คำ ผกา : เพราะเกิดเป็นคนไทยจึงมักง่าย?

คำ ผกา

เลื่อนฟีดในเฟซบุ๊กไปเจอคลิปข่าวว่าด้วยความล้มเหลวของ กทม. ในโครงการ “ทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา”

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมบอกว่า สาเหตุของความล้มเหลวเกิดจากความไม่ชัดเจนว่า จุดที่ กทม. จัดไว้ เป็นจุดทิ้งขยะหรือพักขยะ ไม่มีการสื่อสารกับชุมชนให้ชัดเจน

ป้ายมีขนาดเล็ก การออกแบบเป็นกรงเหล็กสีเขียว เอาไปตั้งไว้บนทางเท้า นอกจากจะเกะกะ กีดขวางทางสัญจรแล้ว กรงเหล็กนั้นจะปราศจากความรัดกุม

คนไม่รู้ เห็นขยะอยู่ในนั้นก็พากันเอาขยะไปทิ้งทับถม ทำให้สกปรกมากขึ้นไปอีก

ยังไม่แค่นั้น หากเลื่อนไปอ่านคอมเมนต์ใต้ข่าว ร้อยละ 50 ไม่โทษ กทม. เลย แต่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า – นี่แหละคนไทย นิสัยเสีย มักง่าย เห็นแก่ตัว ไม่มีวินัย ไม่มีจิตสำนึก ต่างจากคนญี่ปุ่นราวฟ้ากับเหว ที่บ้านเมืองเขาสะอาดสะอ้าน เพราะมีวินัย

เช่น คอมเมนต์หนึ่งบอกว่า

“คนไทยไม่พร้อม เพราะการศึกษาที่อ่อนแอ คุณธรรมจริยธรรมที่ไม่เข้มในตนเองมากพอ เปรียบเทียบกับคนชาติญี่ปุ่น แตกต่างกันลิบลับ เพราะผู้นำเขาจริงจัง รักชาติ สร้างความแข็งแกร่งให้คนในชาติ…และระบบการจัดการเมืองไทยไม่มีการแยกขยะ…”

หรือ “สันดานคนไทยล้วนๆ แก้ไม่หายสักที กินที่ไหน ทิ้งที่นั่น”

หรือ “โครงการดี แต่คนไทยขาดจิตสำนึก ประชากรไม่มีคุณภาพ ขาดระเบียบวินัย…”

คําอธิบายที่บอกว่าคนไทยมักง่าย ไร้วินัย ผ่านเผินก็ชวนให้เชื่อ เพราะที่เห็นและเป็นอยู่รอบๆ ตัวเราก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ วันหนึ่งขณะที่เดินอยู่ในตลาดนัด เด็กผู้หญิงอายุสัก 5 ขวบ นุ่งกระโปรงบานฟูฟ่องเดินนำหน้าฉัน

หนูน้อยมือถือถุงขนมอะไรสักอย่าง เธอแกะถุงกินขนมแล้วทิ้งถุงลงกับพื้นต่อหน้าต่อตาฉัน ส่วนแม่ที่เดินอยู่ด้วยก็เฉยเมยราวกับว่าเรื่องนี้เป็นความธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง

ส่วนฉันก็อดรนทนไม่ได้ เพราะมันคาหูคาตาเกินไปก็เลยไปสะกิดแม่ พร้อมเก็บถุงขนมนั้นไปด้วยแล้วก็บอกว่า “สอนลูกด้วยค่ะ ว่าขยะน่ะ ไม่ควรทิ้งบนถนน”

หรือการเดินบนทางเท้าในกรุงเทพฯ ทางเท้าที่ถนนทองหล่อ อันฉันมีเหตุให้ต้องไปเดินอยู่บ่อยๆ นั้น สิ่งที่เห็นจนเจนตา และใครๆ ก็เห็นจนชินชาเช่นเดียวกันก็คือ ร้านข้าวแกง ทั้งร้านห้องแถว ร้านแผงลอย ร้านรถเข็น ร้านก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ กล้วยปิ้ง

