ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 พฤษภาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“ในขณะที่ข้าพเจ้ายืนอยู่ตรงนี้ ข้าพเจ้ามองเห็นชาวเกาหลีเหนือและใต้เป็นคนชาติเดียวกัน พวกเขาไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้ เราเป็นประชาชนร่วมชาติ… เราจึงไม่ควรเผชิญหน้ากัน เราเป็นคนชาติเดียวกัน และควรจะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ข้าพเจ้าหวังว่าพวกเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคตเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้”
ประธานาธิบดีคิม จอง อึน (27 เมษายน 2561)
บทความนี้ขอเริ่มต้นด้วยวาทะของประธานาธิบดีคิม จอง อึน ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีทั้งสอง
ซึ่งหากย้อนกลับสู่อดีตสักนิดแล้ว
ก็แทบอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เห็นทัศนคติเช่นนี้
สงครามไม่ยุติที่เกาหลี
เราคงจะต้องยอมรับว่า การพบระหว่างผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีความพยายามในการส่งสัญญาณบวกผ่านถ้อยแถลงต่างๆ จึงเป็นทั้งช่วงเวลาที่สำคัญของประวัติศาสตร์เอเชียและประวัติศาสตร์โลก
เพราะหลังจากสงครามเกาหลีเกิดขึ้นในปี 2493 และจบลงด้วยการเจร0าหยุดยิง (armistice) ที่หมู่บ้านปันมุนจอมในปี 2496 แล้ว เราจะเห็นได้ชัดว่า สงครามเกาหลีไม่ได้ยุติลงจริงๆ แต่อย่างใด
เพราะมีแต่เพียงความตกลงหยุดยิง ไม่ใช่ยุติสงคราม
ความตึงเครียดเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีครั้งแล้วครั้งเล่า และความตึงเครียดเช่นนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอันเป็นผลจากความพยายามในการทดลองและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ จนเห็นได้ชัดเจนว่าปี 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่วงกลางปีเป็นต้นมา ความกังวลถึงสถานการณ์สงครามนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีปรากฏชัดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
และความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกลายเป็นแนวโน้มสำคัญของการเมืองโลกในขณะนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่มักจะไม่ค่อยถูกนึกถึงก็คือ การยุติสงครามเกาหลีมีแต่เพียงความตกลงหยุดยิง และไม่มีสนธิสัญญาสันติภาพที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของภาวะสงครามรองรับไว้แต่อย่างใด สงครามเกาหลีจึงกลายเป็นสงครามที่ยังไม่จบในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
และในทางการเมืองก็เป็นจริงเช่นนั้นด้วย
เพราะการแบ่งประเทศทางการเมืองด้วยเส้นขนานที่ 38 และความตึงเครียดที่ดำรงอยู่
ทำให้มองไม่เห็นโอกาสในการทำความตกลงในการยุติสงครามได้แต่อย่างใด
การทูต การกีฬา และเสียงเพลง
แนวโน้มของสงครามนิวเคลียร์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาวในช่วงต้นปี 2561
และตามมาด้วยสัญญาณเชิงบวกในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทีมกีฬาผสมของเกาหลีสองฝ่าย
การมาของทีมนักร้องหญิงจากเกาหลีเหนือ (The Moranbong band)
และการปรากฏตัวของคิม โย จอง (Kim Yo-jong) น้องสาวของผู้นำเกาหลีเหนือในฐานะผู้แทนพิเศษ ที่มาพร้อมกับคำเชิญผู้นำเกาหลีใต้เดินทางเยือนเกาหลีเหนือ
การเปิดเกมการเมืองระหว่างประเทศด้วยปัจจัยกีฬาและเสียงเพลงเช่นนี้ทำให้มีข้อสังเกตว่า เกาหลีเหนือกำลังเปิด “การหว่านเสน่ห์เชิงรุก” (charm offensive) การเดิมเกมการเมืองผ่านมิติทางวัฒนธรรมในรูปแบบของกีฬาและดนตรี
