บทวิเคราะห์ : มหาธีร์-มหา “ชวน” ผลสะเทือน การเมืองมาเลย์ ปชป.อุ้มผู้เฒ่าสู้ “มหาดูด”

การเมืองมาเลเซียหลังปรากฏการณ์นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ชนะเลือกตั้ง ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวัย 92 ปี ถูกยกมาเปรียบเทียบการเมืองไทยหลากหลายแง่มุม

ทั้งในอดีต ก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในปัจจุบัน ภายใต้อำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอนาคต ในเรื่องการเลือกตั้ง

รวมถึงกระแส “พลังดูด” อดีต ส.ส. และนักการเมืองเข้าพรรคที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เป็นฐานรองรับการ “สืบทอดอำนาจ” ของรัฐบาลทหารปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังเป็นการจุดกระแสให้ชื่อของ “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกฯ ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในวัย 79 ปี กลับมาสว่างวาบอีกครั้ง ในเชิงเปรียบเทียบ ในเมื่อ “มหาธีร์” กลับมาได้

ทำไม “มหาชวน” จะกลับมาไม่ได้

ประเมินกันว่า การเกาะเกี่ยวกระแส “มหาธีร์” ปัดฝุ่นชื่อนายชวน หลีกภัย กลับมานำพรรค ท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สู้กับพรรค “พลังดูด” นั้น

ด้วยความที่นายชวน เป็นนักการเมืองอาวุโส มีภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์สุจริต มากบารมี น่าจะสร้างความหวั่นไหวให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการกลับมาครองอำนาจอีกครั้งหลังเลือกตั้ง ได้พอสมควร

แต่กระนั้นสิ่งที่ผู้ปลุกกระแส “ชวน” นึกไม่ถึง หรือเจตนามองข้ามไป ก็คือ แรงสะเทือนที่เกิดกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน

จากการให้สัมภาษณ์ ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ค่อยอนาทรร้อนใจในเรื่องการปลุกกระแสนายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกฯ เหมือนนายมหาธีร์เท่าใดนัก

พล.อ.ประยุทธ์มองว่า การเมือง การพัฒนาประเทศ การขจัดปัญหาความขัดแย้ง เป็นเรื่องของประเทศนั้นๆ จะนำมาเป็นบรรทัดฐานเปรียบเทียบกันไม่ได้ ประเทศไทยควรมีสถาปัตยกรรมทางการเมืองของตัวเอง

ต่างจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ค่อนข้างเดือดร้อนมากกว่า เนื่องจากประกาศจุดยืนมาตลอดว่า สมาชิกประชาธิปัตย์ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใคร

หากยึดตามคำประกาศของนายอภิสิทธิ์ การสนับสนุนนายชวนกลับมาเป็นนายกฯ ถ้าหากจะทำให้เป็นจริง หมายความว่านายชวนต้องลงจากหิ้ง กลับมายึดคืนเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสียก่อน

จากนั้นก็นำพรรคเข้าต้าน “พลังดูด” เปิดหน้าชนกับกลุ่มอำนาจแบบซึ่งๆ หน้า

ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่นายชวน ว่าต้องการทำเช่นนั้นหรือไม่

นายพีรยศ ราฮิมมูลา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนแรกๆ ที่เปิดประเด็นว่า จากการที่ชาวมาเลเซียเลือกนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด วัย 92 ปี กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ทำให้มีประชาชนภาคใต้ของไทยจำนวนมาก นึกถึงนายชวน หลีกภัย ว่าน่าจะยังสามารถหวนกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีได้

รวมถึงศิษย์เก่าอย่างนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กรณีนายมหาธีร์ทำให้หลายคนคิดว่านายชวนอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง และหากพรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเอง สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ ก็อาจสร้างปรากฏการณ์แบบนายมหาธีร์ได้

ตรงนี้เองทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องรีบออกมาตัดบท ก่อนกระแส “ชวน” จะเลยเถิดจน “ติดลมบน” ทำให้เก้าอี้หัวหน้าพรรคของตนเองต้องสั่นคลอนมากขึ้นเป็นสองเท่า

จากเดิมที่มีสมาชิกแกนนำ กปปส. ในคาถาของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น “หอกข้างแคร่” อยู่ในพรรคเต็มไปหมด ไม่รู้จะแผลงฤทธิ์ทิ่มตำเอาเมื่อไหร่

จึงเห็นได้ว่า ถึงนายอภิสิทธิ์จะเชิดชูปรากฏการณ์ในมาเลเซียว่า คือการที่ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและอำนาจรัฐ

แต่สำหรับกระแสชูนายชวนกลับมาเป็นนายกฯ ตามรอย “มหาธีร์” นั้น

นายอภิสิทธิ์กลับกล่าวว่า ถึงนายชวนจะอายุน้อยกว่า ทั้งยังเป็นนักการเมืองแบบอย่างในระบอบประชาธิปไตย มีคนเคารพศรัทธาจำนวนมาก ซื่อสัตย์สุจริต แต่นายชวนเองก็ปฏิเสธเรื่องรับตำแหน่งมาตลอด

“คนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนท่าน แต่ที่ผ่านมาท่านแสดงออกว่าท่านไม่รับ ในทำนองนั้น ก็เป็นเรื่องอนาคตที่ต้องว่ากันตามกระบวนการ”

นายอภิสิทธิ์ยังยืนยันเสียงแข็งว่า หากตนเองเป็นหัวหน้าพรรค ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเสนอโมเดลให้นายชวนอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ 1 บุคคลที่พรรคเสนอเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง จากทั้งหมด 3 ชื่อ

เนื่องจากจุดยืนของประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคต้องอยู่ลำดับที่ 1 ในบัญชีชื่อนายกฯ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ให้ความเห็นนายอภิสิทธิ์ยังเหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป และเชื่อว่าลูกพรรคส่วนใหญ่ก็เห็นเช่นนั้น รวมถึงนายชวนก็ยืนยันมาตลอดว่ายังสนับสนุนนายอภิสิทธิ์

“ไม่อยากให้นำกรณีนายมหาธีร์มาเปรียบเทียบ เพราะเป็นคนละบริบทกัน เนื่องจากนายมหาธีร์เป็นหัวหน้าพรรค และได้เป็นนายกฯ ตามกติกา” นายนิพิฏฐ์กล่าว

ก่อนที่จะ “โก โซ บิ๊ก” กว่านี้ นายชวน หลีกภัย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เคลียร์เรื่องราวทั้งหมดว่า

นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีกฎเกณฑ์กติกาต้องปฏิบัติ ดังนั้น โดยส่วนตัว ถึงจะมีเรื่องมาเลเซียหรือไม่มีก็ตาม ก็สนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว ส่วนข่าวที่มีผู้เสนอ ก็ขอขอบคุณในความหวังดี

คำให้สัมภาษณ์ของนายชวน สอดรับกับก่อนหน้านี้ที่เคยกล่าวยืนยัน หากใครเสนอชื่อตนเองเป็นหัวหน้าพรรคแข่งกับนายอภิสิทธิ์ ก็จะขอถอนตัว

แม้คำยืนยันของนายชวนจะทำให้สถานการณ์ในพรรคลดความอึมครึมลง แต่ก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด

ลูกพรรคส่วนหนึ่งยังต้องการให้เปลี่ยนตัวหน้าพรรค เนื่องจากมองว่านายอภิสิทธิ์ เหมือน “สินค้าชำรุด” ไม่สามารถนำมาเป็นจุดขายได้อีกต่อไป

บางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการวางตำแหน่งของพรรคไว้ในจุดที่เป็นศัตรูกับทั้ง คสช. และพรรคเพื่อไทย เพราะโดยศักยภาพของพรรคในเวลานี้ไม่สามารถเปิดศึก 2 ด้านพร้อมกันได้

ที่สำคัญการประกาศตัวอยู่ฝ่ายตรงข้าม คสช. ยังทำให้พรรคต้องเผชิญกับ “พลังดูด” รุนแรง

ขณะเดียวกันยังต้องคอยระวังกลุ่ม กปปส. ในพรรคที่จ้อง “แซะ” ตลอดเวลา จากการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำ กปปส. ยืนยันจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป

การตัดไฟแต่ต้นลมของนายชวน หลีกภัย ทำให้ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์หลัง “ปลดล็อก” ในเดือนมิถุนายน ลดความน่าตื่นเต้นลงไป

โดยเฉพาะการประชุมใหญ่ “รีเซ็ต” คณะผู้บริหารพรรค ตามร่างข้อบังคับพรรคที่ออกแบบใหม่ ด้วยการให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง

เนื่องจากในพรรควันนี้ ไม่มีใครแสดงตัวพร้อมเป็นคู่แข่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาจริงจะมีหรือไม่

ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากนายชวน หลีกภัย ผู้เฒ่ามากบารมีในพรรค ที่แม้แต่ “กำนันสุเทพ” ก็ไม่กล้าต่อกร

ในสภาพการณ์เช่นนี้การยึดครองเก้าอี้หัวหน้าพรรคอีกสมัยของนายอภิสิทธิ์ จึงแทบจะแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ในอีกมุมหนึ่งจะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านายอภิสิทธิ์ ยังต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของท่านผู้เฒ่าต่อไป

ท่ามกลางความคาดหวังของลูกพรรคบางส่วน ต้องการให้นายชวนกลับมานำพรรค ต้านพลังดูด หยุดสถานการณ์เลือดไหล ถึงขนาดยกเอาปรากฏการณ์มหาธีร์ขึ้นมาเป็นประเด็นปลุกเร้า แต่ก็ไม่สำเร็จ

ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันในพรรคประชาธิปัตย์ ส่อเค้าว่าจะถูกเก็บใส่ลิ้นชักไว้เหมือนเดิม เพิ่มเติมเข้ามาคือการรายล้อมด้วยความยินดีปรีดาของ คสช. และพรรคการเมืองคู่แข่ง

ที่มีความเชื่อมานานแล้วว่า การแข่งขันทางการเมืองจะง่ายขึ้นมาก หากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ไม่ใช่ “ชวน หลีกภัย”