วงค์ ตาวัน : 4 เรื่องที่ยังผิดซ้ำ-จากพฤษภาคม 2535

วงค์ ตาวัน

ความจริงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยในเดือนพฤษภาคมนั้น มีทั้งเมื่อ 26 ปีก่อน คือ พฤษภาคม 2535 และเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา การสลายม็อบ 99 ศพ ในเดือนเมษายนซึ่งมาจบลงในเดือนพฤษภาคมของปี 2553

กล่าวสำหรับพฤษภาคม 2535 หรือที่เรียกกันว่าพฤษภาทมิฬนั้น

เป็นเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่ของประชาชน นำโดยชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ลงเอยโดนรัฐบาลทหารปราบปรามสลายม็อบ ทำให้มีคนเสียชีวิตโดยตัวเลขของทางการคือ ประมาณ 40 ราย แต่ในความเป็นจริงพบว่ายังมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก จนน่าเชื่อว่า จำนวนคนตายต้องมากกว่า 40 คน

“การนองเลือดเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2535 และต่อเนื่องหลายวัน จนสุดท้าย พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกฯ ที่ถูกต่อต้าน ตัดสินใจลาออก ทำให้สถานการณ์ยุติลงไปในที่สุด”

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่การก่อรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะทหาร” รสช. ที่กุมอำนาจในกองทัพขณะนั้น เป็นการล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

ข้ออ้างก็คือมีการคอร์รัปชั่นโกงกิน อ้างว่ากินทั้งตามน้ำและทวนน้ำ

“แต่สาเหตุจริงๆ มาจากการที่รัฐบาล พล.อ.ชาติชายขัดแย้งกับกองทัพในหลายประเด็น และไปแต่งตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ. เข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาล เพื่อให้มาจัดการผ่ากองทัพ”

หลังการยึดอำนาจสำเร็จ ท่ามกลางเสียงเชียร์ของประชาชน เนื่องจากถูกครอบงำด้วยกระแสที่โหมมายาวนาน ว่ารัฐบาลชาติชายเต็มไปด้วยการโกงกิน

จากนั้นคณะนายทหาร รสช. เปิดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2553 หรือ 1 ปีหลังการรัฐประหาร ผลการเลือกตั้ง ทำให้พรรคสามัคคีธรรมได้รับชัยชนะ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรค ควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นที่รู้กันว่าพรรคสามัคคีธรรม คือพรรคที่ทหารจัดตั้งขึ้นมา เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การคุมอำนาจของ รสช. แต่เกิดปัญหากระแสข่าวบัญชีดำสหรัฐ ทำให้กระทบต่อการเป็นนายกฯ ของหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม

“ในที่สุด พล.อ.สุจินดา ผู้นำการรัฐประหารก็ขึ้นเป็นนายกฯ เอง พร้อมวลีเด็ดคือ”ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ” เนื่องจากหลังการปฏิวัติได้ให้คำมั่นไว้ว่า จะไม่สืบทอดอำนาจด้วยการเป็นนายกฯ เอง จึงเริ่มนำมาสู่กระแสต่อต้าน เพราะแสดงการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างโจ่งแจ้ง”

มีการก่อม็อบตั้งแต่เดือนเมษายน 2535 จนมาถึงจุดแตกหักในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 เมื่อเริ่มลั่นกระสุนปราบผู้ชมนุม ลงเอยรัฐบาลสุจินดาต้องตัดสินใจลาออก

“บทสรุปของเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 มีอยู่ 4 เรื่องที่สำคัญๆ”

1. การจะล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง อาศัยการสร้างกระแสนักการเมืองคอร์รัปชั่นโกงกินปูทาง

2. การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และการตระบัดสัตย์ ก่อให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนจนเกิดการประท้วง

3. ด้วยกลวิธีการเข้ามาเป็นนายกฯ ของคณะทหาร ได้เกิดข้อสรุปที่ว่า ในรัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

4. รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ารับผิดชอบหลังเหตุการณ์พฤษภามทมิฬ ได้ออกมติ ครม. กำหนดให้เลิกใช้ทหารเข้ามาสลายการชุมนุมของประชาชนในเมือง และให้ตำรวจจัดตั้งหน่วยปราบจลาจลอย่างเป็นมาตรฐาน โดยจากนี้ไปประเทศไทยจะต้องไม่ใช้ทหารสลายม็อบอีกแล้ว

บทสรุป 4 ข้อจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยเรา ควรนำมาสรุปและตรวจสอบอีกครั้งในวันนี้!

ข้อที่ 1 การใช้ข้อหานักการเมืองโกงกิน ที่คณะทหารผู้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลชาติชายงัดออกมาใช้นั้น เป็นกลวิธีสร้างกระแสที่โหมจนคนทั้งสังคมหลงเชื่อไปด้วย ทั้งที่การตัดสินใจล้มรัฐบาล มาจากปัญหาความหวาดระแวงระหว่างรัฐบาลกับกองทัพเป็นหลัก

แล้วเราก็พบว่า การรัฐประหารครั้งต่อๆ มาก็คือ เมื่อ 19 กันยายน 2549 เพื่อล้มรัฐบาลทักษิณ และการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ล้วนยังใช้มุขเดิม

แต่หากเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันให้ดีก็จะพบว่า การรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง ก็มีปมปัญหาการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าร่วมกับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และแกนนำพรรคการเมือง ที่ขัดแย้งกับรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นสำคัญ

โดยหยิบเอาเรื่องการทุจริต มาขยายให้กลายเป็นเรื่องที่ทำให้คนจำนวนมากเข้าร่วมสนับสนุน

“ถ้าเราไม่จำจดบทเรียนนี้ ก็อาจจะนำมาใช้กันอีกในการยึดอำนาจล้มประชาธิปไตยคราวต่อไป!”

