จิตต์สุภา ฉิน : อย่าส่งข้อความหาคนที่กำลังขับรถ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ทุกครั้งที่มีการโพสต์คลิปวิดีโอของใครสักคนก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือจนพลัดตกคู ตกท่อ ตกน้ำพุ หรือเสียสมาธิจนขับรถชน

นอกจากคอมเมนต์ส่วนใหญ่จะไปทางหัวเราะเยาะเย้ยอย่างสนุกสนานแล้ว ก็มักจะไม่ลืมที่จะทิ้งท้ายว่านี่เป็นความผิดอันเกิดมาจากการโง่เขลา ขาดวิจารณญาณของคนที่ใช้โทรศัพท์เอง ถ้าหากรู้จักแยกแยะ เก็บโทรศัพท์ไว้ใช้ทีหลัง เรื่องก็คงจะไม่เกิดขึ้น

แต่เราคงไม่ทันได้คิดใช่ไหมคะว่าในกรณีที่ใครสักคนแชตบนมือถือในระหว่างขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น

ความผิดน่าจะต้องไปตกอยู่ที่ “ผู้ที่ส่งข้อความนั้นๆ” ด้วยหรือเปล่า

แนวคิดเรื่องนี้ได้มีการพูดถึงกันระยะหนึ่งแล้ว

หากเราส่งข้อความหาใครสักคนโดยที่เราไม่ได้ตระหนักว่าคนรับข้อความกำลังทำอะไรอยู่ก็คงจะไม่เป็นปัญหาอะไร

แต่ในกรณีที่เรารู้ทั้งรู้อยู่แก่ใจว่ากำลังส่งข้อความหาคนที่ขับรถอยู่ และคนคนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเช็กข้อความและตอบกลับทันทีด้วย

หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นเราอาจจะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เป็นผลพวงมาจากข้อความที่เราส่งไปด้วย

เว็บไซต์ Global News รายงานคำให้สัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านประกันและกฎหมายคนหนึ่งว่าต่อไปในอนาคตข้างหน้าคนที่ส่งข้อความหาใครก็ตามที่กำลังขับรถโดยรู้ดีว่าคนคนนั้นกำลังขับรถ จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

และได้อ้างการตัดสินคดีในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในปี 2009 รถกระบะขับชนชายคนหนึ่งที่ขี่จักรยานยนต์และมีภรรยาซ้อนท้ายมาด้วย

เจ้าหน้าที่พบหลักฐานว่าก่อนเกิดการชน เด็กหนุ่มผู้ขับรถกระบะได้มีการรับส่งข้อความกับเพื่อนสาวมาเรื่อยๆ เพียง 25 วินาทีหลังจากได้รับข้อความ รถที่เขาขับก็เบี่ยงเข้ามาในเลนของจักรยานยนต์และชนเข้าอย่างจัง ส่งผลให้ทั้งสามีและภรรยาบาดเจ็บหนักจนถึงขั้นเสียขา

สามีภรรยาตัดสินใจยื่นฟ้องเพื่อนสาวเจ้าของข้อความว่าเป็นผู้ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นด้วยการส่งข้อความคุยกับผู้ขับ ทั้งที่เธอก็น่าจะรู้ว่าเขากำลังขับรถอยู่เพราะได้ส่งแชตคุยกันตลอดตั้งแต่ฝ่ายชายขับออกมาจากลานจอดรถ

 

แม้ว่าคดีนี้จะจบลงด้วยการที่ศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเพื่อนสาวคนนั้นรู้ว่าเขากำลังขับรถจริง เพราะหลักฐานการส่งข้อความระบุเพียงเวลาที่ทั้งคู่โต้ตอบกัน ไม่ได้มีการเปิดเผยเนื้อความของข้อความออกมาด้วย

แต่ผู้พิพากษาก็บอกว่านี่ไม่ได้แปลว่าคนที่ส่งข้อความหาผู้รับที่กำลังขับรถจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุจะไม่มีความผิดแต่อย่างใด

ซึ่งก็หมายความว่าในกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการรับรู้ก็จะสามารถตัดสินให้คนส่งข้อความมีความผิดได้นั่นเอง

ซู่ชิงอ่านข่าวเรื่องนี้แล้วก็ทำให้กลับมานั่งคิดทบทวนตัวเองอยู่นานเลยค่ะ

ยอมรับสารภาพว่ามีบางครั้งที่เผลอส่งข้อความไปคุยต่อกับคนที่เขาเพิ่งจะบอกเราว่ากำลังขับรถอยู่

ซึ่งก็มักจะเป็นคนที่เราสนิทด้วยมากๆ จนลืมที่จะเกรงใจ

ทั้งหมดนี้คือความประมาทล้วนๆ เลยนะคะ

ประมาทคิดว่าผู้รับคงจะพิจารณาถ้วนถี่แล้วว่าอยู่ในสภาพการณ์ที่สามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพิมพ์ตอบข้อความได้โดยไม่เสี่ยงอันตราย ทั้งที่จริงๆ แล้วการนั่งอยู่หลังพวงมาลัยในเส้นทางการจราจรไม่ว่ารถจะเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่หรือไม่ก็ตามล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น

เพราะเมื่อสมาธิของคนขับไม่ได้อยู่กับถนนเบื้องหน้าหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นก็จะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์อะไรได้เลย

