หลังเลนส์ในดงลึก : “ตะวันตก”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

“ตะวันตก” ผมหมายถึงป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก วันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2517 พื้นที่ป่าราวๆ 2 ล้านไร่ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และในวันที่12 สิงหาคม พ.ศ.2534 ป่าแห่งนี้ได้รับการผนวกพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 279,500 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้มีชื่อว่า “ทุ่งใหญ่นเรศวร”

ด้วยความที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ไม่สะดวกกับการบริหารจัดการ จึงได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง

คือด้านตะวันออกเป็นพื้นที่ของจังหวัดตาก

ส่วนด้านตะวันตกเป็นพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี

ด้วยความที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งถือได้ว่าอยู่ใจกลางของกลุ่มป่าตะวันตก อันเป็นกลุ่มป่าที่มีพื้นที่อนุรักษ์ต่อเนื่อง 17 แห่ง มีพื้นที่รวม 11.7 ล้านไร่ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจึงได้รับการยอมรับให้เป็นมรดกโลก

ทางธรรมชาติองค์การ UNESSCO ขึ้นทะเบียนให้ป่าทุ่งใหญ่รวมกับป่าห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อ ปี พ.ศ.2534 หนึ่งปีหลังจากการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร กำลังสำคัญผู้พยายามนำเสนอข้อมูลต่อ UNESSCO

ร่วม 5 ปีแล้วที่ผมอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้วยความตั้งใจกับการบันทึกภาพความเป็นแหล่งอาศัยอันเหมาะสมของพืชพันธุ์และสัตว์ป่า เพื่อนำเสนอเป็นหนังสือภาพ หลังจากใช้เวลากว่าปีในป่าทุ่งใหญ่ตะวันออก

กลางเดือนกันยายน พ.ศ.2559 ผมกลับมาทางฝั่งตะวันตกอีกครั้งเพื่อเก็บงานในส่วนที่ยังขาด

“กับข้าวแพงกว่าลานสักหรือแม่สอดอีกครับ” ยิ่งบุญ เปรยเมื่อเสร็จจากการซื้อเสบียงที่เมืองทองผาภูมิ

ไม่น่าแปลกใจนัก ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เมืองอันมีทิวทัศน์สวยงาม ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เข้าถึงง่าย เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว จะมีค่าครองชีพซึ่งดูจะสูงกว่าเมืองอันเป็นปากทางเข้าป่าแห่งอื่นๆ

 

สายหมอกลอยระเรี่ย แนวป่าบนภูเขาเขียวทึบ สายฝนโปรยปรายหนักสลับเบาตลอดทาง จากป่าห้วยขาแข้งที่เราใช้เวลาที่นั่นกว่าเดือน แม้จะเป็นช่วงฤดูฝนแต่เราพบกับฝนที่นั่นน้อยมาก เทือกเขาทอดยาวขวางกั้นทำให้ป่าห้วยขาแข้งอยู่ในเขตอันเรียกว่า “เงาฝน”

เพียงเข้าใกล้บริเวณสำนักงานเขต ผมก็พบว่าความชุ่มชื้นเฉอะเเฉะของฤดูฝนไม่ได้ห่างไปไหน

“ปีนี้ทางดีขึ้นนะครับ” อนุวงษ์ ซึ่งประจำอยู่ที่ด่านบอกหลังจากทักทายกันชั่วครู่ “ทางดี” ของคนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกพูด ผมเข้าใจดีว่ามันหมายถึงอะไร

“รถเข้าไปจะแกเพื่อส่งเสบียงติดอยู่แถวห้วยเป็ดห้วยไก่ 2 วันแล้ว” อนุวงษ์ตอบแบบขำๆ

ฤดูฝนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกเส้นทางระหว่างสำนักงานเขตกับหน่วยพิทักษ์ป่า การใช้แทร็กเตอร์ลากเทรลเลอร์ เพื่อบรรทุกเสบียงไปส่งตามหน่วยต่างๆ คือวิธีซึ่งสะดวกและเสียเวลาน้อยที่สุด

ส่วนในด้านตะวันตกนั้น วิธีดีที่สุดในการสัญจรโดยเฉพาะหากรีบๆ คือเดิน

 

ช่วงเวลาเพียงปีเดียวหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไป สำนักงานคึกคัก เจ้าหน้าที่เพิ่มจำนวน น้องๆ ชาววนศาสตร์ร่วม 10 คนเข้ามาช่วยงาน หลายคนลาออกไปรวมทั้งอดิเทพ คู่หูซึ่งช่วยงานผมมาตลอด 3 ปี

ร่วม 20 ปี ที่ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในป่าแบบ “ฝังตัว” เมื่อเปลี่ยนพื้นที่ทำงานใหม่ ผมมักไม่ได้กลับมาที่เดิมเลย มีป่าห้วยขาแข้งกับป่าทุ่งใหญ่นี่แหละที่คล้ายกัน ผมจะไปไหนไม่พ้น

