ธุรกิจพอดีคำ : “คลาสเรียน เปลี่ยนชีวิต”

“กวีวุฒิเป็นคนที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อการศึกษาของเด็กๆ มัธยมและมหาวิทยาลัยมาตลอดทั้งชีวิตการทำงาน

เขาได้เปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไปหลายๆ อย่าง

ทำให้มหาวิทยาลัยได้เห็นถึงความสำคัญของทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร

ในเวลานั้นเองยังไม่ค่อยมีที่ไหนสอนกัน

กวีวุฒิได้สร้างต้นแบบของการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบใหม่ ทำให้การเรียนในเรื่องเหล่านี้ได้ประสิทธิภาพ

จนเป็นมาตรฐานมาจนถึงทุกวันนี้

ที่นักเรียนกว่าหมื่นคนได้นำไปใช้ในการทำตามความฝันของตัวเองให้เป็นจริง

หรือแม้แต่องค์กรต่างๆ ก็สามารถเฟ้นหานักศึกษาที่ไม่ได้มีดีแค่เกรด

แต่มีทักษะความเป็นผู้นำที่ผ่านระบบการประเมินผลที่น่าเชื่อถือเป็นมาตรฐาน

กวีวุฒิได้สร้างชุมชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มีไฟที่จะร่วมมือกันทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม โดยไม่รอใครมาสั่ง

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา กวีวุฒิได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราไม่ต้องรอรัฐบาล หรือให้ใครมาเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่เราไม่ชอบใจ

คนละไม้คนละมือ เราสามารถช่วยกันยกระดับสังคมของเราให้ดีขึ้นได้

การลงมือทำท้าทายสิ่งที่ยากเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้

ผมดีใจที่กวีวุฒิได้เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ อีกนับหมื่นๆ คนได้เดินตามความฝันของตัวเอง

และใช้ความสามารถของพวกเขาเพื่อทำให้ประเทศของเราดีขึ้น”

ติ๊ต่าง “สุนทรพจน์” พิเศษ กล่าวโดยเพื่อนสนิทที่สุดของผม

พูดให้ผมในวันฉลองงาน “เกษียณ”

ผมเขียนให้ตัวเองเมื่อหลายปีก่อน

ทำไมน่ะหรือ…

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอีกสัปดาห์ที่ผมมีความสุขมาก

วิชา “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)” ที่ผมสอนที่ “จุฬาฯ”

นิสิต 43 คน จาก 13 คณะ จากทุกชั้นปี

เรียนรวมกันทั้งหมด ทุกพุธบ่าย ครบหนึ่งเทอมพอดี

นำทุกอย่างที่เคยเรียนตอนอยู่ที่ “อเมริกา” มาสอน

ทั้งเรื่องการสร้าง “นวัตกรรม (Innovation)” ในการทำงาน

และการใช้ชีวิต

ตอนจบคลาส น้องๆ เอา “กล่อง” ใบหนึ่งมาให้

เปิดข้างใน ก็มี “รูปถ่าย” การเรียน การสอน ที่น้องๆ ทำมาให้

พร้อม “ข้อความ” แสดงความรู้สึก

“เมื่อก่อนได้ตามอ่านที่เพื่อนๆ เขียนในเฟซบุ๊ก

ก็ได้เรียนรู้ว่าเขาเรียนอะไร แต่ไม่เข้าใจ นึกภาพไม่ออก

จึงอยากเข้ามาเรียนด้วยตัวเอง ให้ได้อารมณ์ความรู้สึกนั้นจริงๆ

แล้ว Design Thinking ก็ทำให้เทอมนี้เป็นเทอมที่พิเศษสุด

ทุกคนในคลาส เต็มไปด้วยพลังในการเรียนรู้ และ active มากเวลาทำงาน

สิ่งนี้เองที่จุดไฟในตัวเราอีกครั้ง ให้รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา

เราจะซึมซับสิ่งดีๆ เหล่านี้ไว้เป็นพลังในการเรียนรู้ต่อไป

พี่ต้องได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์มากมาย ที่จะเติบโตไปเป็น “คนที่ดี” ในโลกการทำงาน

เป็นคนที่มีพลังเหลือเฟือ ที่จะเรียนรู้

คลาสนี้ ทำให้เราค้นพบเป้าหมายอีกอย่างหนึ่ง

อยากจะสานต่อความตั้งใจของพี่ต้อง

ในอนาคตเราจะถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ มุมมองและแนวคิดต่างๆ