สะท้อนให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้สิ่งที่เป็น “อำนาจละมุน” (soft power) ของผู้นำเกาหลีเหนือได้เป็นอย่างดี
และเป็นจังหวะก้าวในการเปิดเกมการทูตอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งช่วยลดภาพลักษณ์ที่น่ากลัวของเกาหลีเหนือลงด้วย
ว่าที่จริงแล้ว การใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในนโยบายระหว่างประเทศหรือ “การทูตการกีฬา” (sport diplomacy) ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด
เช่น การใช้ “การทูตปิงปอง” (Pingpong Diplomacy) ในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
และไทยเองก็เคยใช้ “ปิงปอง” เป็นเครื่องมือในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนมาแล้วเช่นกัน
แต่ในกรณีของสองเกาหลี เราได้เห็นมากขึ้นในการใช้ “อำนาจละมุน” ในรูปแบบของเสียงเพลงเป็นเครื่องมือในการเดินเกมระหว่างประเทศ จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “การทูตเสียงเพลง” (music diplomacy)
ผลจากการเปิดมิติใหม่ทางการทูตเช่นนี้ทำให้หลายๆ ฝ่ายเกรงว่าปฏิบัติการ “หว่านเสน่ห์เชิงรุก” ของเกาหลีเหนือจะเป็นเพียงการสร้างภาพเชิงบวกให้แก่รัฐบาลเปียงยางที่กำลังถูกกดดันอย่างหนักจากปัญหาอาวุธนิวเคลียร์
แต่อาจจะไม่นำไปสู่รูปธรรมใดๆ
หรือไม่… หลายคนเกรงว่าสัญญาณบวกจากกีฬาและดนตรีจะจบลงไปพร้อมกับการสิ้นสุดของกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว
ในที่สุดแล้ว สัญญาณบวกเหล่านี้มีการดำเนินการต่อเนื่องเมื่อคณะนักร้องจากเกาหลีใต้เปิดการแสดงที่กรุงเปียงยางในเดือนเมษายน และใช้เส้นทางการบินตรงจากโซลสู่เปียงยาง อันเป็นเส้นทางการบินที่ไม่เคยเปิดใช้มาก่อน…
เคป๊อป (K-Pop) เป็นฝ่ายบุกบ้าง! ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือและคณะเข้าร่วมชมอย่างน่าสนใจ และได้เข้าร่วมพูดคุยกับคณะนักแสดงดังกล่าวอีกด้วย
ซึ่งแต่เดิมไม่มีความชัดเจนว่าประธานาธิบดีคิม จอง อึน จะเข้าร่วมชมการแสดงของบรรดา “เคป๊อป” หรือไม่
การเข้าชมดนตรีครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณบวกของการทูตสองเกาหลี
เสียงเพลงจากสองฝากฝั่งของเส้นขนานดังประสานเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของผู้นำเกาหลีทั้งสองอย่างเห็นได้ชัด
การแสดงดนตรีจากสองฝ่ายถือได้ว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญก่อนการพบปะระหว่างผู้นำทั้งสองจะเกิดขึ้น
แม้การอนุญาตให้เปิดการแสดงที่เปียงยางอาจจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ “หว่านเสน่ห์เชิงรุก” ของเกาหลีเหนือ
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นสัญญาณของการเปิดการติดต่อที่เริ่มขึ้น
การประชุมสุดยอดสองเกาหลี
หากเปรียบเทียบสถานการณ์ปลายปี 2560 แล้วก็แทบไม่น่าเชื่อว่าหลังปีใหม่ 2561 แนวโน้มจะเป็นบวกอย่างที่ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อน เพราะแต่เดิมแนวโน้มมีแต่ปัจจัยเชิงลบของความตึงเครียดจากปัญหาด้านการทหาร
จนเกิดความกังวลว่าหลังจากกีฬาโอลิมปิกสิ้นสุดลงแล้ว วิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีก็จะหวนกลับมาเป็นประเด็นสำคัญอีก
จนแทบจะไม่มีนักวิเคราะห์มองเห็นทิศทางใหม่ในความสัมพันธ์ของสองเกาหลีได้เลย
หรือถ้าเห็นก็ไม่มั่นใจว่าทิศทางบวกจะยั่งยืนเพียงใด