ต่อมาคือบทเรียนข้อที่ 2

“การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและการตระบัดสัตย์”

ทีแรก ฝ่ายรัฐประหารเตรียมการให้แนบเนียน ด้วยการตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมาเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 เพื่อเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน

จู่ๆ มาเกิดข่าวใหญ่ระดับโลกทำให้เส้นทางสู่นายกฯ ของหัวหน้าพรรคที่ชนะเลือกตั้งต้องสะดุด โดยเบื้องหลังข่าวนั้น มีการมองเป็น 2 กระแส หนึ่งบอกว่า ต้องการต่อต้านหัวหน้าพรรคที่ทหารเป็นคนจัดตั้ง กับอีกกระแส เป็นข่าวที่จงใจให้หัวหน้าพรรคดังกล่าวไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ เพราะจากนั้นแกนนำรัฐประหารก็ต้องมาเป็นเอง โดยอ้างว่าจำใจต้องเป็น

แต่เพราะการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน จึงนำมาสู่การต่อต้าน เกิดม็อบใหญ่ และคณะทหาร รสช. ก็ต้องปิดฉากตัวเองในที่สุด

“บทเรียนข้อที่ 3 จากพฤษภาทมิฬก็คือ ประเด็นนายกฯ คนนอก และนายกฯ จากการเลือกตั้ง”

การเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายทหารใหญ่ในปี 2535 ทำให้ประชาชนที่ออกมาประท้วง ได้ข้อสรุประหว่างการเคลื่อนไหวว่า เพราะรัฐธรรมนูญของไทยเรา ไม่เคยระบุเอาไว้ให้ชัดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ส. โดยประชาชนเท่านั้น

จึงเพิ่มข้อเรียกร้องในการประท้วง ให้แก้รัฐธรรมนูญ กำหนดประเด็นนี้ให้ชัด

โดยได้ข้อสรุปว่า การเขียนรัฐธรรมนูญเปิดกว้างให้ใครก็ได้มาเป็นนายกฯ ก็คือ ช่องทางที่ทำให้อำนาจนอกระบบสามารถแทรกแซงการเมืองได้ตลอดเวลา

เมื่อการประท้วงได้รับชัยชนะ มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในทันที

แล้วรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อจากนั้น ก็กำหนดประเด็นนี้เอาไว้ทั้งสิ้น

จนกระทั่งการรัฐประหาร ที่มาจากการชัตดาวน์ของม็อบนกหวีดเมื่อปี 2557 ได้ฉุดการเมืองไทยให้ถอยหลังไปอีกครั้ง!

เพราะการจงใจขยายปัญหาความขัดแย้งระหว่างม็อบสีต่างๆ ไปจนถึงการชุมนุมชัตดาวน์ ที่ไม่ยินยอมเลือกหนทางประชาธิปไตยแก้ปัญหา หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมยุบสภาแล้ว ทำให้สถานการณ์ไปถึงทางตัน เกิดการรัฐประหาร ล้มประชาธิปไตย

แล้วการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ใช้ข้ออ้างที่ว่า สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปแล้ว อ้างว่าปัญหาในปี 2557 เห็นได้ชัดว่า เมื่อเกิดความขัดแย้ง สถานการณ์ถึงทางตัน การปิดทางนายกฯ คนนอก ทำให้บ้านเมืองไม่มีทางออก

“ทั้งๆ ที่ทางออกมีอยู่แล้ว ก็คือ ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ยอมใช้ทางออกนี้ เพื่อจะบอกว่ามันไม่มีทางออก แล้วนำมาสู่การเขียนรัฐธรรมนูญ ที่เปิดทางนายกฯ คนนอก”

ทั้งที่วีรชนพฤษภาคม 2535 บอกเอาไว้แล้วว่า ถ้าเขียนแบบนี้ คือการเปิดทางให้อำนาจนอกระบบแทรกแซงได้ตลอดเวลา

“จึงต้องบอกว่า การประท้วงเมื่อปี 2557 และการรัฐประหาร 2557 เป็นการวางแผนของฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมือง เพื่อถอยหลังการเมืองไทยย้อนยุคครั้งใหญ่”

บทเรียนข้อที่ 4 จากพฤษภาคม 2535 ก็คือ หลังเหตุการณ์สลายม็อบนองเลือดกลางเมืองในปีดังกล่าว เมื่อรัฐบาลอานันท์เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ ได้ออกมติชัดเจนว่า ต่อไปนี้ประเทศไทยต้องเลิกใช้ทหารปราบม็อบเด็ดขาด เพราะทั่วโลกมีข้อสรุปนี้ไปแล้ว และเปลี่ยนเป็นใช้ตำรวจปราบจลาจลเท่านั้น

“มีแต่แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ในการสลายม็อบ ไม่ใช่กระสุนจริงและโดยกองกำลังที่อยู่ในสงครามสู้รบ”

แต่แล้วเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ถอยหลังกลับไปใช้ทหารเข้ามาสลายม็อบเสื้อแดง

ด้วยข้ออ้างที่ว่ามีชายชุดดำ มีผู้ก่อการร้ายอยู่ในที่ชุมนุม จึงให้ใช้ทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์และใช้กระสุนจริงได้

สุดท้ายเหตุการณ์นองเลือดในปี 2553 มีคนตาย 99 ศพ ด้วยกระสุนจริง

ไม่มีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ แม้แต่ศพเดียว มีแต่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั้งสิ้น!