และส่งต่อพลังแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ต่อไปอย่างแน่นอน”

บัณฑิตใหม่ ที่กำลังเรียนจบออกมาเป็น “คุณครู” เขียนไว้

“การเอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีพลังบวกมากๆ

แต่ก่อนเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่นามธรรมมากๆ มันรู้สึกขนาดนั้นเลยหรือ

แต่พอเข้ามาอยู่ในคลาสแล้วมันให้ความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ นะ

พอเข้ามาแล้วรู้สึกอยากจะทำอะไร จะเปลี่ยนบางสิ่งทั้งตัวเองและสังคมเลย”

อนาคตคุณหมอฟันเขียนไว้

“ตั้งแต่วันนี้ไปหนูจะลงมือทำให้มาก

ทำๆๆ ไปเรื่อยๆ ทดลองตัวเองเป็นต้นแบบ (Prototype)

เชื่อว่าสักวัน หนูจะเป็นคนหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอนค่ะ”

อนาคตนักสถิติเขียนไว้

“คลาสนี้จะใช้คำว่าเปลี่ยนชีวิตได้เลย ก็ไม่ผิด

ดีใจยิ่งกว่าดีใจที่มีโอกาสได้เรียนกับพี่ครับ

รอดูอะไรเจ๋งๆ จากพวกผมได้เลย”

อนาคต “นักธุรกิจชื่อดัง” เขียนไว้

“รอดูสิ่งดีๆ ที่เกิดจากสิ่งที่พี่ให้มาได้เลยนะครับ”

อนาคตวิศวกรเขียนไว้

เด็กๆ รุ่นใหม่มักจะประสบกับปัญหาหนึ่งเหมือนกันทุกคน ในช่วงมหาวิทยาลัย

“ผมจบไปทำอะไรดีพี่”

“ผมไม่มีเป้าหมายเลย ควรจะคิดอย่างไรดี”

มีหนึ่ง “แบบฝึกหัด” ที่ผมให้พวกน้องๆ นิสิตได้ลองทำ

นั่นคือการตั้ง “พันธกิจ (Mission)” ของตัวเองขึ้นมา

ไม่ต่างอะไรจาก “บริษัท” ที่ทำธุรกิจ

ถามว่า “พันธกิจ” คืออะไร

มี “นิยาม” มากมายของสิ่งนี้ในโลกธุรกิจ

แต่ที่ผมชอบมากที่สุดคือ “ทำไมคุณจึงมีชีวิตอยู่ (Why you exist)”

โลกใบนี้ มีคุณ กับ ไม่มีคุณ มันแตกต่างอย่างไร

ลองสมมุติสิว่า ในวันที่คุณเกษียณ ไม่ต้องทำงานแล้ว หรือแม้กระทั่งวันที่คุณเสียชีวิตลง

เพื่อนสนิทของคุณคนหนึ่ง ต้องพูด “สุนทรพจน์” เกี่ยวกับตัวคุณ ซึ่งจากไปแล้ว

เขาจะพูดถึงคุณ ให้คนที่มาร่วมงานฟังว่าอย่างไร

แน่นอนว่า “ความดีงาม” ที่คนจะพูดถึงกัน คงจะไม่ใช่ “เงินทอง ชื่อเสียง” ที่ใครๆ อยากจะมี

แต่คือ สิ่งที่เราทำเพื่อ “ผู้อื่น” ต่างหาก

บางที คำถามที่น้องๆ มักถามว่า “เราควรจะทำอะไรดี” อาจจะไม่พาเราไปพบเจอเป้าหมายใดๆ

หากเมื่อเราเริ่มคิดถึงตัวเองน้อยลง และมองออกไปรอบตัว ด้วย “ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)” เสียก่อน

เราจะพบกับ “ผู้คน” มากมาย ที่เราช่วยเขาได้ ผู้คนที่เขามีปัญหา

และเมื่อเราพบปัญหาที่เรา “แคร์” มากพอจะลงมือทำอะไรสักอย่าง

โลกใบนี้จะไม่ว่างเปล่า ไร้จุดหมายอีกต่อไป

เมื่อนิสิตได้สัมผัสกับ “ปัญหา” อันใหญ่หลวงของสังคมอย่างแท้จริง

แล้วเริ่มรู้สึกอยากจะช่วยกัน “แก้ไข”

นั่นแหละ “ชีวิต” ของพวกเขาจะเปลี่ยน

และ “สังคม” ของเรา ก็จะมี “ความหวัง”