วิกฤติศตวรรษที่21 : วิกฤติประชาธิปไตย / ความเคลื่อนไหวจาก ‘จอร์จ โซรอส’

วิกฤติประชาธิปไตย (4)

จอร์จ โซรอสกับมูลนิธิสังคมเปิดของเขา

จอร์จ โซรอส เป็นนักการเงินที่โด่งดังชาวสหรัฐเชื้อสายยิวฮังการี

เกิดปี 1930 ปัจจุบันอายุใกล้ 90 แต่ก็ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคัก

เขาเป็นนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง

มีสินทรัพย์จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 สูงถึง 8 พันล้านดอลลาร์

แม้ว่าในปี 2017 จะได้บริจาคเงินถึง 18 พันล้านดอลลาร์ ให้แก่มูลนิธิสังคมเปิดของเขาไปแล้ว

ครอบครัวโซรอสต้องเผชิญภัยและดิ้นรนเอาตัวรอดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อนาซีเยอรมันเข้ายึดครองฮังการีในปี 1944 หลังสงคราม ฮังการีอยู่ใต้ระบบปกครองคอมมิวนิสต์ โซรอสหนีไปอยู่กรุงลอนดอนในปี 1947 เข้าศึกษาที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งกรุงลอนดอน จนได้ปริญญาโททางด้านปรัชญา

ปี 1956 เขาเดินทางไปสหรัฐ ทำงานในธนาคารวาณิชธนกิจ ดูแลกองทุนอินทรีตัวเดียวและอินทรีสองตัว เขาตั้งตัวได้เมื่ออายุไม่ถึง 40 ปี โดยตั้งกองทุนอินทรีสองตัวขึ้นเป็นของตนเอง (1969)

จากกองทุนนี้ได้ก้าวสู่บริษัทจัดการกองทุนโซรอส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกองทุนบริหารความเสี่ยงที่มีอัตรากำไรสูงสุดเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี

ในช่วง 40 ปีนับแต่การก่อตั้ง และกองทุนควอนตัมที่โด่งดังไปทั่วโลก

โซรอสได้เริ่มเคลื่อนไหวเผยแพร่แนวคิดสังคมเปิดตั้งแต่ปี 1979 โดยอาศัยรายได้จากการลงทุนหรือการเก็งกำไรในตลาดการเงิน

เริ่มต้นที่ประเทศแอฟริกาใต้เพื่อต่อต้านลัทธิกีดกันสีผิวที่นั่น

แม้ได้ผลอย่างจำกัด แต่เขาก็ยังทุ่มเทต่อไป องค์กรและเครือข่ายของ “สังคมเปิด” ก็ได้ขยายตัวเป็นลำดับ

ในปี 2017 โซรอสได้โอนเงินให้แก่มูลนิธิสังคมเปิดก้อนใหญ่ถึง 18 พันล้านดอลลาร์ รวมเงินที่เขาบริจาคให้แก่มูลนิธินี้ตั้งแต่ปี 1984 กว่า 30 พันล้านดอลลาร์

ปัจจุบันมูลนิธินี้มีสาขาอยู่ในกว่า 100 ประเทศและมีเครือข่ายจำนวนมาก

มีภารกิจในการสนับสนุนบุคคลและองค์กรทั่วโลกในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลที่ตรวจสอบได้และสังคมที่ส่งเสริมความเป็นธรรมและความเสมอภาค

ยังให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับโรงเรียนถึงมหาวิทยาลัยแก่เยาวชนที่เด่นแต่ขาดโอกาส

สนับสนุนกลุ่มผู้อพยพในยุโรป ผู้ที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบ เช่น ผู้ติดยา ผู้ให้บริการทางเพศ การเคลื่อนไหวของโซรอสมีทั้งการต้านลัทธินาซี ลัทธิคอมมิวนิสต์ และลัทธิยึดมั่นตลาด (Market Fundamentalism) เพื่อรักษาสังคมเปิด ซึ่งจะช่วยให้ระบบทุนนิยมสามารถแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในตัวเอง และรักษาความเป็นศูนย์กลางโลกของตะวันตกไว้ได้

งานของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย เท่าๆ กับที่เขาวิจารณ์ฝ่ายต่างๆ

แต่เขายังคงได้รับการยอมรับในหมู่ผู้นำโลกเสมอ

“สังคมเปิด” – ที่มาทางความคิดของโซรอส

โซรอสกล่าวถึงสังคมเปิดไว้ในหลายที่

สรุปได้ว่า สังคมเปิดหมายถึงสังคมที่ตั้งบนฐานความคิดว่าไม่มีใครที่จะมาผูกขาดความจริง

เป็นสังคมที่ไม่ถูกครอบงำโดยรัฐหรืออุดมการณ์หนึ่งใด เป็นสังคมที่ชนส่วนน้อยและความคิดเห็นของคนส่วนน้อยได้รับการนับถือ

โซรอสได้แนวคิดสังคมเปิดจากประสบการณ์ตรงหลายประการ ได้แก่

ก) การยึดครองฮังการีของเยอรมนีในปี 1944-1945 ขณะเขาอายุได้ 13 เห็นภัยของลัทธินาซีอย่างชัดเจน พื้นเพครอบครัวเขาก็เป็นแบบระหว่างประเทศ เป็นยิวแต่ก็ไม่ได้สนับสนุนยิวสุดตัว และได้สร้างเอกสารปลอมอำพรางตนว่าเป็นคริสเตียนเพื่อหลบภัยนาซี ได้พบเห็นชาวยิวฮังการีหลายแสนคนถูกสังหาร ครอบครัวเขามีส่วนช่วยชาวยิวฮังการีจำนวนหนึ่งให้พ้นภัย หลังสงครามโลกฮังการีตกอยู่ในการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นระบบรวบอำนาจในอีกขั้วหนึ่ง โซรอสหลบจากฮังการีไปอาศัยอยู่ที่ลอนดอนที่เป็นสังคมเปิด

ข) ระหว่างเรียนวิชาปรัชญาที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน เขาเรียนกับคาร์ล ปอปเปอร์ (1902-1994) นักปรัชญาที่โดดเด่นของยุคนั้น ปอปเปอร์เขียนหนังสือสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสังคมเปิด ชื่อ “สังคมเปิดและศัตรูของมัน” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1945) ปอปเปอร์ชี้ว่าอุดมการณ์รวบอำนาจอย่างเช่นคอมมิวนิสต์และลัทธินาซี มีลักษณะร่วมอยู่อย่างหนึ่ง คือการอ้างว่าตนเป็นเจ้าของความจริงสูงสุดแต่ผู้เดียว แต่ในทางปฏิบัติความจริงสูงสุดไม่ได้เป็นสิ่งที่มนุษย์จะเข้าถึงได้ ระบบทั้งสองจึงใช้วิธีการกดขี่เพื่อบังคับให้สังคมต้องยอมรับวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ของตน

ปอปเปอร์แย้งว่าไม่มีใครสามารถผูกขาดความจริงได้ บุคคลย่อมมีทัศนะและผลประโยชน์ต่างกันไป ดังนั้น จำเป็นต้องมีสถาบันหลักขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ประกันเสรีภาพในการเลือกและเสรีภาพในการพูด รูปแบบขององค์กรสังคมแบบนี้เรียกว่า “สังคมเปิด” โดยมีอุดมการณ์รวบอำนาจเป็นศัตรู

ค) ประสบการณ์ตรงในการทำงานในตลาดการเงิน ทำให้โซรอสพัฒนาทฤษฎีสะท้อนกลับ (Reflexivity Theory) สรุปได้ว่า ในโลกของการเงินและโลกที่เป็นจริงในสังคม มีตัวแปรใหญ่สองตัวที่อยู่คู่กันและส่งผลสะท้อนแก่กันและกัน

