ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทศกัณฐ์ ศึกชิงนาง กับการค้าโลกข้ามสมุทร

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นักปราชญ์รุ่นเก่าก่อนมักจะอธิบายถึงเรื่องราวในมหากาพย์ “รามยณะ” ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “พระราม” และ “ทศกัณฐ์” (ในอินเดียเรียก “ราวณะ” ซึ่งก็ตรงกับที่ไทยเรียก ท้าวราพณ์ ในบางครั้ง) คือ ร่องรอยการต่อสู้แย่งชิงดินแดนกันระหว่าง “อารยัน” ผู้มาใหม่ที่มีพระรามเป็นสัญลักษณ์ กับพวก “ดราวิเดียน” ชนพื้นเมืองในชมพูทวีปที่มีทศกัณฐ์เป็นภาพแสดงแทน

ในขณะที่พวกลิงหมายถึงชนพื้นเมืองที่หันมาเข้าร่วมกับอารยัน

ส่วนพวกยักษ์หมายถึงชนพื้นเมืองที่ยังยึดมั่นอยู่กับพวกพ้องชนชาติเดิมของตนเอง

พระรามในฐานะของอารยันย่อมช่วงชิงเอาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินคือ “นางสีดา” หรือ “สีตา” ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า “รอยไถ”

ดังนั้น ในรามยณะ “สีดา” จึงต้องเกิดจากรอยไถ ที่เกี่ยวโยงถึง “แผ่นดิน” ซ้ำยังต้องเป็นแผ่นดินที่อุดมให้พืชผลงอกงามได้ ไม่ใช่ผืนดินที่แล้งผากจนแห้งเหี่ยวผลิตผล

ในทางสัญลักษณ์เชิงวรรณกรรม สีดาจึงเป็นลูกสาวของภูมิเทวี หรือพระแม่ธรณี เพราะเธอคือผลผลิตอันอุดมที่ได้จากผืนดินที่ว่า

พวกอารยันที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่บนหลังม้าเคลื่อนตัวลงมาจากทางใต้ของทะเลสาบแคสเปียน บริเวณตอนใต้ของรัสเซีย ผ่านช่องเขาไคเบอร์ทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เข้าสู่ดินแดนที่มีชื่อว่าชมพูทวีป ก่อนจะรุกรานผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของพวกดราวิเดียน ชนพื้นเมืองที่มีอารยธรรมยิ่งใหญ่อยู่บริเวณลุ่มน้ำสินธุ ถอยร่นเลียบฝั่งอ่าวเบงกอลลงสู่ทางใต้ จนมีฐานที่มั่นท้ายสุดคือ “ลังกา” หรือกรุงลงกาของทศกัณฐ์

หลักฐานประกอบแนวคิดดังกล่าวยังมีชวนให้เชื่อคล้อยตามอีกหลายอย่าง ดังเช่นข้อมูลเชิงชาติพันธุ์ที่คนทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียใต้มักเป็นพวกแขกขาว (เชื้อสายอารยัน?)

ในขณะที่พวกอินเดียใต้ รวมถึงลังกา เป็นชาวทมิฬผิวดำคล้ำอย่างดราวิเดียนเสียเกือบทั้งสิ้น

แถมนี่ผมยังไม่นับรวมแนวคิดเรื่อง “วรรณะ” ที่มักนำไปผูกโยงเข้ากับเรื่องการแบ่งแยกสีผิวอีกนะครับ

ยิ่งเมื่อพวกพราหมณ์อินเดียเชื่อว่าพระรามเคยมีชีวิตอยู่จริง (ไม่ว่าจะมีอิทธิเดชอย่างในตำนานหรือไม่ก็ตาม) ก็ยิ่งชวนให้ความคิดดังกล่าวดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

ชาวอินเดียถือว่า “รามยณะ” เป็นวรรณกรรมประเภท “อิติหาสะ” แปลง่ายๆ ว่า วรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์ที่เล่าถึงเรื่องราว หรือวีรกรรมของบุคคลที่เคยดำรงชีวิตอยู่จริง คล้ายกับคำว่า “epic” ของฝรั่ง

แต่ไทยเราไพล่ไปแปล epic ด้วยคำศัพท์ที่ยืมมาจากแขกว่า “มหากาพย์” ทั้งที่ในความเข้าใจของแขกอินเดียคำว่า มหากาพย์ หรือ มหากาวยะ หมายถึงร้อยกรองที่ประพันธ์ได้อย่างไพเราะจับใจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของวีรบุรุษเลยสักนิด

คำอธิบายที่ว่าจึงฟังดูสมเหตุสมผล เพราะคิดในฐานของประวัติศาสตร์ฉบับดั้งเดิมที่มักจะเขียนขึ้นภายใต้กรอบคิดแบบอาณานิคมที่เต็มไปด้วยความพยายามแบ่งแยกแล้วปกครอง เพื่อประโยชน์สำหรับคนผิวขาว

อคติเรื่องเชื้อชาติ และการสงครามระหว่างกลุ่มชนถูกนำมาผลิตซ้ำอย่างไม่รู้เบื่อในประวัติศาสตร์แบบที่ว่า แล้วใครล่ะจะไปเสียเวลาสงสัยว่า นอกเหนือจากความหึงสาพยาบาทของพระรามแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะรบกันไปทำไม?

