สุจิตต์ วงษ์เทศ / คนเมืองเพชร ข้าหลวงเดิมวังหลัง สืบถึงสุนทรภู่

(ขวา) วิหารหลวงพ่อบ้านแหลม (จำลอง) วัดกำแพงบางจาก ริมคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

คนเมืองเพชร

ข้าหลวงเดิมวังหลัง

สืบถึงสุนทรภู่

 

สุนทรภู่อยู่วังหลัง ผู้ดีบางกอก เพราะเกิดในวังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์

แล้วเขียนบอกไว้เองในนิราศเมืองเพชร ว่าเป็นเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี ทั้งสายพ่อสายแม่ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย (จึงไม่เป็นไปตามที่มีผู้ต้องการยื้อยุดให้บิดาสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จ.ระยอง)

[สุนทรภู่มีประวัติย่อ อยู่ใน www.matichonweekly.com]

พราหมณ์เมืองเพชรบุรี เป็นกลุ่มเดียวกับพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ล้วนมีต้นตอรากเหง้าจาก “พราหมณ์รามราช” (เมืองราเมศวรัม รัฐทมิฬ อินเดียใต้)

พราหมณ์ตระกูลนี้เข้าไปรับราชการในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ยุคต้นจนยุคปลายอยุธยา แล้วสืบสายตกทอดเป็นสุนทรภู่

 

ก่อนกรุงแตก

 

มีคำบอกเล่าเก่าแก่ประจำตระกูลขุนนางบางตระกูล ว่าช่วงก่อนกรุงแตกขณะนั้นนายทองด้วง (ต่อไปคือ ร.1) อยู่กับครอบครัวภรรยา (ซึ่งเป็นเชื้อสายมอญ) ที่เมืองอัมพวา ปากน้ำแม่กลอง (เมืองราชบุรี)

คราวนั้นมีเชื้อสายพราหมณ์จากเมืองนครศรีธรรมราช เดินทางขึ้นไปพบนายทองด้วงที่อัมพวา แล้วรับบัญชาไปตั้งชุมนุมอยู่ลุ่มน้ำป่าสัก (สระบุรี)

เชื่อกันว่าพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ชักชวนพราหมณ์เมืองเพชรบุรีไปด้วยกัน คนกลุ่มนี้ต่อไปจะมีบทบาทร่วมเหตุการณ์ระงับจลาจลกรุงธนบุรี

 

ช่วงกรุงศรีอยุธยา

 

กรมพระราชวังหลัง (นามเดิม ทองอิน) เป็นบุตรของสมเด็จพระพี่นางองค์โตของ ร.1 (นามเดิมว่า สา ต่อมาสถาปนาเป็นที่ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี) เกิดกับพระอินทรรักษา (นามเดิม เสม) ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา

บิดาของวังหลังคุ้นเคยชาวเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เพราะพระอินทรรักษา (เสม) เป็นขุนนางสังกัดเจ้าฟ้ากุ้ง (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ วังหน้าในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ)

เจ้าฟ้ากุ้ง มีพระมารดาคือ พระพันวสาใหญ่ เป็นธิดาพราหมณ์บ้านสมอพลือ เมืองเพชรบุรี

ฉะนั้น ข้าคนของวังหน้าครั้งนั้น ย่อมมีคนเมืองเพชรบุรีอยู่ไม่น้อย (สรุปจากบทความของ อ.ล้อม เพ็งแก้ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2555 หน้า 150)

 

ช่วงกรุงธนบุรี

 

แผ่นดินพระเจ้าตาก กรมพระราชวังหลังรับราชการเป็นพระยาสุริยอภัย เจ้าเมืองนครราชสีมา (มีเคหสถานอยู่บ้านปูน ทุกวันนี้อยู่ย่านซอยวังหลัง ระหว่างศิริราชกับวัดระฆัง)

ขณะนั้นมีคนในสังกัดสืบเชื้อสายคนบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี คือ เจ๊สัวบุญชู บุตรพระพิไชยวารี วังหลังจึงคุ้นเคยอย่างดีกับพระพิไชยวารี (เจ๊สัวหลิน บิดาเจ๊สัวบุญชู) ผู้ค้าสำเภาหลวงคนหนึ่งในยุคพระเจ้าตาก มีชุมชนเคหสถานอยู่ย่านคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่)

[เจ๊สัวหลิน แซ่โหงว (แซ่โง้ว) เป็นจีนบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี มีบอกในหนังสือ กระเบื้องถ้วย กะลาแตก ของ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2550 หน้า 55]

 

กรุงรัตนโกสินทร์

 

ครั้นเปลี่ยนแผ่นดินเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ พระพิไชยวารี (เจ๊สัวหลิน) ย้ายสังกัดเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง

คนบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี มีชุมชนกระจัดกระจายสองฝั่งคลองบางหลวง ต่อมาสร้างวิหารหลวงพ่อบ้านแหลม (จำลอง) ไว้ในวัดกำแพง ปากคลองบางจาก (เชื่อมคลองบางหลวง)

คลองบางหลวง เป็นชุมทางเส้นทางคมนาคม ผ่านคลองด่านไปท่าจีน (สมุทรสาคร) แม่กลอง (สมุทรสงคราม) บ้านแหลม (เพชรบุรี) สืบมาตั้งแต่ยุคก่อนอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

จึงเป็นชุมชนคนเมืองเพชร ข้าหลวงเดิมในตระกูลกรมพระราชวังหลัง