ตัวแปรหนึ่งได้แก่ “ความตระหนักในตน” (ความสำนึกว่าตัวเองเป็นหน่วยที่ต่างกับผู้อื่นและต่างกับสิ่งแวดล้อม)

อีกตัวแปรหนึ่งได้แก่สิ่งแวดล้อม ความตระหนักในตนย่อมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมทั้งหลายเสมอ

ดังนั้น การสร้างมูลค่าทางตลาดในตลาดใดๆ ย่อมสะท้อนการปฏิบัติของผู้ที่มีส่วนร่วมในตลาดนั้นๆ ก่อให้เกิดวงจรทั้งดีและร้ายหรือวงจร “เฟื่อง-ฟุบ” ขึ้น

นั่นคือในทางปฏิบัติ นักลงทุนไม่ได้ตัดสินใจด้วยการยึดถือความเป็นจริง หากปฏิบัติจากการเห็นหรือเข้าใจว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร

การปฏิบัติจากความเข้าใจเช่นนั้นจะสะท้อนกลับมากำหนดความเป็นจริง หรือพื้นฐานของตลาดการเงินอีก ซึ่งพื้นฐานนี้จะกำหนดความตระหนักในตนของนักลงทุนอีก เป็นกระบวนการป้อนกลับไม่รู้จบ

วงจร “เฟื่อง-ฟุบ” ทางเศรษฐกิจและการเงินนี้ ช่วงการเฟื่องจะเป็นช่วงที่เหตุการณ์อำนวยต่อการปรับตัวของระบบเข้าสู่สมดุลได้ง่าย

ส่วนช่วงฟุบเป็นช่วงที่ห่างไกลจากการปรับตัวเองสู่สมดุล นักลงทุนควรจะได้ให้ความสนใจแก่ช่วงฟุบหรือช่วงไร้เสถียรภาพ เนื่องจากนักลงทุนกระแสหลักพากันเชื่อทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิค ที่เห็นว่าผู้คนและนักลงทุนปฏิบัติตนอย่างมีเหตุผล

การตัดสินใจทั้งหลายของนักลงทุนเมื่อรวมกันเข้าแล้ว ก็เป็นการตัดสินใจที่ดี เกิดความเชื่อขึ้นว่าตลาดมีประสิทธิภาพในการถ่วงดุลอุปสงค์และอุปทาน สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม และสามารถปรับตัวได้เข้าสู่ภาวะสมดุล และในภาวะสมดุล

ราคาจะสะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เปลี่ยนพื้นฐานนี้

ตัวอย่างเช่น นักลงทุนกระแสหลักทั้งหลายเชื่อว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในระดับชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเสมอ ในกรณีล่าสุดเกิดความเชื่อว่า การปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน

แต่หากนำหนี้เหล่านี้มาจัดกลุ่มอย่างเหมาะสมแล้ว ก็มีมาตรฐานดีไม่แพ้สินเชื่อชั้นดีในระดับเอเอเอ

แต่ในทางปฏิบัติ อสังหาริมทรัพย์ที่มีการปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวม มีราคาสูงขึ้นจนกระทั่งไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง เกิดฟองสบู่และแตกในที่สุด

โดยรวมตลาดและการเงินเป็นสิ่งที่ถูก “ปั้นแต่ง” ขึ้นเพื่อผู้มีอำนาจ เรื่องนี้โซรอสได้สรุปในหนังสือของเขาชื่อ “การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1987)

จากภัยนาซี-คอมมิวนิสต์สู่ภัยนายทุน

ในช่วงก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ขบวนการ “สังคมเปิด” ของโซรอสเน้นการเคลื่อนไหวในด้านการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธินาซีหรือลัทธิเหยียดผิว

แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ซึ่งเขาเห็นว่าเริ่มตั้งแต่การทลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 โซรอสยิ่งเห็นชัดขึ้นว่า ระบบทุนนิยมเองขึ้นมาเป็นภัยต่อประชาธิปไตยและสังคมเปิด และเป็นเป้าหมายที่จะต้องแก้ไขเป็นอันดับต้น