ในประเทศที่คนติดโทรศัพท์มือถือกันงอมแงมอย่างในประเทศไทย หันไปทางไหนก็เจอแต่คนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือไปเสียทุกที่

ทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดๆ บางอย่างว่าทุกคนควรสแตนด์บายอยู่หน้าจอมือถือตลอดเวลายกเว้นตอนนอน

ถ้าทักแชตไปควรต้องตอบกลับมาภายในไม่กี่นาทีจึงจะเป็นระยะเวลาการรอคอยที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อ อย่างคู่รัก หรือคนในครอบครัว เราก็มักจะคาดหวังว่าจะต้องมีการตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ถ้าหากช้ากว่าที่คิดก็จะเกิดความเป็นห่วงขึ้นมา

หลายๆ คนจึงเลือกที่จะตอบกลับข้อความทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่เข้าใจกัน กอปรกับนิสัยที่หากไม่มีโทรศัพท์มือถือวางอุ่นๆ อยู่ในฝ่ามือก็จะเกิดอาการไม่มั่นใจตัวเองขึ้นมาเสียดื้อๆ ก็ยิ่งทำให้เรามีแนวโน้มที่จะหยิบโทรศัพท์มาดูตลอดเวลา

ไม่เว้นแม้แต่เวลาที่กำลังบังคับยานพาหนะ

 

คืนวันหนึ่งบนถนนวิภาวดีที่รถติดหนัก ซู่ชิงนั่งมองรถคันที่อยู่เลนข้างๆ ค่อยๆ ออกตัวไปช้าๆ แล้วชนเข้ากับท้ายรถคันข้างหน้าที่จอดติดอยู่นิ่งๆ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเกิดจากอะไร เพราะคนขับจมจ่อมอยู่กับโลกในโทรศัพท์มือถือที่สาดแสงสีฟ้ามาอาบทั่วใบหน้า

ทั้งคู่เปิดประตูลงมาเจรจากัน รถที่ติดอยู่แล้วก็ติดหนักยิ่งกว่าเดิม และคนขับก็ได้ทำให้ทั้งตัวเองและคนอื่นกลับบ้านช้ากว่ากำหนดไปเป็นชั่วโมง

โชคดีที่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในตอนที่รถทุกคันเคลื่อนที่ได้ช้าๆ ถ้าเปลี่ยนสถานการณ์นี้เป็นถนนที่รถวิ่งด้วยความเร็วปกติ หรือทางด่วนที่รถวิ่งเร็วกว่าปกติ ความเสียหายคงรุนแรงกว่านี้มากมาย

คำถามต่อมาก็คือ แล้วจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

ถ้าดูจากการตัดสินคดีที่ยกตัวอย่างมา ก็มีแนวโน้มว่าต่อไปในอนาคตคนส่งข้อความก็จะต้องรับผิดชอบด้วย

ดังนั้น ในตอนนี้เราควรเริ่มสร้างนิสัยการส่งข้อความหากันเสียใหม่ ตั้งกฎเหล็กให้กับตัวเองว่าหากเรารู้ว่าใครกำลังขับรถอยู่ หรือมีแนวโน้มที่จะกำลังขับรถอยู่ จงห้ามตัวเองให้ไม่ส่งข้อความไปคุย

หากมีเรื่องด่วนให้เลือกใช้การโทรศัพท์แทนเพราะผู้รับยังเลือกที่จะรับสายผ่านทางบลูทูธหรือลำโพงได้ ซึ่งปลอดภัยกว่าการต้องละสายตาจากท้องถนน

สำหรับคนขับที่รู้ตัวว่าเป็นคนติดโทรศัพท์มือถือและมีแนวโน้มที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูทุกครั้งที่หน้าจอสว่างวาบด้วยคำแจ้งเตือน ลองศึกษาฟีเจอร์ต่างๆ ที่ช่วยให้โทรศัพท์เข้าสู่โหมด “ห้ามรบกวน”

เช่น ในไอโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการไอโอเอส 11 มีโหมดที่ใช้สำหรับการปิดการรบกวนในระหว่างขับรถโดยเฉพาะ

ส่วนโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์เองก็มีหลากหลายแอพพลิเคชั่นที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่แล้วหน้าที่ของแอพพลิเคชั่นเหล่านี้คือการปิดไม่ให้คำแจ้งเตือนมาทำให้หน้าจอสว่างขึ้นจนดึงความสนใจ ป้องกันไม่ให้สายที่ไม่สำคัญหลุดรอดเข้ามา และมีข้อความตอบกลับไปหาผู้ส่งโดยอัตโนมัติว่าผู้รับกำลังขับรถ

ซู่ชิงเขียนอธิบายวิธีการเปิดใช้งานและแอพพลิเคชั่นที่แนะนำไว้แล้วทางโซเชียลมีเดียที่ระบุเอาไว้ข้างบนคอลัมน์นี้นะคะ

เนื่องจากเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเตือนภัยเรื่องนี้ให้เป็นวงกว้าง หัวข้อนี้ก็เลยได้มาอยู่ในคอลัมน์ในแบบฉบับของกระดาษให้พลิกอ่านกันได้ด้วย

อ่านเสร็จแล้วก็อย่าลืมเตือนคนข้างๆ ด้วยนะคะ