ทุกร้านต่างก็ล้างถ้วยชามบนถนน ทิ้งเศษขยะ อาหาร บนถนน ลงท่อ ล้างทุกสิ่งอย่างบนทางเท้า

และแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ที่เห็นคนถือชามก๋วยเตี๋ยวของตัวเองที่เพิ่งกินเสร็จ เอาเศษน้ำซุปในชามมาเทลงบนถนน!!! เพื่อจะได้มีแต่ชามเปล่าๆ ไม่มีเศษอาหารกลับไปล้าง

ภาพคล้ายๆ กันนี้ ฉันก็เคยเห็นที่ลาวและเชียงตุง ล่าสุดยังจำทะเลถุงก๊อบแก๊บที่เชียงตุงได้ เป็นสองข้างทางจากตัวเมืองเชียงตุงออกไปนอกเมืองจะขึ้นเขา ระหว่างรอยต่อของเมืองมีเวิ้งว่างๆ เวิ้งหนึ่งอันเนืองนองไปด้วยถุงก๊อบแก๊บหลากสี เยอะจนต้องเรียกว่าเป็นทะเล

หรือหลังตลาดที่ไหนสักแห่งของลาวก็จำไม่ได้ แต่ที่จำได้ติดตาคือทะเลของขวดน้ำพลาสติก ที่ดูขัดแย้งกับสภาพธรรมชาติอันสวยงามที่อยู่รอบๆ กับผู้คนอันมีอัธยาศัยไมตรีอันน่ารัก

หรือไม่ต้องไกลตัว บ้านของฉันที่เชียงใหม่นั้น ทุกๆ เช้า ที่ริมรั้วบ้านจะต้องมีขยะนิรนาม เช่น ขวดลิโพ, ถุงพลาสติก พร้อมร่องรอยของน้ำอัดลม หลอดพลาสติกที่เสียบคาไว้อยู่ กล่องนม ถุงขนม ฯลฯ

ไม่มีวันไหนที่หน้าบ้านจะไม่มีขยะ และแทบจะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่เราในฐานะเจ้าของบ้านต้องออกไปเก็บขยะเหล่านี้ทุกเช้า

นี่เป็นเพราะสันดาน หรืออะไร?

และมันเกิดขึ้นเฉพาะคนไทย แต่เอ๊ะ ไปลาว ไปเชียงตุง ก็เจอสภาพคล้ายๆ กัน

เคยดูสารคดีข่าวเรื่องขยะในฟิลิปปินส์ ก็มีสภาพไม่ไกลจากกันนัก

เอ๊ะ แล้วแบบนี้เราจะพูดได้หรือว่า มันเป็นเพราะสันดานคนไทย?

มิพักต้องอธิบายกันยาวๆ ว่า สิ่งที่เรียกว่า “คนไทย” ในเชิงดีเอ็นเอนั้นไม่มี เนื่องจากความเป็น “ไทย” เป็นอัตลักษณ์ทางรัฐศาสตร์ ไม่ใช่ทาง ชีววิทยา

ดังนั้น สันดานมักง่าย ขี้เกียจ ขี้โกง ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเป็น “คนไทย” ในเชิงสายเลือด

ความน่าขันกว่านั้นก็คือ เวลาที่คนไทยจำนวนหนึ่งก่นด่าว่าคนไทยไร้วินัย คนญี่ปุ่นมีวินัย เนี่ยะ คนไทยเหล่านั้นได้คิดต่อไปไหมว่า อ้าว แล้วไอ้ที่เด็กไทยมันถูกสั่งให้ตัดผม แต่งเครื่องแบบ ตัดเล็บ ใส่ถุงเท้า รองเท้า เข้าแถวตรงเช้าเย็น แล้วอ้างว่าเพื่อจะมี “ระเบียบวินัย” นั้น มันช่วยให้คนมีวินัยจริงหรือไม่

ในขณะที่เด็กนักเรียนญี่ปุ่นไม่มีเครื่องแบบนักเรียน (ยกเว้นโรงเรียนเอกชน) ไม่มีเข้าแถวเช้าเย็น ไม่ต้องตัดผมติ่งหู หรือไถเกรียน

