มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส/กรุงเทพฯ ที่หายไป

มองบ้านมองเมือง  ปริญญา ตรีน้อยใส

กรุงเทพฯ ที่หายไป

วันเวลาที่เปลี่ยนไป ทำให้สภาพบ้านเมืองแปรสภาพ   นอกจากการขยายพื้นที่ชุมชนออกไปอย่างกว้างขวางถึงปริมณฑลโดยรอบ   ยังมีการเติมเต็มพื้นที่ว่างจนหนาแน่น   อย่างบริเวณใจกลางจึงเต็มไปด้วยอาคารสิ่งก่อสร้าง จนไม่มีที่ว่างนอกจากถนนหนทางเท่านั้น      จนต้องรื้ออาคารบ้านเรือนรุ่นเก่าลง เพื่อสร้างอาคารใหม่ขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสูงระฟ้าแทนที่

นับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในโลกนี้   ผนวกรวมกับนิสัยความเคยชินของคนไทย ที่การปลูกสร้าง ต่อเติม และรื้อถอนทิ้ง เป็นเรื่องปกติ   ด้วยสิ่งก่อสร้างมีอยู่เดิมขนาดเล็ก ไม่สูงหลายชั้น   ด้วยวัสดุที่ใช้เดิมคือไม้ ซึ่งเป็นวัสดุไม่ถาวร   ด้วยฝีมือการก่อสร้างที่เดิมไม่ประณีต จนไม่มีคุณค่าใด

จึงไม่แปลกที่จะเห็นการรื้อบ้านเพื่อสร้างศูนย์การค้า   การรื้อตลาดเพื่อทำคอนโดมิเนียม   การรื้อตึกเก่าเพื่อสร้างอาคารสำนักงานหลายชั้น   ยิ่งอาคารรุ่นเก่า สภาพทรุดโทรม   ภาพลักษณ์ไม่โดดเด่น ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์   การรื้อทิ้งเพื่อเปิดที่ว่างสำหรับการก่อสร้างใหม่ ยิ่งดำเนินการได้อย่างง่ายดาย

จะมีแต่บางอาคารที่มีผู้สนใจบ้าง มีผู้เห็นความสำคัญบ้าง หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวบ้าง ก็จะเป็นข่าวต่อต้านอยู่เล็กน้อย แต่ในที่สุดก็จะถูกรื้อไป

ยิ่งเป็นพื้นที่ในใจกลางเมือง ยิ่งเป็นพื้นที่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ผู้คนสนใจในเรื่องความคุ้มค่า คุ้มทุน ทางเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว   จึงมีการรื้อถอนอาคารที่สภาพยังไม่ทรุดโทรมครอบคลุมพื้นที่ไม่มากนัก สูงไม่มากนั้น จนเป็นเรื่องธรรมดา

 

แม้แต่อาคารรุ่นเก่าที่รู้จักกันดี   อย่าง โรงแรมสยามคอนติเนนตัล   ที่เป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย และเป็นต้นทางของย่านการค้าสยาม และสถานีรถไฟฟ้าสยาม   ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์การค้าพารากอนและโรงแรมเคมปินสกี้

โรงแรมเอราวัณ ที่ราชประสงค์ ต้นแบบของโรงแรมมาตรฐานสากลหลังแรกของไทย และต้นทางของแบบสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย   แต่เมื่อสูงเพียงสามสี่ชั้น ย่อมไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้ที่ดินให้คุ้มค่า   ปัจจุบันกลายเป็น โรงแรมไฮแอทเอราวัณ ที่เป็นอาคารสูง และเป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยยิ่งกว่าเดิม

สถานทูตออสเตรเลีย ที่สาทร หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ มองบ้านมองเมือง เคยชื่นชมว่าสวยงาม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม   ปัจจุบัน ถูกรื้อถอนจนมลายหายไป พร้อมกับป้ายโฆษณาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่ว่าจะสร้างไอคอนอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

อาคารจงกลนี ที่สุรวงศ์ อาคารสำนักงานรุ่นแรกของไทย   ออกแบบโดยสถาปนิกผู้คำนึงถึงภูมิสภาพ แดดแรงฝนหนัก จนเป็นต้นแบบของอาคารสมัยใหม่รุ่นต่อมา   ปัจจุบัน ก็ถูกรื้อลง แต่ยังไม่มีป้ายประกาศว่า จะกลายเป็นอะไร   แต่เดาได้ว่า เป็นอาคารสูงแน่นอน

โรงแรมดุสิตธานี อาคารระฟ้าหลังแรกและไอคอนของกรุงเทพฯ ก็กำลังจะหายไป   ด้วยทำเลที่ตั้ง โดดเด่นในย่านการค้าสีลมพระรามสี่   ขณะนี้มีเพียงภาพประชาสัมพันธ์โครงการ ที่จะมีโรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้า และอาจมีคอนโดมิเนียมมาแทนที่   ปัจจุบัน ยังไม่มีการรื้อถอน   แฟนานุแฟนมติชนสุดสัปดาห์ ควรจะแวะเวียนไปชื่นชมก่อนที่จะหายไป

แม้แต่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่เป็นอาคารใหญ่โต   หากเมื่อเป็นอาคารชั้นเดียว ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่   จึงมีภาวะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ก็มีแผนรื้อและสร้างอาคารใหม่ ที่จะต่อเนื่องไปจนถึงอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเดิม และถนนพระรามสี่ เนื่องจากเจ้าของโครงการมีสัญญาเช่าต่อเนื่องกัน

เอาเป็นว่า ปรากฏการณ์กรุงเทพฯ ที่หายไป คงจะเกิดขึ้นต่อไปและต่อไป