คัมภีร์ มหายาน : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

จากนั้นก็นำไปสู่การสรุปประมวลของเสถียร โพธินันทะ หลักการของพระโพธิสัตว์จึงอยู่ที่ว่า ตนต้องอาจรับทุกข์แทนสรรพสัตว์ได้

แม้ทุกข์ในนรก

กุลบุตรฝ่ายมหายานเมื่อรับอุปสัมปทากรรมแล้วก็มีการรับศีลโพธิสัตว์ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเช่นในจีนเรียกว่า “ซาตั้วไต้ก่าย” แปลว่า “ตรีมณฑลมหาศีล” คือ รับศีลสามเณร และรับศีลภิกษุเสร็จแล้วรับศีลโพธิสัตว์

แต่ศีลโพธิสัตว์ส่วนใหญ่นิยมพรหมชาลโพธิสัตว์ศีลมากกว่าโยคโพธิสัตว์ศีล

อนึ่ง ในศีลพระโพธิสัตว์มีห้ามมิให้ฉันเนื้อสัตว์ ของสด คาวและหัวหอมกระเทียมด้วย ถือว่าผู้ใดล่วงต้องลหุกาบัติ เพราะของเหล่านี้เท่ากับเป็นการชวนส่งเสริมการฆ่าทางอ้อม และส่งเสริมกำหนัดราคะ ทำลายสุขภาพ กีดกั้นจิตมิให้บรรลุสมาธิ สร้างความหวาดกลัวให้แก่กัน

และเป็นการกินเนื้อสัตว์ซึ่งผู้กินอาจจะกินถูกเนื้อของบิดามารดาในชาติก่อนๆ ของตนก็ได้

ผู้รับศีลโพธิสัตว์จึงต้องกินอาหารบริสุทธิ์จากเลือดเนื้อ สงฆ์มหายานที่ถือมังสวิรัติได้เคร่งครัด ได้แก่ สงฆ์จีนส่วนใหญ่ ส่วนในประเทศมหายานอื่นๆ นั้นหย่อนยานมาก ในพระสูตรมหายานมีประเทศมหายานอื่นๆ นั้นหย่อนมาก

ในพระสูตรมหายานมีบางสูตรก็ห้ามมิให้กินเนื้อสัตว์ และเหตุผลต่างๆ มากเหมือนกัน

ในส่วนสุตตันตปิฎกนั้นมหายานมีพระสูตรชนิดยาวๆ บางสูตรอ่านกันนับหลายๆ สัปดาห์จึงหมด เช่น มหาปรัชญาปารมิตาสูตร

เพียงสูตรเดียวมีถึง 600 ผูก พิมพ์ออกเป็นเล่มหนังสือถึง 120 เล่มสมุด

นอกจากนี้ ก็มีรัตนกูฏสูตรมีจำนวน 120 ผูก อวตังสกะมหาไพบูลยสูตร 80 ผูก จัดว่าเป็นพระสูตรที่ใหญ่และยาวมาก

นอกจากนี้ก็มีพระสูตรอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนมากแต่ละสูตรยาวกว่าสังคีติสูตรหรือมหาปรินิพพานสูตรของฝ่ายบาลีซึ่งเราถือกันว่ายาวมาก อนึ่ง แม้สุตตันตปิฎกของฝ่ายสาวกยานก็แปลออกเป็นภาษาจีนเกือบหมด

เช่น ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกายนั้นแปลออกมาหมด ส่วนขุททกนิกายแปลออกเป็นบางส่วนมีธรรมบท เป็นต้น ส่วนแปลออกเป็นภาษาสันสกฤต ฉะนั้น จึงมีความแตกต่างกับฝ่ายบาลีบ้างแต่ก็น้อยมาก

นักศึกษามหายานจึงได้เปรียบกว่านักศึกษาฝ่ายสาวกยานตรงนี้

ส่วนอภิธรรมปิฎกมหายานนั้นน่าจะเรียกว่าปกรณ์ซิเศษมากกว่า ทางมหายานไม่ได้กล่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปเทศน์อภิธรรม 7 คัมภีร์โปรดพระพุทธมารดา

ท่านเล่าว่า เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาจริงแต่ไม่ใช่เทศน์พระอภิธรรม 7 คัมภีร์

อภิธรรมของมหายานนั้นเรียกว่า “ศาสตร์” เป็นนิพนธ์ของบรรดาคณาจารย์อินเดียมีนาคาร ชุน เทวะ อสังคะ วสุพันธุ สถิรมติ ธรรมปาละ ภาววิเวก ทินนาค ฯลฯ เขียนขึ้นโดยอนุมัติของพระพุทธองค์บ้าง โดยปัญญาของผู้แต่งเองบ้าง

ท่านอริยปราชญ์ผู้นิพนธ์ศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้มหายานถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์มาอวตารทั้งนั้น

ศาสตร์หรือปกรณ์วิเศษของมหายานส่วนใหญ่เป็นของฝ่ายวิชญาณวาทินและศูนยตวาทิน ศาสตร์ที่ใหญ่และยาวที่สุด ได้แก่ โยคาจารภูมิศาสตร์ และมหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์

นอกจากนั้นก็มีวรรณคดีมหายานอื่นๆ ที่ไพเราะเพริศพริ้งมาก แลศาสตร์และอภิธรรมของฝ่ายสาวกยานก็แปลออกมามีเป็นจำนวนมาก อภิธรรมปิฎกของนิกายสรวาสติวาทแปลเกือบหมด ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ “คัมภีร์มหาวิภาษา” ซึ่งเป็นชุมนุมปรัชญาของนิกาย ฉะนั้น พระไตรปิฎกจีนจึงเปรียบเหมือนหนึ่งญาณสาครอันควรแก่การแหวกว่ายของบรรดาบัณฑิต ผู้ใคร่ต่อการศึกษาค้นคว้าในสัจธรรมยิ่งนักหนา

จึงขอย้ำว่า ภาษาจีนเป็นภาษาที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในการที่จะเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาต้องเรียนรู้ไว้

จากการศึกษาผ่าน “ปรัชญามหายาน” ของเสถียร โพธินันทะ เด่นชัดยิ่งว่า ความสนใจของฝ่ายมหายานนั้นมิได้มีแต่คัมภีร์ของฝ่ายตนเท่านั้น

หากแม้กระทั่งฝ่ายของ “สาวกยาน” ก็ได้รับความสนใจ

กล่าวสำหรับการแปลเป็นภาษาจีนสัมผัสได้จากการแปลคัมภีร์วิมุตติมรรคของพระอุปติสสอรหันต์ หรือแม้กระทั่งอรรถกถาวินัยปิฎกฝ่ายเถรวาทคือ “สมันตปาสาทิกา” ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาจีน

จึงถูกแล้วที่เสถียร โพธินันทะ อุปมาว่าเป็นดั่ง “ญาณสาคร” อันควรแก่การแหวกว่าย