรรมไทย อาจถือเป็นทั้งมุมมองและจุดยืนของจุฬาฯ ซึ่งเข้าใจว่ามีการปรับปรุง แก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยเฉพาะเป็นบทอรรถาธิบายหลักการและปรัชญาการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ หลักสูตรใหม่ข้างต้น

(โปรดอ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ-จุฬาฯ ว่าด้วยเกษตรกรรมไทย)

แผนการผ่านมา 5 ปี (ปี 2557) ไปได้ดีทีเดียว จุฬาฯ ได้ยกฐานะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากร เป็นสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร

“เพื่อให้ทำหน้าที่อย่างเต็มรูปแบบในการจัดการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรการเกษตร ที่ครอบคลุมได้ในสาขาที่เกี่ยวข้องกว้างกว่าการบริหารจัดการ”

แสดงบทบาทอย่างกระตือรือร้น เท่าที่ติดตามมีบางโครงการที่น่าสนใจ ไม่ว่าโครงการเยี่ยมเยือนศิษย์เก่าซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่มาระยะหนึ่ง

หรือมีการรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียน อาทิ กรณีจากประเทศกัมพูชา โดยทุนซีพี เป็นต้น

 

ในภาพใหญ่ขึ้น แวดวงการศึกษาไทย กับสังคมในภาพกว้าง มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ยุคการศึกษาเปิดกว้างต่อสาธารณชน โดยเฉพาะบทบาทสถาบันการศึกษาสำคัญๆ เปิดสอนวิชาการหลากหลายและครอบคลุม อย่าง Modern University ในความหมายเทียบเคียงกับยุโรป

จากปฐมบทการก่อตั้งสถาบันการศึกษาสำคัญๆ ของสังคม “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ.2459″ (อ้างจาก https://www.chula.ac.th/)

ตามมาด้วย “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ชื่อมหาวิทยาลัยแรกเริ่ม คือ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (มธก.) จากแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตย เพื่อให้การศึกษา และสร้างความเข้าใจในระบบการปกครองใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้านี้เพียง 2 ปีแก่พลเมืองจำนวนมากผู้อยู่ในภาวะกระหายใคร่รู้” (อ้างจาก http://www.tu.ac.th/)

จนถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาปนาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอบสนองนโยบายรัฐ โดยให้รัฐมนตรีดูแลการเกษตรในเวลานั้น มาเป็นอธิการบดีคนแรก อาจถือเป็นยุคต่อเนื่องจากธรรมศาสตร์ก็ว่าได้ ถือเป็นการพัฒนาขั้นใหญ่จากระบบการศึกษาการเกษตรดั้งเดิมของไทย ซึ่งกระจัดกระจายมาหลายทศวรรษก่อนหน้า

มหาวิทยาลัยเป็นดัชนีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมทั้งสังคมเกษตรกรรมไทย ภาพนั้นกระฉับกระเฉง กระชับกระชั้นขึ้น เมื่อก้าวเข้าสู่เกษตรกรรรมยุคสมัย

 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้งวิทยาเขตในภาคกลางย่านเกษตรกรรมสำคัญ ในปี 2522

“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นให้การศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ให้บริการทางวิชาการ รวมทั้งสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับนโยบายการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางด้านการเกษตรแบบยั่งยืน”

ไปจนถึงการเปิดวิทยาเขตภาคอีสานที่จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2539 ในยุคเศรษฐกิจไทยขยายตัว ขยายสู่ภูมิภาค (ดังที่นำเสนอไว้ตอนที่แล้ว) ด้วยแผนการที่แตกต่าง ไม่มีสาขาวิชาการเกษตรพื้นฐานแบบเดิม หากเป็นมุมมองกว้าง เชิงประยุกค์ คือ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร เปิดสอนสาขาวิชาทรัพยากรเกษตรชีวภาพ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร ขณะเดียวกันให้ความสำคัญความรู้ซึ่งจำเป็นมากขึ้นๆ ในภาคชนบทในยุคเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้รับการตอบสนองอย่างดีจากท้องถิ่น มีผู้เรียนมากกว่าวิชาการเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมด้วยซ้ำ นั่นคือ วิชาการบริหารธุรกิจ และวิศวกรรมศาสตร์

ว่าไปแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพิ่งจะก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยในความหมายกว้างเมื่อไม่นานมานี้ ในยุคเศรษฐกิจไทยขาขึ้นเช่นกัน เมื่อก่อตั้งวิทยาเขตรังสิต ซึ่งได้จัดตั้ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขึ้นด้วย (ปี 2529) โดยเน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และที่สำคัญถือได้ว่าได้เปิดการศึกษาวิชาเกี่ยวข้องกับการเกษตรเป็นครั้งแรก คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร (ปี 2534)