อ่าว ทำไมมันได้ชื่อว่าเป็นชาติที่คนมีวินัยมากที่สุด

ดังนั้น อันดับแรกที่เราต้องคิดกันอย่างจริงจังคือ สันดานคนไทยไม่ได้แย่ แต่คนไทย (ที่เป็นอัตลักษณ์ทางรัฐศาสตร์) เข้าใจเรื่อง “วินัย” อย่างผิดๆ มาโดยตลอด

วินัย แบบที่เป็นเรื่องของการเคารพกฎหมาย เคารพกฎจราจร เข้าคิว เคารพสิทธิของคนอื่น เข้าใจเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะ เหล่านี้เป็นวินัยที่เกิดจากการปลูกฝังเรื่องสิทธิ เสรีภาพ การเคารพมนุษย์คนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสังคมกับเรา แชร์พื้นที่สาธารณะเดียวกับเราในฐานะพลเมืองที่เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน

ไม่ใช่ “วินัย” ที่แปลว่า “การฟังคำสั่งและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยปราศจากคำถามเหมือนคนไร้สมอง”

เขียนมาถึงตรงนี้ก็นึกถึงบันทึกฝรั่งที่เข้ามาในสยามเมื่อสาม-สี่ร้อยปีก่อน ที่บอกว่า พวกคนสยามนั้นโดยมากขี้เกียจ ชอบอู้งาน ชอบหนีไปนอนหลับ เฉื่อยชา ฯลฯ

ซึ่งทำให้มีความเชื่อและคำพูดในกาลต่อมาอีกว่า ที่คนไทยจนก็เพราะคนไทยขี้เกียจ ส่วนคนจีนในเมืองไทยนั้น ขยัน อดทน หนักเอาเบาสู้ เลยรวยกว่าคนไทย

ประเด็นก็คือ สยามเมื่อสาม-สี่ร้อยปีก่อน เป็นระบบมูลนาย ไพร่ ทาส ทำงานเพราะถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่มีค่าจ้าง ไม่เงินเดือน

ในสภาพเช่นนั้น ก็คงไม่มีใครอยากจะขยันทำงาน เพราะทำไปก็เท่านั้น ชีวิตไม่ได้ดีขึ้น

ดังนั้น อู้ได้ก็อู้ หมดเวลาถูกเกณฑ์ ก็กลับไปทำนา จะทำจริงจัง ก็ไม่รู้จะจริงจังไปทำไม เพราะประเดี๋ยวก็ถูกเกณฑ์กลับมาใช้งานอีก

ส่วนคนจีน ไม่ได้อยู่ในระบบมูลนาย เพราะเข้ามาในสยามเพื่อเป็นแรงงานที่สยามขาดแคลน รับค่าตอบแทนเป็นเงิน และจ่ายภาษีให้กับรัฐ คนจีนจึงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราก่อนคนพื้นเมือง จึงสะสมทุนได้มากกว่า มีแรงจูงใจในการทำงานมากกว่า จึงขยันกว่าเป็นธรรมดา

ที่เล่าอ้อมค้อมมาขนาดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ความขี้เกียจ ความมักง่าย ความขยะท่วมเมือง มันไม่น่าจะอธิบายได้ง่ายๆ ว่า อ๋อ เพราะเป็น “คนไทย”

ทะเลถุงก๊อบแก๊บที่เชียงตุง กับทะเลขวดพลาสติกที่ลาว น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนผ่านจากโลกของการใช้ใบตอง ใช้ภาชนะที่เป็นวัสดุย่อยสลายได้ ดังนั้น จึงไม่มีคอนเซ็ปต์ของการมีถังขยะ อย่าว่าแต่การแยกขยะ อย่าลืมว่า “ขยะ” นั้นแสนจะเป็น “นวัตกรรม” ไม่ต่างอะไรจากการมีส้วม ที่ต้องการการเข้าใจเรื่อง “ของเสีย”, “ของที่ต้องทิ้ง” กับการจัดการ “พื้นที่” ในชีวิตและเมืองอีกแบบหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อวัตถุใหม่ๆ เช่น พลาสติก และสินค้าในโลกสมัยใหม่ที่มีคอนเซ็ปต์เรื่องการจัดการกับ “ของทิ้ง” อันไม่ย่อยสลายไปในธรรมชาติ เข้าไปอยู่ในชีวิตของคนที่ใช้ใบตอง กินเสร็จก็โยนทิ้งข้างบ้านหรือลงน้ำไปได้