มีงานเขียนที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางความคิดนี้ ได้แก่ บทความชื่อ “การคุกคามของนายทุน” พิมพ์ครั้งแรกในวารสารดิ แอตแลนติกปี 1997

และหนังสือชื่อ “วิกฤติของทุนนิยมโลกและอันตรายต่อสังคมเปิด” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1998 (เริ่มเขียนตั้งแต่ก่อนวิกฤติการเงินเอเชียปี 1997 และเร่งตีพิมพ์เพื่อให้ทันสถานการณ์)

เนื้อหาในบทความชี้ว่า เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย พบว่าตะวันตกไม่ได้สนใจที่จะขยายสังคมเปิดออกไปเหมือนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีแผนมาแชล เป็นต้น

เขาได้ศึกษาไตร่ตรองเรื่องนี้อยู่หลายปี จนสรุปได้ว่าในตะวันตกได้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้น ด้านหนึ่งคือความเชื่อในอัศจรรย์ของตลาดเสรีว่าจะรักษาไว้ด้วยการปล่อยให้เอกชนแสวงผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่

ด้านหนึ่งเกิดความระเริงในกระบวนโลกาภิวัตน์ที่การค้าการลงทุนไหลเวียน อย่างเสรี มองไม่เห็นด้านวิกฤติและการไม่ได้สมดุลที่จะเกิดขึ้นตามทฤษฎีการสะท้อนกลับของเขา โซรอสเห็นว่า ตะวันตกควรต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่จากการเน้นเรื่องความมีเหตุผลที่เน้นกันมาตั้งแต่ยุคแสงสว่างทางปัญญา ในศตวรรษที่ 18 สู่เรื่องความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้เสมอและต้องคอยแก้ไข

สำหรับเนื้อหาในหนังสือมีอยู่สามส่วนสำคัญ

ส่วนแรกได้แก่ ระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่ดำรงอยู่ เอื้อต่อกลุ่มทุนการเงิน แต่ตลาดการเงินนั้นไม่เสถียรในตัวมันเอง ยิ่งเป็นตลาดโลกยิ่งไม่เสถียรมากขึ้น เห็นได้จากประสบการณ์จริง ว่ามีการสร้างสถาบันเพื่อป้องกันไม่ให้มันล่มสลายอยู่ตลอด

เช่น เราสร้างธนาคารกลางเพื่อการกำกับดูแล แต่สถาบันเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นเพียงผู้ปล่อยเงินกู้ในยามจำเป็น โดยมีขอบเขตการปฏิบัติในระดับชาติ เมื่อตลาดการเงินเป็นทั้งโลก เรามีสถาบันอย่างเช่นไอเอ็มเอฟเป็นต้น ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหามากกว่า เช่น เมื่อไอเอ็มเอฟปล่อยเงินกู้ ก็จะกำหนดเงื่อนไขแก่ประเทศที่กู้ยืม แต่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับประเทศที่ให้กู้ยืมต้องปฏิบัติ วิธีการช่วยเหลือแบบนี้ ก่อให้เกิดปัญหา “ภัยทางศีลธรรม” ขึ้น ซึ่งมักมาจากประเทศที่ให้กู้และต้องการปล่อยเงินกู้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้

ส่วนต่อมา คือคุณค่าของตลาดได้ซึมซ่านเข้าไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมอย่างเต็มที่ แต่ตลาดนั้นโดยพื้นฐานไม่มีศีลธรรม กระทั่งกล่าวได้ว่าไม่มีความเป็นมนุษย์ เพราะถือว่าทุกสิ่งเป็นสินค้า แต่ว่ามนุษย์นั้นต้องการศีลธรรม เราต้องการแยกว่าอะไรผิดอะไรถูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการตลาดไม่ได้นำมาพิจารณา ทำให้การตัดสินใจทางการเมืองและทางสังคมตีบแคบลง เช่น คุณค่าภายในของสิ่งไม่ได้รับการสนใจ (สนใจแต่มูลค่าแลกเปลี่ยน)