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยหลักๆ ในแต่ละภาค มีหลักสูตรเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานมา ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง ยุคซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริบทสังคมไทยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ-ยุคสงครามเวียดนาม สถาบันการศึกษาดังกล่าวมีการปรับตัวเข้ากับความเป็นไปของท้องถิ่น เข้ากับยุคสมัย โดยเฉพาะท่ามกลางกระแสเกษตรกรรมอันเชี่ยวกราก ตามแนวคิดข้อเขียนชุดนี้ กรณี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพิ่งเปิดหลักสูตร ภาควิชาเกษตรที่สูง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปี 2557) ปีเดียวกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิด สาขาวิชาการผลิต เทคโนโลยีและการจัดการยางธรรมชาติ (นานาชาติ)

ทั้งนี้ ยังไม่รวมสถาบันการศึกษาเกษตรกรรมชั้นรอง เป็นการเฉพาะที่เรียกว่าวิทยาลัยเกษตรกรรม กระจายอยู่ทั่วประเทศเกือบๆ 50 แห่ง กำลังพยายามปรับโครงสร้าง แสดงว่ากำลังปรับตัวกันอยู่

องค์กรองค์ความรู้เกษตรกรรมไทย ช่างดูมีความทันสมัย ความหลากหลาย และเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักเสียเหลือเกิน

 

จุฬาฯ ว่าด้วยเกษตรกรรมไทย

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรการเกษตรอันเป็นที่มาของแหล่งอาหารและพลังงานที่สำคัญ โดยพิจารณาปัญหาที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหาร ที่มาจากสาเหตุสืบเนื่องมาจากการลดลงของพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์ วิกฤตโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ระบบการผลิตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดรอบการผลิต และเพื่อประสิทธิภาพมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น กลายเป็นระบบงานที่ได้เปรียบวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมในประเทศจนอาจทำให้การเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่มีมิติทางสังคมและวัฒนธรรมผสมผสานอยู่สูญสิ้น

เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศมีความรู้ ทักษะ และความชำนาญเฉพาะส่วนการผลิต แต่ขาดความรู้และทักษะในการบริหารจัดการในองค์รวม ตั้งแต่ความรู้และเทคนิคด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด การขนส่ง การเก็บรักษาผลผลิต ขาดความเข้าใจด้านกฎหมายข้อบังคับของการค้า ทำให้เกษตรกรไม่สามารถนำผลผลิตของตนเองออกสู่ตลาดได้ด้วยตนเอง เกิดความเสียเปรียบเชิงการแข่งขันในระบบการค้าอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น การเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและปศุสัตว์ระบบฟาร์มขนาดใหญ่ ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตทั้งเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์สัตว์ ปุ๋ยเคมีภัณฑ์ และยาปราบศัตรูพืช เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ผูกขาดโดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมไปจนถึงสุขภาพของเกษตรกรเอง

เกษตรกรในประเทศไทยที่เกือบทั้งหมดเป็นเกษตรกรรายย่อยต้องสูญเสียศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง เกษตรกรหลายรายนอกจากจะไม่สามารถปรับตนเองเป็นเจ้าของกิจการได้แล้ว ยังต้องสูญเสียที่ดินทำกินที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญไป ต้องเปลี่ยนวิถีทำกินโดยอพยพตนเองเข้าสู่เมืองซึ่งจะทำให้การดำรงอยู่ของชุมชนชนบทที่เป็นพื้นฐานของสังคมไทยล่มสลายไปในที่สุด

เงื่อนไขการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านอาหารดังกล่าว จึงไม่อาจปฏิเสธการแก้ปัญหาอย่างองค์รวมที่ต้องพึ่งการบูรณาการสหศาสตร์ที่มีความจำเป็นตลอดสายการผลิตจนถึงผู้บริโภค ได้แก่ ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตโดยเฉพาะปศุสัตว์ เทคโนโลยีอาหารและผลิตภัณฑ์แปรรูป มาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยทางด้านอาหาร การสาธารณสุข ธุรกิจและการบริหารจัดการ การขนส่ง เป็นต้น”

คัดลอกมาจากหลักการและปรัชญาการจัดตั้งสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร (http://www.cusar.chula.ac.th/index.php/about-us/history)