ภาพทะเลถุงก๊อกแก๊บจึงบังเกิด ไม่ใช่เพราะไม่มีวินัย แต่สังคมนั้นยังไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่อง “ขยะ” และยังไม่เห็นว่าทะเลถุงก๊อบแก๊บนั้นมันแปลกตรงไหน

แต่ประเทศไทยและสังคมไทย ฉันไม่แน่ใจว่าเรามีคอนเซ็ปต์เรื่อง “ขยะ” แบบสมัยใหม่แล้วหรือยัง?

เราเข้าใจแล้วว่า เราจะอึ ฉี่ ในคลองไม่ได้ หรือเราจะมาอึที่สนามหน้าบ้านไม่ได้ ต้องอึในห้องน้ำที่มิดชิด ในส้วมที่ถูกสุขอนามัยเท่านั้น

แต่เราอาจจะไม่เข้าใจว่า การทิ้งขยะเรี่ยราดในที่ต่างๆ ทั้งบนถนน คลอง หรือการล้างจานบนถนน ทิ้งเศษอาหารลงท่อระบายบนทางเท้านั้น มันโป๊และอุจาดพอๆ กับการถลกกางเกงลงนั่งยองๆ ขี้อยู่ข้างทาง!

เคยอ่านข่าวเรื่องผู้โดยสารแท็กซี่ชาวจีนปวดอึ แล้วสามารถถอดกางเกงนั่งอึในแท็กซี่หรือนั่งฉี่ที่พื้นบีทีเอสใช่ไหม?

คือ เราอ่านแล้วช็อก รับไม่ได้ แล้วไม่เข้าใจว่า ทำไปได้ยังไง (ทั้งที่สัก 50 ปีก่อน คนไทยจำนวนหนึ่งสามารถถลกผ้าถุงฉี่ข้างทาง ริมรั้วได้แบบปกติมาก (ยายฉันเป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น) หรือการยืนฉี่ข้างถนนของมนุษย์เพศชาย)

ตัดกลับมาที่ภาพเด็กหญิงห้าขวบที่ทิ้งถุงขนมลงพื้นได้เลยทันที สำหรับฉัน สิ่งที่เด็กหญิงคนนั้นทำ กับสิ่งที่ผู้โดยสารชาวจีนทำ คือนั่งฉี่บนบีทีเอส ไม่ได้ต่างกัน

คือ ทั้งคู่ไม่ได้เข้าใจเรื่อง “พื้นที่” และ “ของเสีย” เหมือนที่เราเข้าใจ เหมือนโลกสองใบที่เหลื่อมกันอยู่

เพราะฉะนั้น การจะแก้ปัญหาเรื่อง “ขยะ” ไม่ใช่เรื่องการไปเรียกร้องว่าคนไทยต้องเอาเยี่ยงอย่างคนญี่ปุ่น แต่ต้องคิด 3 ขั้นด้วยกันคือ

1. ทำอย่างไรจะให้คนไทยเห็นว่า การทิ้งขยะในที่สาธารณะเป็นเรื่องอุจาดเท่าๆ กับการนั่งยองๆ ลงขี้ข้างถนน

2. การสร้างวินัยในการใช้พื้นที่สาธารณะ สามารถสร้างได้บนเงื่อนไขของการทำให้พลเมืองทุกคนเข้าใจว่า ประเทศชาติเป็นของเขา พื้นที่สาธารณะเป็นของพลเมืองที่มีสิทธิและเสรีภาพเท่าๆ กัน และพึงเคารพกันไปมา ถนนเป็นของทุกคน ทางเท้าเป็นของทุกคน ใช้ร่วมกัน

