ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 พฤษภาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | มองไทยใหม่ |
ผู้เขียน | นิตยา กาญจนะวรรณ [email protected] |
เผยแพร่ |
พยัญชนะไทยมีกี่ตัว (๒)
อิงอร สุพันธุ์วณิช กล่าวไว้ในหนังสือ วิวัฒนาการอักษรและอักขรวิธีไทย ว่า ฒ และ ฮ ปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรก ในหนังสือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง พ.ศ.๒๒๗๙ สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ในปัจจุบันพยัญชนะไทย ๔๔ ตัว มักจะจัดเป็นวรรคตามแบบอักษรเทวนาครี ดังนี้
วรรคที่ ๑ วรรค กะ ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง
วรรคที่ ๒ วรรค จะ จ ฉ ช ซ ฌ ญ
วรรคที่ ๓ วรรค ฏะ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
วรรคที่ ๔ วรรค ตะ ด ต ถ ท ธ น
วรรคที่ ๕ วรรค ปะ บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
เศษวรรค ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ
หนังสือ มูลบทบรรพกิจ (พ.ศ.๒๔๓๑) ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เรียกสั้นๆ ว่า “ตอน ก ๗ ตอน จ ๖ ตอน ฎ ๖ ตอน ด ๖ ตอน บ ๘ ตอน ย ๑๑”
หนังสือ อักขรวิธี (พ.ศ.๒๔๖๑) ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร ให้คำอธิบายว่าพยัญชนะ ๔๔ ตัว จำแนกตามวิธีใช้เป็น ๓ พวก คือ
(๑) พยัญชนะกลาง คือพยัญชนะที่ใช้ทั่วไปทั้งไทย บาลี และสันสกฤต มี ๒๑ ตัว คือ
ก ข ค ง จ ฉ ช ต ถ ท น ป ผ พ ม ย ร ล ว ส ห
(๒) พยัญชนะเดิม คือพยัญชนะที่ติดมาจากแบบเดิม คือบาลีกับสันสกฤต ในภาษาไทยมีใช้ไม่มาก มี ๑๓ ตัว คือ
ฆ ฌ ญ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ฬ ศ ษ
(๓) พยัญชนะเติม คือพยัญชนะที่ไทยคิดเพิ่มเติมขึ้น มี ๑๐ ตัว คือ
ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ
เป็นที่น่าสังเกตว่า พยัญชนะที่หลุดหายไปจากการบันทึกคือ พยัญชนะในกลุ่มพยัญชนะเดิมและกลุ่มพยัญชนะเติมนี้เอง
ฉะนั้น พยัญชนะไทยจะมีกี่ตัวก็ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่ใช้อ้างอิง เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวต่างๆ ที่บันทึกเอาไว้ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้บันทึกนั่นเอง
แก้คำผิด
เรื่อง อักขรวิธีภาษาไทย VS อักขรวิธีภาษาอังกฤษ (๒)
แม่กด เพิ่มตัว ฎ ฏ ฐ ฑ เช่น กฎหมาย ปรากฏ รัฐ ครุฑ