สงครามในประวัติศาสตร์แบบที่ว่า จึงกลายเป็นเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่ทางกายภาพแบบเบ็ดเสร็จอยู่เสมอ

แต่ที่จริงแล้ว พระรามจะทำสงครามกับทศกัณฐ์เพื่อแย่งชิงพื้นที่อันอุดมของชาวพื้นเมืองให้แก่พวกอารยันจริงๆ หรือครับ?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้จำเป็นต้องยอมรับเสียก่อนว่า เชื้อชาติ (race) เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่เกิดจากความพยายามในการสร้างจินตกรรมของความเป็น “ชาติ” ในสมัยอาณานิคม

ช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่ทางกายภาพทั่วทั้งโลกถูกล้อมเข้าด้วยกรอบบนแผ่นกระดาษ ที่เรียกว่า “แผนที่” ทำให้ดินแดนต่างๆ มีอาณาเขตเฉพาะ และสัมพันธ์อยู่กับ “เชื้อชาติ” ที่ถูกสมมติขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เชื้อชาติสมมติเหล่านี้ยังถูกสร้างให้มีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง จากวัตถุสถานเก่าแก่ที่พบอยู่ในบริเวณของกรอบเขตแดนที่ล้อมไว้บนแผ่นกระดาษเหล่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงว่า ของเก่าแก่ต่างๆ ที่ว่านั้นจะเกี่ยวโยงกันอยู่กับกลุ่มชนที่ถูกสถาปนาว่าเกี่ยวข้องกับกรอบดินแดนแห่งนั้นหรือไม่

ผลที่ตามมาคือ หลักฐานเก่าแก่ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ย่อมไม่สัมพันธ์กับวัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มใหญ่ที่ถูกสถาปนาว่าเป็นเชื้อชาติสมมติเจ้าของพื้นที่ในปัจจุบันนั้นๆ เสมอไป

ปัญหาต่อเนื่องที่ตามมาก็คือ บางส่วนของประวัติศาสตร์ที่ไม่เข้ากันกับประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ กลายเป็นสิ่งแปลกปลอม และมักถูกอธิบายว่า เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม (แน่นอนว่ายอมเป็นคนละเชื้อชาติกับผู้มาใหม่) ที่ถูกรุกรานจากผู้ที่อพยพขนานใหญ่เข้ามาใหม่ (ซึ่งเป็นคนละเชื้อชาติ) จนเกิดเป็นประวัติศาสตร์บาดหมางระหว่างคนกลุ่มใหญ่ และคนกลุ่มน้อยในพื้นที่

ข้อมูลการขุดค้นในเอเชียกลาง ลุ่มน้ำสินธุ และอีกหลายแห่งในบริเวณพื้นที่ระหว่างทางตอนใต้ ของรัสเซียถึงทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียใต้ แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อเรื่องอารยันอพยพครั้งใหญ่ เข้าไปรุกรานพวกชนพื้นเมืองในอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ ในคราวเดียวเมื่อราว 4,000-3,500 ปีที่แล้ว เป็นเพียงเรื่องตลกร้ายทางประวัติศาสตร์

เพราะคนสองกลุ่มนี้ไม่เพียงรู้จักกันมาก่อน ซ้ำยังรู้จักกันเป็นอย่างดีผ่านเครือข่ายทางการค้าในโลกยุคเก่า

การขยายตัวของวัฒนธรรม รวมไปถึงกลุ่มชาวอารยันทางตอนเหนือของชมพูทวีป กับการขยายตัวขนานใหญ่ของชุมชนดราวิเดียนพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียใต้ ในพื้นที่ประเทศอินเดียปัจจุบัน โดยเฉพาะทางตอนใต้ และพื้นที่เลียบชายฝั่งทั้งหลาย ดูจะไม่เรียบง่ายอย่างที่เคยอธิบายกันว่าเป็นเพราะการรุกรานของพวกอารยัน ที่ทำให้ชนพื้นเมืองถอยร่นลงทางใต้ และมายาคติเรื่องความหึงสาพยาบาทของพระราม