ส่วนที่สาม เศรษฐกิจโลกต้องควบคู่ไปกับสังคมโลก สังคมโลกในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “รัฐโลก” หากแต่เป็นสังคมโลกที่เปิด มีคุณค่าที่ร่วมกัน

รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่ไม่ได้ครอบงำโดยรัฐ จึงมีภาคประชาสังคมที่ควบคู่ไปกับภาครัฐ และภาคธุรกิจที่เป็นอิสระจากรัฐ

ปัญหาใหญ่มีอยู่ว่า ปัจจุบันเรามีเศรษฐกิจโลก แต่เรามีประเทศที่มีอธิปไตย ซึ่งมีระบบปกครองหลายแบบ และไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดว่าระบบทุนนิยมสร้างระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น เราจึงมีระบอบประชาธิปไตยที่ศูนย์กลาง แต่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจในประเทศชายขอบนั้นสนับสนุนการปกครองที่ไม่เป็นแบบประชาธิปไตยมากกว่า

ดังนั้น เราจึงจำต้องให้ความสำคัญแก่ “สถาปัตยกรรมทางการเมืองโลก” ไม่เพียงแต่ “สถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจโลก” นั่นคือ การมีระเบียบโลกที่มีเสถียรภาพ โลกสมัยสงครามเย็นมีระเบียบที่มั่นคง แต่ปัจจุบันโลกตกอยู่ในความไม่มั่นคง เต็มไปด้วยจุดที่ยุ่งยากหรือจุดเดือด จุดเดือดเหล่านี้เป็นเรื่องภายใน

แต่บางครั้งก็ปะทุขึ้นมาเป็นเรื่องระหว่างประเทศได้ เช่น กรณีสงครามกลางเมืองที่รวันดา

(ดูบทรายงานการสนทนาของจอร์จ โซรอส ชื่อ Crisis of Global Capitalism : Open Society Endangered – A New Book by George Soros ใน cfr.org 10.12.1998)

ความน่าสนใจและไม่น่าสนใจเกี่ยวกับโซรอส

โซรอสเป็นบุคคลพิเศษหาได้ยากในโลก ชีวิตและงานของเขามีสีสันและน่าสนใจอยู่หลายประการด้วยกัน

ประการแรก เขาเป็นมหาเศรษฐี มีชื่อเสียง

ประการต่อมา เขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่เหนียวแน่นในความคิดของตน มีความสามารถในการจัดตั้งและมีเครือข่ายในการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวาง

ประการที่สาม เขาเป็นผู้มองลึกและไกล มีความสามารถในการทำนายสูง

ท้ายสุดเขาเสนอหลักการดำรงชีวิตให้แก่เหล่านายทุนว่า หากคุณทำเงินได้มากกว่า ที่ต้องการใช้ ก็ควรบริจาคเงินนั้นเพื่อรักษาระบบทุนและระบอบประชาธิปไตยไว้

ความไม่น่าสนใจของโซรอส ก็คือเขาแก้ปัญหาอะไรไม่ได้มาก หลังจากทุ่มเทเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ความพยายามที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยและสังคมเปิดในที่ต่างๆ ทั่วโลก แม้แต่ในศูนย์กลางได้แก่ยุโรปและสหรัฐก็ล้มเหลว

พื้นที่สังคมเปิดของเขาเริ่มหดแคบ ชาตินิยมที่คับแคบขยายตัว มูลนิธิสังคมเปิดในฮังการีบ้านเกิดเขาเอง ก็มีข่าวว่าต้องย้ายออก เนื่องจากชาวฮังการีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเปิดรับผู้อพยพของเขา

ความไม่สำเร็จนี้อาจเนื่องจากเขาประเมินความอ่อนแอและความละโมบของผู้คนต่ำไป

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเคลื่อนไหวขึ้นเป็นผู้นำเสรีประชาธิปไตยของ “มาครง”