กลับมาอีกครั้ง The Beatles at the Hollywood Bowl

โดย : วารี วิไล

กลับมาติดชาร์ต ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่า เดอะบีตเทิลส์ ไม่เคยตาย แม้ว่าสมาชิกร่อยหรอ จาก 4 เหลือ 2 คือ เซอร์พอล แม็กคาร์ตนีย์ กับริงโก้ สตาร์ ส่วน จอห์น เล็นนอน กับ จอร์จ แฮริสัน ลาล่วงไปก่อนแล้ว

อัลบั้มที่ว่านี้ก็คือ The Beatles at the Hollywood Bowl ในรูปของซีดี ปรับปรุงคุณภาพเสียงและเพิ่มเพลง นำมาวางจำหน่ายอีกครั้งเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้เอง เป็นจังหวะเดียวกับที่มีที่หนังสารคดีเดอะบีตเทิลส์ The Beatles : Eight Days a Week ว่าด้วยการออกทัวร์ของสี่เต่าทอง จากการแสดงที่เคเวิร์นคลับในลิเวอร์พูล ปี 1962 ถึงคอนเสิร์ตสุดท้ายที่ซานฟรานซิสโก ในปี 1966 โดย รอน โฮเวิร์ด ออกฉายพอดี

รอบนี้ The Beatles at the Hollywood Bowl เข้าอันดับ 7 ในชาร์ตบิลบอร์ดสัปดาห์ล่าสุด และอันดับ 3 ในชาร์ตอังกฤษ

วางขายครั้งแรกเป็นแผ่นไวนิลเมื่อปี 1977 หรือ พ.ศ.2520 เท่ากับ 39 ปีก่อนหน้านี้ โดยในครั้งนั้น ขึ้นอันดับ 2 ในชาร์ตบิลบอร์ด และอันดับ 1 ในชาร์ตอังกฤษ รวมถึงอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น

เพลงในชุดนี้ มาจากการแสดงสดของวง ที่ฮอลลีวู้ดโบว์ล ระหว่างเดือนสิงหาคม 1964-1965 หรือ พ.ศ.2507-2508

กว่าจะออกมาเป็นอัลบั้มบันทึกการแสดงสดครั้งนี้ เส้นทางยุ่งเหยิงหักโค้งหลายรอบ มีข้อมูลระบุว่า แรกเริ่ม แคปิตอลเร็กคอร์ดส์ จะบันทึกการแสดงของบีตเทิลส์ที่คาร์เนกี้ฮอล นิวยอร์ก ในเดือนกุมภาพันธ์ 1964 เพื่อนำมาออกอัลบั้มแสดงสด แต่มีปัญหาเรื่องคำรับรองจากสหพันธ์นักดนตรีของสหรัฐ ก็เลยเหลวไป

 

อย่างไรก็ตาม 6 เดือนต่อมา ดีเจ บ็อบ ยูแบงก์ แห่งสถานีวิทยุชื่อดัง KRLA แห่งแคลิฟอร์เนียใต้และลอสแองเจลิส ติดต่อไปแสดงที่ฮอลลีวู้ดโบว์ล ลอสแองเจลิส

แคปปิตอลจัดการบันทึกเสียง โดยตั้งเป้าจะทำอัลบั้มแสดงสดในอเมริกา แต่สุดท้าย คุณภาพของเทปไม่เหมาะที่จะนำออกวางจำหน่าย

บีตเทิลส์ กลับมาแสดงที่ฮอลลีวู้ดโบว์ลอีกครั้งในการทัวร์อเมริกา ในปี 1965 ซึ่งแคปิตอลบันทึกการแสดง 2 รอบ แต่ก็มีปัญหาคุณภาพเสียงอีกเช่นเดิม

ในยุคทศวรรษหกสิบ บีตเทิลส์เป็นหนึ่งในไม่กี่วงหลัก ที่ไม่ออกผลงานแสดงสด แต่กระแสเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จอห์น เล็นนอน เอง ยังทำให้กระแสรุนแรงมากขึ้น เมื่อกล่าวโดยเข้าใจผิดว่าผลงานรวมเพลง The Beatles in Italy เมื่อปี 1965 เป็นอัลบั้มแสดงสดของวง

เทปแสดงสดจากการแสดง 3 ครั้งที่ฮอลลีวู้ดถูกเก็บในตู้ของแคปิตอล จนกระทั่งปี 1971 จึงส่งให้กับ ฟิล สเป็กเตอร์ โปรดิวเซอร์ผู้ทำอัลบั้ม Let It Be จากวัตถุดิบอันยุ่งเหยิงมาแล้ว เพื่อพิจารณาว่า จะทำให้เป็นอัลบั้มออกมาได้หรือไม่ แต่ก็พับโครงการไปอีก

และกลายเป็นแผ่นบู๊ตเลก หรือแผ่นเถื่อน ในชื่อ Back in 64 at the Hollywood Bowl ขณะที่แคปปิตอล แพ้คดีที่ขอให้บล็อกผลงานแสดงสดยุคต้นๆ ของบีตเทิลส์ เป็นโอกาสให้ค่ายเพลง Lingasong/Bellaphon ออกผลงาน Live! at the Star-Club in Hamburg Germany; 1962 วางขายในปี 1977

โดนเย้ยกันแบบนี้ แคปิตอลตัดสินใจว่าถึงเวลาจะต้องนำผลงานชุดนี้ออกวางจำหน่ายเป็นทางการเสียที โดยให้ จอร์จ มาร์ติน รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ ทำอัลบั้มจากเทปที่บันทึกไว้ร่วมสิบปีในยุคนั้น ข่าวว่า เป็นงานยุ่งยากต้องใช้เทคนิคต่างๆ เข้ากอบกู้

การรอคอย 12 ปี ที่สิ้นสุดในปี 1977 ได้ผลคุ้มค่า แฟนๆ พอใจกับเพลงที่ออกมา อัลบั้มเข้าอันดับ 1 ในอังกฤษและอันดับ 2 ในชาร์ตสหรัฐ และได้รับการยกย่องจากนิตยสารดนตรีและนักวิจารณ์

 

สำหรับ Live at the Hollywood Bowl ในปี 2016 นี้ ผ่านการรีมิกซ์และรีมาสเตอร์ โดยโปรดิวเซอร์ ไจลส์ มาร์ติน ลูกชายของ จอร์จ มาร์ติน โปรดิวเซอร์คนก่อน โดยมี 4 เพลงที่ไม่ปรากฏในอัลบั้มปี 1977

13 เพลง บวก 4 โบนัสแทร็ก ประกอบด้วย Twist and Shout, She”s a Woman, Dizzy, Miss Lizzy, Ticket to Ride, Can”t Buy Me Love, Things We Said Today, Roll Over Beethoven, Boys, A Hard Day”s Night, Help!, All My Loving, She Loves You, Long Tall Sally

บวก 4 โบนัสแทร็ก You Can”t Do That, I Want to Hold Your Hand, Everybody”s Trying to Be My Baby และ Baby”s in Black

สำหรับคอเพลงก็คงเป็นงานที่ไม่อยากพลาด อย่างน้อยก็เพื่อรำลึกถึงบีตเทิลส์ ในยุคที่พุ่งสู่ความนิยมในระดับบ้าคลั่งของแฟนเพลง