อีกทั้งหากมองความสัมพันธ์ผ่านการประชุมสุดยอดผู้นำก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้นำสองฝ่ายเคยพบกันมาแล้วในปี 2543 และปี 2550 และตามมาด้วยครั้งที่สามในปี 2561 ซึ่งในช่วงต้นก็มีความแคลงใจอย่างมากว่า การพบกันครั้งที่สามนี้จะมีผลอย่างเป็นรูปธรรมเพียงใด
เพราะการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นโจทย์ใหญ่
และมองไม่เห็นถึงโอกาสที่เกาหลีเหนือจะยอมยุติโครงการดังกล่าว
หรืออาจมีข้อสังเกตว่า การเปิดเกมทูตเชิงสันติของเปียงยางที่เสนอยุติโครงการนิวเคลียร์เป็นเพียงกลยุทธ์ของ “สันติภาพเชิงรุก” (peace offensive) ที่ถูกใช้เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเกาหลีเหนือ
และการทูตเช่นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “เสน่ห์เชิงรุก” ซึ่งอาจจะไม่มีผลที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ข้อสงสัยเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครมั่นใจกับนโยบายที่แท้จริงของผู้นำเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม การตกลงใจของสองผู้นำที่จะพบกันที่บ้านสันติภาพของหมู่บ้านปันมุนจอม อันเป็นพื้นที่เขตปลอดทหารของเส้นขนานที่ 38 เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ
เพราะในทางยุทธการแล้ว พื้นที่เช่นนี้เป็น “เขตการสงคราม”
แต่ผลจากการเลือกให้หมู่บ้านปันมุนจอมเป็นเวทีของการพบของผู้นำทั้งสอง วันนี้ปันมุนจอมจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี
อย่างน้อยภาพของรอยยิ้มและการพบกันอย่างอบอุ่นของผู้นำสูงสุดดังปรากฏในสื่อ
ไม่ว่าจะถูกมองด้วยความสงสัยและคลางแคลงใจว่าเป็น “ละครการเมือง” หรือไม่ก็ตาม
แต่คงปฏิเสธถึงแนวโน้มเชิงบวกของสถานการณ์ครั้งนี้ไม่ได้
อย่างน้อยภาพของผู้นำทั้งสองที่เกิดขึ้นบนสื่อต่างๆ ช่วยลดความตึงเครียดของสถานการณ์สงครามบนคาบสมุทรเกาหลีลงได้อย่างมาก
จนอาจจะต้องยอมรับว่า การพบกันครั้งนี้ได้เปลี่ยน “สนามรบ” ให้เป็น “สนามเจรจา” ได้อย่างคาดไม่ถึง
แม้จะมิได้หมายความว่าการเผชิญหน้าได้สิ้นสุดลงทั้งหมดแล้วก็ตาม
หากแต่การพบของผู้นำเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นดัง “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่จะเปิดไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี และการยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ทั้งยังเป็นความหวังโดยตรงในการลดการเผชิญหน้าทางทหารบนคาบสมุทรนี้
การพบเช่นนี้ยังจะนำไปสู่การพบระหว่างผู้นำของสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นที่ปันมุนจอมครั้งนี้ได้กลายเป็น “โมเมนตัมสันติภาพ” ทั้งของเกาหลีและของเอเชียโดยรวม และยังทำให้เกิดความคาดหวังอีกด้วยว่า
หากการประชุมสุดยอดสหรัฐและเกาหลีเหนือจบลงด้วยทิศทางเดียวกันกับการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีแล้ว ภูมิทัศน์ทางการเมืองและความมั่นคงของเอเชียจะถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
และจะเป็นโอกาสโดยตรงของการยุติสงคราม
ความคาดหวัง
อย่างไรก็ตาม การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยังคงมีรายละเอียดอีกมากในทางเทคนิค ตลอดรวมถึงเรื่องของการรวมชาติก็ยังคงเป็นเรื่องระยะยาวที่จะต้องติดตามดูในอนาคต แต่ความหวังเฉพาะหน้าที่เห็นได้ชัดจากแถลงการณ์ร่วม ได้แก่
1) การลดความตึงเครียดและการเผชิญหน้าทางทหารบนคาบสมุทรเกาหลีมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้จะมิได้สิ้นสุดลงทั้งหมดก็ตาม