กับคู่หูชื่อ อดิเทพ ซึ่งมีนามเดิมว่า คอแตะ แต่ใครๆ มักเรียกแกว่าคอแตกนั้น ผมเล่าเรื่องอดิเทพให้คนอื่นฟังบ่อยๆ

“ที่จริงพ่อตั้งชื่อผมว่าครกแตกนะ” เขาเคยเล่าให้ฟัง “เพราะตอนจะเกิดแม่ตำข้าว และทำครกตำข้าวแตก” สำเนียงภาษาไทยเขาไม่แข็งแรงนัก

“ตอนไปแจ้งที่อำเภอ เจ้าหน้าที่คงฟังไม่ชัดเลยเขียนว่า คอแตะ”

เขาเปลี่ยนชื่อเป็นอดิเทพ “ผมอยากชื่อสมเสร็จ ตอนไปที่อำเภอของเปลี่ยนเป็นชื่อ สมเสร็จ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่เหมาะและตั้งให้ใหม่ว่า อดิเทพ”

มีอดิเทพช่วยทำงาน ผมสะดวกสบาย เขาบริหารจัดการแคมป์ ดูแลทำความสะอาด ทำกับข้าวรวมทั้งเดินไปส่งไปรับผมตอนเช้ามืดและพลบค่ำ ฝีมือทำกับข้าวของเขา นอกจากน้ำพริกปลากระป๋องแล้วอย่างอื่นๆ อยู่ในเกณฑ์สอบตก

หลายครั้งอดิเทพพิสูจน์ให้เห็นว่าห่วงผมมากเพียงใด ค่ำวันหนึ่งเขามารับผมขณะอยู่ในซุ้มบังไพร ใกล้โป่งเล็กๆ กระทิงตัวผู้น้ำหนักร่วมๆ ตันตัวหนึ่งอยู่ในโป่ง มันทำท่าฮึดฮัดเมื่อได้กลิ่นคนเพิ่มขึ้น ท่าทางที่เขม้นมอง ขาหน้าตะกุยดิน ผมรู้ว่ากระทิงตัวนั้นน่าจะวิ่งเข้าใส่แน่ มันทำเช่นนั้นจริง วิ่งเข้ามา แต่พอถึงจุดที่ห่างจากซุ้มบังไพรสัก 2 เมตรมันก็หยุด ทำเสียง ฟืด ฟืด และหันหน้าวิ่งตะบึงไปทางขวามือซึ่งเป็นด่านทอดตัวยาวไปตามแนวสันเขา

ผมหันกลับมาไม่เห็นอดิเทพ เขาอยู่บนต้นไทรด้านหลัง “ต้องมีคนออกไปบอกคนอื่นนะ ถ้าหม่องโจเป็นอะไรไป”

จริงของเขาหากมีการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ การมีคนออกไปตามความช่วยเหลือคือเรื่องจำเป็น เขาเรียกผมว่า หม่องโจ เหมือนกับคนอื่นๆ ในป่าแห่งนี้ “หม่องโจ” หมายถึง ลุง

ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มีความเป็นแหล่งอาศัยอันสมบูรณ์ของเหล่าสัตว์ป่าเช่นเดียวกัน แต่หากเป็นเรื่องของการทำงานถ่ายภาพดูเหมือนทางฝั่งตะวันตกจะยุ่งยากกว่า

ฝั่งตะวันออกนั้นมีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ หลายแห่งทุ่งเหล่านี้เดิมคือพื้นที่ทำการเกษตร หลังจากอพยพโยกย้ายคนออก คืนพื้นที่ให้สัตว์ป่าผ่านไปร่วม 30 ปี ในพื้นที่เหล่านี้เราจึงเห็น ฝูงช้างและกระทิงนับร้อยตัว เพลิดเพลินอยู่กับระบัดซึ่งโผล่พ้นดินหลังไฟไหม้

ทุ่งใหญ่นเรศวรด้าตะวันออกถูกคนบุกรุกทำลาย แต่คนก็สามารถแก้ไขจัดการพื้นที่ให้กลับมาเป็นแหล่งอาศัยที่ดีของสัตว์ป่าได้

ทุ่งใหญ่ด้านตะวันตกมีพื้นที่ราบอันเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่เช่นกันแต่เข้าถึงไม่ง่าย มีโป่งขนาดเล็กๆ มาก ส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งซึ่งเป็นร่องลึก ความอุดมสมบูรณ์ที่มีมาก แหล่งอาหารมีกระจายอยู่ทั่วไปทำให้เหล่าสัตว์ป่าอยู่กระจายทั่วไปเช่นกัน

ทํางานในป่ามาระยะหนึ่ง ผมรู้สึกคล้ายกับการปีนภูเขา บางเทือกเขาปีนไม่ยากนักขึ้นถึงยอดในเวลาไม่นาน บางเทือกค่อนข้างยากใช้เวลาและพละกำลังเยอะ

อีกสิ่งที่เป็นความจริง ไม่ว่าจะปีนภูเขาเทือกไหน ง่ายหรือยาก ความยากไม่ใช่อยู่ที่ตอนปีนขึ้น ขึ้นไปแล้วก็จะเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งจะต้องพบกับความลำบากขณะลงจากภูเขา