นงนุช สิงหเดชะ/เมื่อนักการเมืองไทย ‘โหนกระแส’ เลือกตั้งมาเลย์

รายงานพิเศษ /นงนุช สิงหเดชะ

 

เมื่อนักการเมืองไทย

‘โหนกระแส’ เลือกตั้งมาเลย์

 

ผลการเลือกตั้งมาเลเซียเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งพลิกล็อกครั้งใหญ่ เมื่อมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจมานาน 22 ปี สามารถโค่นนาจิบ ราซัก ลงจากตำแหน่งได้ กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกและถูกนานาชาติจับตามองอย่างมากเกี่ยวกับความเป็นไปของมาเลเซียหลังจากนี้

เมื่อผู้เฒ่าวัย 92 ปีต้องหวนกลับมากอบกู้ประเทศอีกครั้ง กลายเป็นนายกฯ ที่มีอายุมากที่สุดในโลก

แน่นอนว่าในเมื่อเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาเซียนด้วยกัน ก็หนีไม่พ้นที่นักการเมืองไทยจะรีบ “โหนกระแส” นำมาตีวัวกระทบคราดไปยังรัฐบาลปัจจุบันคือ คสช.

นัยก็คือเพื่อเร่งเร้าให้ คสช. จัดเลือกตั้งโดยไว

แกนนำพรรคเพื่อไทย ฉวยโอกาสหยิบยกเอากรณีเลือกตั้งมาเลเซียมาเป็นบทเรียนสอน คสช.ว่า “ไม่ว่าจะมีอำนาจมากล้น ยึดครองและควบคุมการบริหารประเทศมานานเพียงใด เหมือนพรรคอัมโน พรรครัฐบาลที่ครองอำนาจมาหลายสิบปี แต่หากคุณไม่ได้นั่งอยู่ในหัวใจประชาชน ไม่ได้บริหารประเทศโดยตอบสนองความต้องการของประชาชน เมื่อถึงวันเลือกตั้งจะเป็นวันที่พี่น้องประชาชนตัดสินรัฐบาล”

พร้อมกันนั้นก็ไม่วายตบท้ายตามสูตรสำเร็จว่า ถ้าอยากรู้ว่าประชาชนคิดอย่างไรกับรัฐบาล ต้องรีบจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แล้วจะได้รับคำตอบ จะได้ไม่ต้องมานั่งมโนเอาเอง

หากฟังจากน้ำเสียงของคนพรรคเพื่อไทย ก็คล้ายๆ จะพูดเน้นในประเด็นที่ว่า สาเหตุที่นายนาจิบ ราซัก พ่ายแพ้ก็เพราะใช้อำนาจมิชอบ ลิดรอนเสรีภาพประชาชน

โดยเฉพาะการออกกฎหมายควบคุมข่าวปลอมทางโซเชียลมีเดีย และบริหารโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของประชาชน

 

แต่อย่าลืมว่าปฐมเหตุใหญ่สำคัญที่ทำให้คนมาเลเซียไม่พอใจนายราซักในลักษณะสะสมมาเรื่อยๆ จนระเบิดครั้งใหญ่ ก็คือปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยการยักยอกเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งมาเลเซีย (1MDB) เป็นจำนวนถึง 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกลายเป็นประเด็นระดับโลก กระทั่งหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เข้ามาร่วมสอบสวนเส้นทางการโอนเงินของนายนาจิบ ราซัก

การสอบสวนนายนาจิบ ราซัก ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานในประเทศ ทั้งคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กำลังคืบหน้าไปด้วยดี แต่ก็หยุดชะงักลง เนื่องจากนายนาจิบได้เข้าแทรกแซง ด้วยการสั่งปลดอัยการสูงสุดที่มีบทบาทสำคัญในการสอบสวน

ก่อนจะจบลงด้วยการที่ว่าทางคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตออกมาสรุปผลว่าเงิน 700 ล้านดอลลาร์ในบัญชีส่วนตัวของนายนาจิบ เป็นเงินบริจาคโดยราชวงศ์ในตะวันออกกลาง แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมากกว่านั้น

อันนำมาซึ่งความคุกรุ่นของประชาชน กระทั่งนำมาสู่การก่อม็อบประท้วงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซียเมื่อปลายปี 2558 และต่อด้วยอีกระลอกใหญ่ในปลายปี 2559 เรียกร้องให้นายนาจิบลาออก

ม็อบครั้งนั้นเรียกว่าม็อบเหลือง-แดง มาเลเซีย โดยฝ่ายขับไล่รัฐบาลเป็นกลุ่ม “เบอร์เซะห์” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมในมาเลเซีย ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ จากนั้นก็เป็นไปตามสูตรเมืองไทยเป๊ะ คือมีฝ่ายเสื้อแดงออกมาระดมพลสนับสนุนรัฐบาลเผชิญหน้ากับฝ่ายเสื้อเหลือง