2) การเปิดช่องทางติดต่อระหว่างรัฐบาลทั้งสองมีความชัดเจนอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับผู้นำสูงสุด ตลอดรวมถึงการจัดตั้งคณะประสานงานระหว่างสองเกาหลีขึ้น
3) เร่งแก้ปัญหาครอบครัวที่ถูกแบ่งแยกจากสงครามให้มีโอกาสได้พบปะกันมากขึ้น
4) ยุติการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อโจมตีทางการเมืองซึ่งกันและกัน
5) เป็นลู่ทางของการเจรจาเพื่อนำไปสู่การทำสนธิสัญญาสันติภาพในการยุติสงครามเกาหลี
6) เป็นโอกาสที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต
และ 7) ในระยะสั้นเป็นจังหวะที่ทำให้ผู้นำเกาหลีใต้เดินทางเยือนเกาหลีเหนือในฤดูใบไม้ร่วงที่จะมาถึง
แม้การพบปะกันครั้งนี้จะถูกวิจารณ์อย่างมากว่าไม่มีรูปธรรมในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเท่าที่ควร แต่หากกระบวนการเช่นนี้เดินไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็คงจะสามารถสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้เกิดมากขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง “ภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์” ของพื้นที่แถบนี้
แม้จะยังมีอุปสรรคทั้งในทางการเมืองและความมั่นคงอยู่อีกพอสมควร
ผลสืบเนื่องด้านดุลกำลัง
ผลสืบเนื่องประการสำคัญในอนาคตที่จะเกิดตามมาก็คือ หากสถานการณ์ความมั่นบนคาบสมุทรเกาหลีลดลงทั้งในระดับของสงครามตามแบบและสงครามนิวเคลียร์แล้ว การจัดสมดุลกำลังของประเทศที่เกี่ยวข้องจะเป็นเช่นไร
ประเด็นสำคัญ ได้แก่ กำลังรบของสหรัฐที่วางกำลังไว้ในพื้นที่แถบนี้จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไรหรือไม่
และถ้าจะต้องคงกำลังไว้ต่อไปแล้ว จะมีอะไรเป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมในเรื่องนี้
ดังจะเห็นได้ว่า สหรัฐมีกำลังพลอยู่ในญี่ปุ่น (รวมในโอกินาวา) ทั้งหมด 47,000 นาย
และประจำการในเกาหลีใต้อีก 28,500 นาย (รวมทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และนาวิกโยธิน) [ตัวเลขจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์, ลอนดอน, 2017]
ในขณะเดียวกันผลจากสถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลียังเห็นได้จากการคงกำลังพลขนาดใหญ่ของกองทัพของทั้งสองฝ่าย กองทัพเกาหลีเหนือมีกำลังพล 1,190,000 นาย ถือเป็นกองทัพที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก และเป็นอันดับสองของเอเชียรองจากจีน
ส่วนกองทัพเกาหลีใต้มีกำลัง 630,000 นาย ถือเป็นกองทัพระดับนำของเอเชีย ฉะนั้น หากเกิดความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ได้จริงแล้ว เกาหลีทั้งสองจะจัดขนาดกำลังของกองทัพที่เหมาะสมอย่างไร
อีกทั้งหากสงครามเกาหลียุติจริง และความตึงเครียดและการเผชิญหน้าทางทหารลดลง พร้อมกับบรรยากาศของสันติภาพที่เพิ่มมากขึ้น ญี่ปุ่นจะคงกำลังไว้ในระดับใด ปัจจุบันกองทัพญี่ปุ่นมีกำลังพล 247,000 นาย และกำลังรบของญี่ปุ่นมีเป้าหมายหลักในการรับมือกับสงครามบนคาบสมุทรเกาหลีโดยตรง และยังไม่นับรวมกองทัพจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวน 2,183,000 คน
วันนี้โจทย์ทางยุทธศาสตร์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เท่าๆ กับที่ภูมิทัศน์ของคาบสมุทรเกาหลีก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
ดังคำกล่าวของประธานาธิบดีมุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ที่ว่า “ฤดูใบไม้ผลิมาถึงคาบสมุทรเกาหลีแล้ว”…
เราจึงหวังว่าฤดูใบไม้ผลิที่เกาหลีครั้งนี้จะยั่งยืนต่อไปไม่สิ้นสุด!