เลิกสร้างวินัยแบบทำให้คนไร้สมอง สมยอมต่ออำนาจ เชื่อฟังคำสั่ง ยืนแถวตรง เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่วินัย แต่คือการทำให้คนสะสมพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอก ทำตามกฎเพราะกลัวถูกลงโทษ ทำตามกฎเพราะกลัวผู้คุม พอไม่มีใครเห็นปุ๊บ ก็จะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามทันที

คนไทยชินกับการถูกทำให้เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกแบบนี้ จึงพยายามหาโอกาสแหกกฎ แหกได้เมื่อไหร่ รู้สึกว่าชนะ หรือการสามารถ “แหกกฎ” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความ “เจ๋ง” ความเป็นอภิสิทธิ์ชน จอดรถในที่ห้ามจอดได้โดยที่ตำรวจไม่จับ แปลว่า “เส้นใหญ่” แปลว่า “มีอำนาจ” น่าเกรงขาม

3. รัฐบาล (อันที่จริงควรเป็นเรื่องของระดับท้องถิ่นที่สุด) ต้องทำให้การทิ้งขยะอย่าง “ถูกต้อง” เป็นความสะดวก เช่น ต้องทำให้การรีไซเคิลขยะ หรือการแยกขยะ เป็นสิ่งที่ทำแล้ว “ได้ประโยชน์” เช่น บ้านที่แยกขยะอย่างถูกต้องตาม instruction ของเทศบาล จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีขยะ 1 ปี และได้เงินรางวัล หรือได้สิทธิประโยชน์ของการใช้ฟิตเนสของเทศบาลฟรี หรืออะไรก็แล้วแต่

เมื่อพูดถึง instruction หรือคู่มือ เทศบาล อบต. ต้องออกคู่มือการจัดการขยะให้เป๊ะ ทำให้สวย อ่านเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เช่น ขายถุงขยะของเทศบาลเอง ที่ออกแบบมาสำหรับการแยกขยะโดยเฉพาะ

โดยเฉพาะขยะเปียกที่เป็นเศษอาหาร จะเอาเครื่องย่อยสลายเศษอาหาร หรือจะเอาแค่ขายตาข่ายกรองเศษอาหารก่อนล้าง แทนการทิ้งลงท่อ ก็ต้องออกแบบมาให้ใช้ได้ง่าย ใช้ได้จริง เพราะหลักการมันง่ายมากคือ อะไรที่ง่าย คนย่อมอยากทำ ที่คนไทยไม่แยกขยะ เพราะยังรู้สึกว่ามันยุ่งยาก

แต่ฉันค่อนข้างเชื่อว่า ถ้ามีตัวช่วย เช่น มีถุงขยะที่ถูกออกแบบมาเพื่อการแยกขยะโดยเฉพาะ น่าจะช่วยได้มาก และการกำหนดวันเก็บขยะ แต่ละเทศบาลควรกำหนดไปเลยว่า วันอะไรเก็บขยะธรรมดา วันอะไรเก็บขยะรีไซเคิล ห้ามเอามามั่วทิ้งผิดวัน

ส่วนสตรีตฟู้ดเจ้าปัญหา ทั้ง กทม. และเทศบาลต่างๆ ต้องระดมสมองจริงจังว่า จะจัดการเรื่องสุขาภิบาลกันอย่างไร จะปล่อยให้ล้าง ทิ้งกันกลางถนนแบบนี้ไม่ได้!!!!!!!

ถ้ายังอยากทำมาหากินกับสตรีตฟู้ด เทศบาลก็ต้องลงทุน วางแผน ออกแบบระบบสุขาภิบาลที่ถูกต้องให้เขา และตรวจตราอย่างเคร่งครัดเพราะมันหมายถึงสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย

เรื่องขยะและการกำจัดของเสีย ไม่ใช่เรื่องสันดาน แต่เป็นเรื่องการจัดการ

ถ้าเราทำให้คนไทยเลิกขี้ลงคลองได้

ฉันเชื่อว่า เราก็ต้องสามารถทำให้คนไทยแยกขยะและทิ้งขยะในที่ทางของมันไม่เรี่ยราดได้