แน่นอนว่าในพระเวท โดยเฉพาะส่วนที่เก่าที่สุดอย่างฤคเวท ซึ่งน่าจะประพันธ์ขึ้นในช่วงร่วมสมัยกับเหตุการณ์ที่ว่าปรากฏชื่อของพระราม สีดา ทศกัณฐ์ และใครอีกหลายคน

แต่เท่าที่ผมทราบก็ไม่มีตอนไหนระบุว่าคน หรืออาจจะเป็นเทวดาเหล่านี้รบพุ่งกันเพราะความหึงสาพยาบาท

รามายณะแบบที่เราๆ ท่านๆ รู้จักเป็นเรื่องที่ประพันธ์สมบูรณ์ในช่วงหลังจากนั้นมาแล้ว

นับตั้งแต่มีการนำโลหะมาใช้ประโยชน์ เข้าสู่โลกยุคสำริด เรื่อยไปจนกระทั่งถึงยุคเหล็ก การค้าโลกพัฒนา และกว้างไกลมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการค้าข้ามสมุทรด้วย

หนังสือ Periplus of the Erythrean sea (หมายถึง มหาสมุทรอินเดีย) เขียนขึ้นโดยนักเดินเรือชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 7 บันทึกไว้ว่า ในช่วงปลายของพุทธศตวรรษที่ 6 ชาวโรมันเชื้อสายกรีกคนหนึ่งชื่อ ฮิบปาลุส (Hippalus) ได้ค้นพบกระแสลมมรสุมที่พัดตรงไปมาระหว่างทะเลแดง กับชมพูทวีปในช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน

การค้นพบดังกล่าวก่อให้เกิดการเดินเรือตัดข้ามมหาสมุทร เป็นผลให้การค้าโลกขยายตัวขนานใหญ่ พ่อค้าสามารถเดินทางค้าขายระยะไกลได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น (ลมมรสุมนี้ภายหลังเรียกชื่อว่า ลมมรสุมฮิบปาลุส เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ)

ข้อความในหนังสือที่ว่า ยังมีหมายความซ่อนไว้อีกว่า ก่อนหน้าการโดยสารเรือระหว่างพื้นที่บริเวณเป็นการเดินเรือเลียบชายฝั่งทะเล

เมื่อมีการค้าบริเวณเลียบชายฝั่งทะเลจึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่ชุมชนเลียบชายฝั่งทะเลจะพัฒนาใหญ่โตขึ้นในช่วงยุคโลหะ

โดยเฉพาะเมื่อในหนังสือเล่มเดียวกันนี้เองยังมีข้อความระบุอีกว่า เรือจากฝั่งตะวันออกของชมพูทวีปไปยังสุวรรณภูมิ จะต้องใช้เรือท้องที่แล่นเลียบชายฝั่งไป โดยต้องเปลี่ยนเรือที่ปลายแหลมสุดของชมพูทวีป

ก็ตรงรอยเชื่อมระหว่างแหลมตอนใต้สุดของอินเดีย บริเวณเมืองราเมศวรัม กับเกาะลังกา ที่มีโขดหินธรรมชาติเชื่อมต่อเกือบจะบรรจบถึงกัน แล้วชาวอินเดียเรียก “ถนนพระราม” ด้วยเชื่อว่าพระรามเป็นคนสร้างเพื่อบุกไปยังเกาะลังกานั่นแหละครับ

ประเด็นหลังนี้ดูจะสัมพันธ์กับกรุงลงกาของทศกัณฐ์ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการค้าทางทะเล และการขยายตัวของชุมชนชาวพื้นเมืองในบริเวณประเทศอินเดียปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เลียบชายฝั่ง ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะมีคนอพยพขนานใหญ่มาสร้างบ้านแปลงเมือง แต่มีชุมชนท้องที่อยู่มาก่อนแล้ว

ผมจึงไม่แน่ใจนักว่าที่พระรามหึงสาพยาบาททศกัณฐ์ เป็นเพราะที่นาผืนน้อย หรือรายรับจากค่าต๋ง และบรรดาสินค้าแบรนด์เนมในการค้าโลกข้ามสมุทรยุคโบราณ? และก็ยิ่งไม่แน่ใจเข้าไปใหญ่ว่า ระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์จริงหรือไม่?

รู้ก็แต่ที่ ทศกัณฐ์ มีโอกาสเดินทางมาขี่ม้า นั่งตุ๊กตุ๊ก แคะขนมครก หรืออะไรต่อมิอะไรอีกสารพัดในประเทศไทย ก็เป็นเพราะการค้าโลกข้ามสมุทรเดียวกันนี้แหละครับ