การประท้วงใหญ่ดังกล่าว มหาธีร์ได้ออกมาร่วมด้วยกับคนเสื้อเหลือง เพราะรับไม่ได้กับการทุจริตมหาศาล และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาตัดสินใจลงเลือกตั้งแข่งกับนายนาจิบ

โดยประเด็นสำคัญในการหาเสียงก็คือหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เขาจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคดีทุจริตกองทุน 1MDB อย่างจริงจัง รวมทั้งยกเลิกการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

การแข่งขันครั้งนี้เสมือนหนึ่งการแข่งขันระหว่างครูกับศิษย์ เพราะมหาธีร์อยู่พรรคอัมโนมาก่อนและก็เป็นผู้ผลักดันให้นายนาจิบขึ้นมาเป็นนายกฯ แต่ในเมื่อศิษย์ทำผิดมากมาย ผู้เป็นครูก็ต้องหอบสังขารลงสนามเลือกตั้งมาถือหางเสือคัดท้ายประเทศให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งที่ในวัย 92 ปีควรจะพักผ่อนได้แล้ว

นักวิเคราะห์บางคนอาจมุ่งเน้นไปยังประเด็นที่ว่าประชาชนไม่พอใจปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากนายนาจิบได้ลดอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อลดปัญหาขาดดุลงบประมาณ

แต่แท้จริงแล้วเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่มาสมทบภายหลัง แต่เรื่องยืนพื้นที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจคือการทุจริตกองทุน 1MDB ซึ่งเมื่อบวกกับการที่ก่อนเลือกตั้งนายนาจิบได้ออกกฎหมายควบคุมการปล่อยข่าวปลอมทางโซเชียลมีเดีย ที่ประชาชนมองว่ามีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ถูกขุดคุ้ยการทุจริต คือตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนพลิกไปเลือกมหาธีร์

กรณีของมาเลเซียกับไทย จะเปรียบเทียบกันได้หรือไม่ ก็สุดแท้แต่ใคร (นักการเมือง) จะหยิบประเด็นมาเข้าข้างตัวเอง

 

การที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าให้ คสช. ดูมาเลเซียเป็นบทเรียน แต่พรรคเพื่อไทยเองก็อย่าลืมนำบทเรียนที่เกิดกับพรรคเพื่อไทยในอดีตมาเป็นบทเรียนให้กับตัวเองด้วย

น่าสังเกตว่าในครั้งนี้คนของพรรคเพื่อไทย หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นทุจริตที่ทำให้นายนาจิบพ่ายแพ้เลือกตั้ง

เพราะถ้าพูดก็จะเข้าเนื้อตัวเองและทำให้คนประหวัดไปคิดถึงคุณทักษิณอีก

โดยเฉพาะประเด็นแทรกแซงองค์กรอิสระและองค์กรตรวจสอบ เพราะสิ่งที่นาจิบถูกกล่าวหาและพฤติกรรมของนายนาจิบเอง ว่าไปแล้วก็ดูละม้ายตามรอยคุณทักษิณมากกว่า

ประเด็นทุจริต เทียบกันแล้ว ก็ยังไม่แน่ว่า คสช. จะเลวร้ายย่ำแย่กว่ายุคคุณทักษิณ

ประเด็นดูด ส.ส. เทียบกันแล้วก็บอกไม่ได้ว่า คสช. มีพลังดูดเยอะกว่ายุคคุณทักษิณ เพราะยุคคุณทักษิณซื้อทั้งพรรคเสมือนการควบรวมกิจการบริษัท

ประเด็นใช้อำนาจและลิดรอนเสรีภาพประชาชน-สื่อ ก็ยังไม่ชัดว่ายุคคุณทักษิณดีไปกว่า คสช. เพราะว่าไปแล้ว ใช้เครื่องมือคนละแบบ

ยุค คสช. เห็นได้ชัดทางกายภาพ คือควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ

ส่วนยุคคุณทักษิณเนียนกว่าแต่ทรงประสิทธิภาพไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่า คือใช้อิทธิพลเชิงพาณิชย์แทรกแซงสื่อแบบเงียบๆ ซึ่งก็คือการปิดหูปิดตาประชาชนประการหนึ่ง

ยุคคุณทักษิณมาจากการเลือกตั้ง แต่ทำอันดับเสรีภาพของไทยตกจากอันดับ 30 ไปอยู่อันดับ 100 แต่ยุค คสช. ปัจจุบันอยู่อันดับ 130 ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความประหลาดอยู่ตรงที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่ทำอันดับเสรีภาพดิ่งลงเร็วรวดเดียว 70 อันดับนี่ไม่ธรรมดาเลย

ทอดทัศนานักการเมืองไทยโหนกระแสเลือกตั้งมาเลเซียแล้ว ก็ได้แต่ขำๆ ฮาๆ ระคนปลงและเวทนา สอนคนอื่นได้เป็นวรรคเป็นเวร แต่สอนตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าพรรคไหนก็เถอะ